CEO ARTICLE
ลำดับพิกัด
“พิกัดฮาร์โนไนซ์ (HS Code) มีความสำคัญมากที่สุด”
คำกล่าวนี้เข้าใจได้ไม่ยาก แต่จำนวนพิกัดมีนับพันนับหมื่นตอนย่อย การค้นหาพิกัดสินค้าจึงเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ทำอย่างไรในเบื้องต้นจึงจะค้นหาพิกัดสินค้าได้ใกล้เคียงที่สุด ???
ปัจจุบัน การนำเข้าและการส่งออกส่วนใหญ่ หากไม่ต้องชำระอากรศุลกากรก็มักเกี่ยวพันกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Agreement)
เลขพิกัดฮาร์โมไนซ์ที่มีบทบาทในการกำหนดอัตราอากรศุลกากร การยกเว้น หรือการลดหย่อนอากรศุลกากรจึงจะผิดไม่ได้ มีบทลงโทษ และมีความสำคัญมากที่สุดดังกล่าวข้างต้น
แต่พิกัดฮาร์โมไนซ์ที่ปรับปรุงใช้ในปี 2565 มี ‘ตอนย่อย’ ระดับโลก 6 หลัก 5,612 ตอนย่อย และระดับอาเซี่ยน 8 หลัก 11,417 ตอนย่อย จึงเป็นการยากสำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออกทั่วไปที่จะค้นหาพิกัด ‘ตอนย่อย’ ให้ถูกต้องได้ง่าย ๆ มันจึงเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรจริง ๆ
แต่หากนำพิกัด ‘ตอนย่อย’ มาจัดกลุ่มเป็น ‘ตอน’ พิกัดสินค้านับพันนับหมื่นตอนย่อยก็จะลดลงเหลือเพียง 97 ตอน โดยมีรหัสเลขตัวหน้า 2 หลัก ตั้งแต่ตอนที่ 01 ถึง 97
ยิ่งไปกว่านั้น หากนำพิกัดสินค้าทั้ง 97 ตอน มาจัดเป็น ‘หมวด’ ก็จะเหลือเพียง 21 หมวด
การเริ่มต้นค้นหาพิกัดจาก 21 หมวดเพื่อย้อนไปที่ ‘97 ตอน’ เลข 2 หลัก และ ‘ตอนย่อย’ เลข 6 – 8 หลักก็จะง่ายขึ้น แม้จะไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วย แต่ก็ง่ายกว่า ‘การงมเข็มในมหาสมุทร’
การเริ่มต้นค้นหาพิกัดจาก 21 หมวดด้วยวิธีง่าย ๆ ก็ให้คิดถึงวิวัฒนาการของสินค้าตั้งแต่โลกกำเนิดขึ้นจนนำไปสู่การซื้อ การขาย การผลิต และการค้าระหว่างประเทศ (ผู้เขียน)
เมื่อโลกคลายความร้อน มีอุณภูมิ และสภาพเหมาะต่อการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต สัตว์จึงควรเป็นสินค้าหมวดแรกที่มนุษย์นำมาซื้อขาย
ส่วน ‘พืช’ ที่มนุษย์และสัตว์ใช้เป็นอาหารก็ควรเป็นสินค้าหมวดที่ 2 ต่อมา
ภายหลัง ‘สัตว์’ และ ‘พืช’ ตายลง ทับถมเป็นไขมัน หมวดต่อมาจึงเป็น ‘ไขมัน’ ไล่เรียงตามลำดับวิวัฒนาการไปสู่หมวดของ ‘อาหาร แร่ เคมี พลาสติก หนังสัตว์ ไม้ สิ่งทอ และอื่น ๆ’
แต่สินค้าไม่ได้มีวิวัฒนาการทีละตัวแบบแนวตั้งตรง แต่เป็นแบบกระจายทั้งในแนวตั้งและแนวราบ การกำเนิดของสินค้าใหม่ ๆ จึงกระจายไปหลายแนวตามไปด้วย
เมื่อนำสินค้าที่องค์การศุลกากรโลก หรือ WCO (World Customs Organization) จัดเรียงลำดับไว้ 21 หมวด มาทำความเข้าใจสัก 2-3 รอบ วิวัฒนาการของ ‘หมวด’ สินค้าที่กระจายก็จะเห็นชัดเจนขึ้น การเรียงลำดับ ‘หมวด’ สินค้าตาม WCO ก็จะชัดเจนและง่ายขึ้นไปด้วย
เมื่อได้ ‘หมวด’ สินค้าแล้ว ก็ให้เปิด ‘หนังสือพิกัด’ ที่กรมศุลกากรมีจำหน่าย หา ‘ตอน’ และ ‘ตอนย่อย’ ที่อยู่ใน ‘หมวด’ นั้นมาพิจารณาชื่อสินค้าภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ปรากฎ
หากสอดคล้องกัน โอกาสถูกต้องก็มาก แต่หากต้องการคำอธิบายให้แน่ใจก็ให้หาหนังสือคำอธิบายความหมายของพิกัดหรือ EN (Explanatory Notes) ที่ WCO จัดทำเพื่อลดความขัดแย้งมาตรวจสอบอีกครั้งโดยมีผู้ซื้อเข้ามาและทำสำเนา EN ในประเทศไทยให้แก่ผู้สนใจหาซื้อได้ หรืออาจหารือผู้ชำนาญการศุลกากร (Customs Specialist) ในการจัดหา EN หรือตรวจซ้ำก็ได้
การคิดถึงวิวัฒนาการของสินค้า และการมองหมวดสินค้าที่ WCO เรียงลำดับสัก 2-3 รอบ จะสร้างความเข้าใจ ‘ลำดับพิกัด’ ในเบื้องต้นได้ใกล้เคียง ทำให้เกิดข้อสงสัย เกิดการพิจารณา การตรวจสอบ ส่งผลให้ข้อผิดพลาด และความสูญเสียลดน้อยลงด้วยตัวผู้นำเข้าและผู้ส่งออกเอง
การเอาใจใส่พิกัดฮาร์โนไนซ์ (HS Code) ที่มีความสำคัญมากที่สุดจึงเป็นสิ่งควรทำ
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
ปล. ‘ลำดับพิกัด’ เรียงตามหมวดสินค้าโดยองค์การศุลกากรโลก
หมวดที่ 1 สัตว์มีชีวิต ผลิตภัณฑ์จากสัตว์
หมวดที่ 2 ผลิตภัณฑ์จากพืช
หมวดที่ 3 ไขมันและน้ำมันที่ได้จากสัตว์หรือพืช
หมวดที่ 4 อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่ม สุรา และน้ำส้มสาย
หมวดที่ 5 แร่ ผลิตภัณฑ์จากแร่
หมวดที่ 6 ผลิตภัณฑ์ทางเคมี
หมวดที่ 7 พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ยางและของที่ทำด้วยยาง
หมวดที่ 8 หนังดิบ หนังฟอก หนังเฟอร์ และของที่ทำด้วยหนัง
หมวดที่ 9 ไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้ เครื่องจักสานและเครื่องสาน
หมวดที่ 10 เยื่อไม้ กระดาษ หนังสือ รูปภาพ ผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมการพิมพ์
หมวดที่ 11 สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผ้า เครื่องแต่งกาย ของทำด้วยสิ่งทอ
หมวดที่ 12 รองเท้า เครื่องสวมศีรษะ ร่ม ไม้เท้า ขนสัตว์ปีก ของทำด้วยผมคน
หมวดที่ 13 ของทำด้วยหิน ปลาสเตอร์ แอสเบสทอส แก้วและเครื่องแก้ว
หมวดที่ 14 ไข่มุก รัตนชาติ เครื่องเพชรพลอย เหรียญกษาปณ์
หมวดที่ 15 โลหะสามัญ ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก และของที่ทำด้วยโลหะดังกล่าว
หมวดที่ 16 เครื่องจักร เครื่องใช้กล เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า
หมวดที่ 17 ยานบก อากาศยาน ยานน้ำ
หมวดที่ 18 อุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ การถ่ายรูป การวัด นาฬิกา เครื่องดนตรี
หมวดที่ 19 อาวุธ กระสุน
หมวดที่ 20 เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเตียง ฟูก เครื่องประทีบโคมไฟ ของเบ็ดเตล็ด
หมวดที่ 21 ศิลปกรรม ของที่นักสะสมรวบรวม และโบราณวัตถุ
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : December 21, 2021
Logistics
นายกฯ สั่งศึกษาดันไทยเป็นฮับโลจิสติกส์ทางน้ำภูมิภาค คาด ก.ย.65 เปิดบริการเดินเรือ Domestic
โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ผลักดันไทยเป็นฮับโลจิสติกส์ทางน้ำของภูมิภาค สั่งการเร่งศึกษา ความเป็นไปได้-ความคุ้มค่าในการตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ เตรียมเปิดให้บริการเดินเรือ Domestic คาดสามารถเริ่ม ก.ย. 65
วันที่ 19 ธ.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งเร่งศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ตลอดจนความคุ้มค่าในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ สอดคล้องการเชื่อมโยงตะวันออกสู่ภาคใต้ ระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน (Land Bridge) ตามนโยบายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถขนส่ง ลดการพึ่งพากองเรือต่างชาติ และส่งเสริมให้ไทยมีระบบโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ ครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ จำกัด มี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน อยู่ในระหว่างขั้นตอนการเตรียมลงนามจ้างศึกษา ซึ่งคาดว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะลงนามในสัญญาจ้างศึกษาในเดือน ม.ค. 2565 และจะศึกษาแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.2565 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ก.ย. 2565 และเริ่มให้บริการเดินเรือ Domestic ทั้งนี้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน (Action Plan) เพื่อเตรียมการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ โดยให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ล่าสุด คณะทำงานฯ ได้ลงสำรวจศักยภาพและความเป็นไปได้ในการเดินเรือในอ่าวไทย (Domestic Marine Line) และประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้ที่เกี่ยวข้องใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ สงขลา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา และยังได้ลงพื้นที่ดูการขนส่งสินค้าในอ่าวไทยที่ท่าเรือจุกเสม็ด ชลบุรี พร้อมมอบแนวทาง 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) ในประเทศ (เน้นร่วมมือกับเอกชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเทียบเรือให้เป็นระบบ Automation และการอนุญาตทางระเบียบกฎหมายต่างๆ) 2) ระหว่างประเทศ (ขนส่งทางฝั่งตะวันออก และตะวันตก) โดยให้กรมเจ้าท่า และ กทท. ศึกษาถึงการสนับสนุนเอกชนในด้านสิทธิประโยชน์ เพื่อจูงใจผู้ประกอบการเดินเรือชักธงไทยมากขึ้น
“นายกรัฐมนตรีมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถขนส่งทางน้ำของไทย ลดการพึ่งพาเรือต่างชาติ ลดต้นทุนการขนส่ง ลดการขาดดุลค่าระวางและเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับเรือไทย ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมการพัฒนากองเรือไทยและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อู่ซ่อมเรือ อู่ต่อเรือ เป็นต้น และยังพัฒนาบุคลากรด้านพาณิชย์นาวีให้มีคุณภาพมากขึ้น ขยายขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางทะเลเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเดิมที่ให้บริการท่าเทียบเรือ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ทางโลจิสติกส์ทางน้ำ ตลอดจนสนับสนุนการขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกทางทะเลไทยให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น” นายธนกร กล่าว
ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9640000125119
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!