CEO ARTICLE
ค่าแรงขั้นต่ำ
ลูกจ้างอยากให้ค่าแรงขึ้น นายจ้างอยากให้คงที่ ส่วนนักการเมืองไม่มีส่วนได้ส่วนเสียจากค่าแรงแต่อยากได้คะแนนเสียง ทำอย่างไรจึงจะให้ค่าแรงขั้นต่ำสะท้อนความจริง ?
ลูกจ้าง นายจ้าง และนักการเมืองต่างก็มีเป้าหมายที่ต่างกัน
ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ค่าแรงขั้นต่ำมักถูกนักการเมืองยกขึ้นมา เรียกร้องความสนใจจากผู้ใช้แรงงานที่มีจำนวนมาก สร้างคะแนนนิยมเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุน และให้ชนะการเลือกตั้ง
ในความเป็นจริง ค่าแรงต้องสะท้อนจากฝีมือของตัวแรงงาน ความต้องการของตลาดและนายจ้าง ค่าครองชีพ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคค เงินเฟ้อ เศรษฐกิจโดยรวม ไม่มีการเอาเปรียบ และเพียงพอเลี้ยงตัวคนเดียวไม่รวมครอบครัวภายในประเทศไทย ขณะที่ในทางสากลต้องเพียงพอให้คนงานเลี้ยงดูภรรยาและบุตรอีก 2 คนได้ (https://www.tcijthai.com)
เหรียญมี 2 ด้าน การผลักดันค่าแรงขั้นต่ำให้เพิ่มขึ้นจึงมีทั้งผลดีและผลเสียคู่กัน
ผลดีคือ ค่าแรงที่เพิ่มทำให้ลูกจ้างได้ความเป็นธรรม ได้รับความคุ้มครอง สามารถดำรงชีพได้เหนือระดับความยากจนโดยไม่คำนึงสัญชาติ ศาสนา เพศ และครอบคลุมถึงลูกจ้างต่างชาติ
ผลเสียคือ ค่าแรงที่เพิ่มทำให้ต้นทุนเพิ่ม กำไรลด อาจขาดทุน อาจนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงาน การจ้างงานในประเทศจะลดลง คนว่างงานเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพงขึ้น ลูกจ้างได้เงินมาไม่พอรายจ่าย ความสุขหดหาย ส่งผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต
นายจ้างที่ปรับตัวไม่ทันอาจต้องปิดกิจการ หรือย้ายโรงงานไปประเทศอื่นที่มีค่าแรงต่ำกว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ดีจึงควรสะท้อนความจริง ให้ผลเสียน้อยที่สุด และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย
นักการเมืองที่รู้ทั้งผลดี ผลเสีย และมีความรับผิดชอบจะพิจารณาร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์ที่รู้ลึก รู้กว้าง รู้จริงก่อน และจะนำค่าแรงขั้นต่ำที่คิดว่าเหมาะสมหารือกับคณะกรรมการไตรภาคีที่กฎหมายกำหนดให้ได้ค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมก่อนนำมาหาเสียง
ส่วนนักการเมืองที่ไม่รับผิดชอบต่อเศรษฐกิจในอนาคตจะไม่หารือในเชิงลึก แต่จะมองหาค่าแรงขั้นต่ำที่โดนใจแรงงาน และใช้เป็นนโยบายโหมกระหน่ำหาเสียงเพื่อสร้างคะแนนนิยม
ค่าแรงขั้นต่ำยิ่งมาก แรงงานก็ยิ่งชอบ จะเลือก หากไม่ชนะเลือกตั้งก็ไม่เสียอะไร ยิ่งหากไม่ได้เป็นรัฐบาลก็สามารถนำมาคุยข่มได้ว่า รัฐบาลทำอย่างตนไม่ได้ แต่ตนทำได้
หากชนะเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาลก็จะพยายามผลักดันไตรภาคีให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่หาเสียง ขึ้นได้ก็ดีไป แต่หากขึ้นไม่ได้ นักการเมืองจะหาข้ออ้างสารพัดมาอธิบายแล้วนิ่งเฉย
พอเลือกตั้งครั้งหน้า ค่าแรงขั้นต่ำก็ถูกยกขึ้นมาโดยนักการเมืองวนเวียนไม่สิ้นสุด
ในทางกฎหมาย ค่าแรงขั้นต่ำมีคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นผู้กำหนดให้เหมาะสม ให้สะท้อนความจริงภายใต้ พรบ. แรงงาน พ.ศ. 2541 มีปลัดกระทรวงเป็นประธานกรรมการ 1 คน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 5 คน ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง 5 คน รวมเป็น 15 คน
คณะกรรมการ 15 คนมาครบจากทุกฝ่าย หากจะว่าเป็นฝ่ายนายจ้างก็ใช่ จะว่าเป็นฝ่ายลูกจ้างก็ใช่ จะว่าเป็นฝ่ายการเมือง หรือมีการเมืองแทรกแซงก็ใช่อีก ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น
แต่ในความเป็นจริง ค่าแรงจ่ายโดยนายจ้าง ไม่ใช่โดยนักการเมือง และแรงงานฝีมือมักได้ค่าแรงสูงกว่าอัตราขั้นต่ำอยู่แล้ว ฝีมือแรงงานจึงมีความสำคัญมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนด
นักการเมืองที่ดีจึงควรเสนอวิธีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากขึ้น ให้มากกว่าการนำค่าแรงขั้นต่ำจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีฝีมือแล้ว และที่เสียภาษีเงินในอัตราสูงมาเปรียบเทียบกับไทย
การหาวิธีการพัฒนาฝีมือแรงงานมาก ๆ ทำให้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำได้ ส่วนนายจ้างก็เต็มใจจ่าย สะท้อนความจริง เกิดความสมดุล และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายมากกว่า
การนำค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่สะท้อนความจริงมาเป็นเกมการเมือง นอกจากจะได้คะแนนนิยมจากแรงงานไทยแล้ว แรงงานต่างชาติก็นิยม เฮลั่น เตรียมตัวเข้าไทย ส่วนนายจ้างก็เตรียมหาลู่ทางย้ายโรงงานไปเปิดในประเทศเพื่อนบ้านแทนที่กลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
ค่าแรงขั้นต่ำมีทั้งผลดีและผลเสีย ส่งผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต
ประชาชนที่รู้ และเข้าใจจะเลือกนักการเมืองที่อยู่บนความเป็นจริงเพื่อนำไปสู่ค่าแรงขั้นต่ำที่สะท้อนความจริง แต่หากประชาชนเลือกนักการเมืองตามจินตนาการเพ้อฝันก็จะได้ค่าแรงขั้นต่ำที่เพ้อฝัน ไม่สะท้อนความจริง มีชีวิตในความเพ้อฝัน แต่ทำลายเศรษฐกิจของประเทศอย่างไม่รู้ตัว.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : June 20, 2023
Logistics
จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนภายในหนึ่งเดือนถึง 7,500 ล้านหยวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ตามข้อมูลของ China Fruit Marketing Association ( วันที่ 12 มิถุยนยน 2566) ระบุว่าความนิยมของทุเรียนในจีนของปีนี้สูง โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนของประเทศไทย ส่งผลให้การนำเข้าทุเรียนของจีน มียอดสูงสุดเป็นครั้งแรกของปีนี้ ตามสถิติของกรมศุลกากรจีน ระบุว่า เดือนเมษายนของปีนี้ จีนมีปริมาณนำเข้าทุเรียนสดสูงถึง 221,000 ตัน ซึ่งมีมูลค่าถึง 7.51 พันล้านหยวน โดยทั้งปริมาณการนำเข้าและมูลค่าการนำเข้าพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เกือบสองเท่าภายในหนึ่งเดือน และได้ทำลายสถิติมูลค่าการนำเข้าสูงสุดก่อนหน้านี้ และตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2566 ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนแล้วรวม 480,000 ตัน มูลค่าเกือบ 13.04 พันล้านหยวนหรือประมาณ 6.30 หมื่นล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการนำเข้าทุเรียนสด ตั้งแต่ปี 2560 ปริมาณการนำเข้าของเดือนเมษายนในปีนี้เกินการคาดการณ์เกือบ 100,000 ตัน ซึ่งมากกว่าการนำเข้าระดับสูงสุด ก่อนเกิดการโรคระบาดโรคโควิด 19 ในปี 2562 ส่วนในด้านมูลค่า การนำเข้าทุเรียนของเดือนเมษายนก็ได้เพิ่มขึ้นจากระดับสูงสุดในปี 2563 กว่าสองเท่า โดยปริมาณการนำเข้ารายเดือนในเดือนเมษายนปีนี้ใกล้เคียงกับปริมาณนำเข้า ทั้งปี 2560 และมูลค่าการนำเข้าสูงเป็นสองเท่าของทั้งปี 2560 และทางด้านราคาต่อหน่วยของทุเรียนนำเข้าในเดือนเมษายนปี 2560, 2561, 2562 อยู่ที่ 20.6 หยวน/กก. 16.3 หยวน/กก. และ 17.1 หยวน/กก. ตามลำดับ ในขณะที่ราคาทุเรียนต่อหน่วยในปี 2563, 2564, 2565 อยู่ที่ 29.2 หยวน/กก. 35.5 หยวน/กก. และ 36.4 หยวน/กก. ตามลำดับ ในกรณีที่ปริมาณนำเข้าของปีนี้ เพิ่มขึ้นมาก ราคาต่อหน่วยของทุเรียนนำเข้าอาจจะยังคงรักษาระดับราคาอยู่ที่ 34.0 หยวน/กก. ต่อไป
สำหรับแหล่งนำเข้าทุเรียนในเดือนเมษายนของจีนนั้น ได้มีแหล่งนำเข้ามาจากไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยมีปริมาณนำเข้าจากไทยอยู่ 206,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7.04 พันล้านหยวน ส่วนปริมาณที่นำเข้าจากเวียดนามอยู่ที่ 14,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 470 ล้านหยวน และการนำเข้าจากฟิลิปปินส์ มีปริมาณอยู่ที่ 251 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6.94 ล้านหยวน ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ไทยยังคงครองตำแหน่งการส่งออกทุเรียนไปยังจีนมากที่สุด และในส่วนของราคาทุเรียนนำเข้าต่อหน่วยจาก 3 ประเทศนั้น ทุเรียนฟิลิปปินส์มีราคาต่ำที่สุด โดยมีราคาอยู่ที่ 27.6 หยวน/กก. ส่วนทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามอยู่ที่ 34.1 หยวน/กก. และ 33.5 หยวน/กก. ตามลำดับ
การนำเข้าทุเรียนเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนและความนิยมในการบริโภคทุเรียนของชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุเรียนเป็นผลิตภัณฑ์อันดับต้น ๆ ของผลไม้ที่มีการบริโภคมากที่สุดในจีน โดยในปีนี้จีนมีเทรนด์การบริโภคใหม่ ซึ่งเป็นกล่องสุ่มทุเรียน ที่กำลังมาแรงในโซเชียลมีเดียของจีน โดยบางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและวิดีโอสั้นมีการเผยแพร่ ในหัวข้อ “การเปิดกล่องสุ่มทุเรียน” โดยมีผู้ใช้จำนวนมากอัปโหลดประสบการณ์การเปิดกล่องสุ่มทุเรียนไปยังแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลังจากซื้อทุเรียนซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคและผู้ชมในแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Tiktok เสี่ยวหงชู เป็นต้น จนขึ้นอันดับเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ในขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอาหารสดนิยมเช่นกัน โดยตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ยอดขายทุเรียนบนแพลตฟอร์มเหม่ยถวน (Meituan) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อัตราการเติบโตโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 711% ยอดขายในเซี่ยงไฮ้และหวู่ฮั่นเพิ่มขึ้นมากกว่า 40 และ 20 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยผู้รับผิดชอบการจัดซื้อผลไม้ของแพลตฟอร์มเหม่ยถวน (Meituan) กล่าวว่า “ผู้ใช้หลายคนจะรีวิวคำสั่งซื้อทันทีหลังจากได้รับทุเรียน และแบ่งปันความสนุกสนานของการเปิดกล่องสุ่มทุเรียนให้กับผู้บริโภคคนอื่นๆ ดู ทำให้ส่งเสริมให้กระตุ้นยอดขายทุเรียนของจีนให้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าความต้องการทุเรียนในตลาดจีนสูงมาก ทำให้ทุเรียนมีกำไรเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาจากกระแสการบริโภคในจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าการนำเข้าทุเรียนของจีนในปี 2566 นี้อาจเกิน 1 ล้านตัน
ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
ที่ผ่านมา ทุเรียนเวียดนามจะถูกกว่าทุเรียนไทยมาก แต่ปัจจุบันราคาทุเรียนเวียดนามราคาขึ้นมาเท่ากับทุเรียนไทยได้แล้ว ทั้งนี้ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐจะต้องติดตามต่อไป รวมถึงจะต้องร่วมมือกันในการเดินหน้านโยบายการควบคุมคุณภาพของทุเรียนให้ได้มาตรฐาน ตามที่รัฐบาลจีนและผู้นำเข้าในตลาดกำหนด เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งในตลาดจีน อย่างเช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ รวมถึงรักษาความไว้วางใจของผู้บริโภคจีนที่มีต่อทุเรียนไทย นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์และเทรนด์การบริโภคทุเรียน รวมถึงผลไม้อื่นๆ ในตลาดจีน เพื่อที่จะสามารถปรับกลยุทธ์การค้าให้สอดคล้องกับตลาดจีนได้ต่อไป
ที่มา : China Fruit Marketing Association
จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว
16 มิถุนายน 2566
ที่มา : https://www.ditp.go.th/post/127769
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!