CEO ARTICLE
ภาษีมีเจตนารมณ์
สินค้านำเข้ามีภาษีหลายประเภท ภาษีแต่ละประเภทก็มีเจตนารมณ์ต่างกัน หากผู้นำเข้าไม่รู้ก็อาจลืมจ่ายง่าย ๆ มีความผิดทางกฎหมาย และทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น
“ภาษี” และ “อากร” มีความหมายต่างกัน (บทความที่ 748 เผยแพร่วันที่ 08 พ.ย. 65) แต่เมื่อนำมาชำระพร้อมกัน ทุกฝ่ายจึงพร้อมใจเรียกสั้น ๆ รวมกันว่า “ภาษี”
สินค้านำเข้ามี “อากรขาเข้า” และ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เป็นภาษีพื้นฐาน แต่ก็ยังมีภาษีอื่นที่มีเจตนารมณ์ต่างกัน เมื่อเรียกสั้น ๆ รวมกันว่า “ภาษี” ผู้นำเข้าบางท่านจึงอาจเผลอ ลืมจ่ายจนกลายเป็นหลบเลี่ยง มีความผิด มีค่าปรับ มีต้นทุนสินค้าสูงขึ้นโดยใช่เหตุ
หากรู้จักภาษีและเจตนารมณ์ของภาษีแต่ละประเภท ความระมัดระวังก็จะเกิดขึ้น
1. อากรขาเข้า (Import Duty)
กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และเป็นผู้เรียกเก็บจากสินค้านำเข้า
เจตนารมณ์ – เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ กระตุ้นอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ภายในประเทศให้เกิดขึ้น ส่งเสริมประชาชนให้บริโภคสินค้าภายในประเทศ ป้องกันวัฒนธรรมที่จะเกิดจากการบริโภคสินค้าต่างชาติ ป้องกันความผันผวนของค่าเงินบาท และอื่น ๆ
อากรขาเข้าจึงเปรียบได้กับกำแพงป้องกันประเทศมิให้ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้า
แต่หากสินค้าอยู่ในภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น FTA (Free Trade Agreement) หรือได้รับการส่งเสริมด้านต่าง ๆ เช่น BOI หรือสินค้าที่จำเป็นต่อประชาชน เช่น เครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น และอื่น ๆ กำแพงภาษีจะถูกทำลายลง สินค้านั้นจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้า
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax)
กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ กรมศุลกากรเพียงเรียกเก็บแทน
เจตนารมณ์ – เพื่อแยกมูลค่าภาษีเพื่อการบริโภคออกจากราคาสินค้าหรือบริการ
หลักการคือ ผู้ใดบริโภคมาก ผู้นั้นต้องจ่ายภาษีบริโภคมาก ผู้ขายเป็นผู้จ่ายก่อนจากนั้นขอคืน เมื่อขายได้ ผู้ขายก็เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อไปส่งกรมสรรพากรอีกต่อหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ สินค้าทุนที่มีการขายหลายรอบ กำไรจะเพิ่มหลายรอบ มูลค่าสินค้าและภาษีก็จะเพิ่มขึ้นทุกรอบ ผู้ซื้อเพื่อการบริโภครอบสุดท้ายจะขอคืนไม่ได้ และเป็นผู้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในกรณีสินค้านำเข้าจึงต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มขณะนำเข้าไปก่อน หากนำเข้าเพื่อบริโภคก็ขอคืนไม่ได้ แต่หากนำเข้าเพื่อการขายหรือเป็นสินค้าทุน ผู้นำเข้าก็ขอคืนได้จากกรมสรรพากร
3. ภาษีสรรพสามิต (Excise Tax)
กรมสรรพสามิตเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ กรมศุลกากรเพียงเรียกเก็บแทน
เจตนารมณ์ – เพื่อป้องกันสินค้าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ กระทบต่อศีลธรรมอันดีงาม สินค้าที่มีลักษณะฟุ่มเฟือย ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากกิจการของรัฐ และมีผลกระทบในวงกว้าง
ผู้ใดนำเข้าสินค้าดังกล่าวจึงต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต นำไปรวมเป็นต้นทุนสินค้า หรือเรียกเก็บจากผู้ซื้ออีกต่อหนึ่ง หลักการคือ ผู้ใดบริโภคสินค้าดังกล่าว ผู้นั้นต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต
สินค้าที่ต้องชำระภาษีสรรพสามิตมี 15 ประเภท ตัวอย่างเช่น น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เครื่องดื่ม เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือยอชต์ น้ำหอม แบตเตอรี่ พรม สุรา ยาสูบ ไพ่ เป็นต้น (https:www//ecs-support.github.io)
4. ภาษีมหาดไทย (Municipal Tax)
กรมการปกครองท้องถิ่นเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ กรมศุลกากรเพียงเรียกเก็บแทน
เจตนารมณ์ – เพื่อชดเชยท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต
อีกนัยหนึ่ง ภาษีสรรพสามิตชดเชยสังคมวงกว้าง ส่วนภาษีมหาดไทยชดเชยเฉพาะท้องถิ่นในวงแคบ วิธีพิจารณาง่าย ๆ คือ สินค้าใดมีภาษีสรรพสามิต สินค้านั้นก็ต้องมีภาษีมหาดไทย และมีอัตรากำหนดตายตัวที่ร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต
5. อากรทุ่มตลาด (Anti Dumping Tax)
กรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ กรมศุลกากรเพียงเรียกเก็บแทน
เจตนารมณ์ – เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดจากต่างประเทศ หากไม่คุ้มครอง สินค้าทุ่มตลาดจะทำให้การผลิตในประเทศหมดไป
กรมการค้าต่างประเทศจะคอยติดตามราคาสินค้าที่ลดต่ำลงอย่างผิดปกติ พิจารณา และมีประกาศ สินค้าชนิดใด ซื้อจากประเทศใด ต้องชำระอากรทุ่มตลาดในอัตราเท่าใด
ผู้นำเข้าที่กำลังจะซื้อสินค้าแปลกใหม่ หรือสินค้าที่มีราคาต่ำมากอย่างผิดปกติก็ควรตรวจสอบกับเว็บไซต์ของกรมการค้าต่างประเทศ หรือกรมศุลกากรก่อนการตัดสินใจสั่งซื้อทุกครั้ง
แม้ภาษีทุกประเภทจะมีเจตนารมณ์หลักเพื่อสร้าง “ความเท่าเทียม” และ “ความยุติธรรม” ต่อสังคม แต่ภาษีแต่ละประเภทก็ยังมีเจตนารมณ์เฉพาะตัวดังกล่าว
การตระหนักรู้เจตนารมณ์เฉพาะตัวจึงมีส่วนป้องกันผู้นำเข้ามิให้ผิดพลาดได้ง่าย.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : September 26, 2023
Logistics
EU เตรียมเก็บภาษีรถ EV ของจีนเร็ว ๆ นี้
สหภาพยุโรป (EU) เตรียมเก็บภาษีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (EV) ของจีน เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายใน EU จากการแข่งขันกับรถ EV ของจีนที่ราคาถูก โดยนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า “ตลาดโลกกำลังถูกยึดครองด้วยรถ EV ราคาถูกของจีน โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้รถของจีนมีราคาถูกนั้นเป็นเพราะการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีน” สำหรับเรื่องนี้ EU มีเวลาตัดสินใจประมาณ 13 เดือน ว่าจะเอาอย่างไร จะเก็บภาษีในอัตรา 10% สำหรับรถ EV ที่นำเข้าจากจีนหรือไม่ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ EU ต้องขบคิดในเรื่องนี้ ก็เพื่อต่อต้านการสนับสนุนของรัฐบาลจีนที่ให้แก่การส่งออกรถ EV ราคาถูก (รวมถึงการต่อต้าน Dumping) ซึ่งการจัดเก็บภาษีดังกล่าวคาดว่าจะรวมถึงรถ EV ที่ผลิตในจีนทั้งหมดที่ส่งออกมายังยุโรป อาทิ TESLA, Renault, และ BMW ด้วย
จากการสอบถามข้อคิดเห็นไปที่หอการค้าจีน ที่ตั้งอยู่ใน EU ปรากฏว่า การที่รถ EV ของจีนมีราคาถูกและได้เปรียบทางการค้านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนในการผลิตแต่อย่างใด ซึ่งจีนยินดีที่จะให้ EU เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังถึงสาเหตุที่ทำให้รถ EV ของจีนมีราคาถูก อย่างไรก็ดี สถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีนกับ EU ได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่จีนทำตัวสนิทสนมกับรัสเซียมากขึ้น ภายหลังที่เกิดสงครามรัสเซียกับยูเครน ดังนั้น EU จึงพยายามลดการพึ่งพิงจีนในทางเศรษฐกิจลง โดยเฉพาะธุรกิจชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ผู้ผลิตรถ EV ของจีน ไล่มาตั้งแต่บริษัท BYD (ปัจจุบันเป็นผู้นำ) ไปจนถึงบริษัทขนาดเล็กอย่าง Xpeng และ Nio ต่างก็ต้องการที่จะขยายการค้าไปยังต่างประเทศ เพราะการแข่งขันภายในตลาดจีนเองค่อนข้างสูงและยังเจอกับปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หดตัว ซึ่งจากข้อมูล China Passenger Car Association (CPCA) พบว่า “ในเดือนสิงหาคม 2023 การส่งออกรถยนต์ของจีนเติบโตขึ้นถึง 31% ซึ่ง EU ได้รายงานว่า โดยเฉลี่ยรถ EV ของจีนมีราคาถูกกว่ารถ EV ยุโรปถึง 20% (โดยประมาณ) และมียอดขายขยายตัวขึ้น 8% และคาดว่าจะแตะ 15% ในปี 2025” ซึ่งสวนทางกับผู้ผลิตรถยนต์ EV ของยุโรปที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ถูกลงมาเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรถ EV ของจีนได้ และการที่รถ EV ของจีนออกมาล้นตลาดแบบนี้ทำให้ผู้ผลิตรถในยุโรปต้องออกมาต่อสู้และตอบโต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น Renault ได้ประกาศว่า จะลดค่าใช้จ่ายในการผลิตรถ EV ลงให้ได้ 40% สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมัน (VDA) เองก็แจ้งว่า EU ต้องคำนึงถึงการโต้ตอบจากจีนด้วย และควรคิดถึงวิธีการที่ทำให้ผู้ผลิตสัญชาติยุโรปมีประโยชน์มากกว่า
นาง Von der Leyen ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นกลางด้านคาร์บอนของรถ EV และแจ้งว่า “ยุโรปยินดีอ้าแขนต้อนรับการแข่งขันอย่างเป็นธรรม” นาง Von der Leyen ยังได้กล่าวอีกว่า “กลัวว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้ง เหมือนกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับธุรกิจแผง Solar Cell ที่จีนเข้ามาครองตลาดยุโรปอย่างง่ายดาย” ด้านนาย Simone Tagliapietra จาก Think Tank Bruegel กล่าวว่า “นี่เป็นหนทางแก้ไขที่ยาวนานหน่อย แต่จะได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจอย่างแน่นอน หากแต่นโยบายใหม่จะต้องดำเนินควบคู่ (สอดคล้องกับ) ไปกับนโยบายอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในยุโรป” ระหว่างปี 2016 – 2022 รัฐบาลจีนจ่ายเงินสนับสนุนการผลิตรถ EV มากถึง 57 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (โดยประมาณ) จึงทำให้จีนกลายเป็นผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของโลก แม้ในปี 2022 รัฐบาลจีนได้หยุดการให้เงินสนับสนุนแล้ว แต่ยังคงมีบางภูมิภาคที่ยังคงให้เงินสนับสนุนอยู่ ซึ่ง EU ได้พยายามที่จะตรวจสอบว่ามีการสนับสนุนอย่างอื่นอีกหรือไม่ อย่างเช่น วัสดุ และ อุปกรณ์ รวมไปถึงค่าเช่าหรือค่าที่ดินราคาถูกเป็นต้น
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/146223
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!