CEO ARTICLE
ถือหุ้นสื่อ
คนทั่วไปถือหุ้นสื่อเป็นเรื่องปกติ แต่ทำไมนักการเมืองถือหุ้นสื่อจึงเป็นเรื่องใหญ่ ?
สื่อ หรือสื่อมวลชนคือ บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำข่าวสาร สาร ข้อมูล เนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่มวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อดิจิทัล หรือรูปแบบใด (https://e-media.audit.go.th)
จรรยาบรรณของสื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ สื่อต้องเสนอข่าวสารข้อมูลอย่างเป็นกลาง และสื่อก็เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่คนเป็นเจ้าของหรือคนถือหุ้นสื่อต้องการผลกำไร
แต่นักการเมืองมองคะแนนนิยมที่จะได้สำคัญกว่าผลกำไร หากเป็นเจ้าของ ถือหุ้นสื่อ หรือมีสื่อหนุนหลัง นักการเมืองนั้นย่อมได้รับการประชาสัมพันธ์ และการฟอกตัวให้ขาวง่าย ๆ
ส่วนนักการเมืองตรงข้ามก็จะถูกโจมตี ถูกใส่ร้ายป้ายสีเกินเลยความจริงได้ง่ายเช่นกัน
คนจน คนรวย หรือผู้ใดก็มีสิทธิ์เล่นการเมืองเท่าเทียมกันขึ้นอยู่กับความดี ความสามารถ คุณสมบัติที่กฎหมายกำหนด ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบโดยมีประชาชนเป็นผู้เลือก
แต่คนที่เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อจะได้คะแนนนิยมง่ายกว่า และได้เปรียบคู่แข่งทุกกรณี
รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการถือหุ้นสื่อ แต่พอคุณทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่การเมือง เข้าใจการตลาด เข้าใจประโยชน์ของสื่อก็อยากเป็นเจ้าของสื่อจึงมุ่งไปที่ iTV ที่เวลานั้นได้ชื่อว่าเป็นทีวีเสรีและชอบให้ข่าวลบของคุณทักษิน ในที่สุดคุณทักษินก็ซื้อ iTV สำเร็จในเดือน พ.ย. 2543 ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ม.ค. 2544 ได้เป็นรัฐบาล และเป็นอย่างต่อเนื่อง
หลังจากนั้น iTV ก็เปลี่ยนไป พนักงานเก่า ๆ ภายในต่อต้าน เป็นกบฎ ถูกสั่งปลด เกิดการฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน และในปี 2546 กลุ่มกบฎ iTV ก็เป็นฝ่ายชนะคดี (http://kpi.ac.th)
รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถือว่าดีที่สุด แต่ก็มีจุดอ่อน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ผู้ชนะกินรวบทำให้ขาดการถ่วงดุล ขาดการตรวจสอบ ข่าวสารข้อมูลถูกบิดเบือนง่าย และสื่อขาดความเป็นกลาง
ต่อมาในรัฐธรรนูญ 2550 จึงเริ่มมีข้อห้าม มาตรา 48 “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรศัพท์ หรือโทรคมนาคมมิได้ … ฯลฯ”
พอมารัฐธรรมนูญ 2560 ข้อห้ามจึงชัดเจนขึ้น มาตรา 98 “บุคคลผู้มีลักษณะต่อไปนี้เป็นบุคคลห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร” และข้อย่อย มาตรา 98 (3) “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”
ปัจจุบัน คนจะเป็น ส.ส. จึงถูกห้ามถือหุ้นสื่อตั้งแต่วันเริ่มเข้าสมัครรับเลือกตั้ง
กฎหมายมีเจตนารมณ์ แต่ตัวอักษรมักถูกตีความให้ผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์
คำว่า “สื่อมวลชนใด ๆ” ถูกวินิจฉัยให้ชัดเจน ครอบคลุมสื่อทุกประเภท และการถือหุ้นสื่อที่หยุดกิจการแล้ว แต่ไม่จดแจ้งการเลิกให้ถูกต้องอย่างเป็นทางการก็ถูกตีความว่า สื่ออาจกลับมาทำกิจการสื่ออีกเมื่อไหร่ก็ได้ สื่อที่หยุดกิจการยังถือเป็นสื่อ และเป็นข้อห้าม
ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน มี.ค. 2562 ส.ส. ที่ชนะถูกตรวจพบ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ และถูกวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพจากการถือหุ้นสื่อไปมาก แต่ก็รอดมาไม่น้อย
นักการเมืองเข้าใจมากขึ้น โอนหุ้นสื่อออกก่อนสมัคร แต่การเลือกตั้งในเดือน พ.ค. 2566 ก็มีบุคคลที่ได้รับคะแนนสูงสุด และมีแนวโน้มจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีถูกข้อหาถือหุ้นสื่ออีกจนได้
ข้อกล่าวหานี้ก่อให้เกิดการถกเถียงมาก ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับกฎหมายและเจตนารมณ์ อีกฝ่ายเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งผู้ชนะและเป็นนิติสงคราม
ไม่มีใครตอบได้ชัด ๆ ว่า การถือหุ้นสื่อจะฟอกคนให้เป็นขาว ทำให้คนรวยได้เปรียบคนจน ทำให้คนสมัคร ส.ส. ได้คะแนนนิยมมากกว่า และได้เปรียบคู่แข่งจริงหรือไม่ ???
แต่ก็มีคำกล่าวว่า “ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น” (Harold Lasswell)
รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนหลังการรัฐประหาร 2557 จึงถูกกล่าวหาว่าสืบทอดอำนาจ แต่ในทางตรงกันข้ามก็อาจถูกแก้ไขหรือยกเลิกจากนักการเมืองรุ่นใหม่หลังได้เป็นรัฐบาลตามคำกล่าวว่า “ให้ฆ้อนเด็กเล็กไป เขาจะรู้สึกว่าเขาควรจะตอกทุกอย่างที่พบ” (Abraham Kaplan) (Give a small boy a hammer and he will find that everything he encounters needs pounding.)
คดีถือหุ้นสื่อครั้งนี้อาจเป็นใหญ่ การแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายหลาย ๆ มาตราที่จะมีต่อไปจากผู้ชนะก็คล้ายการตอก ทุบ ทำลายกฎหมายจากการรัฐประหารอาจเป็นเรื่องใหญ่ และอาจเป็นชนวนความรุนแรงครั้งใหม่ได้ทั้ง 2 กรณี
ความรุนแรงครั้งใหม่จะมีจริงหรือไม่ จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติแค่ไหน มันก็ขึ้นอยู่สื่อที่จะชี้นำประชาชนให้คิด ให้มอง ให้กดไลค์ ให้กดแชร์ และให้แสดงออกไปทางไหน
นักการเมืองเป็นเพียงผู้จุดไฟ สื่อที่เข้าข้างนักการเมืองเป็นผู้โหมเชื้อไฟ ส่วนประชาชนที่เสพสื่อโดยไม่ไตร่ตรองก็เป็นผู้เร่งเชื้อไฟให้รุนแรง และรับผลที่รุนแรงด้วยตัวประชาชนเอง
ด้วยเหตุนี้ นักการเมืองที่ถือหุ้นสื่อในเวลานี้จึงถูกตีความว่าเป็นเรื่องใหญ่และเป็นข้อห้าม.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : June 27, 2023
Logistics
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศใช้ Deposit Scheme ใหม่สำหรับบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่ซื้อกลับบ้าน มีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคมนี้
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ประกาศใช้มาตรการใหม่สำหรับบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use food packaging) โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 นี้ ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารแบบซื้อกลับบ้าน (Take Away) และจัดส่งถึงบ้าน (Home Delivery) จะไม่สามารถให้บริการลูกค้าด้วยบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกต่อไป ลูกค้าจะต้องจ่ายค่าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มาตรการ Deposit Scheme ใหม่นี้ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการใช้ภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้(Re-use) และลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกำหนดค่าบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ด้วยตัวเอง และผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดเตรียมทางเลือกสำหรับบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ให้แก่ผู้บริโภค และสามารถกำหนดอัตราค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วยตัวเองเช่นกัน โดยรัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการกำหนดอัตราค่ามัดจำ 0.25 ยูโรสำหรับถ้วยและแก้วบรรจุเครื่องดื่ม 0.50 ยูโรสำหรับภาชนะบรรจุอาหาร และ 0.05 ยูโรสำหรับบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กที่มีการบรรจุหีบห่อล่วงหน้า (Pre-packaged) เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว และเครื่องปรุงรส นอกจากนี้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคสามารถทำได้คือสามารถนำบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มของตนเองมาใส่อาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้านได้
มาตรการ Deposit Scheme ใหม่นี้จะใช้กับถ้วยหรือแก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งหมด รวมถึงถ้วยหรือแก้วน้ำที่ประกอบด้วยพลาสติกเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ถ้วยกาแฟกระดาษเคลือบด้วยพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่บรรจุอาหารที่สามารถรับประทานได้โดยตรงโดยไม่ต้องมีการเตรียมอาหารเพิ่มเติม บรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกทั้งหมดหรือบางส่วน และมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เพียงครั้งเดียว เช่น จานพลาสติกที่ใส่มันฝรั่งทอดหรือสลัด หรือภาชนะขนาดเล็กที่มีการแบ่งส่วนอาหาร เช่น ถั่ว ผัก และผลิตภัณฑ์จากนม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงถุงและพลาสติกห่อ (Wrap) เช่น ถุงใส่มันฝรั่งทอด หรือ พลาสติกห่อแซนวิช มาตรการดังกล่าวไม่รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่ลูกค้าจะต้องอุ่น ปรุง อบหรืออย่างก่อนรับประทาน
และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จะมีมาตรการห้ามใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะบรรจุอาหารแบบพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งสำหรับการบริโภคอาหารภายในร้าน(Dine-in) เช่นกัน รวมถึงถ้วยกาแฟจากตู้จำหน่ายกาแฟอัตโนมัติ ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่สามารถใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะบรรจุอาหารแบบพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อให้บริการอาหารพร้อมรับประทานสำหรับลูกค้าได้ อาทิ ร้านอาหารในโรงอาหาร ร้านอาหารในสำนักงาน ร้านอาหารหรือ Snack Bar ในงานเทศกาล เป็นต้น โดยจะต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
คณะรัฐมนตรีรายงานว่าเนเธอร์แลนด์มีบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งประมาณ 19 ล้านชิ้นต่อวัน Vivianne Heijnen รัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการน้ำกล่าวว่า มาตรการใหม่นี้จะเป็นการช่วยลดปริมาณขยะลงอย่างมาก และจะช่วยให้โลกใบนี้สะอาดและน่าอยู่มากขึ้นสำหรับเด็กๆ ในอนาคต มาตรการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตาม European Directive ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use-plastics) ของเนเธอร์แลนด์ และยังมีมาตรการอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Directive อาทิ การห้ามใช้ช้อนส้อม จาน และที่คนกาแฟที่ทำจากพลาสติก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2564 มาตรการDeposit Scheme สำหรับขวดพลาสติก และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้มาตรการ Deposit Scheme สำหรับกระป๋อง เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งมาตรการ
บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีมากประเทศหนึ่ง มีมาตรการที่หลากหลายในการที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศมีความใส่ใจ ให้ความสำคัญ และช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ ระบบเงินมัดจำ Statiegeld คือการนำขวดเปล่า เช่น ขวดเบียร์ ขวดน้ำอัดลม ไปคืนที่ร้านค้าและจะได้รับเงินมัดจำค่าขวดคืน ซึ่งทำให้คนดัชต์ส่วนใหญ่ยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ทำให้มีการขยายการใช้มาตรการ Deposit Scheme ไปใช้กับขวดพลาสติก กระป๋อง และจะปรับใช้กับบรรจุภัณฑ์และภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งสำหรับการซื้อกลับบ้านและการจัดส่งถึงบ้าน เพื่อส่งเสริมการใช้ภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ (Re-use) และลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การรณรงค์และส่งเสริมการใช้พลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้จะช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบและช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มีเพิ่มมากขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในภาคธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงภาคธุรกิจค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีการจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะผักและผลไม้ในบรรจุภัณฑ์พลาสติก จะเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยลดขยะบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก และเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าผักและผลไม้สดที่ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากต้องมีการใช้พลาสติกห่อหุ้มเพื่อลดปัญหาการเน่าเสียระหว่างการขนส่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรต้องปรับตัวและพิจารณาทางเลือกในการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก และหันไปใช้วัสดุทางเลือกจากธรรมชาติที่มีความยั่งยืนมากกว่า หรือใช้พลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติซึ่งย่อยสลายได้ง่ายและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ข้าวโพด เปลือกมันฝรั่ง เป็นต้น
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/128892
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!