CEO ARTICLE

สินค้าตัวอย่างยกเว้นภาษี

Published on October 31, 2023


Follow Us :

    

ทำอย่างไรให้การนำเข้าสินค้าตัวอย่างได้รับการยกเว้นภาษี ?

ผู้นำเข้าเกือบทุกรายมั่นใจว่า ของหรือสินค้าตัวอย่างที่นำเข้าไม่ต้องเสียภาษีอากร
แต่พอนำเข้ามาจริงก็ถูกดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ บางครั้งได้รับการยกเว้นภาษี แต่บางครั้งต้องเสีย ผู้นำเข้าบางท่านสงสัยแต่รับได้ บางท่านสงสัยและเสียอารมณ์กับคำว่า “ดุลยพินิจ”
ข้อสงสัยแบบนี้ต้องดูกฎหมายจึงจะได้คำตอบที่ดี
พระราชกำหนดพิกัดศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภท 14 ส่วนของตัวอย่างสินค้าที่จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้ามีเงื่อนไขเพียง 2 ข้อเท่านั้น คือ
1. ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่าง และ
2. ไม่มีราคาในทางการค้า
เงื่อนไขในกฎหมายเขียนไว้แค่นี้ และแค่นี้ก็ยิ่งทำให้ผู้นำเข้ามั่นใจว่า ของตัวอย่างที่นำเข้าเป็นเพียงตัวอย่างจริง ไม่มีราคาจริง อยู่ในเงื่อนไขครบจึงต้องได้รับการยกเว้นอากรขาเข้า
แต่มีเรื่องสมมุติที่เจ้าหน้าที่มักนำขึ้นมาเล่าเพื่อสร้างความเข้าใจ ดังนี้
เรื่องที่ 1 รองเท้าหรู ราคาแพงนำเข้ามาเพียงข้างเดียวเพื่อเป็นตัวอย่าง
ประเด็นคือ รองเท้าข้างเดียวใช้งานไม่ได้ ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างจริง แต่หากแยกนำอีกข้างเข้ามาภายหลัง จากนั้นก็นำมาประกบเป็นคู่ก็เป็นรองเท้าสมบูรณ์พร้อมวางจำหน่ายได้ทันที
เรื่องที่ 2 ผ้าผืนตัวอย่าง 1 ม้วน หน้ากว้าง 50 นิ้ว ยาว 100 หลานำเข้าเป็นตัวอย่าง
ประเด็นคือ ผ้าผืนถูกตัดไป 1 หลาเพื่อตรวจสอบ ผ้าผืนที่เหลือ 99 หลาสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น หรือหากนำไปจำหน่ายได้หรือไม่ ถ้าได้ก็จะมีราคาทางการค้าขึ้นมาทันที
เรื่องเล่าข้างต้นให้ความชัดเจนว่า แม้ผู้นำเข้าจะคิดว่าของที่นำเข้าเป็นเพียงตัวอย่าง ตั้งใจจะไม่นำไปใช้ประโยชน์อื่นใดนอกจากความเป็นตัวอย่าง แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริง ของที่คิดว่าเป็นตัวอย่างนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น นำไปเป็นของกำนัล หรือจำหน่ายได้
ของนั้นย่อมไม่ได้ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่าง และทำให้มีราคาในทางการค้าขึ้นมาทันที

เรื่องเล่าเป็นเพียงเล่าเรื่องที่ให้ความเข้าใจมากขึ้น ชัดเจนขึ้น อาจจริงหรือไม่จริง มีการใช้ “ดุลยพินิจ” พอควรที่นำไปสู่ความเห็นต่าง ความขัดแย้ง และรายจ่ายไม่พึงประสงค์
กรมศุลกากรจึงมีประกาศ 2 ฉบับตามพระราชกำหนดพิกัดศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 อ้างอิงของที่จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าประเภท 12 และ 14 ดังนี้
ประกาศที่ 130/2561 สำหรับประเภท 12 “ของนำเข้าที่มีราคาไม่เกินที่อธิบดีกำหนด” นำเข้าทางไปรษณีย์เร่งด่วนให้ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้า หากมีราคา CIF ไม่เกิน 1,500 บาท
ประกาศที่ 151/2561 สำหรับประเภท 14 “ตัวอย่างสินค้า” ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง (สรุปย่อ) ดังนี้
(1) ต้องมีข้อความชัดเจน
มีข้อความตัวอย่างชัดเจน เช่น Sample, Not for Sale, Tester หรือ Demonstration หรือข้อความอื่นติดอยู่บนของนั้นอย่างชัดเจน ไม่สามารถลบเลือน หรือซักล้างออกได้ง่าย
(2) ต้องมีการทำตำหนิ
เช่นทำเป็นรอยขาด หรือเจาะรู หรือกระทำในลักษณะเดียวกันบนตัวอย่างสินค้า ให้เห็นได้ว่าไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นใดนอกจากการเป็นตัวอย่างสินค้า
(3) ต้องเป็นเศษชิ้นส่วน
มีลักษณะเป็นเศษชิ้นส่วนของตัวสินค้าที่ตัด และจัดทําเป็นเล่มเพื่อเป็นตัวอย่างตามที่เห็นโดยทั่วไป เช่น ตัวอย่างผ้า หนัง หรือ กระดาษปิดผนัง (wallpaper) เป็นต้น
(4) ต้องมีปริมาณพอควร
มีปริมาณหรือน้ำหนักที่เหมาะแก่การเป็นตัวอย่าง มิใช่เพื่อขายหรือประโยชน์อื่นโดยคํานึงข้อเท็จจริงของสินค้า สภาพทางธุรกิจ เช่น ตัวอย่างเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทต่าง ๆ ที่มีปริมาณแต่ละชนิดไม่เกิน 3 ชิ้น หรือมีน้ำหนักสุทธิแต่ละแบบไม่เกิน 2 กิโลกรัม เป็นต้น
(5) ข้อยกเว้น
หากตัวอย่างที่นำเข้าสินค้าไม่เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในข้อ (1) – (4) เช่น นำเข้ามาเป็นต้นแบบในการผลิตของตนเอง มีปริมาณแต่ละชนิดหรือแบบไม่เกิน 3 ชิ้น และไม่มีราคาในทางการค้า ให้ผู้นําเข้ายื่นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ผลิตสินค้าตามตัวอย่างนั้นมาประกอบการพิจารณา เช่น ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เป็นต้น
ประกาศของกรมศุลกากร 2 ฉบับ แม้จะชัดเจนขึ้น แต่ก็หนีไม่พ้นการใช้ “ดุลยพินิจ” อยู่ดี เช่น ของมีราคา CIF ไม่เกิน 1,500 บาทจริงหรือไม่ และการพิจารณาตามข้อ (1) – (5) ข้างต้น
หากผู้นำเข้าต้องการยกเว้นภาษี แต่ไม่อยากเดือดร้อนกับ “ดุลยพินิจ” ก็เพียงจัดหลักฐานต่าง ๆ และปฏิบัติให้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดในประกาศ 130/2561 และ 151/2561 เท่านั้น
ของหรือสินค้าตัวอย่างก็จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าง่ายขึ้น.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : October 31, 2023

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ท่าเรือเซี่ยเหมินเปิดเส้นทาง RCEP ใหม่ เสริมแกร่งบริการขนส่งสินค้าของท่าเรือ

เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ท่าเรือเซี่ยเหมินเปิดเส้นทางการเดินเรือไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มเติม โดยมีจุดหมายปลายทางไปยังท่าเรือในเกาหลีใต้ มาเลเซีย และเวียดนาม โดยเส้นทางเดินเรือใหม่ดังกล่าว สามารถไปถึงท่าเรือกะไล นครโฮจิมินห์ ได้ภายใน 3 วัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายการนำเข้าและส่งออกระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนและเมืองชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีนกับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP รวมถึงช่วยส่งเสริมการส่งออกของมณฑลฝูเจี้ยน โดยเฉพาะสินค้าที่ฝูเจี้ยนมีศักยภาพการผลิตสูง อาทิ การผลิตรองเท้าและเสื้อผ้า เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์

เส้นทาง RCEP สายใหม่ดำเนินการโดยสายการเดินเรือ Wan Hai Lines (Wan Hai) ผู้ดำเนินธุรกิจขนส่งตู้คอนเทนเนอร์รายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน และเป็นหนึ่งในบริษัทสายการเดินเรือชั้นนำที่ให้บริการครอบคลุมชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกของสหรัฐฯ ตะวันออกกลาง และชายฝั่งตะวันตกของภูมิภาคอเมริกาใต้ ในอนาคตบริษัท Wan Hai วางแผนที่จะเชื่อมต่อเส้นทางสายใหม่นี้กับเส้นทางการเดินเรือสิงคโปร์-มาเลเซีย ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งการเชื่อมโยงการบริการขนส่งสินค้าของท่าเรือเซี่ยเหมินยิ่งขึ้น โดยจะให้บริการการเดินเรือโดยตรงจากเซี่ยเหมินไปยังท่าเรือกลังของมาเลเซีย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

ทั้งนี้ ท่าเรือเซี่ยเหมินถือเป็นท่าเรือศูนย์กลางการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ของชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีนโดยใช้ประโยชน์จากมาตรการการการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้ความตกลง RCEP รวมถึงภายใต้ข้อริเริ่ม BRI โดยปัจจุบันท่าเรือเซี่ยเหมินมีแผนจะขยายช่องทางโลจิสติกส์เชื่อมโยงกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP และกลุ่มประเทศตามข้อริเริ่ม BRI เพื่อรองรับต่อปริมาณการค้าระหว่างจีนกับต่างประเทศที่สูงขึ้นในอนาคต
แหล่งอ้างอิง https://www.investxiamen.org.cn/detail/8272.html

ที่มา: https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.