CEO ARTICLE

การเมืองในองค์กร

Published on February 20, 2024


Follow Us :

    

ผู้นำเป็นผู้ส่งเสริมการเมืองในองค์กรอย่างไม่ตั้งใจจะแก้ไขอย่างไร ?

หากมนุษย์อยู่คนเดียวในป่าเขา ปลูกพืช ล่าสัตว์เพียงลำพัง แบบนี้ไม่มีการเมืองแน่
แต่เพราะมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าสังคมเล็กหรือใหญ่ และทรัพยากรที่จะสนองความต้องการมีจำกัด การรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างมิตรภาพ เพื่อให้ได้ความรัก ความอบอุ่น เพื่อให้ได้ทรัพยากร เพื่ออำนาจการต่อรอง และผลประโยชน์ร่วมกันจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ที่ใดมีผลประโยชน์ ที่ใดมีความต้องการผลประโยชน์ และที่ใดมีการรวมกลุ่มคนเพื่อให้ได้มิตรภาพ ความรัก และผลประโยชน์ ที่นั่นต้องมีการเมืองเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
เมื่อเกิดในองค์กรจึงเป็นการเมืองในองค์กร และทุกองค์กรต้องมีการเมือง
องค์กรยิ่งใหญ่ การเมืองก็ยิ่งมาก มีการแบ่งเขา แบ่งเรา อ้างกฎ อ้างระเบียบ อ้างความถูกต้อง อ้างผลประโยชน์องค์กร แต่ปิดซ่อนผลประโยชน์ส่วนตนอย่างไม่รู้ตัว
การเมืองในองค์กรจึงมีความหมายเป็นนัยในทางลบ
ในเมื่อเป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดและมีความเสียหาย มันจึงเป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กรที่ต้องรู้ ต้องยอมรับ และต้องสร้างเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อป้องกันความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
สาเหตุใหญ่ ๆ ที่ทำให้เกิดการเมืองมาจากผู้นำองค์กรไม่ยึดมั่น “ระบบมาตรฐาน”
1. มาตรฐานการปฏิบัติงาน
งานนี้ยาก งานนั้นง่าย งานโน้นมีรายได้ งานนั้นไม่อยากทำ คนนั้นทำผิดล้วนเกิดจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ทั้งสิ้น ทีมงานต้องวิ่งหาพวก หาหัวหน้างานให้ได้งานดี งานมีรายได้ ให้ปกปิดความผิดของตน แต่หากกลุ่มอื่นทำผิดให้จัดการความผิดอย่างเปิดเผย
เมื่องานไม่มีระบบมาตรฐาน หัวหน้างานจึงเป็นผู้ชี้ถูก ชี้ผิด และเป็นต้นเหตุของการเมือง
การแก้ไขง่าย ๆ ก็เพียงผู้นำต้องสร้างระบบมาตรฐานให้แก่งานทุกงาน ให้มีขั้นตอนการรับงาน การกระจายงาน ให้มีขั้นตอนการทำงาน มีแผนงานที่ชัดเจน ใครต้องทำอะไร ทำอย่างไร ต้องทำเมื่อไร และงบประมาณเท่าไรโดยผู้นำต้องให้หัวหน้างานเคร่งครัดต่อมาตรฐานที่กำหนด
ระบบงานมาตรฐานทำให้มีข้ออ้างอิง และหัวหน้างานก็ต้องชี้ไปตามระบบมาตรฐาน
2. มาตรฐานการจัดการภายใน
คนนั้นมาสายบ่อย คนนี้หยุดงานบ่อย กลุ่มนั้นได้โบนัส ได้ขึ้นเงินเดือนมากกว่า กลุ่มเราได้กินแค่อาหารธรรมดา ได้แต่เบียร์กระป๋อง กลุ่มโน้นได้กินสเต็ก ได้กินไวน์กับหัวหน้างาน
หัวหน้างานย่อมมีเหตุผลของหัวหน้างาน ทีมงานแต่ละกลุ่มก็มีเหตุผลของแต่ละกลุ่ม
หากการจัดการภายในไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน การอ้างเหตุผลของตนเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนจึงเกิดขึ้น เมื่อไม่ได้รับการยอมรับก็กลายเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ และความแตกแยก
ผู้นำจึงต้องสร้างมาตรฐานการจัดการภายใน มีระบบคุณธรรม มีการประเมินให้ยอมรับ มีลายลักษณ์อักษรเพื่อป้องกันการหลงลืมหรือทำเป็นแผนแม่บทเพื่อการอ้างอิงอย่างเป็นระบบ และนำขึ้นมาทบทวนและตอกย้ำอย่างน้อยเดือนละครั้งเพื่อให้เกิดมาตรฐานการจัดการภายใน
ระบบมาตรฐานทั้ง 2 ส่วนจะช่วยลดความเสียหายจากการเมืองในองค์กรให้เบาลง

แต่เพราะผู้นำไม่สร้าง ไม่ใส่ใจ และไม่ยึดมั่นระบบมาตรฐาน ผู้นำและหัวหน้างานจึงกลายเป็นศูนย์กลางของทุกเรื่อง เป็นศูนย์กลางให้ทีมงานวิ่งเข้าหา เป็นต้นเหตุให้หัวหน้างานไม่มีหลักให้ยึดเหนี่ยว ไม่มีเหตุผลที่ดีให้อ้างอิง และไม่มีระบบคุณธรรมให้ทีมงานศรัทธา
ผู้นำจึงกลายเป็นผู้ส่งเสริมการเมืองในองค์กรและสร้างทีมงานมือสมัครเล่นอย่างไม่ตั้งใจ
ผู้นำองค์กรเป็นอย่างไร ระบบงานก็เป็นอย่างนั้น หัวหน้างานและทีมงานก็ต้องเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างย่อมเป็นไปโดยธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากไม่มีระบบมาตรฐาน ทีมงานจะเป็นมือสมัครเล่นมาก จะวิ่งหากลุ่มหาพวก หาหัวหน้างาน หรือหาผู้นำจนเกิดการแบ่งชนชั้น เกิดเด็กเส้น เด็กนาย เกิดความท้อแท้ ความเบื่อหน่ายให้แก่กลุ่มอื่นที่ไม่ได้ผลประโยชน์จนอยากหนีห่าง และไม่อยากร่วมงาน
แต่หากมีระบบมาตรฐาน ทีมงานจะเป็นมืออาชีพมากขึ้น และจะมีแนวทางที่ดีมากขึ้น
ทีมงานมืออาชีพจะรู้ว่างานอะไร ต้องทำอย่างไร ทำเมื่อไร และทำเป็นขั้น เป็นตอนอย่างไรก็จะมุ่ง จะทำอย่างนั้น มุ่งวางตนตามกฎ ระเบียบ หรือแผนแม่บทที่กำหนด การเมืองก็ลดลง
ยิ่งหากองค์กรเป็นองค์กรที่มีพื้นฐานดี มีระบบมาตรฐานที่เข้าใจ มีความรู้และก้าวหน้าให้สัมผัส แต่มีผู้นำที่อยู่ในวังวนของการเมืองอย่างไม่รู้ตัว ทีมงานมืออาชีพก็จะมุ่งระบบมาตรฐาน มุ่งแต่งาน มุ่งเรียนรู้ มุ่งสร้างคุณค่า สร้างภาพลักษณ์ และสร้างผลงานที่ส่งเสริมความเป็นทีมงานมืออาชีพของตนให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
ทุกอย่างอยู่ที่ผู้นำจะสร้างวิธีคิด วิธีการทำงาน จะสร้างทีมงานมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพ สุดท้ายก็เป็นผู้นำที่จะส่งเสริมการเมืองในองค์กร หรือลดความเสียหายให้น้อยลง
การเมืองในองค์กรจึงแก้ไข ป้องกัน และลดความเสียหายได้ด้วยตัวผู้นำเท่านั้น.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : February 20, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ส่องตลาดผลไม้แห้งของจีน ตลาดที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วกับโอกาสของผู้ประกอบการไทย

สืบเนื่องจากความตระหนักในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มของชาวจีนที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญต่อคุณค่าโภชนาการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แห้งจึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยผักผลไม้แห้งมีวัตถุดิบที่สดใหม่ ดีต่อสุขภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการ ประกอบกับการพัฒนาและเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงพบผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แห้งที่หลากหลายชนิดในตลาด อาทิ ผักผลไม้แห้ง ผลไม้แช่อิ่ม/ดอง แยมผลไม้ และผักผลไม้ผสมอบแห้ง และพายผักผลไม้ เป็นต้น

ด้วยผลไม้แห้งมีคุณสมบัติที่ปลอดภัย มีคุณค่าโภชนาการ ดีต่อสุขภาพและสะดวกจึงได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคจำนวนมาก ผลไม้แห้งใช้เทคโนโลยีการปิดผนึกและการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิสูง จึงสามารถรับประกันความปลอดภัยของอาหารได้ นอกจากนี้ ยังสามารถคงสี กลิ่น รส รูปร่างเดิมของวัตถุดิบ อีกทั้งยังมีโภชนาการสูงถึงร้อยละ 97 ขึ้นไป สามารถเก็บไว้เป็นเวลานานในสภาพอุณหภูมิปกติ

แม้ว่าปัจจุบันชาวจีนบริโภคน้ำผลไม้เฉลี่ยเพียงร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยของโลก และเป็นร้อยละ 2.5 ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งถือเป็นอัตราที่ไม่สูงนัก แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้การบริโภคผลไม้แห้งได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีบทบาทหลักในตลาดเครื่องดื่ม ซึ่งคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 10 ขึ้นไป ซึ่งยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะการใช้ผลไม้เมืองร้อนเป็นวัตถุดิบ โดยหากพิจารณาการนำเข้าผลไม้แห้งของจีน พบว่าในปี 2566 มีการนำเข้าปริมาณ 163,618 ตัน ลดลงร้อยละ 19.42 โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2564-2566) ส่วนใหญ่จีนมีการนำเข้าผลไม้แห้งชนิดอื่น ๆ (พิกัด HS 081340) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76 73 และ 57 ตามลำดับ โดยจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากไทยคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดของไทยร้อยละ 97.51 92.20 และ 92.45 ตามลำดับ รองลงมา ได้แก่ เมียนมา เวียดนาม คีร์กีซสถาน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ขนาดตลาดผลไม้แห้ง/ผลไม้เชื่อมอบแห้งของจีน ในปี 2565 มีมูลค่า 110,200 ล้านหยวน ( 551,000 ล้านบาท) สืบเนื่องจากนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมมีการยกระดับ ผู้บริโภคชื่นชอบและมีอัตราการซื้อซ้ำสูง โดยเฉพาะพายพุทราวอลนัทที่มีการเติบโตที่ดี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้งกลายเป็นแนวโน้มใหม่ของตลาด ในปี 2568 คาดว่าขนาดตลาดจะมีมูลค่าถึง 256,000 ล้านหยวน (1.23 ล้านล้านบาท) อุตสาหกรรมผลไม้แห้งจะนำพาโอกาสใหม่ในการเติบโตของตลาด

เมื่อพิจารณาจากภูมิภาคในประเทศจีน มณฑลเจ้อเจียง มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ คือ แหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของจีน ทำให้ผู้ประกอบการผลไม้แห้งในมณฑลดังกล่าวมีจำนวนมาก ซึ่งในที่นี้มณฑลฝูเจี้ยนมีมากที่สุด ขณะที่ในส่วนตอนเหนือของจีนผู้ประกอบการผลไม้แห้งจะกระจุกตัวอยู่ที่มณฑลซานตง และมณฑลเหอเป่ย์

เทคโนโลยีการอบผลไม้แห้ง แบ่งได้ 2 ประเภท คือ อบแห้งด้วยความร้อนกับฟรีซดราย ซึ่งเทคโนโลยีฟรีซดรายมีการประยุกต์ใช้แรกเริ่มในผลิตภัณฑ์อาหารอวกาศ โดยหลังจากที่เก็บผลไม้สดมาก็นำมาแช่แข็งทันทีในอุณหภูมิ -40 องศา และใช้เทคโนโลยีคายน้ำสูญญากาศให้ความชื้นระเหิดโดยตรงไม่ผ่านของเหลว เสร็จสิ้นกระบวนการคายน้ำทางกายภาพ ทำให้ยังคงสี รส กลิ่น รูปร่างไว้ และยังคงรักษาคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้มากกว่าร้อยละ 97 ไม่มีสารกันบูด สามารถเก็บไว้เป็นเวลานานในสภาพอุณหภูมิปกติ อร่อยและสด เมื่อพิจารณาจากมุมการเก็บรักษาสารอาหารและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีการอบแห้งแบบฟรีซดรายจึงเหนือกว่ารูปแบบการอบแห้งแบบดั้งเดิม

กลุ่มผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ผลไม้แห้ง คือ วัยรุ่นสตรี ทั้งระดับมัธยม มหาวิทยาลัย พนักงานออฟฟิศ และแม่บ้านที่ยังมีอายุน้อย เป็นต้น สำหรับช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลไม้แห้งส่วนใหญ่วางจำหน่ายในร้านอาหารว่าง แฟรนไชส์ และอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น และเมื่อสำรวจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อาทิ Tmall และ JD จะพบว่ามีแบรนด์ผลไม้แห้งเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมจากการสำรวจจากยอดจำหน่าย ได้แก่ แบรนด์ กั่วหลานยูพิ่น แบรนด์ XIAOMEI PUZI แบรนด์ YUSHIYUAN แบรนด์หัวเว้ยเหิง แบรนด์ Bestore แบรนด์ Be & Cheery แบรนด์ Three Squirrels และ แบรนด์ เหยียนจินผู่จือ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผลไม้แห้งเริ่มขยับไปวางจำหน่ายตามช่องทางไฮเปอร์มาเก็ตเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น

วิเคราะห์อุตสาหกรรมผลไม้แห้ง
1. แนวโน้มของตลาดผลไม้แห้งค่อนข้างสดใส อัตราการเติบโตของตลาดค่อนข้างสูง มีการคาดการณ์ว่าขนาดตลาดผลิตภัณฑ์ผลไม้แห้งโลกในปี 2570 จะมีมูลค่าถึง 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (576,000 ล้านบาท) มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 5.5 ขนาดตลาดจะขยายใหญ่ขึ้นทุกปี ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างหันมาให้ความสนใจต่อแนวโน้มอาหารเพื่อสุขภาพ
2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์จะเริ่มผสมผสานข้ามประเภท เมื่อพิจารณาภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นตลาดในจีนหรือต่างประเทศ อาหารว่างประเภทผักผลไม้ล้วนแต่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วัตถุดิบที่เป็นผลไม้อบแห้ง แต่ยังครอบคลุมผลิตภัณฑ์ชนิดผักและถั่วอบแห้ง อีกด้วย ผลิตภัณฑ์จะมีความหลากหลาย และดูทันสมัยมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวประเภทผลไม้จึงได้รับความนิยม อาทิ มะม่วงอบแห้ง สับปะรดอบแห้ง สตอเบอรี่อบแห้ง กีวีอบแห้ง ทุเรียนอบแห้ง เป็นต้น ขนมขบเคี้ยวประเภทผลไม้จึงผุดขึ้นในตลาดเป็นจำนวนมาก กลายเป็นลูกรักใหม่ของผลิตภัณฑ์อาหารว่าง
3. ตลาดที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเช่นกัน การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และแบรนด์คือหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้อบแห้งในอนาคต ตลาดผลไม้แห้งได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคมีความต้องการความสะดวก คุณค่าโภชนาการ และดีต่อสุขภาพ ตลาดผลไม้แห้งในอนาคตจึงยังมีโอกาสอีกมาก ผู้ประกอบการต้องไม่หยุดที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ต้องไล่ตามตลาดการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการปรับปรุงเทคโนโลยีแปรรูป คุณภาพผลิตภัณฑ์ และความสามารถในการแข่งขัน

ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
สืบเนื่องจากแนวคิดการบริโภคของชาวจีนที่เปลี่ยนแปลง หันไปตระหนักถึงการรับประทานสิ่งที่ดีมีประโยชน์เพื่อสุขภาพ ผลไม้แห้งจึงกลายเป็นอีกตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ด้วยเทคโนโลยีการแปรรูปสมัยใหม่ที่สามารถทำให้วัตถุดิบยังคงธรรมชาติทั้งรส กลิ่น สี รูปร่าง แถมยังคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้ถึง 97% อีกทั้งระยะเวลาในการเก็บรักษาก็ยาวนานกว่าผลไม้สด ผลไม้แห้งจึงได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดมีการเติบโตในทิศทางที่สดใส มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดผลไม้แห้งจึงเป็นอีกตลาดที่น่าจับตาของผู้ประกอบการไทยที่สามารถพิจารณานำเสนอผลไม้อบแห้งของไทยเข้าสู่ตลาดจีน ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันจีนมีการนำเข้าผลไม้แห้งเขตร้อนจากไทยเป็นหลัก ส่งผลให้ไทยพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักเช่นกัน ซึ่งแนวโน้มภาพรวมการนำเข้าผลไม้แห้งเมืองร้อนที่ลดลงของจีน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้แห้งของไทยที่ลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนมีการยกระดับการบริโภคอยู่เสมอ ผู้ประกอบการไทยจึงต้องมีการพัฒนานวัตกรรมของผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ นำเสนอความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณสมบัติที่หลากหลาย คุณภาพดี บรรจุภัณฑ์สะดวกในการรับประทานและพกพา บุกตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมกับการประชาสัมพันธ์สินค้า การเข้าร่วมการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในเทศกาลต่างๆบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ/ซูเปอร์มาเก็ตท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อให้การเข้ามาขยายตลาดผลไม้แห้งในจีนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/163530

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.