CEO ARTICLE
ทรงอย่างแบด
“… ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชาย Bad Boy … ”
ข้างต้นคือสร้อยของเพลง “ทรงอย่างแบด” ที่กำลังฮิต เป็นขวัญใจวัยน้ำนมในวันนี้ เพลงนี้สื่ออะไร และสามารถนำวิถีของเพลงนี้มาใช้กับการทำงานของ ‘คนรุ่นใหม่’ ได้อย่างไร ???
ตามการจัดของ Global Top Music Video ใน YouTube ณ 9 ม.ค. 2566 “ทรงอย่างแบด” มีผู้ติดตามทั่วโลกมากถึง 43 ล้านวิว และถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 50 ของโลกไปแล้ว
เพลงนี้แต่งโดยคุณธันวา เกตุสุวรรณ เกิดในปี พ.ศ. 2535 เป็นคน Gen Y และกำลังเป็นผู้นำด้านดนตรีของคนรุ่นใหม่จนนักภาษาศาสตร์และนักทฤษฏีดนตรีต่างให้ความสนใจมาก
ถ้อยคำที่ใช้ในเพลงเป็นคำง่าย ๆ คำน่ารัก จำง่าย เป็นคำสอดคล้องกัน แนวเพลงเป็นแบบพังก์ร็อก อีโมแทรป จังหวะให้ความเร้าใจจึงฮิตติดปากเด็ก ๆ เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กผู้ชายที่พูดถึงเด็กผู้หญิง มีท่อนสร้อยที่เร้าใจ น่าฟัง วนไปวนมา มุ่งเอาความสนุกสนาน
คนรุ่นเก่าอาจมองว่าเนื้อหามีสาระน้อย แต่กลับฮิต ติดตลาดระดับโลก ติดปากผู้ใหญ่ด้วย เป็น Soft Power ของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว และมีส่วนทำให้ประเทศไทยโด่งดังในเวทีโลก
ในการทำเพลง สาระจึงไม่สำคัญ เป็นเรื่องอารมณ์ล้วน ๆ ของผู้ฟังมากกว่า และบังเอิญผู้ฟังเป็นเด็ก ๆ วัยเยาว์ อารมณ์จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาก่อนจนผู้ใหญ่ให้ความสนใจ
การทำงานของคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็ยึดอารมณ์มาก่อนไม่ต่างจากการทำเพลง คนรุ่นใหม่จะมุ่งเป้าหมายมากกว่าวิธีการ มุ่งความสำเร็จมากกว่าความถูกหรือความผิด
ตัวอย่างเช่น นักธุรกิจรุ่นใหม่สร้าง Platform ขายสินค้าเพื่อความร่ำรวยอย่างก้าวกระโดด แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ หรือการทำคลิปโป๊ของตัวเองออกจำหน่าย แต่ผิดกฎหมาย แม้จะได้ความร่ำรวยตามเป้าหมายก็จริง แต่สุดท้ายก็ถูกตรวจสอบ มีคดีความ และอาจถูกจำคุก
ม็อบเยาวชนที่ต้องการเปลี่ยนสังคมและการเมืองโดยพลันก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
การเข้าร่วมเป็นกระบวนการโดยไม่ใส่ใจกฎหมาย เมื่อถูกจับ ได้รับการประกันตัว แต่เพื่อเป้าหมายที่ต้องการจึงไม่สนใจวิธีการ ยอมทำผิดซ้ำ ผิดเงื่อนไข และสุดท้ายก็ต้องถูกขังคุกซ้ำ
การทำงานแม้จะคล้ายกับการทำเพลง แต่หากไม่ใส่ใจวิธีการ ผลที่จะได้ย่อมต่างออกไป
การทำงานในองค์กรที่วันนี้ คนรุ่นใหม่มีความสำคัญมากก็ไม่ต่างกัน
หากองค์กรมีแต่คนรุ่นใหม่ เป็นองค์กรสร้างใหม่ ไม่มีคนรุ่นเก่า การมุ่งเป้าหมายมากกว่าวิธีการ หรือการมุ่งเงิน มุ่งทำกำไรให้ได้มากไว้ก่อนก็อาจเป็นเรื่องถูกต้องตามอารมณ์คนรุ่นใหม่
แต่หากเป็นองค์กรเก่า มีคนรุ่นเก่าร่วม การมองข้ามวัฒนธรรม ไม่ยึดหลักการ เหตุผล และกฎหมายที่มีทั้งผู้จัดหา (Supplier) ลูกค้า และคนทำงานหลายรุ่น ผลที่จะได้รับก็ต่างกันเช่นกัน
ยิ่งเป็นองค์กรที่มีเกียรติยศ ชื่อเสียง (Good Will) มีรูปแบบที่ดีที่คนรุ่นเก่าทำไว้ มีความดีงาม มีวัฒนธรรม มีประเพณีอันดีงาม และมีวิสัยทัศน์ในอดีตที่กำหนดไว้ดี ผู้นำก็ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังในการสร้างระบบงานที่อาจยึดวิถีเพลง “ทรงอย่างแบด” ก็ได้ เช่น
1. การสร้างวิถีใหม่
ยึดคนรุ่นใหม่เป็นหลัก สร้างเป้าหมายใหม่ มุ่งเป้าหมาย ไม่สนวิธีการ ไม่สนวัฒนธรรม ไม่มองหลักการ เหตุผล และกฎหมาย ไม่ต่อยอดของเก่า สร้างสิ่งใหม่ หรือวิถีใหม่ในแบบที่อยากทำ
ข้อดีคือ ได้อารมณ์คนรุ่นใหม่อย่าง “ทรงอย่างแบด” ได้วิถีใหม่ แต่ข้อเสียคือ คนรุ่นเก่าไม่ร่วมมือ ความภักดีจางลง คนรุ่นใหม่เหนื่อยกับการทุ่มเทให้เป้าหมาย เบื่อง่าย และอาจลาออกง่าย
2. การผสมผสาน
ยึดคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าร่วมกันโดยการนำเกียรติยศ ชื่อเสียงเก่า วัฒนธรรม หลักการ เหตุผล และความถูกผิดของกฎหมายมาผสมผสานกับสิ่งใหม่ ๆ ที่ผู้นำรุ่นใหม่คิดขึ้นมา
อะไรที่ดีอยู่แล้วก็สร้างความชัดเจน และส่งเสริม อะไรที่ไม่ดีก็แก้ไข อะไรใหม่ ๆ ที่เห็นว่าดี อยากเปลี่ยนก็สร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วม และนำมาผสมผสานให้เป็นรูปแบบการทำงานใหม่
ข้อดีคือ คนรุ่นเก่ามีส่วนร่วมในความเปลี่ยนแปลง มีคุณค่า ศักดิ์ศรี ความภักดียังอยู่ และส่งมอบความรู้สึกนี้สู่คนรุ่นใหม่ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ได้พลังเพื่อมุ่งเป้าหมาย และมีวิธีการให้ยึดเหนี่ยว
ข้อเสียคือ ความล่าช้า ไม่ทันใจคนรุ่นใหม่ ทำให้คนรุ่นใหม่มองว่าโบราณ ไร้อารมณ์ หากคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าไม่ก้าวหน้า หรือพัฒนาช้า ไม่ทันสมัยเหมือน “ทรงอย่างแบด” ก็อาจลาออก
คนรุ่นเก่าคือ ‘ความมั่นคง’ ต้องการคุณค่าและศักดิ์ศรี ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ต้องสร้างให้
คนรุ่นใหม่คือ ‘ความก้าวหน้า’ ต้องการเป้าหมาย พลัง และเส้นทางที่จะเดินไป ผู้นำก็ต้องสร้างให้ หากสร้างได้ คน 2 กลุ่มจะร่วมมือกันฟันฝ่า ความมั่นคง ความก้าวหน้า และความสุขของทุกคนจะตามมา
การทำเพลงและการทำงานอาจดูคล้ายกันแต่ไม่ทั้งหมด มีดี มีเสีย และไม่ว่าคนรุ่นใหม่จะเลือกแบบใด สุดท้ายก็ต้องได้ผลไปตามนั้น และนำคนรุ่นอนาคตไปตามนั้นเช่นกัน
ส่วนคนอนาคตไม่ว่าจะเป็น Gen Alpha หรือ Gen ใดก็ตาม ในอนาคตจะคิดแบบคนรุ่นใหม่ในวันนี้หรือไม่ หรือจะกลับมาเดินตามคนรุ่นเก่าในวันนี้หรือไม่ หรือจะพลิกไกลสุดขั้ว สุดกู่เกินกว่า “ทรงอย่างบาด” หรือไม่ก็เป็นเรื่องของอนาคตที่สุดจะคาดเดา.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : January 17, 2023
Logistics
‘เสือติดปีก’ เมืองท่าชินโจว สร้างฐานโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น รองรับสินค้าเกษตรนำเข้าจากอาเซียน โอกาสของผลไม้ไทย
ปัจจุบัน ‘ท่าเรือชินโจว’ (Seaport Code : CNQZH) ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้กลายเป็น ‘ประตูการค้า’ ที่สำคัญที่ใช้เชื่อมการขนส่งระหว่างจีน(ตะวันตก)กับต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน หลายปีมานี้ การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือชินโจวมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและประเภทของสินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าห่วงโซ่ความเย็น หรือ Cold-chain ซึ่งเป็นประตูช่องทางเลือกหนึ่งสำหรับสินค้าเกษตรและสินค้าห่วงโซ่ความเย็นอื่นๆ ของประเทศไทยที่จะมาเข้าสู่จีน โดยเฉพาะจีนภาคใต้และภาคตะวันตก
ในบริบทที่ ‘ท่าเรือชินโจว’ ได้รับอนุมัติจากส่วนกลางให้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้และเนื้อสัตว์” ซึ่งสินค้าดังกล่าวจำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สินค้าคงคุณภาพและความสดใหม่ก่อนถึงมือผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ เมืองชินโจวจึงได้ผลักดันโปรเจกต์ศูนย์โลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นเพื่อรองรับสินค้าห่วงโซ่ความเย็น
ข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับ “ฐานท่าเรือชินโจวโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นแบบครบวงจร” หรือ Integrated Cold-Chain Logistics Qinzhou Port Base (综合冷链物流钦州港基地)
ผู้ลงทุน : การร่วมทุนของ 3 บริษัท คือ บริษัท Sichuan Port and Shipping Investment Group Co., Ltd (四川省港航投资集团有限责任公司) / บริษัท Guangxi Beibu Gulf International Port Group Co.,Ltd (广西北部湾国际港务集团有限公司) และ China Malaysia Holding Limited Park (Guangxi) investment Holding Group Co.,Ltd (广西中马钦州产业园区投资控股集团有限公司)
ข้อมูลโครงการ : เงินลงทุนราว 400 ล้านหยวน บนเนื้อที่เกือบ 60 ไร่ พื้นที่ก่อสร้างรวม 68,000 ตารางเมตร
พิกัดที่ตั้ง : ตั้งอยู่ภายในเขตโลจิสติกส์ต้าหลานผิง (Dalanping Logistics Park / 大榄坪物流园区) ในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว
โปรเจกต์ “ฐานท่าเรือชินโจวโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นแบบครบวงจร” ได้วางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 นับเป็นอีกโปรเจกต์ขนาดใหญ่ด้านโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นที่เกิดขึ้นในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ กว่างซี (คนไทยรู้จักชื่อ อ่าวตังเกี๋ย) ต่อจาก “สวนโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นสำหรับสินค้าสดและสินค้ามีชีวิตนานาชาติอ่าวเป่ยปู้กว่างซี” หรือ Guangxi Beibu Gulf International Cold Chain Logistic Park (广西北部湾国际生鲜冷链物流园) ที่เปิดตัวในเมืองท่าฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang City/防城港市) เมื่อกลางปี 2565 ที่ผ่านมา
บีไอซี เห็นว่า โปรเจกต์ดังกล่าวช่วย ‘เติมเต็ม’ ฟังก์ชันให้กับท่าเรือชินโจว และเป็นการสร้าง ‘โอกาส’ ให้กับมณฑลทางภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างของประเทศจีนในการนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความต้องการสินค้าทางการเกษตรจากประเทศเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ
อีกทั้ง โครงการดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงกับฐานกระจายสินค้าโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นที่กระจายอยู่ในมณฑลต่างๆ เป็นเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้การขนส่งทางรถไฟผ่านโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ ที่มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนต่ำและเวลาการขนส่งที่รวดเร็ว เพื่อกระจายสินค้าห่วงโซ่ความเย็น (สินค้าเกษตรและผลพลอยได้ทางการเกษตร สินค้าประมง และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แช่เย็นแช่แข็ง) ผ่านโครงข่ายเส้นทางรถไฟดังกล่าวไปยัง 133 สถานีของ 60 เมืองใน 17 มณฑลทั่วประเทศได้อย่างวางใจ
นอกจากโครงการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมการนำเข้า-ส่งออกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการทั้งเรื่องระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่ง สอดรับกับนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ ‘Dual Circulation’ ที่มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างตลาดในประเทศกับตลาดต่างประเทศ และสอดคล้องกับความมุ่งมั่นในการพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตรกับอาเซียนของจีน และจะเป็นอีกหนึ่ง ‘ฟันเฟือง’ สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้สินค้าทางการเกษตรจากอาเซียน โดยเฉพาะจากประเทศไทยไปขยายตลาดจีนตอนในได้มากยิ่งขึ้น
ที่มา : https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!