CEO ARTICLE

C/O ปลอม

Published on November 14, 2023


Follow Us :

    

ผู้นำเข้าจะรู้ได้อย่างไรว่า C/O ที่ได้รับนั้นปลอม ?

C/O ย่อมาจากคำว่า Certificate of Origin บางประเทศก็ใช้คำว่าย่อว่า COO
C/O คือ “หนังสือรับรองถิ่นกำเนิด” ปัจจุบันมีความสำคัญมากต่อการยกเว้นภาษี หรือการลดหย่อนภาษีให้แก่ “สินค้า” ที่นำเข้าของประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) ยกเว้นภาษีให้ “สินค้า” ที่นำเข้าจากประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing Country) หรือประเทศที่ด้อยพัฒนา (Underdeveloped Country) หรือการซื้อขายตามข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Agreement) เป็นต้น
การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นนี้ทำให้ “สินค้า” ที่ผลิตในประเทศผู้ขายสามารถส่งออกได้มากขึ้น เป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจประเทศส่งออก และเป็นการส่งเสริมสังคมโลกให้สงบสุข
ในเมื่อเป็นความช่วยเหลือและเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศจึงต้องมี “กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด” หรือ ROO (Rule of Origin) เพื่อพิสูจน์ว่าสินค้านั้นได้ผ่านกระบวนการผลิตภายในประเทศส่งออกอย่างถูกต้อง กฎที่ว่านี้จะว่าง่ายหรือยากก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบและทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต
หากเป็นของประเทศส่งออกทั้งหมดจะใช้รหัสว่า “WO” (Wholly Obtained) การพิสูจน์ก็ง่าย หากเป็นนำเข้ามาจากกลุ่มประเทศภาคีจะใช้รหัสว่า “PE” (Produced Entirely) การพิสูจน์ก็ยาก หรือหากนำเข้าจากประเทศนอกกลุ่มมาผสมตามหลักเกณฑ์การแปรสภาพอย่างเพียงพอก็จะใช้รหัส “ST” (Substantial Transformation) แบบนี้ก็ยากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ยากมาก
ผู้ส่งออกเป็นผู้ขายจึงมีหน้าที่พิสูจน์ร่วมกับผู้ผลิตภายในประเทศส่งออก
เมื่อสินค้าผ่านกระบวนการพิสูจน์อย่างถูกต้อง ผู้ส่งออกจะได้รับ C/O หรือหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดเพื่อนำไปรับเงินค่าสินค้า และมอบให้ผู้ซื้อนำไปยกเว้นภาษีในประเทศของตน
ผู้ส่งออกในประเทศที่ไม่มี C/O จึงขายได้ยากขึ้น หรืออาจขายส่งออกไม่ได้เลย
ด้วยเหตุนี้ ผู้ส่งออกในบางประเทศที่ขาดความรู้ ขาดความเข้าใจ หรือต้องพึ่งพาตัวแทนให้เป็นผู้ส่งออกให้ (Export Agent) หรือมีเจตนาไม่ดีจึงสร้าง C/O ปลอม
ผู้นำเข้าของไทยได้รับ C/O ปลอมมาทำเรื่องยกเว้นภาษี ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องถูกตรวจพบ
ในอดีต การตรวจสอบอาจช้า แต่ก็เร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันเร็วมากจากความร่วมมือของศุลกากรทั่วโลกผ่านระบบ NSW (National Single Window) หรือการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ จากประเทศส่งออกสู่ประเทศนำเข้าของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

แต่อย่างที่ว่า ผู้ส่งออกในบางประเทศที่ขาดความรู้และความเข้าใจยังมีไม่น้อย
การใช้ C/O ปลอมจึงอาจยังมีให้เห็น แต่ระบบศุลกากรก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ สู่อิเล็กทรอนิกส์ สู่ระบบไร้กระดาษ (Paperless) และสู่ Electronic C/O ในปัจจุบัน
การใช้ C/O ปลอมจึงยากขึ้น มีช่องทางให้ตรวจสอบมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มี
ปัจจุบัน กองนโยบายและอุทธรณ์พิกัดอัตราศุลกากรได้มีประกาศที่ 6/2566 ลว. 03 พ.ย. 2566 เรื่อง “เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า”
ประกาศนี้เพื่อเป็นช่องทางตรวจสอบให้ผู้นำเข้าของไทยง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ดังนี้
1. http://origin.customs.gov.cn เพื่อตรวจสอบ C/O ประเภท Form E ที่ออกโดยศุลกากรของสาธารณรัฐประชาชนจีน และ http://check.ccpiteco.net สำหรับ C/O ประเภท Form E ที่ออกโดย CCPIT หรือ China Council for the Promotion of International Trade
2. http://www.eicindia.gov.in เพื่อตรวจสอบ C/O ประเภท Form AI ที่ออกโดยอินเดียโดยเลือก Post Verification Systems สำหรับรูปแบบปกติ และเลือก http://coo.dgft.gov.in สำหรับรูปแบบดิจิทัล
3. http://www.customs.go.kr/co.html เพื่อตรวจสอบ C/O ประเภท Form AK ที่ออกโดยศุลกากรของสาธารณรัฐเกาหลี และ http://cert.korcham.net/search เพื่อตรวจสอบ C/O Form AK ที่ออกโดย KCCI หรือ Korea Chamber of Commerce & Industry
4. http://www.ntp-ics.gov.sg/vp/ เพื่อตรวจสอบ C/O ของความตกลงทุกฉบับที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดของประเทศสิงคโปร์ (Singapore Customs)
ตัวแทนออกของ (Customs Broker) และผู้นำเข้าที่ซื้อสินค้าจากประเทศข้างต้นจึงควรใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ดังกล่าว ป้องกัน และร่วมกันกำจัด C/O ปลอมให้หมดไป.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : November 14, 2023

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

กว่างซีเร่งส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์กับอาเซียน

ด้วยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการ และการเจรจาเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (CAFTA) เวอร์ชั่น 3.0 มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือและการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ระหว่างเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วงกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสวงหาโอกาสสําคัญใหม่ๆ โดยเขตฯ กว่างซีจ้วงใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทำเลที่ตั้งที่ติดกับประเทศอาเซียน เสริมสร้างบทบาทที่เป็นจุดเชื่อมต่อศูนย์กลางโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง และสร้างระบบการขนส่งสินค้า ทั้งทางรถไฟ ทางบก ทางอากาศ และทางทะเล ที่มีประสิทธิภาพและมีการเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างกัน เพื่อพัฒนาให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นช่องทาง โลจิสติกส์หลักสําหรับการขนส่งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงทำให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นเมืองกระจายสินค้า จากเดิมที่เป็นเมืองทางผ่านสินค้า

เมื่อสิ้นเดือนตุลาคม 2566 ขบวนรถไฟจีน – เวียดนาม ที่ขนส่งสินค้ากระป๋องโลหะและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคลื่อนขบวนออกจากท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง หรือ Nanning International Railway Port (南宁国际铁路港) ผ่านด่านรถไฟผิงเสียงไปสู่สถานีรถไฟเย็นเวียนของเวียดนาม จึงทำให้ปริมาณสินค้าที่ขนส่งผ่านรถไฟจีน – เวียดนาม มีปริมาณรวม 132,300 ตัน ตั้งแต่เปิดดำเนินการและมีการขนส่งประจำในเดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นมา (เปิดให้บริการวันละ 1 เที่ยวขบวน ในวันอังคาร วันพฤหัสบดี วันเสาร์ของทุกสัปดาห์)

ปัจจุบัน สินค้าที่นำเข้าและส่งออกผ่านโดยผ่านรถไฟจีน – เวียดนาม ที่ด่านรถไฟผิงเสียงมีจำนวนมากกว่า 620 ประเภท สินค้าที่นำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผลไม้สด ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ของใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าที่ส่งออกสำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยนต์ดีเซล เป็นต้น ระยะเวลาการขนส่งจากเมืองหนานหนิงไปสู่เมืองฮานอย ใช้เวลา 4 ชั่วโมง ไปสู่สถานีรถไฟด่งดัง 5 ชั่วโมง และไปสู่สถานีรถไฟเย็นเวียน 14.5 ชั่วโมง ซึ่งสามารถทำให้การส่งมอบสินค้าได้ภายใน 1 วันภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลของเขตฯ กว่างซีจ้วงทำให้ราคาขนส่งลดลงเป็นอย่างมาก เช่น ราคาขนส่งจากเมืองหนานหนิงถึงเมืองฮานอยลดลงถึง 2,150 หยวนต่อตู้คอนเทนเนอร์ (ตู้ขนาด 40 ฟุต) สำหรับบริษัทที่มีการขนส่งมากกว่า 24 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือนลดลงถึง 1,150 หยวนต่อตู้คอนเทนเนอร์ (ตู้ขนาด 40 ฟุต)

เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน สถานีรถไฟยังสามารถส่งออกสินค้าทางบกด้วย กล่าวคือ ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิงได้เปิดโมเดลการขนส่งข้ามพรมแดนรูปแบบใหม่สำหรับสินค้าที่ส่งออกผ่านทางรถไฟและทางบก โดยสินค้าที่ส่งออกผ่านช่องทาง 2 แบบดังกล่าวสามารถดำเนินพิธีการศุลกากรล่วงหน้าที่ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง แล้วค่อยขนส่งไปด่านทางบกต่างๆ ของเขตฯ กว่างซีจ้วงเพื่อส่งออกไปยังประเทศปลายทาง ทำให้ประสิทธิภาพการผ่านด่านเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ในปีนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงเร่งส่งเสริมก่อสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับประเทศในเมืองต่างๆ เช่น ศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางบกเมืองหนานหนิง ศูนย์กลางโลจิสติกส์ท่าเรือชินโจว – เป๋ยไห่ – ฝางเฉิงก่าง ศูนย์กลางโลจิสติกส์การบริการการผลิตเมืองหลิ่วโจว ศูนย์กลางโลจิสติกส์รูปแบบด่านทางบกชายแดนเมืองผิงเสียง และศูนย์กลางโลจิสติกส์รูปแบบ Cold chain เมืองยวี่หลิน นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นในการส่งเสริมการพัฒนาโครงการศูนย์กลางโลจิสติกส์แบบสำคัญ อาทิ ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง สวนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจีน – สิงคโปร์เมืองหนานหนิง ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศเมืองหลิ่วโจว เป็นต้น ซึ่งมีการยกระดับรูปแบบเครือข่ายของสิ่งอํานวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ด่านโหย่วอี้กวนได้เปิดก่อสร้างโครงการด่านอัจฉริยะข้ามพรมแดนแห่งแรกระหว่างจีน – เวียดนาม คาดการณ์จะแล้วเสร็จใช้งานได้ในปี 2567 จะสามารถช่วยให้สินค้าผ่านด่านได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องใช้คน

สำหรับสถานีรถไฟท่าเรือชินโจว สามารถรองรับรถไฟขนส่งสินค้ามากถึง 21 ขบวนต่อวัน และขนถ่ายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง จนถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าตาม เส้นทางการขนส่งทางบกเชื่อมกับทางทะเลใหม่แห่งภาคตะวันตก (New International Land-Sea Trade Corridor) ได้ขนส่งสินค้าทั้งหมด 7 แสนตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 คาดการณ์ว่า สินค้าที่ขนส่งในปี 2566 จะมีจำนวนมากกว่า 8.5 แสนตู้คอนเทนเนอร์ ปัจจุบันสินค้าที่ขนส่งผ่านขบวนรถไฟดังกล่าวมากกว่า 980 ประเภท สามารถขนส่งไปยัง 138 สถานี 69 เมือง ใน 18 มณฑลของประเทศจีน และสามารถกระจายไปยัง 473 ท่าเรือ 120 ประเทศ

สำหรับการพัฒนาศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางอากาศ สนามบินนานาชาติอู๋ซวีเมืองหนานหนิงเพิ่งเปิดเส้นทางการบินขนส่งสินค้าใหม่กับประเทศพม่าและประเทศปากีสถาน ปัจจุบัน สนามบินฯ เมืองหนานหนิง มีเส้นทางการบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ จำนวน 17 เส้นทาง 14 เมืองในอาเซียน 6 ประเทศ (ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์) และ เอเชียใต้ 4 ประเทศ (ได้แก่ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน บังคลาเทศ) สินค้าที่นำเข้าสำคัญ คือ อาหารทะเล ผลไม้สด สมุนไพร และเครื่องเทศ เป็นต้น สินค้าที่ส่งออกสำคัญคือ สินค้าไปรษณีย์ในรูปแบบการค้า Cross-border e-commerce สินค้าในรูปแบบการค้าทั่วไป ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น ถึงวันที่ 30 กันยายน สนามบินฯ หนานหนิงได้ขนส่งสินค้า 58,800 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 สูงกว่าระดับการเติบโตที่เฉลี่ยของทั้งประเทศจีน

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2565 ทางการเขตฯ กว่างซีจ้วง ได้เริ่มโครงการขุดเชื่อมคลองผิงลู่กับแม่น้ำซีเจียงและอ่าวเป่ยปู้ อย่างเป็นทางการ ซึ่งหากสำเร็จพร้อมใช้งาน จะเป็นลดต้นทุนการขนส่ง และการย่นระยะสำหรับการขนส่งเชื่อมต่อทางทะเลการขนส่งสินค้าของภาคตะวันตกตอนล่างของจีน คลองนี้มีความยาวประมาณ 135 กิโลเมตร เริ่มต้นจากปากแม่น้ำผิงถางเจียง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำซีเจียง (West River) อยู่ในอำเภอระดับเมืองเหิงโจว เมืองหนานหนิง เขตฯ กว่างซีจ้วง ไปยังตำบลลู่วู อำเภอหลิงซาน เมืองชินโจว ออกสู่อ่าวเป่ยปู้ตามแม่น้ำชินเจียงที่อยู่บริเวณใกล้กับท่าเรือชินโจว ร่องน้ำเดินเรือเป็นร่องน้ำมาตรฐานระดับ 1 ซึ่งสามารถรองรับขนาดเรือ 5,000 ตันได้ ใช้เงินลงทุน 72,730 ล้านหยวน (ประมาณ 385,469 ล้านบาท) ใช้เวลาการก่อสร้างทั้งหมด 54 เดือน หลังจากเปิดใช้งาน สินค้าที่ขนส่งทางแม่น้ำของเมืองที่อยู่จีนตอนในจะไม่ต้องไปออกทะเลที่แม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้งแล้ว โดยสามารถออกทะเลที่ท่าเรือชินโจวโดยผ่านคลองผิงลู่ เช่นจากเมืองหนานหนิงไปยังท่าเรือชินโจวโดยผ่านแม่นี้สายนี้มีระยะทางเพียงแต่ 291 กิโลเมต เทียบกับทางออกทะเลระหว่างเมืองหนานหนิงถึงแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้งแล้วลดลงจากเดิมถึง 563 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายทางขนส่งเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงกำลังเร่งส่งเสริมการพัฒนาโครงการเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมจีนอาเซียน โครงการนี้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่เริ่มเสนอโดยรัฐบาลจีนกลางในปี 2566 เพื่อกระชับความร่วมมืออุตสาหกรรมกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งให้เขตฯ กว่างซีวางแผนจัดตั้งเขตความร่วมมืออุตสาหกรรมจีน – อาเซียนที่เมืองติดกับชายแดนและทะเล โดยใช้นิคมอุตสาหกรรมที่มีในปัจจุบันของเมือง 7 แห่งเป็นพื้นฐาน ได้แก่ เมืองหนานหนิง เมืองเป๋ยไห่ เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองชินโจว เมืองยวี่หลิน เมืองไป่ซื่อ และเมืองฉงจั่ว พื้นที่รวมของเขตความร่วมมือประมาณ 80 ตารางกิโลเมตร อุตสาหกรรมหลักประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์พลังงานใหม่และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเคมี การผลิตอุปกรณ์ วัสดุโลหะใหม่ สิ่งทอและเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น โลจิสติกส์การค้า ฯลฯ ทั้งนี้ จะส่งเสริมให้ระบบโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องของเขตฯ กว่างซีจ้วงได้พัฒนาสมบูรณ์มากขึ้น

ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 มูลค่าการค้าต่างประเทศของเขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่ที่ 498,150 ล้านหยวน เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 สำหรับท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ท่าเรือเป๋ยไห่) ได้ขนส่งสินค้าเป็นปริมาณ 230 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 สำหรับด่านโหย่วอี้กวนมีรถบรรทุกเข้าออกประเทศเป็นจำนวน 315,700 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 162.88 ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ใน 2 ปีที่ผ่านมา สินค้าที่นำเข้าส่งออกเป็นปริมาณ 3,466,900 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 71.83 จึงสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาการขนส่งทางโลจิสติกส์นั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ความเห็น สคต.หนานหนิง
การส่งเสริมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์กับอาเซียนดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในเขตฯ กว่างซีจ้วงมีการส่งเสริมพัฒนา และมียกระดับการให้บริการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นช่องทางให้กับผู้ประกอบการไทยในการพิจารณาเลือกใช้ช่องทางการขนส่งสินค้าที่หลากหลายมายังจีน เพื่อให้การขนส่งสินค้ามายังจีนมีความสะดวกรวดเร็ว และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีน

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/151844

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.