CEO ARTICLE
พันห้าฟรีอากร
ของนำเข้าราคาไม่เกิน 1,500 บาทได้ฟรีอากรทำให้ประเทศไทยเสียหายอย่างไร ?
ปัจจุบัน การค้า Online ตาม Platform ต่าง ๆ มีมากขึ้นเรื่อย ๆ
จากปี พ.ศ. 2563 ที่โลกเผชิญกับ Covid-19 ทำให้คนซื้อหันมาซื้อของ Online กันมากจนเติบโตราวปีละ 6-7 แสนล้านบาท (https://www.efinancethai.com เผยแพร่ 22 มิ.ย. 2566)
เมื่อประกอบกับ “พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530” ภาค 4 ประเภทที่ 12 ที่ระบุว่า “ของที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกินที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ให้เป็นของที่ได้ยกเว้นอากรขาเข้า
อธิบดีฯ จึงใช้อำนาจโดยการประกาศหลายครั้ง เช่น ประกาศที่ 130/2561 และ 191/2561 กำหนดให้ของนำเข้าที่มีราคา CIF ไม่เกิน 1,500 บาท ให้ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้า
คำว่า “ราคา CIF” หมายถึง ราคาสินค้า (Cost) ที่รวมค่าประกันภัย (Insurance) และค่าระวางขนส่ง (Freight) ไว้แล้ว
ประกาศนี้ทำให้สินค้านำเข้าเพื่อขาย Online ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งเป็นที่นิยม และยิ่งเติบโต
การเติบโตปีละ 6-7 แสนล้านบาทมีการอนุมานว่าเป็นของนำเข้าราคา CIF ไม่เกิน 1,500 บาท และได้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าอยู่ราว 90% (#TheStandardNews)
90% ของมูลค่า 6-7 แสนล้านบาทเป็นมูลค่าราว 5.8 แสนล้านบาท เมื่อไม่ต้องเสียอากรขาเข้าก็ทำให้กระบวนการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหายไป
หากจะว่า อากรขาเข้าอย่างเดียวอาจใช้สิทธิข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Agreement) เพื่อการยกเว้นก็ทำได้ แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมไม่อยู่ในสิทธิของ FTA ที่จะยกเว้น
ภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียวจากมูลค่า 5.8 แสนล้านบาทก็เป็นเงินถึง 40,600 ล้านบาท
ในมุมนี้ ของนำเข้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท และได้ฟรีอากรจึงทำให้ไทยเสียหายจริงเพราะไม่ได้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้สินค้าไทยชนิดเดียวกัน มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทเหมือนกัน แต่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม มีราคาสูงกว่า ขายได้ยากกว่า และเสียเปรียบสินค้านำเข้า
ในข่าวมีการเสนอรัฐบาลให้สั่งการปรับลดราคา CIF ให้น้อยกว่า 1,500 บาท เพื่อสกัดมิให้สินค้าต่างชาติเข้ามามากเกินไป เข้มงวด Platform ต่างชาติให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษี และพัฒนาระบบต่าง ๆ เพื่อจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ค้า Online และผู้บริโภคแน่ และจะทำได้จริงหรือไม่ ?
ทุกอย่างคล้ายปัญหาโลกแตก ไม่ว่าจะทำทางไหน หรือไม่ทำอะไรก็มีผลกระทบทั้งสิ้น
หากไม่ทำอะไร สินค้าไทยที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทจะเสียเปรียบสินค้าต่างชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ และรัฐบาลก็เสียรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในด้านหลักการ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลฝ่ายเดียว
การที่ Platform ต่างชาติไม่เข้าสู่ระบบภาษีให้ถูกต้องจึงเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลที่ไม่ควรเอาประชาชนมาเป็นตัวประกันในความผิดพลาดของตนเอง
สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การกวดขัน Platform ต่างชาติให้เข้าอยู่ในระบบภาษีที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรวดเร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยให้สินค้าไทยอยู่ในระบบภาษีต่าง ๆ ฝ่ายเดียว
ส่วนการปรับลดราคา CIF ให้เหลือน้อยกว่า 1,500 บาท ก็ยิ่งทำได้ลำบาก เงินเฟ้อมีทุกปี สินค้าชิ้นเดิมย่อมมีราคาสูง และวันหนึ่ง ราคาขายก็ต้องสูงกว่า 1,500 บาทอยู่แล้ว
หากปรับลดราคาให้น้อยกว่า 1,500 บาท ผู้ค้า Online และผู้บริโภคย่อมได้รับผลกระทบทันที และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนย่อมไม่กล้าทำเพราะกลัวเสียคะแนนนิยม
สิ่งที่รัฐบาลควรทำอย่างยิ่งคือ การทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าไทยต่ำลงไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า วัตถุดิบต่าง ๆ และค่าแรง ไม่ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองปั่นป่วนให้ค่าแรงเพิ่มโดยไม่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการไตรภาคี และส่งเสริมผู้ผลิตของไทยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้น
ปัจจุบัน ต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเสียเปรียบบางประเทศ เช่น จีน
หากรัฐบาลไม่เข้าช่วยเหลือให้ต้นทุนต่ำลง ไม่ส่งเสริมผู้ผลิต SME ของไทยให้ส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศแบบ Online ไม่ส่งเสริมการขายแบบไลฟ์สดจากประเทศไทย ไม่ส่งเสริมความรู้ด้านการค้ายุคใหม่ สินค้าไทยจะยิ่งเสียเปรียบมากขึ้น ขณะที่จีนช่วยเหลือผู้ผลิตของตนเต็มที่ซึ่งรัฐบาลสามารถนำรูปแบบการช่วยเหลือมาปรับใช้ในไทยได้
1,500 บาทได้ฟรีอากรท่ามกลางกระแส FTA ที่ให้สิทธิฟรีอากรขาเข้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะปรับลดลงเท่าไรก็ยังได้สิทธิฟรีอากรอยู่ดี รัฐบาลจึงไม่ควรเข้าไปวุ่นวายให้มากความ
แต่การพัฒนาระบบของรัฐบาลเอง พัฒนาคุณภาพข้าราชการ และการส่งเสริมผู้ผลิตของไทยให้มีต้นทุนต่ำลง ให้มีศักยภาพสูงขึ้นเพื่อสู้กับสินค้าต่างชาติกลับเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่า.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : March 5, 2024
Logistics
รายได้คลองสุเอซของอียิปต์ลดลงเกือบครึ่ง เนื่องจากความตึงเครียดในทะเลแดง
คลองสุเอซเป็นแหล่งรายได้เงินสกุลต่างชาติที่สำคัญของอียิปต์ โดยรายได้ของคลองสุเอซในอียิปต์ลดลงเกือบครึ่งในปีนี้ ภายหลังการโจมตีโดยกลุ่มฮูตีในเยเมน เพื่อประท้วงสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซา กลุ่มฮูตีได้โจมตีเรือต่างๆ ในภูมิภาค ส่งผลให้บริษัทขนส่งชั้นนำหลีกเลี่ยงผ่านเส้นทางคลองสุเอซของอียิปต์โดยเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาใต้แทน
ประธานาธิบดีอียิปต์ อับเดล-ฟัตตาห์ เอล-ซิซี กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ระหว่างพิธีเปิดงาน Egypt Energy Show (EGYPES 2024) ครั้งที่ 7 ในกรุงไคโรว่า รายได้จากคลองสุเอซลดลงประมาณ 40 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และหัวหน้าหน่วยงานคลองสุเอซ (The Suez Canal Authority) กล่าวในแถลงการณ์ของสื่อเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รายได้ของคลองลดลงเหลือ 428 ล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม 2567 เทียบกับ 804 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการจราจรทางเรือในเส้นทางน้ำลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็น
การระบาดใหญ่ของโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้านซูดาน และการโจมตีอย่างต่อเนื่องของอิสราเอลในฉนวนกาซาที่มีพรมแดนติดกับอียิปต์ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอียิปต์ ซึ่งถูกรุมเร้าด้วยปัญหาสำคัญหลายประการ เช่น ภาวะขาดแคลนดอลลาร์สหรัฐอย่างรุนแรง ค่าเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่า ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ภาระหนี้สาธารณะสูง
โดยแหล่งที่มาสำคัญของรายได้อียิปต์ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมผ่านคลองสุเอซ ภาคการท่องเที่ยว และการส่งเงินที่โอนโดยชาวอียิปต์ที่ทำงานในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากเหตุการณ์ดังกล่าว
IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ สำหรับปี 2567 เหลือ 2.9% ลดลง 0.5 เปอร์เซ็นต์จากเดือนตุลาคม เนื่องจากผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส แนวโน้มการเติบโตของอียิปต์ในปี 2567 ลดลง 0.6% เหลือ 3.0% โดย IMF ยังคงติดตามผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการโจมตีคลองสุเอซและการขนส่งทางทะเลแดงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อเส้นทางการค้าเปลี่ยนจากคลองสุเอซไปยังแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาใต้ เพิ่มเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างยุโรป-เอเชีย
ในขณะที่รัฐบาลยังคงดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเมืองหลวงใหม่ หนี้สาธารณะก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้ผลักดันให้ค่าครองชีพอยู่นอกเหนือการเข้าถึงของคนจำนวนมาก ค่าเงินปอนด์อียิปต์ที่ร่วงลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ประกอบกับการขาดแคลนสกุลเงินต่างชาติที่จำเป็นในการชำระค่าสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลอียิปต์และธนาคารกลางอียิปต์ต้องเข้ามาควบคุมการอนุมัติโอนเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศทุกรูปแบบ รวมทั้งการชำระค่าสินค้านำเข้าด้วย จึงส่งผลต่อการชำระค่าสินค้านำเข้าทั้งหมด รวมถึงจากไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อียิปต์กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติในปี 2554 โดยมีค่าเงินที่อ่อนค่า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และเงินทุนต่างชาติไหลออก สัญญาณทั้งหมดของวิกฤตหนี้ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความท้าทายทางเศรษฐกิจมหภาค ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชาวอียิปต์ รวมถึงความยากจนและการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการลดค่าเงินปอนด์อียิปต์ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ตามสัญญาที่อียิปต์ให้ไว้กับ IMF เพื่อแลกกับเงินกู้ก้อนล่าสุดเมื่อปลายปี 2565 มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/163831
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!