CEO ARTICLE
สีเทา
รถยนต์สีเทา สินค้านำเข้าสีเทา ทุนสีเทา ธุรกิจสีเทา และอื่น ๆ ที่อุปมาให้เป็น ‘สีเทา’ ล้วนเป็นคำที่คนไทยเข้าใจ แต่ไม่มีในกฎหมาย … ทำไมในทางการค้าจึงเลิกใช้คำว่า ‘สีเทา’ ไม่ได้ ?
‘สีเทา’ ในทางกายภาพที่สัมผัสได้เป็นสีที่เกิดจากการผสมระหว่าง ‘สีดำ’ กับ ‘สีขาว’
หากดำมากกว่าก็จะได้เทาเข้ม แต่หากขาวมากกว่าก็จะได้เทาอ่อนหรือขาวควันบุหรี่ สีเทาในทางกายภาพมีอยู่จริง เป็นสีสวยงาม และเป็นศิลปะที่นิยมของคนหลายวงการ
แต่ ‘สีเทา’ ที่โด่งดังจากความขัดแย้งเวลานี้เป็นเรื่องของธุรกิจที่สื่อความหมายว่า ธุรกิจถูกกฎหมายที่อุปมาเป็น ‘สีขาว’ ก็ไม่ใช่ ผิดกฎหมายที่เป็น ‘สีดำ’ ก็ไม่เชิง ถูก ๆ ผิด ๆ เลยผสมกันเป็น ‘สีเทา’ ทั้งที่ในทางกฎหมายจะมีก็แต่ ‘ถูกกับผิด’ ที่อุปมาเป็น ‘สีขาวกับสีดำ’ เท่านั้น
เมื่อ ‘สีเทา’ ถูกพูดถึงมาก ๆ ก็อาจทำให้นักธุรกิจรุ่นใหม่เข้าใจผิดว่า การทำธุรกิจแบบถูก ๆ ผิด ๆ เป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำได้จนสร้างปัญหาให้แก่ตนเองและสังคม
ตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติสินค้านำเข้ามีปริมาณรวม 100 ชิ้น สำแดงราคาและชำระภาษีอย่างถูกต้อง 20 ชิ้น สำแดงราคาต่ำเพื่อชำระภาษีให้ต่ำ 30 ชิ้น และซุกซ่อนในตู้สินค้า (Container) ไม่สำแดง และไม่ชำระภาษีอีก 50 ชิ้น
ร้านค้าที่ไม่เข้าใจจะนำสินค้ามากองรวมกัน 100 ชิ้นเพื่อจำหน่าย มโนว่าเป็น ‘สีเทา’ ที่ใคร ๆ ก็ทำกัน แต่เมื่อถูกตรวจพบ สินค้า 20 ชิ้นที่มีหลักฐานการชำระภาษีอย่างถูกกฎหมายย่อมไม่มีความผิด ไม่ถูกนำมาพิจารณาโทษ และถูกแยกให้เป็น ‘สีขาว’
ส่วนสินค้า 30 ชิ้นที่มีหลักฐานแสดงว่าชำระภาษีต่ำกว่าความจริง และ 50 ชิ้นที่ซุกซ่อนนำเข้ารวมเป็น 80 ชิ้นย่อมมีความผิดตามกฎหมาย ถูกลงโทษ และถูกแยกให้เป็น ‘สีดำ’
ส่วนร้านค้าที่เข้าใจจะวางสินค้า ‘สีขาว’ ให้คนเห็น หรือโพสต์ให้คนเยี่ยมชม แต่แยกสินค้า ‘สีดำ’ ซ่อนไว้หลังร้าน เมื่อใดมีผู้สนใจ หรือทักแชทเข้ามาจึงนำสินค้า ‘สีดำ’ ขึ้นมาเสนอ
ร้านค้าที่รู้ว่าไม่มี ‘สีเทา’ จะใช้วิธีนี้ คู่แข่งก็รู้วิธีนี้ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็รู้วิธีนี้
ในเมื่อต่างฝ่ายต่างรู้ หากเจ้าหน้าที่จะย้อนทางไปตรวจจับก็ง่าย เช่น ตามรถขนส่งจากท่านำเข้าไปถึงคลังเก็บสินค้า ตามรถโลจิสติก์ที่ไปรับจากคลังเพื่อกระจายและเข้าตรวจค้น ปลอมตัวล่อซื้อ หรือคู่แข่งเป็นผู้แจ้งให้จับกุม เป็นต้น
การมโนว่าเป็น ‘สีเทา’ ทั้งที่ในทางกฎหมายมีแต่ ‘สีขาว’ และ ‘สีดำ’ จึงมีแต่ความเสี่ยง
นายทุนต่างชาติและสถานบันเทิงที่ถูกอดีตนักการเมืองเปิดโปงในเวลานี้ก็เช่นกัน
ผับ บาร์ ร้านอาหาร และอื่น ๆ ที่จดทะเบียนและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายคือ ‘สีขาว’ ที่ไม่มีใครทำอะไรได้ แต่การลักลอบจำหน่ายยาเสพติด การเสพยา หรือเล่นการพนันคือ ‘สีดำ’ ที่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ร้านค้ารู้ คู่แข่งก็รู้ เจ้าหน้าที่ก็รู้ไม่ต่างจากสินค้านำเข้า หากจะเข้าตรวจจับก็ง่าย นายทุนที่อยู่เบื้องหลังจึงต้องหามาเฟีย หรือนักการเมืองที่มีอิทธิพลมาคุ้มครองอย่างเป็นขบวนการ
ธุรกิจยิ่งใหญ่ ขบวนการก็ยิ่งกว้าง แต่ยิ่งใหญ่ ยิ่งกว้าง หลักฐานก็ยิ่งมาก ยิ่งเห็นง่าย
พอข่าวดัง ใคร ๆ ก็รู้ นายทุนต่างชาติเข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ประเทศไทยไปแล้วนับพันล้านบาท กัดกร่อนแผ่นดินเป็นรูโหว่ หากไม่มีคนใหญ่โตหนุนหลังคงทำไม่ได้ขนาดนี้
อดีตนักการเมืองที่แฉอย่างบ้าระห่ำจึงเป็นที่ถูกใจผู้ติดตามสายบู๊ ตามชมไลฟ์สดเป็นล้าน ๆ คน และอยากให้มีนักการเมืองแบบนี้มาก ๆ แต่ไม่ถูกใจผู้ติดตามที่รักสงบ
‘สีเทา’ ไม่มีในทางกฎหมาย แต่ที่ยังยืนยงคงกระพันในวงการค้าเรื่อยมาก็มาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองที่ทุจริตไปยืนเป็นไม้ค้ำยันให้ ไปรับผลประโยชน์จนไม่ยอมแยกธุรกิจ ‘สีดำ’ ให้ออกจาก ‘สีขาว’ เท่านั้น
หากแยกธุรกิจ ‘สีดำ’ ออกจาก ‘สีขาว’ ได้น้อย สังคมจะเป็นเทาเข้ม ไม่น่าอยู่ แต่หากแยกได้มาก สังคมก็เป็นเทาอ่อน เป็นขาวควันบุหรี่ เป็นสีสรรค์ในมุมศิลปะ
การเปิดโปงครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามจะถึงที่สุดแค่ไหน จะลากบุคคลที่อยู่เบื้องหลังให้ปรากฎตัวได้หรือไม่ หรือจะมีนักการเมืองระดับซุปเปอร์ซ้อนตามข่าวจริงจนเป็นมวยล้มต้มคนดูให้สังคมเป็น ‘เทาเข้ม’ ต่อไป ??
ผู้นำเข้า และผู้ประกอบการต่าง ๆ จึงควรรู้ ธุรกิจที่ทำอยู่นั้นเป็น ‘สีขาว’ หรือ ‘สีดำ’ กันแน่
หากทำบางสิ่งที่ผิดกฎหมายก็ต้องรู้ สิ่งนั้นคือ ‘สีดำ’ ไม่สามารถนำส่วนถูกกฎหมายที่เป็น ‘สีขาว’ มาฟอกให้เป็น ‘สีเทา’ และเมื่อถูกตรวจพบก็ควรยอมรับผิด ยอมรับการลงโทษ
แต่หากหลีกเลี่ยงไม่นำคำ ‘สีเทา’ มาใช้ในธุรกิจได้ก็จะสร้างคุณค่าให้วงการศิลปะทางหนึ่ง และจะทำให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ ไม่เดินหลงทางได้อีกทางหนึ่ง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : November 29, 2022
Logistics
การเดินรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปจากหูหนานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โตสวนพิษโควิด-19
บริษัท China Railway Guangzhou เปิดเผยข้อมูลสถิติรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express) ที่เดินรถออกจากมณฑลหูหนานในปี 2563 ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 437 ขบวน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 เกือบเท่าตัว นับเป็นการเติบโตที่ “สวนกระแส” ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19
มณฑลหูหนานมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกกับพื้นที่ตอนกลางและตะวันตกของจีน ส่งผลให้หูหนานสามารถขยายเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าไปทวีปยุโรปได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มณฑลหูหนานมีเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าไปยังยุโรปแล้ว 4 เมือง ได้แก่ นครฉางซา เมืองหวยฮั่ว เมืองจูโจว และเมืองเหิงหยาง โดยนครฉางซาเปิดขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ต่อมาเมืองหวยฮั่วจึงเปิดขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปยังกรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ตามมาด้วยเมืองจูโจวที่เปิดขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปยังกรุงมินสก์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 และล่าสุด เมืองเหิงหยางเปิดขบวนรถไฟขนส่งสินค้าไปยังเมือง Biklyan ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ส่งผลให้ปัจจุบัน รถไฟขนส่งสินค้าหูหนาน-ยุโรปมีเส้นทางเดินรถกว่า 10 เส้นทางและมีจุดหมายปลายทางครอบคลุม 30 ประเทศในทวีปยุโรปและเอเชีย
การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์และระยะเวลาการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้บริษัทบางแห่งในมณฑลหูหนานไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบหรือส่งออกสินค้าได้ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้และการย้ายฐานการผลิต ศูนย์ขนส่งนครฉางซาในสังกัดของ China Railway Guangzhou Group จึงประสานงานกับคู่ค้าต่างประเทศสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์การผลิตของลูกค้าและจัดลำดับความสำคัญในการขนส่ง เพื่อช่วยเหลือการส่งออกสินค้าของมณฑลหูหนานและส่งเสริมการดำเนินงานของรถไฟขนส่งสินค้าหูหนาน-ยุโรปในภาวะที่มีความท้าทายยิ่งนี้
ที่มา : https://thaibizchina.com/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!