CEO ARTICLE

ถามล่วงหน้า

Published on March 29, 2022


Follow Us :

    

ผู้นำเข้าที่ไม่รู้ค่าภาษีอากรล่วงหน้าและถูกเพิ่มภาษีเมื่อนำเข้ามาแล้ว ส่วนใหญ่มักอยู่ในสภาพจำยอม บางคนยอมจ่ายภาษีเพิ่ม บางคนขอวางประกันต่อสู้อุทธรณ์ และบางคนยอมทิ้งของ
ทำอย่างไรผู้นำเข้าจึงจะถามค่าภาษีอากรที่ถูกต้องได้ล่วงหน้า ?

การพิจารณาเงินภาษีอากรตาม พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 14 ให้ใช้องค์ประกอบ 3 ข้อ ประกอบด้วย
(ก) สภาพแห่งของ
(ข) ราคาศุลกากร
(ค) พิกัดอัตราศุลกากร
สภาพแห่งของ หมายถึง ลักษณะสินค้า น้ำหนัก ปริมาณ และอื่น ๆ ตามสภาพจริงที่เห็นและอาจรับรู้ได้ตั้งแต่ก่อนการสั่งซื้อ สภาพแห่งของจึงรู้ได้และไม่เป็นปัญหาแก่ผู้นำเข้ามากนัก
แต่ ‘ราคาศุลกากร’ และ ‘พิกัดอัตราศุลกากร’ เป็นข้อมูลทางวิชาการ สินค้าบางประเภทมีลักษณะซับซ้อน หรือมีส่วนผสมที่ส่งผลต่อข้อมูล 2 ด้านนี้จนเข้าใจยาก ต้องตีความ
ในอดีต ‘ราคาศุลกากร’ และ ‘พิกัดอัตราศุลกากร’ จึงอาจเป็นข้อมูลที่เข้าถึงได้ยาก หากมีการตีความคราใด ความรู้สึกของผู้นำเข้าก็มักมองว่าผลจะเอนเอียงไปทางศุลกากรมากกว่า และบ่อยครั้งก็ส่งผลให้ภาษีอาการสูงกว่าที่คาดการณ์
การถามและรับรู้ค่าภาษีอากรที่ถูกต้องล่วงหน้าในอดีตจึงทำได้ยากไปด้วย
ผู้นำเข้าส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการง่าย ๆ คือ การนำ ‘สภาพแห่งของ’ หรือลักษณะสินค้าถามโดยวาจาจากผู้มีประสบการณ์ ผู้ชำนาญการณ์ศุลกากร (Customs Specialist) ตัวแทนออกของ (Customs Broker) หรือแม้แต่จากเจ้าหน้าที่ศุลกากรเป็นการส่วนตัว
คำตอบที่ได้ก็อาจถูกหรือผิดก็ได้ ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่สามารถนำไปอ้างอิง
แต่จากวิวัฒนาการทางศุลกากรเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน การถามอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อนำไปอ้างอิงกลับทำได้ง่ายขึ้น พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 18 กำหนดให้เรื่องต่อไปนี้สามารถยื่นเป็นคำร้องเพื่อสอบถามได้ คือ
(1) ‘ราคาศุลกากร’ เพื่อการพิจารณาภาษีอากร
(2) ‘ถิ่นกําเนิดสินค้า’ ของสินค้าที่จะนําเข้า
(3) ‘พิกัดอัตราศุลกากร’ ที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลที่ให้สอบถามได้ทั้ง 3 ข้อส่งผลต่อการประเมินค่าภาษีอากรโดยตรงทั้งสิ้น
ผู้นำเข้าที่ประสงค์จะรับรู้ค่าภาษีอากรล่วงหน้า ป้องกันการถูกเพิ่มภาษีภายหลัง ไม่ต้องวุ่นวายกับการต่อสู้อุทธรณ์ที่อาจมีค่าปรับ หรือทิ้งของจึงควรใช้ช่องทางนี้ในการป้องกันตนเอง
กฎหมายยังให้อำนาจอธิบดีในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสอบถาม เช่น ให้มีค่าธรรมเนียมคำร้องละ 2,000 บาทสำหรับ สินค้า 1 ชนิด และกำหนดให้ผลของการสอบถามนี้มีผลผูกพันเฉพาะกรมศุลกากรและผู้ร้องขอ ในระยะเวลา 2 ปี โดยกำหนดให้คำวินิจฉัยใช้บังคับได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ออกหนังสือแจ้งผลของศุลกากร เป็นต้น

กฎหมายมีวิวัฒนาการไปมาก แต่น่าเสียดายที่ผู้นำเข้าและตัวแทนออกของบางรายละเลยช่องทางการสอบถามอย่างเป็นทางการนี้ แต่ยังคงใช้การสอบถามทางวาจาเช่นเดิม
หากเป็น ‘ถิ่นกำเนิดสินค้า’ และ ‘พิกัดอัตราศุลกากร’ ที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป การตรวจสอบกันเองโดยวาจาอย่างมีหลักการ มีเหตุผลก็ยังพอทำได้
แต่การกำหนด ‘ราคาศุลกากร’ ที่มีลักษณะซับซ้อนกว่า เป็นเรื่องที่ไม่รู้ได้โดยง่าย และเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อการประเมินภาษีอากร การสอบถามตามช่องทางกฎหมายจึงเป็นสิ่งควรทำอย่างยิ่ง ส่วนวิธีการสอบถามก็อาจมอบอำนาจให้ตัวแทนออกของเป็นผู้ยื่นคำร้องขอแทนผู้นำเข้าก็ได้
ในเมื่อกฎหมายมีช่องทางให้สอบถาม และในเมื่อผู้นำเข้าต้องการป้องกันความเสี่ยงด้านภาษีอากร ผู้นำเข้าก็ควรเลือกทางวิธีนี้ในการปกป้องตนเอง.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : March 29, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

กว่างซีเตรียมขุด ‘คลองขนส่ง’ เมกะโปรเจกต์เชื่อมเรือสินค้าวิ่งเชื่อมแม่น้ำกับทะเล ปลายปี 2565 นี้

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงพร้อมขุด “คลองขนส่งผิงลู่” (Pinglu Canal/平陆运河) ภายในสิ้นปี 2565 หลังจากที่โครงการได้ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้จัดตั้งคณะทำงานเป็นเรียบร้อย —- นับเป็นพัฒนาการล่าสุดของโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านการขนส่งของกว่างซี เพื่อสร้างช่องทางการค้าขนาดใหญ่ให้เรือบรรทุกสินค้าสัญจรเชื่อมระหว่างแม่น้ำซีเจียง (แม่น้ำสายหลักที่ใช้สำหรับงานขนส่งสินค้า) กับท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย”)

โปรเจกต์การขุดลอกและสร้าง “คลองขนส่งผิงลู่” ได้ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ในรัฐบาลยุคนี้ เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของ ดร.ซุนยัดเซ็น ที่เคยวางตัวให้ “คลองขนส่งผิงลู่” เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างชาติเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แต่ด้วยเหตุผลนานัปการ ทำให้โครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักไป จนกระทั่งหลายปีก่อน รัฐบาลกว่างซีได้รื้อฟื้นโปรเจกต์ดังกล่าวอีกครั้งภายใต้ “แผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี เพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเลเพื่อขับเคลื่อนกว่างซี”

รู้จัก “คลองขนส่งผิงลู่” —— พอเห็นคำว่า “คลอง” เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงนึกถึงภาพ ‘คลองอัมพวาที่จะมีพ่อค้าแม่ค้าพายเรือมาเร่ขายของ’ แต่…ต้องบอกว่า “คลองขนส่งผิงลู่” เป็นมากกว่าคลองที่เรารู้จัก เพราะ “คลองขนส่งผิงลู่” เป็นคลองเดินเรือสมุทรที่ใช้ขนส่งสินค้าเช่นเดียวกับคลองปานามา ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพงานขนส่งสินค้าทางน้ำและอำนวยความสะดวกด้านการค้าต่างประเทศได้อย่างมาก โดยคลองขนส่งเส้นนี้ได้รับการออกแบบให้มีศูนย์ชลประทานไว้คอยทำหน้าที่ควบคุมประตูเรือสัญจร (Navigation Lock) ภายในคลอง เพื่อยกระดับเรือให้สูงขึ้นหรือลดต่ำลงเมื่อเรือแล่นผ่านจากปากคลองด้านหนึ่งไปออกปากคลองอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากระดับน้ำในคลองกับน้ำทะเลในมหาสมุทรไม่เท่ากัน

“คลองขนส่งผิงลู่” มีความยาวราว 140 กิโลเมตร เริ่มต้นจากศูนย์ชลประทานซีจินในอำเภอระดับเมืองเหิงโจว (横州市) นครหนานหนิง ไปออกสู่ปากอ่าวเป่ยปู้ที่บริเวณท่าเรือเมืองชินโจว ร่องน้ำเดินเรือเป็นร่องน้ำมาตรฐานระดับ 1 ซึ่งสามารถรองรับขนาด 3,000 ตันขึ้นไปได้ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 68,000 ล้านหยวน นอกจากประโยชน์ด้านการเดินเรือแล้ว คลองขนส่งผิงลู่ยังมีบทบาทสำคัญด้านพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดบริเวณพื้นที่รอบอ่าวเป่ยปู้ ไม่ว่าจะเป็นการชลประทาน การส่งจ่ายน้ำ การป้องกันอุทกภัย และการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางน้ำด้วย

คลองขนส่งเส้นนี้จะเป็นตัวจักรที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า และดึงดูดการลงทุนเข้าสู่พื้นที่ได้อีกมาก โดยจะเข้ามาทดแทนงานขนส่งแบบเดิมระหว่างนครหนานหนิงกับพื้นที่ปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง ช่วยร่นระยะทางได้กว่า 560 กิโลเมตร ประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนค่าขนส่งอย่างมาก

คาดหมายว่า ในระยะใกล้ คลองขนส่งผิงลู่จะช่วยบรรเทาปัญหาการสัญจรทางน้ำในบริเวณปลายน้ำของแม่น้ำซีเจียง (ที่จะออกสู่ปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถพัฒนาโมเดลการขนส่งร่วม “รถไฟ+เรือ” ของพื้นที่มณฑลตอนในเชื่อมกับทะเลที่อ่าวป่ยปู้กว่างซีได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระด้านการขนส่งของแม่น้ำแยงซีเกียงได้เป็นอย่างดี

ในระยะไกล คลองขนส่งผิงลู่จะเชื่อมกับ “คลองขนส่งเซียง(หูหนาน)กุ้ย(กว่างซี)” เป็นการเชื่อมลำน้ำสาขาของแม่น้ำแยงซีเกียงกับลำน้ำสาขาของแม่น้ำเพิร์ลเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับเขตฯ กว่างซีจ้วง มณฑลหูหนาน มณฑลหูเป่ย มณฑลกวางตุ้ง รวมถึงพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำแยงซีเกียงอย่างมณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง ในการขนส่งสินค้าออกสู่ทะเลที่ปากอ่าวเป่ยปู้กว่างซีได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำด้วย

บีไอซี เห็นว่า ในอนาคต หากคลองขนส่งผิงลู่เปิดใช้งานแล้ว ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยมายังท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ และวิ่งผ่านคลองขนส่งผิงลู่เข้าสู่นครหนานหนิง หรือหัวเมืองอื่นๆ ผ่านระบบงานขนส่งทางแม่น้ำซีเจียง หรือใช้ฟังก์ชันด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรของนครหนานหนิงในการเป็นฐานการกระจายสินค้าไปยังมณฑลตอนในของจีนได้เช่นกัน

ที่มา : https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.