CEO ARTICLE

ความรู้สึกเป็นเจ้าของ

Published on December 12, 2023


Follow Us :

    

คนที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของจะได้ประโยชน์อะไร ?

คนทำงานอยากมีความเจริญก้าวหน้ากันทุกคน ไม่มีใครอยากหยุดกับที่หรือถอยหลัง

บางคนอยากมีความรู้หลายด้าน รู้มาก ๆ อยากมีความสามารถสูงเกินผู้อื่น บางคนอยากได้เงินเดือนสูง อยากได้ตำแหน่งสูง และบางคนก็ฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการเล็ก ๆ สักแห่ง

สิ่งที่คนทำงานเห็นได้ชัดคือ คน 2 คนเติบโตมาด้วยกัน เรียนจบจากสถาบันแห่งเดียวกัน มีครูคนเดียวกัน อ่านตำราเล่มเดียวกัน เข้าทำงานพร้อมกันในตำแหน่งเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน 

พอทำงานไปได้ระยะหนึ่ง ทำไมคนหนึ่งเจริญก้าวหน้าเร็วกว่าอีกคนหนึ่ง แล้วอยู่ ๆ ก็ก้าวกระโดดไปเป็นเจ้าของกิจการเล็ก ๆ ของตน ส่วนอีกคนยังคลานต้วมเตี้ยมในตำแหน่งเดิม

เหตุผลง่าย ๆ เพราะคน 2 คนนี้มี “ความรู้สึกเป็นเจ้าของ” ต่างกัน

ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) เป็นความรู้สึกที่ผูกพัน หวงแหนต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่น รู้สึกเป็นเจ้าของครอบครัวก็จะคอยห่วงใย ดูแลพ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน จะคอยปกป้อง จะมุ่งสร้างความสุขให้ครอบครัว

หากรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กรก็จะรัก จะห่วงใยองค์กร เห็นพื้นสำนักงานสกปรกจะรีบแจ้งแม่บ้าน เห็นงานน่าจะมีปัญหา เห็นเพื่อนร่วมงานทำผิด เห็นสินค้าน่าจะเสียหาย หรือสงสัยลูกค้าอาจไม่พึงพอใจก็จะรีบรายงานหัวหน้างานให้รีบแก้ไขและป้องกัน เป็นต้น 

ความรู้สึกเป็นเจ้าของเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากใจ เกิดโดยธรรมชาติ บังคับกันไม่ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะเป็นต้นทางให้คนผู้นั้นเกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ มากมาย

  1. การทำงานเชิงรุก

เมื่อความรู้สึกเป็นเจ้าของเกิดขึ้น คนผู้นั้นจะไม่นิ่งดูดายต่อสภาพแวดล้อม จะมองปัญหาที่อยู่เบื้องหน้า จะมององค์กร มองลูกค้า มองปัญหาเพื่อแก้ไขและป้องกัน เกิดทักษะด้านต่าง ๆ จะเกิดขึ้น เกิดการรายงาน หัวใจบริการโดยไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจนเป็นการทำงานเชิงรุก 

  1. ความเป็นมืออาชีพ

เมื่อมองเห็นปัญหา คนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของจะมุ่งแก้ไขและป้องกันโดยการพัฒนาและทำตามขั้นตอนการทำงานหรือแผนงานจนเกิดประสิทธิภาพ และเกิดความเป็นมืออาชีพ

  1. วิสัยทัศน์และทัศนคติ

ความรู้สึกเป็นเจ้าของที่เกิดขึ้นมาก ๆ จะทำให้เห็นทิศทางต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เกิดความคิดหลายด้าน มองได้ไกล และเห็นแต่สิ่งที่ดีจนกลายเป็นคนมีวิสัยทัศน์และมีทัศนคติที่ดีไปด้วย

  1. คุณค่าและภาพลักษณ์

คนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของจะมองส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ไม่มีข้ออ้างถอยห่างจากส่วนรวม เข้าอบรมความรู้ ร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ จนกลายเป็นคนที่มีคุณค่าและมีภาพลักษณ์ที่ดี

การพัฒนาต่าง ๆ ยังมีอีกมากที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าและความสำเร็จของคนผู้หนึ่ง

ในความเป็นจริงทุกคนมีความรัก ผูกพัน และหวงแหนต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาตั้งแต่เกิด 

ทุกคนจึงมีความรู้สึกเป็นเจ้าของติดฝังอยู่กับตัวตั้งแต่เกิดไม่ต่างกัน แต่ที่ต่างกันคือ ทุกคนมีการแสดงออกไม่เหมือนกัน แสดงออกต่างกัน บางคนแสดงออกอย่างคลุมเครือจนความรู้สึกเป็นเจ้าของที่มีตั้งแต่เกิดค่อย ๆ ลดน้อยลง สัมผัสไม่ได้ และอาจหายไป

คนที่แสดงความรู้สึกเป็นเจ้าของได้อย่างคลุมเครือ ไม่ชัดเจนจึงมีแนวโน้มไม่ใส่ใจสิ่งอื่น 

คนแบบนี้จะมุ่งยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมากกว่า ผูกพันต่อองค์กรน้อยกว่า มักมีแต่ข้ออ้างให้ทำไม่ได้ ให้ถอยห่างจากส่วนรวม ร่วมกิจกรรมได้น้อย ทำงานเชิงรุกไม่ได้ หรือรุกได้ก็ไม่เต็มที่จนตนเองห่างไกลจากความเป็นมืออาชีพ มีวิสัยทัศน์ต่ำ มีทัศนคติไม่ดี มีคุณค่าและภาพลักษณ์ก็ไม่ดีตามไปด้วย แบบนี้ความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จในชีวิตก็ไม่มีทางไปถึง

ในเมื่อทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของมาตั้งแต่เกิด 

การแสดงออกบ่อย ๆ อย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือ ไม่เสแสร้งจึงเป็นการต่อเติมและพัฒนาความรู้สึกเป็นเจ้าของให้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนติดตัว

ความเจริญก้าวหน้าของคน ๆ หนึ่งจึงเกิดจากคนผู้นั้นและส่วนใหญ่เกิดจากความรู้สึกเป็นเจ้าของที่มีเป็นพื้นฐาน ที่พัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ จนติดตัวเป็นนิสัยสู่ความสำเร็จโดยง่าย.

   

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

👉  Home and Health … https://www.inno-home.com

👉  Art and Design …… https://www.cose.life

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : December 12, 2023

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

บริษัทผู้ประกอบการสวีเดนประสบความสำเร็จในการผลิตเรือขนส่งสาธารณะไฟฟ้าเป็นครั้งแรกของโลก

เมืองต่างๆ ทั่วโลกต่างเห็นว่า การขนส่งสาธารณะที่สะอาด และมีประสิทธิภาพเป็นส่วนสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งกรุงสตอกโฮล์มกำลังสร้างมาตรฐานใหม่นี้

เรือเฟอร์รี่ข้ามฟาก P – 12 จากบริษัท Candela เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้า โดยแทบจะไม่ส่งเสียงใดๆ เลย และแล่นอยู่เหนือน้ำกว่า 1 เมตร ซึ่งได้เปิดตัวไปในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยบริษัทฯ หวังว่า เรือเฟอร์รี่ลำนี้จะเป็นยุคใหม่ของการขนส่งสาธารณะทางน้ำ
เรือลำนี้ได้รับการออกแบบให้บรรทุกผู้โดยสารได้ 30 คน ด้วยความเร็วสูงสุด 30 นอต (56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งเร็วกว่าเรือข้ามฟากโดยสารไฟฟ้าอื่นๆ มาก ทำได้สำเร็จด้วยปีกไฮโดรฟอยล์คาร์บอนไฟเบอร์ที่ช่วยยกเรือขึ้นจากน้ำ ลดการลาก

บริษัทผู้ผลิต Candela กล่าวว่าเทคโนโลยีนี้ช่วยลดพลังงานต่อผู้โดยสารหนึ่งกิโลเมตรได้ถึงร้อยละ 95 เมื่อเทียบกับเรือขนส่งสาธารณะดีเซลที่เกือบทุกแห่งในโลกใช้กันอยู่

ทั้งนี้ เรือ P-12 ยังอยู่ระหว่างการทดสอบเป็นเวลา 9 เดือน โดยมีกำหนดนำมาใช้งานเป็นเรือขนส่งสาธารณะข้ามฟากระหว่างชานเมืองกรุงสตอกโฮล์ม (Ekero) และใจกลางเมือง ในช่วงเดือนกรกฎาคมปีหน้า

นอกจากนี้ เรือเฟอร์รี่ P-12 รุ่นใหม่นี้ยังสามารถลดเวลาเดินทางจาก Ekero จากเดิม 55 นาทีเหลือเพียง 25 นาที และสามารถแล่นได้ในน้ำที่มีคลื่นสูงสุดที่ 2 เมตร

ทั้งนี้ บริษัทฯ หวังว่าเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วโลกอย่างซานฟรานซิสโก นิวยอร์ก และเวนิสจะนำระบบการขนส่งสาธารณะทางน้ำจากพลังงานไฟฟ้ามาใช้ โดย Vice President of the Regional Executive Board ของกรุงสตอกโฮล์มได้กล่าวสนับสนุนโครงการนี้ และกล่าวว่าจะช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์เรือสาธารณะไฟฟ้าต้นแบบสู่ตลาดโลก และให้ข้อมูลว่า ในปี 2565 มีประชากรในกรุงสตอกโฮล์มใช้บริการเรือโดยสารสาธารณะประมาณ 6.2 ล้านครั้ง ซึ่งถึงแม้ว่าการสัญจรทางเรือนี้จะยังคงเป็นส่วนเล็กๆ ของระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นรูปแบบการขนส่งสาธารณะที่เติบโตเร็วที่สุดหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต.:
• ปัจจุบันสวีเดนมีประชากรรวม 10.55 ล้านคน จากสภาพภูมิประเทศที่สวีเดนมีหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 1,000 เกาะ บริการเรือข้ามฟากจึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อเกาะเหล่านี้กับแผ่นดินใหญ่ ซึ่งบริการเหล่านี้ไม่เพียงแต่จำเป็นสำหรับผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นที่ใช้บริการในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการสำรวจหมู่เกาะต่างๆ ด้วย
• นอกจากเส้นทางเดินเรือข้ามฟากในกรุงสตอกโอล์ม สวีเดนยังมีเส้นทางเดินเรือข้ามฟากทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมจากทั้งประชาชน และนักท่องเที่ยว ซึ่งมีเส้นทางเชื่อมโยงสวีเดน กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และเอสโตเนีย
• โอกาสของสินค้าไทยในอุตสาหกรรมนี้ที่เกี่ยวข้อง เช่น อุปกรณ์เรือ และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้ สัญญาณเสียง และส่วนประกอบ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น และส่วนประกอบของเครื่องจักรกล
• ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้นใหม่มากมายในตลาดสวีเดน และกลุ่มประเทศนอร์ดิก ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์สาธารณะ รถบรรทุก มอร์เตอร์ไซต์ และ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเรือข้ามฟากพลังงานไฟฟ้าของบริษัท Candela นี้นับได้ว่าเป็นสินค้าใหม่ในอุตสาหกรรมเรือขนส่งสาธารณะ และคาดว่าจะมีผู้ผลิตรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมพัฒนาสินค้าดังกล่าวตามมาต่อไป
• สวีเดนให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ให้บริการเรือข้ามฟากหลายรายได้นำแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ดังเช่นบริษัท Candela เช่น การใช้ระบบขับเคลื่อนสะอาด รวมทั้ง ใช้มาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึงกฎระเบียบ และมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องด้วย รายละเอียดเรือเฟอร์รี่ข้ามฟาก P – 12 จากบริษัท Candela เพิ่มเติมสามารถดูได้ที่เวปไซต์ https://candela.com/

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/156194

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.