CEO ARTICLE
เล่นกับ KPI
KPI เป็นคำที่ผู้ปฏิบัติงานทั่วไปไม่ชอบ เหมือนมีก้อนหินคอยกดทับให้ขาดความสุข
ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยน KPI ให้เป็นขวัญ กำลังใจ เปลี่ยนเป็นความสุขแก่ผู้ปฏิบัติงาน เป็นผลงาน และเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายบริหารนอกเหนือจากเพียงเป็นผลงานที่อยากได้ ???
KPI ย่อมาจากคำว่า Key Performance Indicator
Key = “หัวข้อสำคัญที่กำหนดให้เป็นเป้าหมาย” Performance = “ผลที่ได้ทำตามหัวข้อที่เป็นเป้าหมาย” Indicator = “ตัวเลขดรรชนีชี้วัดผลงานที่สำเร็จ”
ในภาพรวม KPI จึงหมายถึง “ตัวเลขด้านหนึ่งที่ฝ่ายบริหารหยิบยกขึ้นมา และกำหนดให้เป็นเป้าหมายเพื่อใช้ชี้วัดผลงานที่สำเร็จของผู้ปฏิบัติงาน”
ผู้ใดปฏิบัติได้ตามตัวเลขที่กำหนด ผู้นั้นถือว่ามีผลงานที่สำเร็จตามเป้าหมาย
หากจะว่าไปแล้ว KPI คล้ายดาบ 2 คม คมหนึ่งเป็นการกดดันผู้ปฏิบัติงานให้ทำงานให้ได้ผลสำเร็จ เมื่อทำไม่ได้จึงเหมือนถูกกดทับ ในด้านนี้ KPI จึงเป็น ‘ผู้ร้าย’
ส่วนอีกคมหนึ่งเป็นตัวเลขที่ชัดเจนเพื่อวัดผลงาน ใครทำได้ก็ขึ้นรับรางวัล ยิ้มแย้ม ดีใจ ในด้านนี้ KPI จึงเป็นตัวแทนระบบ ‘คุณธรรม’ หลีกเลี่ยงการใช้ระบบ ‘อุปถัมภ์’ และเป็น ‘พระเอก’
การจะทำให้ KPI ลดบทบาทความเป็นผู้ร้ายลง แต่เป็นพระเอกมากขึ้นด้วยวิธีการเล่นง่าย ๆ คือ การสร้างขั้นตอนการทำงาน (Job Process) ที่ชัดเจนให้เป็นเงื่อนไขแก่งานที่มี KPI
หากปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงานแล้ว แต่ติดปัญหาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่มีใครควบคุมได้ ทำให้พลาด KPI ก็ให้ผู้ปฏิบัติงานรายงานล่วงหน้าพร้อมหลักฐานที่น่าเชื่อถือ
หากฝายบริหารเห็นชอบก็ให้พิจารณาการปฏิบัติตามขั้นตอนฯ ที่ครบถ้วนแล้วได้ KPI
หากเล่นกับ KPI แบบนี้ได้ แรงกดทับจะน้อยลง โอกาสที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้ KPI 100% ในแต่ละเดือนก็มากขึ้น ใครทำ KPI 100% ได้ 3 เดือนหรือ 6 เดือนติดต่อกันก็มีรางวัลให้
ในมุมนี้ KPI จะเป็นขวัญ เป็นกำลังใจ เป็นความสุข และมีความเป็นพระเอกมากกว่า
ในความเป็นจริงแล้ว ใครก็ตามที่ปฏิบัติตามขั้นตอนฯ อย่างครบถ้วน ประสิทธิภาพก็จะได้ ความสำเร็จ และ KPI ก็มีโอกาสได้มากอยู่แล้ว ยกเว้นงานเกี่ยวกับการขายที่มีอารมณ์ผู้ซื้อเข้ามาเกี่ยวข้อง หรืองานที่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ๆ
ตัวอย่างเช่น พนักงานธนาคารได้รับ KPI ให้ขายประกันให้ได้เดือนละ 3 ราย ทั้งที่ทำตามขั้นตอนฯ ครบถ้วน มีการตลาดล่วงหน้า และเสนอไปยังลูกค้าที่สามารถซื้อได้ 10 รายตามจำนวนที่กำหนดแล้ว แต่อยู่ในช่วง Covid-19 เศรษฐกิจตก หรืออารมณ์ลูกค้ายังไม่อยากซื้อ
อีกตัวอย่างเช่น คนขับรถบรรทุกต้องไปส่งสินค้า KPI กำหนด 17.00 น. ทำตามขั้นตอนฯ ครบถ้วนแล้ว แต่สภาพการจราจรติดขัดเกินคาดทำให้ไปถึงเกินเวลา KPI เป็นต้น
ทั้ง 2 ตัวอย่าง หากผู้ปฏิบัติรายงานล่วงหน้าพร้อมหลักฐานการปฏิบัติตามขั้นตอนฯ และฝ่ายบริหารยอมรับปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก แบบนี้หากฝ่ายบริหารถือว่าการปฏิบัติตามขั้นตอนฯ ครบถ้วนนั้นได้ KPI แทน ความกดดันจะผ่อนคลายลงทันที
ฝ่ายบริหารส่วนใหญ่จะพอใจกับการปฏิบัติตามขั้นตอนฯ ที่ครบถ้วนอยู่แล้ว ลูกค้าที่ไม่ซื้อในวันนี้ก็อาจกลับมาซื้อในอนาคตได้ แต่หากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนฯ อย่างครบถ้วน ผู้ปฏิบัติงานก็จะยอมรับการไม่ได้ KPI จากเงื่อนไขที่ผ่อนคลายได้ง่ายเช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายบริหารยังจะได้ประโยชน์จากการได้รับรายงานล่วงหน้าอีกด้วย
การรายงาน (Reporting) เป็นเครื่องมือประสิทธิภาพที่ดีที่ส่งจากผู้ปฏิบัติงานเบื้องล่างขึ้นสู่ฝ่ายบริหารเบื้องบน (Bottom Up) ทำให้ฝ่ายบริหารที่ส่วนใหญ่นั่งอยู่ในห้องรับรู้สถานการณ์จริง เข้าแก้ไขปัญหาได้เร็ว ประสิทธิภาพและผลงานในภาพรวมจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
การเล่นกับ KPI จึงเป็นดึงให้มีการรายงานมากขึ้น ปัจจัยภายนอกได้รับการวิเคราะห์มากขึ้น ส่งผลให้ปัจจัยภายในที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพและความสำเร็จพัฒนาตามไปด้วย
การเล่นกับ KPI จึงเป็น ‘การจัดการเชิงกลยุทธ์’ ที่ให้ประโยชน์จากเงื่อนไขที่ผ่อนคลาย ได้ ขวัญ กำลังใจ ความสุข และประสิทธิภาพที่ส่งถึงความสำเร็จร่วมกันเป็นทีมได้ง่าย แม้วิธีการนี้จะดูไม่เหมาะกับองค์กรที่ต้องการความจริงจังของ KPI ก็ตาม
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
ในวาระส่งท้ายปีเก่า 2564 คณะผู้จัดทำขอส่งบทความ ‘เล่นกับ KPI’ ที่เป็นกลยุทธ์ในการจัดการเพื่อให้ท่านผู้อ่านก้าวสู่ปีใหม่ 2565 ได้อย่างมีกลยุทธ์ และขอให้สิ่งเก่าที่ไม่ดีในปี 2564 จบสิ้นเพื่อก้าวเข้าสู่ปี 2565 ที่ดีต่อไป
ลาทีปีเก่า 2564
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : December 28, 2021
Logistics
แอร์คาร์โก้ ธุรกิจที่น่าจับตามองของนครหนานหนิง หนานหนิง-กรุงเทพฯ เปิดฤกษ์ขนสินค้าทะลุ 2 หมื่นตัน
ด้วยความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจการค้า และยุทธศาสตร์ Gateway to ASEAN ในทุกมิติ ทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (Nanning Wuxu International Airport/南宁吴圩国际机场) กลายเป็นหนึ่งในด่านสากลทางอากาศที่สำคัญที่รัฐบาลกว่างซี(จีน) กำหนดตำแหน่งให้เป็น Hub การบินที่ใช้เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะด้านการค้าและการแลกเปลี่ยนภาคประชาชน
ปัจจุบัน ธุรกิจขนส่งทางอากาศ หรือแอร์ คาร์โก (Air Cargo) กำลังทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นในระบบการค้าและโลจิสติกส์ระหว่งประเทศ ยิ่งท่ามกลางสภาวะธุรกิจการค้ายุคใหม่ที่ทั่วโลกต้องปรับตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการในการขนส่งสินค้าทางอากาศเติบโตเพิ่มขึ้น และคาดว่าแนวโน้มธุรกิจแอร์ คาร์โกจะยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง
ปี 2564 นับเป็น “ปีทอง” ของการเปิดให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศของท่าอากาศยานหนานหนิงเพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการเพิ่มความถี่ของเส้นทางบินเดิมและการเปิดให้บริการในเส้นทางบินใหม่ไป-กลับ นครหนานหนิง – กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ โฮจิมินต์ มะนิลาและดาเวา (ฟิลิปปินส์) ปัจจุบัน มีเที่ยวบินคาร์โก้ต่างประเทศ 9 เส้นทาง ไปยัง 6 ประเทศในอาเซียน
ล่าสุด ท่าอากาศยานหนานหนิง มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศทะลุ 20,000 ตันแล้ว หลังจากที่เครื่องบินขนส่งสินค้าในเส้นทาง “นครหนานหนิง-กรุงเทพฯ” ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยเที่ยวบินดังกล่าวมีบริษัท Zhongyuan Longhao Airlines Co.,Ltd. (中原龙浩航空有限公司) ผู้ดำเนินการ
ที่ผ่านมา สินค้าที่ขนส่งมาที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นไปรษณีย์ภัณฑ์ที่สั่งซื้อผ่านระบบ Cross-border e-Commerce สินค้าทั่วไป และชิ้นส่วนที่ใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง ขณะที่สินค้าที่รับจากกรุงเทพฯ กลับไปที่นครหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ปลาสวยงาม ดอกกล้วยไม้ และพืชผัก
การดำเนินงานเชิงรุกของท่าอากาศยานหนานหนิง เพื่อส่งเสริมผลักดันการเติบโตของธุรกิจแอร์ คาร์โก อาทิ
มุ่งส่งเสริมการเปิดให้บริการเส้นทางบินคาร์โก้ (All cargo) และดึงดูดให้สายการบินที่เป็น All cargo ไปตั้งเครือข่ายสำนักงานที่สนามบิน (เช่น Tianjin Air Cargo, Hangzhou Yuantong Air Cargo) และสนับสนุนให้สายการบินปรับเที่ยวบินผู้โดยสารเป็นเที่ยวบินขนส่งสินค้า และพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบินคาร์โก้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
พัฒนาโมเดลการขนส่งสินค้าทางอากาศกับพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ Greater Bay Area หรือ GBA (กวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า) พื้นที่แถบเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง เจียงซู) ในลักษณะการแวะ/เปลี่ยนถ่าย (transit) ที่ท่าอากาศยานหนานหนิง
พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับงานขนส่งได้มากขึ้น ที่ผ่านมา เพิ่งเปิดใช้ “คลังสินค้าระหว่างประเทศ” ซึ่งสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ 80,000 ตัน/ปี และกำลังก่อสร้าง “ศูนย์คมนาคมขนส่งภาคพื้นดิน” หรือ Ground Transportation Centre (GTC) ซึ่งจะเป็นชุมทางการขนส่งหลายรูปแบบ รวมถึงรถไฟความเร็วสูงด้วย
พัฒนาฟังก์ชันของด่านอากาศยานให้มีความพร้อมครบครัน มีฟังก์ชันรองรับการนำเข้า-ส่งออกอย่างครบครัน ทั้งสินค้าทั่วไป พัสดุส่งด่วนและไปรษณียภัณฑ์ รวมถึงสินค้ามีชีวิต (มีการนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมค์มีชีวิตจากไทย)
หลายปีมานี้ การขนส่งสินค้าทางอากาศของท่าอากาศยานหนานหนิงมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ปริมาณขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 821.7 ตันในปี 2560 เป็น 2,294.99 ตันในปี 2562 (1.8 เท่า) และเพิ่มเป็น 10,858.4 ตันในปี 2563 (3.7 เท่า) และทะลุ 20,000 ตันแล้วในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564
ทั้งนี้ กว่างซีได้กำหนดแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี ในการพัฒนาท่าอากาศยานนครหนานหนิงเป็น Hub การขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2565 จะมีปริมาณขนถ่ายสินค้า 40,000 ตัน และปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 ตัน นอกจากการเชื่อมโยงเส้นทางบินหลักในประเทศแล้ว ยังมุ่งพัฒนาเส้นทางบินให้ครอบคลุมหัวเมืองสำคัญในอาเซียนด้วย
ปัจจุบัน สินค้าที่ใช้บริการแอร์ คาร์โกของท่าอากาศยานหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ซื้อขายขายแพลตฟอร์ม e-Commerce สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทั้งจากในพื้นที่และจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญของจีน ขณะที่สินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเล งานศิลปะหัตถกรรม และสินค้า OTOP ท้องถิ่น
บีไอซี เห็นว่า “ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็นอีกหนึ่งช่องทางใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย (ระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง) การเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ ในการบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ำมีชีวิต กล้วยไม้ไทย และสินค้าทั่วไปที่ซื้อขายในรูปแบบ Cross-border e-Commerce เพื่อเจาะตลาดจีนตอนใต้ได้
ปีนี้ นครหนานหนิงเตรียมขยายโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งนี้ให้มีศักยภาพรองรับงานขนส่งทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น อาทิ ทางวิ่งเส้นที่ 2 ความยาว 3.8 กิโลเมตร รวมทั้งการเร่งเตรียมการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 3 (Terminal 3) และคลังสินค้า เพื่อให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 48 ล้านคนครั้ง และปริมาณสินค้าทั้งในและต่างประเทศรวม 5 แสนตัน
ทั้งนี้ ผู้ค้าไทยสามารถใช้จุดได้เปรียบจากทำเลที่ตั้ง เพื่อใช้ท่าอากาศยานหนานหนิงเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังเมืองและมณฑลต่างๆ โดยไม่จำกัดรูปแบบการขนส่งเชื่อมต่อเฉพาะเครื่องบินเท่านั้นแต่ยังสามารถใช้รูปแบบการขนส่งทางถนนและทางรถไฟที่เชื่อมโยงถึงกันได้อีกด้วย
ในอนาคต ภายหลังจากที่ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานแห่งนี้ได้พัฒนาแล้วเสร็จ และผ่านการตรวจรับจาก GACC แล้ว ท่าอากาศยานแห่งนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก ผลไม้เกรดพรีเมียม รวมถึงผลไม้มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง (บอบช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้ง 22 ชนิดได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการ GTC ในการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อระหว่างเครื่องบินกับรถไฟความเร็วสูง เพื่อการลำเลียงและกระจายสินค้าไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีนได้ด้วย
ที่มา : https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!