CEO ARTICLE
รู้ทัน AI
กรมศุลกากรใช้ระบบคล้าย AI ทำงานแทนเจ้าหน้าที่เพื่อชี้เป้าสินค้าให้สุ่มตรวจ และเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้า แต่ก็ไปกระทบสินค้าที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่และแผนงานโลจิสติกส์
ทำอย่างไรจึงจะรู้ทัน AI ไม่ถูกสุ่มตรวจง่าย ๆ ให้เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่าย ?
กรมศุลกากรใช้ระบบนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 แม้จะไม่ใช่ AI แต่ก็คล้าย มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตก็มีแผนจะนำ AI (Artificial Intelligent) หรือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ที่แท้จริงมาใช้
ปัจจุบัน โลกและการค้าเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีความรุนแรง ผันผวน และมีความฉับพลัน หรือที่เรียกว่า ‘VUCA’ (ศูนย์ประมวลข้อมูลการข่าวทางศุลกากร)
V = Volatility หมายถึง ภาวะที่มีความผันผวนสูง ยากจะคาดเดา
U = Uncertainty หมายถึง ภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง สามารถเปลี่ยนแปลงได้มาก
C = Complexity หมายถึง ภาวะที่มีความซับซ้อนสูง มีปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณามาก
A = Ambiguity หมายถึง ภาวะที่มีความคลุมเครือสูง ไม่ชัดเจน ยากจะคาดเดาผลลัพธ์ได้
ความเปลี่ยนแปลงแบบ ‘VUCA’ ส่งผลให้การนำเข้าและการส่งออกมีมากขึ้น ข้อมูลที่ส่งในใบขนสินค้าผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และการตรวจสอบของเจ้าหน้ามากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวก ความล่าช้า และความวุ่นวายแก่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก
ในทางตรงกันข้าม มันคือ ‘ความเสี่ยงทางศุลกากร’ ที่มีมากขึ้นตามไปด้วย ในที่สุดก็เกิด ‘การบริหารความเสี่ยงทางศุลกากรในยุคดิจิทัล’ (Customs Risk Management in Digital 4.0) ที่กรมศุลกากรจัดทำขึ้นเพื่อ ‘วิเคราะห์ความเสี่ยง’
ระบบบริหารความเสี่ยงเริ่มจากการสร้าง ‘เงื่อนไขความเสี่ยง’ ลงไปในระบบคอมพิวเตอร์
เมื่อใดที่ข้อมูลสินค้าที่ปรากฎในบัญชีเรือ (Shipping Manifest) ในระบบ NSW (National Single Window) ที่กรมศุลกากรได้รับก่อนเรือเทียบท่า และข้อมูลใบขนสินค้าที่ต้องยื่นขณะผ่านพิธีการไปสอดคล้องกับ ‘เงื่อนไขความเสี่ยง’
เมื่อนั้น ระบบฯ จะเลือกใบขนสินค้าชุดนั้นออกมาให้สุ่มตรวจโดยอัตโนมัติ
ในทางทฤษฏี ระบบฯ ทำงานชี้เป้าแทนเจ้าหน้าที่ ลดการพิจารณา ลดการเผชิญหน้า ลดการเจรจา ลดเวลา และลดความยุ่งยากที่ส่งผลให้เกิดความสะดวกทางการค้า เกิดการอำนวยการมากขึ้น และงานโลจิสติกส์เป็นไปตามแผนได้อย่างดี
แต่ในทางปฏิบัติ ระบบฯ ทำงานตั้งแต่ ‘ก่อน’ การยื่นพิธีการศุลกากร ‘ขณะ’ ปฏิบัติพิธีการศุลกากร และ ‘ภายหลัง’ พิธีการศุลกากร ระบบฯ ทำงาน 3 ระยะโดยอัตโนมัติ และทำให้เกิดการสุ่มตรวจสถานประกอบการย้อนหลัง (Post Audit) ที่สร้างความเดือดร้อนอย่างที่เห็น
การใช้ระบบคอมพิวเตอร์ และ AI จริง ๆ ในอนาคตเป็นสิ่งที่ดีที่ควรสนับสนุน
แต่การที่สินค้าปกติ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่ไม่มีเจตนาหลบเลี่ยง หรือหนีภาษียังคงโดนสุ่มตรวจ หรือถูกตรวจสถานประกอบการในภายหลังน่าเกิดจากสาเหตุ 3 ประการ (ผู้เขียน) คือ
1. ข้อมูลสินค้าที่พิมพ์จากผู้ขายต่างประเทศ อาจถูกได้ ผิดได้ โดยเฉพาะมาจากประเทศที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ และข้อมูลจากบัญชีเรือที่ได้รับก่อนสินค้าเทียบท่า คอมพิวเตอร์แยกแยะถูกผิดไม่ได้ เมื่อข้อมูลไปสอดคล้องกับ ‘เงื่อนไขความเสี่ยง’ ก็จะถูกดึงออกมาให้สุ่มตรวจทันที
2. การยื่นขอแก้ไขข้อมูลสินค้าและข้อมูลอื่นทั้งก่อนและหลังพาหนะเทียบท่า ข้อมูลที่ยื่นหรือแม้แต่การยื่นขอแก้ไขไปสอดคล้องกับ ‘เงื่อนไขความเสี่ยง’ ที่กำหนดจึงถูกดึงออกมาให้สุ่มตรวจ
3. ระบบฯ อาจกำหนดอัตราสุ่มตรวจไว้ล่วงหน้า เช่น 100 รายสุ่มตรวจ 10 ราย แล้วกำหนดลำดับไว้ในบัญชีเรือ เช่น ทุก ๆ ลำดับที่ลงท้ายด้วยเลข 9 ให้ดึงออกออกมาสุ่มตรวจ เป็นต้น
4. การสุ่มตรวจโดยศุลกากรที่ยังทำได้ในกรณีที่มีข้อสงสัยให้เห็นเฉพาะหน้า
หากเป็นเช่นนี้จริง ข้อ 3 – 4 ย่อมป้องกันไม่ได้ แต่ข้อ 1 – 2 ป้องกันได้อย่าง ‘รู้ทัน AI’
วิธีการที่ดีที่สุดคือ ‘การใช้ชื่อสินค้า’ ให้สอดคล้องกับชื่อที่ปรากฎใน ‘พิกัดอัตราศุลกากร’ เพราะไม่ว่าอย่างไรระบบ หรือ AI ก็คิดชื่อสินค้าขึ้นเองไม่ได้ ต้องอ้างอิงจากตัวอักษรในพิกัด
ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงชื่อสินค้าที่คิดขึ้นเองโดยเริ่มตั้งแต่การสั่งซื้อ การเปิด L/C และหลีกเลี่ยงการยื่นขอแก้ไขข้อมูลโดยไม่จำเป็นจนไปสะกิด ‘เงื่อนไขความเสี่ยง’ ให้ลุกขึ้นมาชี้เป้า
ยิ่งไปกว่านั้น หากโดนชี้เป้าบ่อย ๆ AI ในอนาคตอาจจดจำจนชี้เป้าหมายให้สุ่มตรวจซ้ำ ๆ อย่างหุ่นยนต์ เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และกระทบต่อแผนงานโลจิสติกส์อย่างว่า
ไม่มีใครรู้ว่า AI ในอนาคตจะบริหารความเสี่ยงให้กรมศุลกากร และแยกสินค้าที่หลบเลี่ยงหรือหนีภาษีออกมาชี้เป้าได้ดีเพียงใด แต่การเตรียมตัวอย่างรู้ทัน AI ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : February 22, 2022
Logistics
การส่งออกไปอียิปต์จำเป็นต้องเปิด Letters of Credit เท่านั้น เริ่มบังคับใช้ 1 มีนาคม 2565
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 ธนาคารกลางของอียิปต์ออกกฎระเบียบใหม่กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าของอียิปต์จะต้องเปิด Letter of Credit (L/C) ในการชำระค่าสินค้าที่นำเข้า ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยจะไม่รับการชำระเงินค่าสินค้าในรูปแบบอื่นทั้ง T/T, D/P และ D/A วัตถุประสงค์ของการออกมาตรการดังกล่าวเพื่อบริหารจัดการการนำเข้าและสอดคล้องกับการลงทะเบียนล่วงหน้าสำหรับสินค้านำเข้า (Pre-registration system) ที่ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวมีข้อยกเว้นให้สำหรับสาขาบริษัทต่างชาติและบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในอียิปต์ และยกเว้นให้สำหรับสินค้าที่ได้จัดส่งมาก่อนหน้าที่จะออกประกาศฉบับนี้
มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้าอียิปต์เป็นอย่างมาก โดยสหพันธ์หอการค้าอียิปต์ สหพันธ์อุตสาหกรรมอียิปต์ และสมาคมนักธุรกิจอียิปต์ ได้ทำหนังสือเรียกร้องให้ยกเลิกกฎระเบียบดังกล่าว เนื่องจาก กระทบต่อระบบ Supply chain ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาสินค้าในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และลดขีดความสามารถทางการแข่งขันของการส่งออกของอียิปต์ นอกจากนี้สหพันธ์ฯ ให้ความเห็นว่ากฎระเบียบใหม่นี้ เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของพลเมือง เนื่องจากจะทำให้การขนส่งยาและเวชภัณฑ์ล่าช้าออกไป อีกทั้งบริษัท SMEs จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากเครดิตไม่เพียงพอต่อต้นทุนของการขนส่ง สมาชิกหอการค้าฯ ได้แสดงความเห็นว่า การตัดสินใจดังกล่าวอาจทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15-20 กฎระเบียบใหม่จะเพิ่มต้นทุนและทำให้เกิดความกังวลสำหรับผู้นำเข้า ซึ่งปัจจุบันราคาสินค้าได้รับผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก และการเพิ่มมาตรการดังกล่าวจะทำให้ราคาสินค้าดีดตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยต้นทุนของ Letters of Credit คือร้อยละ 1.75 ในขณะที่ค่าธรรมเนียมสำหรับระบบการจัดเก็บเอกสารขาเข้า Documentary Collection จะอยู่ที่ร้อยละ 0.3-1.75 ขึ้นอยู่กับลักษณะของกระบวนการ ซึ่งก่อนหน้าผู้นำเข้านี้มีตัวเลือกในใช้ระบบ Documentary Collection เป็นกระบวนการที่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกแลกเปลี่ยนข้อมูล (ผ่านธนาคาร) ธนาคารจะเก็บค่าธรรมเนียมในการเบิกเงินจากบัญชีของผู้นำเข้าจากเอกสารที่มีใบกำกับสินค้า หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ใบตราส่งสินค้า และอื่นๆ ไปเรียกเก็บเงินกับผู้นำเข้าสินค้าผ่านธนาคาร ข้อดีของรูปแบบการชำระเงินแบบ Documentary Collection คือ ธนาคารจะไม่ให้เอกสารการส่งมอบแก่ผู้นำเข้าสินค้าจนกว่าผู้นำเข้าสินค้าจะปฏิบัติตามข้อตกลงการชำระเงิน แต่มีข้อเสียคือ ผู้ส่งออกมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงิน ในส่วนของ Letters of Credit นั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น มีข้อดีคือ ผู้ส่งออกมั่นใจว่าจะได้รับเงินเมื่อส่งมอบสินค้าลงเรือไปแล้ว แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูง และต้องใช้หลักประกัน มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยมายังอียิปต์ โดยเฉพาะผู้นำเข้าในระดับ SMEs ที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยรัฐบาลอียิปต์มีความต้องการที่จะเชื่อมโยงระบบธนาคารกับ ระบบแจ้งข้อมูลล่วงหน้าของสินค้า (Advance Cargo. Information System: ACI) เพื่อรวมข้อมูลเข้าสู่ระบบ Single window ทั้งด้านศุลกากรและทางการเงินไปพร้อมกัน
ความคิดเห็นของสคต.
สคต. ณ กรุงไคโร ประเมินว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้าและผู้ส่งออกค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนและระยะเวลาในการดำเนินการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และน่าจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าที่จะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ส่งออก/นำเข้าสินค้ามายังอียิปต์จะใช้วิธีการชำระเงินในรูปแบบ T/T, D/P และ D/A เป็นหลัก ดังนั้น การปรับเปลี่ยนรูปแบบเทอมการค้าและเทอมการชำระเงินที่กำหนดให้ใช้รูปแบบ L/C เท่านั้น จึงส่งผลกระทบต่อการตั้งราคาและเครดิตเทอมของผู้ประกอบการแต่ละรายที่เคยได้รับมาก่อนหน้านี้ และจำเป็นจะต้องเจรจาเทอมทางการค้าที่เกี่ยวข้องกันใหม่
การประกาศใช้มาตรการดังกล่าวเป็นการประกาศที่ค่อนข้างกระชั้นชิดและไม่มีเวลาในการปรับตัวสำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออกมากนัก ดังจะเห็นได้จากประกาศดังกล่าวได้ออกในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม ศกนี้ และก่อนหน้านี้ ไม่ได้มีการประชุมหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบข้อมูลหรือความคิดเห็นประกอบแต่อย่างใด โดยหลายฝ่ายโดยเฉพาะสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของอียิปต์ สมาคมนักธุรกิจอียิปต์ และผู้นำเข้าต่างแสดงความกังวลและไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลอียิปต์ เนื่องจากก่อให้เกิดภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและกระทบต่อระบบ supply chain และขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มีข้อจำกัดในด้านเครดิตเทอม
ในระหว่างนี้ สคต. เห็นควรให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้ามายังสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ประสาน ผู้นำเข้าเกี่ยวกับวิธีการชำระเงินค่าสินค้า โดยการเปิด L/C เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าวที่ธนาคารกลางอียิปต์กำหนดและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อสินค้ามาถึงปลายทาง และขอให้ติดตามสถานการณ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะหลายฝ่ายโดยเฉพาะภาคเอกชนภายในประเทศอียิปต์ยังคงแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย รวมไปถึงประเทศคู่ค้าสำคัญของอียิปต์ในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และจีน ซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวค่อนข้างมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง/ทบทวนมาตรการดังกล่าว
ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงไคโร จะติดตามสถานการณ์และรายงานความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะต่อไป
https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/762100/762100.pdf&title=762100&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!