CEO ARTICLE

ส.ว. เชื่อมจิต

Published on June 11, 2024


Follow Us :

    

ส.ว. เลือกกันเองจะเป็น ส.ว. เชื่อมจิตหรือไม่ ?

ส.ว. ไม่ได้หมายถึง สมาชิกวุฒิสภาอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง สูงวัยอีกด้วย
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงกำหนดให้ ส.ว. ต้องมีอายุ 40 ปีที่ไม่สูงวัยเกินไปเพื่อให้มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ด้านใดด้านหนึ่ง และให้มีหน้าที่โดดเด่นต่างจาก ส.ส.
ส.ส. มาจากพรรคการเมือง ผ่านการเลือกตั้งของประชาชน หาก ส.ว. มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน ส.ว. คงหนีไม่พ้นกลุ่มการเมือง ครอบครัวการเมือง และผลประโยชน์ทับซ้อน
รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ ส.ว. ต้องมาจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มทำนา กลุ่มคนพิการ กลุ่มสตรี กลุ่มสื่อสารมวลชน และอื่น ๆ ที่รวมได้ถึง 20 กลุ่ม ให้ผู้สมัครเลือกกันเองภายในกลุ่มตั้งแต่ระดับอำเภอสู่ระดับจังหวัด และไปสิ้นสุดที่ระดับประเทศจนได้ ส.ว.
ส.ว. เลือกกันเองจึงเป็นการป้องกันฐานเสียงของกลุ่มการเมืองได้ระดับหนึ่ง
คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญหวังดีจึงกำหนดให้ผู้สมัคร ส.ว. เป็นอิสระ ไม่แอบอิงการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ให้ใช้ความรู้ ใช้ความสามารถที่ตนชำนาญมากลั่นกรองกฎหมาย และให้ผู้สมัครทำได้เพียงแนะนำตัว ไม่มีการหาเสียง ไม่มีการสร้างคะแนนนิยมเช่นเดียวกับ ส.ส.
หากเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ใครมาลงสมัครก็ต้องอยากเป็น ส.ว. กันทั้งนั้น
แต่เมื่อไม่ให้หาเสียง ให้เลือกกันเอง หากทุกคนเลือกตัวเองก็พอเข้าใจได้ แต่ให้เลือกผู้อื่นที่ไม่รู้จักกัน แบบนี้จะใช้อะไรมาตัดสินใจ ผู้อื่นบางคนสูงวัยอายุเกินกว่า 40 ปีมาก หลายคนดูจากภายนอกเป็นแค่ตาสี ตาสา แต่ใครจะไปรู้ เนื้อในอาจรู้จริง เก่งจริงก็ได้ ยิ่งมองก็ยิ่งเลือกลำบาก
สุดท้าย การให้ผู้สมัครเลือกกันเองจึงมีความเป็นไปได้ 3 ทาง คือ
1. หาข้อมูลผู้สมัครอื่นด้วยตนเอง ไม่ว่าจะส่องจากเฟซบุ๊ค หรือจากแหล่งอื่น
2. ได้ข้อมูลของผู้สมัครอื่นจากผู้หวังดีทำให้รู้ว่าควรเลือกใคร แต่มันคือ “การฮั้ว”
3. นิ่งเฉย ไม่ต้องดิ้นรนแล้วใช้จิตสัมผัส ใช้ “เชื่อมจิต” จนรู้เองว่าควรเลือกใคร
ทุกคนอยากเป็น ส.ว. การหาข้อมูลผู้อื่นในทางที่ 1 จึงเป็นไปได้ยาก การฮั้วในทางที่ 2 ก็มีการปฏิเสธให้วุ่น เมื่อไม่ใช่ทางที่ 1 และ 2 ก็หนีไม่พ้นทางที่ 3 คือ “เชื่อมจิต”

เชื่อมจิตคืออะไร และ ส.ว. ที่จะเลือกกันเองครั้งนี้จะเชื่อมจิตกันได้อย่างไร ?
การค้นคว้าทำให้พอสรุปโดยย่อว่า การเชื่อมจิตเป็นการเชื่อมกันระหว่างจิตของเทพกับจิตของมนุษย์โดยการใช้แสงธรรมจนไปสู่ความศรัทธา ปัญญา และการเรียนรู้
ใครที่คิดว่าตนเองมีพลังเหนือมนุษย์ด้วยกัน สามารถเชื่อมจิตกับเทพได้ก็ต้องคิดว่าตนเองเชื่อมจิตผู้อื่นได้ แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยืนยันว่า ตามหลักพระไตรปิฎก การเชื่อมจิตไม่มีจริง (ไทยพีบีเอสออนไลน์ เผยแพร่ 17 พ.ค. 2567)
ข้อมูลขัดแย้ง เชื่อมจิตได้ เชื่อมไม่ได้ แบบนี้ต้องกลับไปดูอำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ดังนี้
1. พิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย
“ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น” (Harold Lassell) กฎหมายเขียนโดย ส.ส. จึงต้องมี ส.ว. ที่มีความรู้เพื่อกลั่นกรองกฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
2. ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
รัฐบาลมาจาก ส.ส. รัฐบาลจึงมีโอกาสสร้างผลประโยชน์ทับซ้อนได้ง่าย ส.ว. จึงต้องคอยควบคุมรัฐบาลให้อยู่ในร่องในรอย ตั้งกระทู้ถาม อภิปรายทั่วไป และตั้งกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบ
3. ให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่ง
เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คุณหรือให้โทษนักการเมือง
ส.ว. มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเหล่านี้
เพียง 3 ข้อข้างต้นจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้อำนาจหน้าที่ ส.ว. ล้นฟ้า ให้คุณได้มหาศาล ให้โทษแสนสาหัส หากกลุ่มการเมืองไม่เข้าไปแทรกแซง ปล่อยให้เชื่อมจิตกันเอง ไม่ว่าจะเชื่อมได้จริง หรือไม่ได้ นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์อะไรแล้วยังเสี่ยงติดคุกอีกด้วย
การจัดให้ฮั้วในทางลับ แต่ในทางเปิดเผยให้เป็นการเชื่อมจิตของผู้สมัคร ส.ว. ด้วยกันเองจึงดูเป็นทางออกที่ไม่ผิดกฎหมาย แม้ภายหลังอาจมีการร้องเรียน ส.ว. ที่ได้อาจไม่มีคุณภาพ หรือมีการฟ้องร้องจนการเลือก ส.ว. เป็นโมฆะซึ่งทุกเรื่องมีความเป็นไปได้ก็ตาม
ส.ว. เชื่อมจิตจึงดูเป็นคำที่เหมาะสม และเป็นทางออกที่กลุ่มการเมืองน่าจะรับได้.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : June 11, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

บัตรรถไฟใต้ดินชิงต่าวสุดล้ำ ชำระหยวนดิจิทัลผ่านมือถือแบบไร้เน็ตไร้แบต

“รถไฟใต้ดินชิงต่าว มีแค่มือถือแบบไร้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตแถมแบตเตอรี่หมดก็ขึ้นได้จริงหรือ?”

เมื่อไม่นานมานี้ รถไฟใต้ดินชิงต่าว ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันชำระเงินหยวนดิจิทัล แบบหักเงินภายหลัง นับเป็นครั้งแรกของจีนที่สามารถชำระเงินได้โดยปราศจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือแบตเตอรี่ ซึ่งครอบคลุมทุกช่องทางในการชำระเงินด้วยสกุลหยวนดิจิทัลทั้งหมด เช่น ฮาร์ดวอลเล็ทแบบชำระผ่านซิมการ์ด ฮาร์ดวอลเล็ทแบบชำระผ่านโทรศัพท์มือถือ ฮาร์ดวอลเล็ทแบบชำระผ่านบัตร IC ซึ่งผู้โดยสารสามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวก

ผู้โดยสารสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเงินหยวนดิจิทัลที่กล่าวไปข้างต้นบนโทรศัพท์มือถือของตนเอง และเปิดบัญชีเงินหยวนดิจิทัล เพื่อผ่านเข้าประตูโดยสารได้อย่างรวดเร็ว แม้ในวันที่โทรศัพท์มือถือไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือแบตเตอรี่ก็ไม่ต้องเป็นกังวล ผู้โดยสารสามารถเข้าออกจากสถานีรถไฟใต้ดินได้อย่างราบรื่น การดำเนินการในครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการประยุกต์ใช้เงินหยวนดิจิทัลโดยปราศจากอุปสรรคสำหรับการคมนาคมการขนส่งทางราง ทั้งนี้ แม้ว่ายอดเงินในฮาร์ทวอลเล็ทจะไม่เพียงพอ ก็ไม่เป็นอุสรรค ผู้โดยสารยังคงสามารถใช้บริการผ่านเข้าออกประตูได้ แล้วจึงชำระค่าบริการย้อนหลัง โดยแนวการปฏิบัตินี้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมของกระทรวงคมนาคมจีนและข้อกําหนดทางเทคนิคด้านความปลอดภัยทางการเงินของธนาคารประชาชนจีน ซึ่งมีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการชําระเงินหยวนดิจิทัลในด้านการคมนาคมการขนส่งทางรางแห่งชาติ

แอปพลิเคชันเงินหยวนดิจิทัลเป็นสื่อสำหรับการชำระเงินด้วยสกุลเงินหยวนดิจิทัลทุกประเภท โดยใช้วิธีการ “ใช้ก่อน จ่ายทีหลัง” อาจกล่าวได้ว่า เมื่อเทียบกับวิธีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ นับเป็นฟังก์ชันที่โดดเด่นที่สุดของเงินหยวนดิจิทัล ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้แม้ในขณะที่โทรศัพท์มือถือไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือแบตเตอรี่ เพียงแค่แตะโทรศัพท์มือถือหรือบัตร IC ในพื้นที่ตรวจจับ NFC ของประตูเข้าออก ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความอุ่นใจให้แก่ผู้โดยสารได้เป็นอย่างดีในการเดินทางและยกระดับการให้บริการขนส่งสาธารณะของเมืองชิงต่าวขึ้นไปอีกขั้น

ที่มา: https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.