CEO ARTICLE
พิกัดเปลี่ยน
กรมศุลกากรมีหนังสือเชิญให้ไปชี้แจง ‘พิกัดสินค้า’ ที่เคยใช้นำเข้าสินค้ามานาน พิกัดอาจเปลี่ยนจากเดิมหรือไม่ แต่จะมีผลเสียอย่างไร และจะป้องกันปัญาหานี้อย่างไร ???
พิกัดสินค้า (Product Tariff) คือ ‘เลขรหัส’ (Code) หลายตัว ใช้กำกับสินค้าที่เคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ สินค้าเพื่อการนำเข้า เพื่อการส่งออก และเพื่อเก็บสถิติของแต่ละประเทศ
ทำไมสินค้านำเข้าและส่งออกจึงต้องมี ‘พิกัดสินค้า’ กำกับการเคลื่อนย้ายทุกครั้ง ?
คำตอบแบบง่าย ๆ คือ สินค้าชนิดเดียวกัน ผลิตจากวัตถุดิบเหมือนกัน หน้าตาเหมือนกัน แต่วัฒนธรรมในการเรียกชื่อสินค้าของประเทศผู้ขายและผู้ซื้อมีโอกาสต่างกัน
ตัวอย่างเช่น ‘กระดาษทิชชู่’ (Tissue Paper) เป็นคำรวมที่คนไทยเรียกกระดาษทำความสะอาดทุกประเภทว่า ‘ทิชชู่’ แต่วัฒนธรรมของคนบางประเทศกลับเรียกแยกประเภทให้ชัดเจน เช่น กระดาษชำระก็เรียก Toilet Paper ส่วนกระดาษเช็ดปากก็เรียก Serviette เป็นต้น
ผลของการเรียกชื่อต่างกันทำให้ความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้ หากเป็นชีวิตประจำวันก็แค่ขำ ๆ แต่หากเป็นการนำเข้าและการส่งออกที่มีภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องก็อาจมีความผิด อาจมีโทษปรับ และโทษจำคุกจนขำไม่ออก การเรียกชื่อสินค้าผิดจึงมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง
ด้วยเหตุนี้ องค์การศุลกากรโลก หรือ WCO (World Customs Organization) จึงกำหนดให้มี ‘พิกัดสินค้า’ เพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกันทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และศุลกากรทุกประะเทศ
เท่าที่ค้นพบปี พ.ศ. 2393 สมัยกรุงรันตนโกสินตอนต้น พิกัดสินค้าก็มีการใช้แล้ว แต่สินค้าแยกออกเพียง 5 กลุ่ม ใช้รหัสตัวเลขไม่กี่ตัว และมีการยอมรับเพียง 29 ประเทศเท่านั้น
ปัจจุบัน พิกัดสินค้าใช้ระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized System) หรือ HS Code ใช้กันทั่วโลกเกือบทุกประเทศ คำว่า ‘ฮาร์โนไนซ์’ หมายถึง การประสานไปในทิศทางเดียวกัน หรือการสร้างแนวความคิดให้ไปในทิศทางเดียวกัน
HS Code ในวันนี้จึงเป็นสากล แบ่งสินค้าออกเป็น 21 หมวด แยกออกเป็น 97 ตอน แต่ละตอนยังแยกย่อยออกเป็น 5,612 ตอนย่อยโดยใช้รหัส 6 หลัก แต่ประเทศในกลุ่มอาเชียนยังขอแยกสินค้าให้ย่อยมากขึ้น ขอเติมรหัสอีก 2 หลัก เป็น 8 หลัก จนสินค้ามีมากถึง 11,414 รายการ
พิกัดสินค้าจึงทำให้ความเข้าใจสินค้าของทุกประเทศตรงกัน เช่น ‘กระดาษ’ ไม่ว่าประเทศไหนจะเรียกว่าอะไร แต่เมื่อมีเลขรหัส 4818.10.00 กำกับก็หมายถึง กระดาษชำระ (Toilet Paper) และเลขรหัส 4818.30.20 ก็หมายถึงกระดาษเช็ดปาก (Serviette) ไม่ใช่แค่ ‘ทิชชู่’ เป็นต้น
ในทางปฏิบัติ ตัวเลขทุกตำแหน่งมีความหมาย และใช้ประโยชน์ต่อการกำหนดอัตราภาษี การยกเว้นภาษีให้มีความชัดเจน และสื่อความหมายอื่นอีกด้วย
แต่โลกมีวิวัฒนาการตลอดเวลา สินค้าแปลกใหม่ก็มีเรื่อย ๆ WCO จึงมีการประชุมทุก ๆ 5 ปี เพื่อปรับปรุงพิกัดสินค้าให้ทันต่อวิวัฒนาการ
ผลที่ตามมาคือ พิกัดใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก เช่น พิกัดปี 2560 (2017) มี 10,813 รายการ เพิ่มในปี 2565 (2022) อีก 601 เป็น 11,414 รายการดังกล่าว (MGR Online เผยแพร่ 27 ธ.ค. 64)
พิกัดใหม่เกิดขึ้นมาก กระทบพิกัดเก่าให้ปรับปรุง พิกัดที่เคยใช้ และอัตราภาษีที่เคยเสียมานานจึงอาจมีการเปลี่ยนไป และอาจต้องเสียภาษีน้อยลงหรือมากขึ้นตามไปด้วย
ในทางกฎหมาย เมื่อพิกัดถูกเปลี่ยนกระทันหันโดยที่ผู้นำเข้าไม่รู้ก็อาจเป็นความผิด อาจมีโทษปรับ และภาษีที่ได้รับยกเว้นไปแล้วก็อาจต้องกลับมาชำระ เป็นต้น
พิกัดเปลี่ยนจึงเป็นได้ทั้งผลดีและผลเสียต่อผู้นำเข้าและผู้ส่งออกในเวลาเดียวกัน
ยิ่งหากสินค้านำเข้าหรือส่งออกมานาน เคยใช้พิกัดที่ผิดด้วยความไม่รู้มานาน ภาษีที่ชำระไม่ครบถ้วนมานาน เคยได้สิทธิประโยชน์จากการยกเว้นภาษี ขอเงินชดเชยภาษีด้วยพิกัดนี้มานาน
พิกัดที่ใช้มานานแบบนี้ก็อาจมีความผิดพลาดซ่อนไว้จนกลายผลเสียอย่างไม่รู้ตัว
วิธีการป้องกันที่กฎหมายเปิดให้คือ การทำหนังสือสอบถามไปยังกองพิกัดกรมศุลกากร ให้รายละเอียดสินค้า วิธีการผลิต อุปกรณ์ประกอบ ให้ตัวอย่างหรือภาพถ่าย และข้อมูลที่จำเป็น
คำตอบที่ได้จะเป็นสิ่งยืนยันว่า การใช้เลขพิกัดนั้นถูกหรือผิดอย่างเป็นทางการ ยิ่งเลขพิกัดต้องเปลี่ยนในภายหลังตามวิวัฒนาการของสินค้าที่มีอย่างรวดเร็ว หนังสือตอบจะทำให้ดูปลอดภัยกว่า ดูบริสุทธิ์ใจมากกว่า และการพิจารณาความผิดก็เบาบางกว่า หรืออาจไม่ผิดเลยก็ได้
หากเป็นสินค้าที่เกิดจากวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ หรือพิกัดสินค้าที่ใช้มาจากการตีความกันเองด้วยแล้ว การทำหนังสือสอบถามพิกัดก็ยิ่งได้ความถูกต้องอย่างเป็นหลักฐานกว่า
การรับหนังสือเชิญให้ไปชี้แจงเป็นการตรวจสอบย้อนหลัง (Post Audit) ของกรมศุลกากรที่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกไม่ควรขัดขืนเพราะอาจมีความผิดได้
พิกัดเปลี่ยนเป็นเรื่องใหญ่ การยื่นหนังสือสอบถามพิกัดจึงเป็นอาวุธป้องกันตัวที่ดีที่ควรทำ แม้จะมีค่าธรรมเนียมที่ต้องเสีย 2,000 บาท แต่ก็ใช้อ้างอิงและได้ประโยชน์คุ้มค่า.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : July 26, 2022
Logistics
ท่าเรือหนานซา เปิดเส้นทางเดินเรือใหม่กับไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา
เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ท่าเรือหนานซาเปิดเส้นทางเดินเรือต่างประเทศใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ (1) เส้นทางหนานซา – นอร์ฟอล์ก – นวร์ก – ชาร์ลสตัน – แจ็คสันวิลล์ (Nansha – Norfolk – Newark – Charleston – Jacksonville) ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา และ (2) เส้นทางหนานซา – แหลมฉบัง – กรุงเทพฯ (Nansha – Laem Chabang – Bangkok) ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือไปยังไทยและเวียดนาม การเปิดเส้นทางเดินเรือเพิ่มครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทางเลือกของเส้นทางเดินเรือให้กับผู้ประกอบการที่จะขนส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ท่าเรือหนานซามีเส้นทางเดินเรือทั้งหมด 93 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางเดินเรือในประเทศ 42 เส้นทางและเส้นทางเดินเรือต่างประเทศ 51 เส้นทาง การเพิ่มเส้นทางเดินเรือครั้งนี้เป็นการเส้นทางเดินเรือจากท่าเรือหนานซาระยะที่ 3 ไปยังสหรัฐอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วย (1) เส้นทางหนานซา – หนิงโป – ชิงต่าว – ปูซาน – นอร์ฟอล์ก – นวร์ก – ชาร์ลสตัน – แจ็คสันวิลล์ (Nansha – Ningbo-Zhoushan – Qingdao – Pusan – Norfolk – Newark – Charleston – Jacksonville) และ (2) หนานซา – แหลมฉบัง – กรุงเทพฯ – แหลมฉบัง – โฮจิมินห์ – หนานซา (Nansha – Laem Chabang – Bangkok – Ho Chi Minh – Nansha)
ท่าเรือหนานซา
ท่าเรือหนานซาบริหารจัดการโดยบริษัท Guangzhou Port Group ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2565 มีปริมาณการขนส่งสินค้ากับต่างประเทศกว่า 2.67 ล้านตู้ (TEU) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีปริมาณการขนส่งสินค้ามากเป็นอันดับ 5 ของโลกรองจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือสิงคโปร์ ท่าเรือหนิงโป และท่าเรือเซินเจิ้น
ท่าเรือหนานซาเป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งเดียวทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจูเจียง (Pearl River) ซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบในการขนส่งสินค้าต่อไปยังเมืองอื่น ๆ ของมณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะนครกว่างโจว เมืองฝอซาน เมืองจงซาน และเมืองเจียงเหมิน อีกทั้ง ยังสามารถขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ (multimodal transport) ผ่านทางแม่น้ำ รถไฟ และถนนไปยังมณฑลอื่นของจีนและต่างประเทศ
เส้นทางขนส่งสินค้าท่าเรือหนานซากับไทย
ปัจจุบัน ท่าเรือหนานซามีเส้นทางขนส่งสินค้ากับท่าเรือแหลมฉบังเฉลี่ยวันละ 1 – 4 เที่ยว ระยะเวลาขนส่งสินค้าประมาณ 4 – 7 วัน โดยมีช่องทางพิเศษสำหรับการนำเข้าทุเรียน (Durian Express Line) กับไทย เมื่อเดือนเมษายน 2565 ท่าเรือหนานซานำเข้าทุเรียนจากท่าเรือแหลมฉบังผ่านช่องทางพิเศษดังกล่าวกว่า 3,000 ตัน ใช้ระยะเวลาขนส่งเพียง 4 วัน
ดังนั้น เส้นทางขนส่งสินค้าเส้นทางใหม่นี้จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักธุรกิจไทยที่ต้องการขนส่งสินค้ามายังจีน อย่างไรก็ดี เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่ผ่านท่าเรือหลายแห่ง นักธุรกิจไทยจึงควรพิจารณาปัจจัยด้านระยะเวลาการขนส่งสินค้า และมาตรการโควิด-19 เพื่อให้การขนส่งสินค้ามายังจีนเป็นไปด้วยความราบรื่น
ที่มา : https://thaibizchina.com/%e0%b8%b7nansha-port180722
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!