CEO ARTICLE
หมิงตี้
‘หมิงตี้เคมีคอลไม่ได้อยู่ต่อ กรอ. สั่งปิดและให้ย้ายออกจากชุมชนย่านกิ่งแก้วถาวร’
‘หากจะดำเนินการต่อต้องตั้งในนิคมอุตสาหรรม’ (amarintv.com 08.07.64)
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เริ่มขยับหลังชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านย่านกิ่งแก้วได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เมื่อเช้าตรู่วันที่ 05 ก.ค. 64
โรงงานอุตสาหกรรมในเขตชุมชนที่ขยายตัวคือ ‘ระเบิดเวลา’ ที่จะเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและก็เชื่อว่าไม่น่าจะใช่ครั้งสุดท้าย แล้วคำถามก็ตามมาทุกครั้ง
“ทำอย่างไรเรื่องแบบนี้จะหมดไปจากประเทศไทย ??”
โรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่ว่าใครนึกจะทำก็ทำได้ มันมีใบอนุญาตมากมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบ รง. 2 (ใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน) ใบ รง. 4 (ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน) ใบอนุญาตให้เก็บวัตถุอันตราย ใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก และเคลื่อนย้ายวัตถุอันตราย เป็นต้น
ทุกอย่างมีกฎหมาย ระเบียบ และมีหน่วยงานรับผิดชอบ แม้แต่การสร้างบ้านจนเป็นชุมชนขยายล้อมโรงงานก็ต้องมีใบอนุญาตก่อสร้าง มีสำนักเขต และมีสำนักงานผังเมืองกำกับ
ใบอนุญาตเกือบทั้งหมดมีเงื่อนไขให้ปฏิบัติ มีการหมดอายุ และมีการต่ออายุ หมิงตี้อยู่มาตั้งแต่ปี 2532 อยู่มาก่อนชุมชนจึงต้องผ่านการต่ออายุใบอนุญาตนับครั้งไม่ถ้วน
ทุกอย่างประจักษ์มานาน ชุมชนขยายเข้ามาใกล้เรื่อย ๆ อันตรายที่คาดการณ์ได้ก็รับรู้จากสื่อ และจากตัวอย่างที่เกิดในต่างประเทศก็มีให้เห็น
การกำหนดเงื่อนไขใหม่ ๆ เพื่อป้องกันเหตุร้ายให้โรงงานทราบล่วงหน้า และให้แก้ไขก่อนการต่ออายุใบอนุญาตต่าง ๆ ครั้งหน้าจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร
ครั้งหน้าต้องเพิ่มระบบความปลอดภัยอะไรบ้าง การเก็บวัตถุอันตรายต้องปรับปรุงอย่างไร ต้องตรวจสอบกับสำนักงานผังเมืองอย่างไร ต้องประเมินผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อมอย่างไร ต้องทำ EIA (Environmental Impact Assessment) อย่างไร ใบอนุญาตเรื่องนี้จะไม่ได้รับการต่ออายุในครั้งหน้า เป็นต้น
เงื่อนไขต่าง ๆ ที่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าทำให้โรงงานค่อย ๆ ปรับตัว วางแผน ปรับปรุง หากทำตามเงื่อนไขไม่ได้ โรงงานก็ต้องย้ายไปแหล่งอื่น เช่น นิคมอุตสาหกรรม ความปลอดภัยก็เกิด
ในทางตรงกันข้าม ชุมชนก็อาจไม่ขยายมาใกล้โรงงานก็ได้
ใบอนุญาตใดที่ไม่มีการหมดอายุก็ต้องแก้ระเบียบหรือกฎหมายให้มีการหมดอายุ ให้มีการพัฒนาเงื่อนไข และให้ต่อใหม่ ทางที่ดีก็ควรทำให้ใบอนุญาตทุกใบหมดอายุพร้อมกันทุกโรงงานทั่วประเทศเพื่อให้ทุกกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันเพื่อต่อใบอนุญาตอย่างบูรณาการที่ส่งผลให้การทุจริตในการต่ออายุใบอนุญาตยากขึ้นในตัว
การพัฒนาเงื่อนไขต่ออายุใบอนุญาตต่าง ๆ จึงเป็นวิธีการง่าย ๆ เพื่อควบคุมเหตุร้ายอย่างหมิงตี้ในครั้งนี้ แต่ต้องพิจารณาร่วมกันจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาเอาแค่หน่วยงานเดียว การพัฒนาเงื่อนไขต่ออายุใบอนุญาตมีน้อย อีกทั้งเงื่อนไขการต่ออายุก็มักเป็นเงื่อนไขเดิม มีข่าวการทุจริต ความปลอดภัยจึงไม่เพิ่มขึ้น
โรงงานส่วนใหญ่มักได้รับการต่ออายุใบอนุญาตง่าย ๆ เป็นฝ่ายถูกเมื่อชุมชนค่อย ๆ ขยายตัวมาใกล้ ชุมชนมาอยู่ทีหลัง มารอรับเหตุร้ายเองอย่างไม่รู้ตัว
หากไม่ใช้เหตุร้ายในหมิงตี้เป็นจุดเริ่มต้นอย่างบูรณาการ เหตุร้ายแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก
อธิบดีกรมต่าง ๆ และปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องควรใช้โอกาสนี้หารือร่วมกัน แก้ไขระเบียบในเขตอำนาจตนให้ใบอนุญาตทุกใบมีการหมดอายุ และสร้างเงื่อนไขใหม่ ๆ ในการต่ออายุ
หากข้าราชการไม่ทำ หรือทำไม่ได้ มันก็หนีไม่พ้นฝ่ายการเมืองและรัฐมนตรีต้องออกนำ
นักการเมืองต้องเข้าถึงพื้นที่ รู้ปัญหาพื้นที่ เพิ่มเติมเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อต่อใบอนุญาต ให้ปรับปรุงกฎหมาย เมื่อเป็นรัฐมนตรีก็ต้องผลักดันปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมต่าง ๆ ให้นำเงื่อนไขต่อใบอนุญาตลงสู่การปฏิบัติ
ภาพนักการเมืองช่วยเหลือประชาชนจึงจะมาแทนที่ภาพการเอาแต่ชิงอำนาจระหว่างกัน
แต่หากรัฐมนตรีไม่ทำ หรือทำไม่ได้ มันก็ต้องถึงระดับผู้นำประเทศที่ต้องสั่งการทางใดทางหนึ่ง แม้จะอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่หนักทั้งในไทยและทั่วโลก แต่ผู้นำฯ ก็ต้องสั่งการอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหา
วันนี้ความทุกข์ของประชาชนแสนสาหัส เสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐมนตรีและผู้นำฯ ก็มากเป็นเงาตามตัว การขจัดทุกข์และบำรุงสุขจึงจะทำให้เสียงเรียกร้องเบาบางลง
หมิงตี้เป็นปลายเหตุ การพัฒนาเงื่อนไขต่ออายุใบอนุญาตโรงงานอย่างบูรณาการพร้อม ๆ กับการสร้างชุมชนก็เป็นวิธีการง่าย ๆ ที่จะป้องกันปัญหาจากต้นเหตุ
หากข้าราชการประจำและฝ่ายการเมืองยังไม่มีวิธีการอื่นก็น่าลองพิจารณาวิธีการนี้ดู
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : July 13, 2021
Logistics
นครหนานหนิงลุยเปิด Cargo Flight สร้างโอกาสให้ธุรกิจคอมเมิร์ซข้ามแดนกับอาเซียน
ท่ามกลางสภาวะธุรกิจในยุคโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องบินผู้โดยสารระหว่างประเทศของ “นครหนานหนิง” ต้องหยุดให้บริการ สายการบินจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและแสวงหาโอกาสใหม่ ทำให้ “ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ” หรือ Air Cargo ทวีบทความความสำคัญเพิ่มขึ้นในการขับเคลื่อนระบบการค้าสินค้าและระบบขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
ในยุค New Normal “นครหนานหนิง” ได้กำหนดให้สนามบินนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิงเป็น Hub การขนส่งสินค้าทางอากาศกับอาเซียน เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจการค้าเดินหน้าต่อไป โดยนครหนานหนิงได้ทยอยเปิดเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Cargo Flight) ไปยังเมืองสำคัญในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนครโฮจิมินห์ กรุงเทพฯ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ ดังนี้
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เที่ยวบิน Cargo Flight นครหนานหนิง – นครโฮจิมินห์ โดยบริษัท SF Express เป็นผู้ให้บริการ สินค้าที่ขนส่งไปเวียดนาม ซึ่งเป็นสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน และสินค้าที่ขนส่งกลับนครหนานหนิงเป็นอาหารทะเล
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เที่ยวบิน Cargo Flight นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ มีบริษัท Guangxi Tianhang Internatinal Supply-Chain Co.,Ltd เป็นผู้ดำเนินการ สินค้าที่ขนส่งมาที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน สินค้าทั่วไป และชิ้นส่วนที่ใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง สินค้าที่ขนส่งกลับนครหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ปลาสวยงาม ดอกกล้วยไม้ และพืชผัก
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เที่ยวบิน Cargo Flight นครหนานหนิง – สิงคโปร์ มีบริษัท Guangxi Lanjing Supply Chain Management Co.,Ltd. เป็นผู้ดำเนินการ สินค้าที่ขนส่งไปสิงคโปร์เป็นสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน และสินค้าที่ขนส่งกลับนครหนานหนิงเป็นสินค้าปลอดภาษี เช่น เครื่องสำอาง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรองเท้าเสื้อผ้าแบรนด์เนม
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เที่ยวบิน Cargo Flight นครหนานหนิง – กรุงกัวลาลัมเปอร์ มีบริษัท Guangxi Lanjing Supply Chain Management Co.,Ltd. เป็นผู้ดำเนินการ สินค้าที่ขนส่งไปมาเลเซียเป็นสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และสินค้าที่ขนส่งกลับนครหนานหนิงเป็นสินค้าเกษตร
นอกจากนี้ ยังมีเที่ยวบินนครหนานหนิง – กรุงธากา ประเทศบังคลาเทศอีกด้วย
จะเห็นได้ว่า สินค้าที่ส่งออกไปส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์ม “อีคอมเมิร์ซข้ามแดน” ซึ่งเป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน โดยสามารถซื้อขายได้ทั้งรูปแบบธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C) และธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B)
พื้นที่ฟังก์ชันอย่างเขตทดลองการค้าเสรี (Free Trade Zone) เขตทดลองอีคอมเมิร์ซข้ามแดน และเขตคลังสินค้าทัณฑ์บน เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ “นครหนานหนิง” เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดน โดยมี “อาเซียน” เป็นตลาดสำคัญ และเป็นแม่เหล็กที่ช่วยดึงดูดให้ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานของอีคอมเมิร์ซข้ามแดนให้ทยอยเข้ามาลงทุนจัดตั้งกิจการในนครหนานหนิง ส่งผลให้นครหนานหนิงกลายมาเป็นข้อต่อสำคัญในระบบการค้าและโลจิสติกส์ และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริม ecosystem ให้กับธุรกิจ Cross-Border E-Commerce (CBEC) ทั้งของจีนและอาเซียน รวมถึงประเทศไทยด้วย
ตัวอย่างเช่น LAZADA ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซในอาเซียน เพิ่งเปิดใช้งานศูนย์อีคอมเมิร์ซข้ามแดนของ (เฟสแรก) เป็นที่เรียบร้อย โดยในส่วนของโกดังสินค้ามีพื้นที่กว่า 8,000 ตร.ม. ศูนย์แห่งนี้เป็น “ข้อต่อ” สำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์ของ LAZADA และเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญของ LAZADA ในนครหนานหนิง หลังจากที่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 LAZADA ได้จัดตั้งใน “ศูนย์บริการนวัตกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามแดน” เพื่อฝึกอบรมบุคลากร/ธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดนให้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาในประเทศสมาชิกอาเซียน
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงนครหนานหนิงเป็นพื้นที่ที่ได้รับนโยบายพิเศษภายใต้กรอบเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยนครหนานหนิง โดยมีเขตทดลอง CBEC นครหนานหนิง และเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรหนานหนิงเป็นพื้นที่มีฟังก์ชันรองรับการพัฒนาของธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดนที่มีความครบครัน รวมถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การชำระเงิน โลจิสติกส์ พิธีการศุลกากร การคืนภาษี และการชำระบัญชีเงินโอน ปัจจุบัน มีบริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามแดนเข้าไปจัดตั้งแล้วกว่า 100 ราย ครอบคลุมธุรกิจผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์ม โลจิสติกส์ และคลังสินค้า อาทิ Alibaba / JD.com / LAZADA / SF Express / FTZCOC และยังคงเปิดรับนักลงทุนอยู่ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการค้าดิจิทัล (Digital Trade) และธุรกิจโลจิสติกส์อัจฉริยะ
ภายในเขตทดลอง CBEC นครหนานหนิง ยังมีศูนย์บิ๊กดาต้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน ศูนย์สั่งซื้อสินค้าข้ามแดน (Cross-border Bonded Direct Purchase Center) และคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับสาธารณะเช่าใช้ และยังมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Single Window) ซึ่งช่วยให้การตรวจปล่อยพัสดุสินค้าข้ามแดนมีประสิทธิภาพและรวดเร็วเป็นอย่างมาก โดยสามารถลดระยะเวลาการดำเนินพิธีการศุลกากรจาก 8 ชั่วโมง เหลือ 1 ชั่วโมง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานรองรับระบบห่วงโซ่ความเย็น สำหรับสินค้าสด อย่างผลไม้และเนื้อสัตว์แช่แข็ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้สนามบินนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง
“นครหนานหนิง” จึงเป็นช่องทางและโอกาสใหม่ที่ภาคธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐในการบุกเบิกตลาดสินค้าไทยผ่านแพลตฟอร์ม CBEC ได้ อย่างไรก็ดี สองฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลของการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินและการค้าระหว่างสองทางสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
ที่มา : https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!