SNP NEWS

ฉบับที่ 398

Article

“มนต์โปรโมชั่น”

pr

“ทำไมเธอเอาผ้ามาแขวนไว้กับเครื่องปั่นจักยานแบบนี้”
“ของมันได้มาฟรีตอนซื้อเครื่องวิ่งไฟฟ้า เขาแถมที่ปั่นจักรยานให้ฟรีแล้วไม่ได้ใช้”
“อ้าว แล้วเครื่องวิ่งไฟฟ้าได้ใช้ไหม”
“ตอนแรก ๆ ก็ได้ใช้ ได้ออกกำลังกายดี แต่พอนานวันเข้าชีวิตประจำวันกลับไม่ค่อยมีเวลา เลยไม่ได้ใช้ทั้งเครื่องวิ่งไฟฟ้าและเครื่องปั่นจักรยานนั่นละ ไม่รู้จะเอาไปเก็บที่ไหนก็เลยวางไว้กลางบ้าน อย่างน้อยก็ยังใช้เป็นที่แขวนผ้าเก๋ ๆ ได้”
“อ้าวแล้วสมัยก่อน เธอเป็นสมาชิกตามศูนย์ฟิตเนสก็เห็นไปใช้บ่อย ๆ”
“นั้นก็ใช่ ที่ต้องไปใช้ก็เพราะเสียดายเงินที่จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนนะซิ ถ้าไม่ใช้ก็เสียเงินเปล่า ตอนหลังเวลาไม่ลงตัวเลยยอมทิ้งค่าสมาชิกไปแล้วซื้อเครื่องวิ่งมาไว้ที่บ้านแทนหวังว่าจะได้ใช้ ที่ไหนได้มันก็ไม่มีเวลาเหมือนเดิมเลยต้องทิ้งไว้แบบนี้”

“ทิ้งไว้แบบนี้” มันเป็นเรื่องในชีวิตจริง
คนส่วนหนึ่งในวันนี้ชอบซื้ออุปกรณ์ของใช้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องออกกำลังกาย เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องดนตรี ถ้วยชาม และอื่น ๆ มาใช้ในบ้าน
ความรู้สึกที่ได้ซื้อในตอนต้นจะภาคภูมิใจที่ได้สัมผัสของใหม่
จากนั้นไม่นานก็พบว่าของที่ซื้อมาส่วนน้อยจริง ๆ ที่ได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่าเงินที่เสียไป ตรงกันข้ามของส่วนใหญ่จะถูกใช้สักพักเดียวแล้วก็เก็บไว้เฉย ๆ
ของส่วนใหญ่หลายอย่างที่ซื้อมากลายเป็นของรกบ้าน บางกรณีหากพิจารณาเงินที่เสียไปในระยะยาวแล้วกลับยิ่งไม่คุ้มค่าเงินเข้าไปอีก
บ้านหลายหลังต้องปล่อยให้สิ่งของที่ซื้อแล้ว ใช้ประโยชน์ได้น้อยวางเกะกะให้รกบ้าน ขณะที่บางบ้านต้องต่อเติมพื้นที่เพื่อเก็บสิ่งของนั้นไว้
การจัดเก็บไม่ว่าจะมีห้องเก็บของอยู่แล้ว หรือต้องต่อเติมพื้นที่เพิ่มขึ้นใหม่ หรือปล่อยของให้วางเกะกะกลางบ้าน ทั้งหมดนี้หากพิจารณาให้ดีล้วนมีค่าบริหารจัดการเกิดขึ้นทั้งสิ้น
บางกรณีค่าบริหารจัดการเพื่อเก็บสิ่งของเหล่านี้ต้องจ่ายเป็นเงินออกไป
บางกรณีต้องจ่ายเป็นค่าเสียโอกาสที่ไม่ได้ใช้พื้นที่ตรงนั้น และบางกรณีก็กลายเป็นค่าเสียความรู้สึกที่ซื้อมาเก็บไว้เฉย ๆ
สิ่งของบางอย่างเก็บไว้นานจนเสื่อมสภาพ ต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงรักษาเพื่อให้ได้กลับมาใช้งานนาน ๆ ครั้งก็มี

มันเป็นความจริงในชีวิต และคนจำนวนมากก็มีประสบการณ์แบบนี้จริง ๆ
คนจำนวนหนึ่ง พอเห็นของถูกใจวางขาย ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า ราคาที่เร้าใจ ช่องทางจัดจำหน่ายที่สะดวก จนถึงโปรโมชั่นที่เย้ายวน คนที่ขาดประสบการณ์ต้องเดินเข้าไปสอบถาม
ตรงกันข้าม คนที่มีประสบการณ์กลับเฝ้าระวังตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ประสบการณ์เก่าและของเก่าที่ซื้อมาแล้วใช้ประโยชน์น้อยยังหลอกหลอนอยู่
แต่ไม่ว่าคนจะขาดประสบการณ์หรือมีมากเพียงใด สุดท้ายมนต์โปรโมชั่นก็มีอิทธิพลเหนือกว่าและมักได้รับชัยชนะสูงกว่า
ในขณะที่ผู้ซื้อ แม้จะมีประสบการณ์มากเพียงใดก็มักจะภาคภูมิใจที่ได้โปรโมชั่นดี ๆ มาบนความพ่ายแพ้ที่ตนเองยังไม่รู้ตัวในเวลานั้น
มันเพียงรอเวลา
เวลาที่วัฎจักรจะเข้าสู่รูปแบบเดิม ๆ คือมีการใช้ในระยะต้น ๆ ที่ของส่วนน้อยใช้ประโยชน์ได้จริง ขณะที่ของส่วนใหญ่กลับถูกทิ้งไว้ที่มีค่าบริหารจัดการในการจัดเก็บในภายหลัง
มันเป็นอิทธิพลของมนต์โปรโมชั่นล้วน ๆ

ทำไมโปรโมชั่นจึงมีอิทธิพลมากมายขนาดนี้
ในแนวคิดส่วนประสมทางการตลาดแบบพื้น ๆ ตามทฤษฏี 4 P’s ได้กำหนดให้ตัวสินค้าเป็น P ตัวที่ 1 หรือ Product
ไม่ว่าสินค้าจะดีมากน้อยเพียงใด นักการตลาดต้องทำให้สินค้านั้นมีความแตกต่างจากคู่แข่ง ต้องให้ดูเร้าใจ ต้องดูน่าจับต้อง และต้องดูน่าซื้อ
ส่วน P ตัวที่ 2 คือ Price ไม่ว่าราคาจะสูงหรือต่ำกว่าคู่แข่งขันอย่างไร นักการตลาดก็ต้องทำให้ราคาดูแล้วคุ้มค่ากว่า
ส่วน P ตัวที่ 3 คือ Place ซึ่งหมายถึงช่องทางจัดจำหน่ายที่นักการตลาดต้องหาช่องทางให้เกิดความสะดวกต่อผู้จะซื้อให้มากที่สุด
P ทั้ง 3 ตัวที่ว่านี้ ต่างก็มีข้อดีและข้อด้อยในตัวของมันเอง และไม่อาจดึงดูดผู้จะซื้อได้ทั้งหมด ทฤษฏีจึงมี P ตัวที่ 4 ที่มาส่งเสริมให้ P 3 ตัวแรกยิ่งดูยิ่งเร้าใจขึ้นมา นั่นคือ Promotion
ความน่ากลัวของโปรโมชั่นคือ มันสามารถสร้างมนต์เสน่ห์ให้ผู้จะซื้อต้องตัดสินใจซื้อ
มนต์โปรโมชั่นที่ว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการลดราคา 50% หรือซื้อชิ้นที่ 2 ลดราคา 50% หรือการผ่อนชำระ 0% นาน 10 เดือน หรือการซื้อ 1 ชิ้น แถมให้อีก 1 ชิ้น หรือแม้แต่การแถมทัวร์ต่างประเทศก็มีให้เห็น
ต่าง ๆ นานาของโปรโมชั่นเหล่านี้ แล้วจะมีผู้ซื้อที่ไหนขืนใจตัวเองให้ยืนนิ่งไม่ควักเงินออกมาจับจองสินค้าได้

นี่คือความน่ากลัวและมนต์เสน่ห์ของโปรโมชั่นที่มีในโลกปัจจุบัน
หากพิจารณาประชาชนทั่วโลกที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การผลิตสินค้าและการแข่งขันเพื่อตอบสนองความต้องการก็ย่อมมีมากตามไปด้วย
การผลิตที่มากขึ้นย่อมทำให้ราคาถูกลง ขณะเดียวกันเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็ทำให้คุณภาพดีขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การซื้อยิ่งช้าก็จะยิ่งได้ของที่ดีกว่าและราคาที่ถูกลงกว่าไปด้วย
หากมองว่าโลกาภิวัฒน์และวิวัฒนาการทำให้โลกแคบลง ช่องทางจำหน่ายสินค้าจากทุกมุมโลกก็จะย่อลงและสะดวกมากขึ้น
สุดท้าย ก็คงเหลือแค่ตัวโปรโมชั่นนี่ละที่เป็นมนตราก่อให้เกิดการตัดสินใจได้มากที่สุด
มันเป็นไปตามแนวคิดและทฤษฏีที่นักการตลาดรุ่นนายพราน เขาใช้เป็นกับดักล่อกระต่ายให้มาติดกับกันทั่วโลก
โปรโมชั่นไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ที่น่ากลัวคือผู้ที่กำลังเข้าไปสัมผัสกับโปรโมชั่นกำลังทำตัวเป็นนายพรานหรือกระต่ายกันแน่ ???
มันง่ายยิ่งกว่าง่าย หากคนที่กำลังสัมผัสโปรโมชั่นทำตัวให้เป็นนายพรานที่ไม่ใช่กระต่ายก็ลองถามตัวเองอย่างไม่เอนเอียงให้ได้คำตอบที่แท้จริง
ของที่จะซื้อนั้น หากไม่ซื้อวันนี้แล้วมีอะไรเสียหายไหม ???
หากจะซื้อผ่อน รายได้ที่จะไปผ่อนกระทบต่อความเป็นอยู่ของครอบครัวมากเพียงใด ???
หากซื้อมาแล้วจะมีเวลาใช้ได้นานเพียงใด ??? และ
ระยะเวลาที่จะใช้มันคุ้มค่าเงินที่จะจ่ายไปกับมนต์โปรโมชั่นหรือไม่ ???
หากคำตอบเป็นไปในทางบวก อย่างนั้น ภาพเครื่องปั่นจักรยานถูกใช้เป็นที่แขวนผ้าย่อมไม่เกิดขึ้นในบ้านแน่ ๆ
แต่หากคำตอบออกมาเป็นไปในทางลบ
อย่างนั้น บ้านหลังนี้ก็จะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเดิม ๆ ที่ต้องจ่ายค่าบริหารจัดการในการจัดเก็บ การซ่อม และการบำรุงรักษาของที่ซื้อมาแล้วใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่าเรื่อยไป

สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

4

การจัดทำร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลของไทย

ประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance) เป็นประกันภัยที่มีความสำคัญต่อระบบการเดินเรือและการค้าระหว่างประเทศ เป็นการสร้างความมั่นคงทางการค้าระหว่างประเทศ เพราะการค้าระหว่างประเทศต้องมีการขนส่งสินค้าทางไกล การประกันภัยทางทะเลจะครอบคลุมถึงการประกันความเสียหายอันเกิดขึ้นแก่ตัวเรือ ทรัพย์สินหรือสินค้า ระหว่างการเดินทางขนส่งสินค้าจากต้นทางไปปลายทาง เรืออาจประสบภัย เช่น ลมพายุ เรือเกยตื้น เรือชนกัน เรือชนหินโสโครก เรือล่ม ไฟไหม้ หรือภัยซึ่งเกิดจากการกระทำของโจรสลัด หรือสินค้าถูกน้ำทะเลซัดตกจากเรือ น้ำทะเลเข้าระวางเรือหรือตู้บรรจุสินค้า ภัยต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสียหายและสูญเสีย

การทำประกันภัยจึงทำให้เจ้าของสินค้าได้รับการชดใช้ เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างหลักประกันให้กับสถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ หากไม่มีการทำประกันภัย ถ้าผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย จะไม่มีเงินมาชดใช้หนี้สถาบันการเงินได้ การทำประกันภัยจึงเป็นการยืนยันว่า ถ้าทรัพย์สินเสียหาย บริษัทประกันภัยจะชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นให้สถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ ทั้งกรมธรรม์ประกันภัยยังเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้

ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเล ขณะนี้กฎหมายไทยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพียงมาตราเดียวคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 868 ซึ่งบัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยทะเล ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล” และนับตั้งแต่การประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 เมื่อพ.ศ. 2472 ในระบบกฎหมายไทยก็ไม่เคยมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเลแต่อย่างใด

เมื่อมีคดีเกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเลขึ้นสู่ศาล ศาลได้นำหลักการอุดช่องว่างของกฎหมายตามป.พ.พ.มาตรา 4 คือ “เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”

แนวคำพิพากษาฎีกาของไทยมีแนววินิจฉัย 2 ทาง คือ (1) ใช้กฎหมายอังกฤษในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2496 และ 7350/2537 ศาลได้วินิจฉัยทำนองเดียวกันว่าเมื่อกฎหมายทะเลของไทยไม่มีและจารีตประเพณีก็ไม่ปรากฏ จึงควรถือกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลของอังกฤษเป็นกฎหมายทั่วไปเพื่อ เทียบเคียงวินิจฉัย และ (2) ใช้ป.พ.พ. ว่าด้วยประกันภัยในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในการวินิจฉัยคดี เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6649/2537 ศาลฎีกา ได้วินิจฉัยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายทะเลเกี่ยวกับสัญญาประกันภัย ทะเล ทั้งไม่มีจารีตประเพณีเกี่ยวกับสัญญา เช่นว่านั้น เรื่องอายุความฟ้องเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามสัญญาประกันภัยในคดีนี้จึงต้องนำป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคหนึ่ง (ประกันวินาศภัย) อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี”

สำหรับกฎหมายอังกฤษที่นำมาปรับใช้ คือ พ.ร.บ.ประกันภัยทางทะเล ค.ศ. 1906 (พ.ศ.2449) รวมทั้งคำพิพากษา ของศาล ตลอดจนกรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐาน (Institute Clauses) และแนวปฏิบัติต่างๆที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดประกันภัยทางทะเล

แม้บางครั้งศาลฎีกาจะนำหลักการ ในการประกันวินาศภัยมาปรับใช้กับการประกันภัยทางทะเลในบางกรณี แต่เนื่องจากกฎหมายประกันภัยทางทะเลมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการประกันวินาศภัยทั่วไป และตามป.พ.พ. มาตรา 868 บัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยทะเล ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทางทะเล” แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของป.พ.พ.ต้องการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเลแยกต่างหากจากกฎหมายประกันภัยทั่วไป

แต่นับจาก ปี พ.ศ. 2472 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานถึง 87 ปี ประเทศไทยยังไม่มีการบัญญัติกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นเอกเทศที่จะสามารถนำมาบังคับใช้ได้โดยตรง

อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นทั้งข่าวดีและเรื่องที่น่ายินดีที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีกฎหมายประกันภัยทางทะเล เพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริม และยกระดับมาตรฐานการประกันภัยไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายประกันภัยทางทะเลทั้งภายในและภายนอกองค์กรร่วมเป็นกรรมการ รวมทั้งมีผู้แทนจากกรมเจ้าท่าเป็นกรรมการ เพื่อศึกษาความจำเป็นในการจัดทำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการประกันภัย ทางทะเล พ.ศ. …

การที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นการเฉพาะ ย่อมจะช่วยให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการขนส่ง การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยทางทะเลในการคุ้มครองผู้เอาประกันภัยทั้งภายในและนอกประเทศ ทั้งยังเป็นการเตรียมตัวเพื่อจะรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน/เออีซี (Asean Economic Community/AEC) ของประเทศไทยอีกด้วย การมีกฎหมายประกันภัยทางทะเลยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของไทยในสายตาของประเทศคู่ค้า

อีกไม่นานเกินรอประเทศไทยจะได้มีกฎหมายประกันภัยทางทะเลใช้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยไม่ต้องใช้วิธีเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงยิ่ง (Analogy) จากกฎหมายอังกฤษเสียที

ที่มา : http://www.marinerthai.net/forum/index.php?PHPSESSID=39d2dca1957c6e6dd3c797092064792d&topic=7739.0

AEC Info

I0000546

เขตเศรษฐกิจพิเศษ ฝันให้ไกลไปให้ถึง

ในการบรรลุเป้าหมายทางนโยบาย แต่ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน…จะช่วยให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นได้
ประตูประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังเปิดกว้าง ประเทศไทยต้องพร้อมรับ ห้ามกะพริบตา
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดงานเปิดตัวเพื่อแนะนำเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบการจัดเสวนาพิเศษ หัวข้อ “เดินหน้า…เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทย” จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหน่วยงานต่างๆ นักธุรกิจชั้นนำ ฯลฯ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดงาน

“เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนทั่วโลกรับทราบถึงความมีศักยภาพของเราในทุกๆด้าน รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งด้านภาษี แรงงานต่างด้าว พื้นที่ให้เช่า” ดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ว่า
“เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” หมายความว่า บริเวณพื้นที่ที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกําหนดให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรัฐจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จอย่างสอดคล้อง พร้อมๆไปกับการดำเนินการอื่นที่จําเป็นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ภาคธุรกิจ…อุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศต่างจับตามอง คงไม่มีใครไม่กล่าวถึงโรดแม็ปเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการผลักดัน มีผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมชัดเจน แม้ว่าอาจจะยังไม่ทันใจนักลงทุนเท่าใดนัก แต่เป้าหมายหลักก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในพื้นที่ชายแดนของไทย รองรับการก้าวเป็นประชาคมอาเซียน
เขตเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นเมืองหน้าด่าน ใช้ประโยชน์จากการเป็นตลาด…ฐานการผลิตของอาเซียน ภายใต้การเคลื่อนย้ายสินค้า แรงงาน ปัจจัยการผลิตอย่างเสรี เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่สำคัญที่มุ่งยกระดับ พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ส่วนภูมิภาคของประเทศ ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียนไปในตัว
ดวงพร ให้ข้อมูลอีกว่า ตลอดแนวชายแดนประเทศไทยระยะทางกว่า 5,656 กิโลเมตร ประกอบด้วย จุดผ่านแดนระหว่างประเทศ 93 จุด และช่องทางธรรมชาติที่เชื่อมโยงระหว่างประชาชนบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอีกจำนวนมาก
ช่วงปี 2547-2557 ปริมาณการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการค้าชายแดนกับ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และมาเลเซีย เพิ่มขึ้นจาก 377,000 ล้านบาท…ในปี 2547 เป็นกว่า 1,001,240.52 ล้านบาท…ในปี 2558
…เป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว
พบด้วยว่า มูลค่าการค้าชายแดนยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 7 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับโลก แสดงให้เห็นได้ว่า…ไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น ส่งผลให้การค้าชายแดนมีความสำคัญ และมีนัยทางเศรษฐกิจของพื้นที่ส่วนภูมิภาคของไทยอย่างยิ่ง
ฉายภาพใหญ่เปิดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 เขต 10 จังหวัดชายแดน
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หนองคาย มุกดาหาร นครพนม กาญจนบุรี…สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งได้ตลอดทั้งอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ผ่านท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย และท่าเรือไคเม็บ และไฮฟองของเวียดนาม
อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ไปยังอินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ผ่านท่าเรือระนองของไทย ท่าเรือน้ำลึกทวายของเมียนมาในอนาคต
หรือการเชื่อมโยงผ่านทางแม่สอด ประเทศไทย-พุกาม เมียนมา-มอเร อินเดีย ซึ่งไทย เมียนมา และอินเดียได้ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงคมนาคมระหว่างประเทศสมาชิก ริเริ่มโครงการ “ทางหลวงไตรภาคี อินเดีย–พม่า–ไทย” ให้มีการขยายตัวด้านการค้า การท่องเที่ยวให้มากขึ้น
สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย สงขลา และนราธิวาส เป็นโครงการสำคัญ เป้าหมายเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งจากจีนผ่านเมียนมา ไทย มาเลเซีย ไปยังสิงคโปร์ และอินโดนีเซียได้ในอนาคต ซึ่งมีโครงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ทั้งทางถนน และทางราง
ส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว…ตราด ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ มุ่งพัฒนาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวบนเส้นทาง R1 ซึ่งจะกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของอาเซียน ประกอบด้วยปราสาทหินพนมรุ้งของไทย เมืองมรดกโลกนครวัดนครธม และทุ่งสังหารของกัมพูชา ผ่านไปยังอุโมงค์อู๋จี้ เวียดนาม
นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลของภูมิภาคโดยใช้เส้นทาง R12 ตั้งแต่จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ของไทย ไปยังเกาะกง สีหนุวิลล์ และกำปอต ของกัมพูชา เข้าสู่เวียดนามทางฮาเตียน ไปจนถึงแหลมกาม่าว (แหลมญวน) จังหวัดกาม่าว ของเวียดนามตอนใต้ รวมทั้งการเชื่อมโยงการขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสีหนุวิลล์ และท่าเรือไคเม็บ และไฮฟองของเวียดนาม
ตัวอย่างรายละเอียดพื้นที่…เขตพัฒนาเศรษฐกิจระยะที่ 1 ประกอบด้วย…เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก พื้นที่ 886,875 ไร่ ประกอบด้วย 14 ตำบล ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สอด 8 ตำบล, อำเภอพบพระ 3 ตำบล, อำเภอแม่ระมาด 3 ตำบล ถัดมา…เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว พื้นที่ 207,500 ไร่ ประกอบด้วย 4 ตำบลใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภออรัญประเทศ 3 ตำบล, อำเภอวัฒนานคร 1 ตำบล
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร พื้นที่ 361,542 ไร่ ประกอบด้วย 11 ตำบล ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมุกดาหาร 5 ตำบล, อำเภอหว้านใหญ่ 4 ตำบล, อำเภอดอนตาล 2 ตำบล
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา พื้นที่ 345,187 ไร่ ประกอบด้วย 4 ตำบลในอำเภอสะเดา ได้แก่ ตำบลสะเดา สำนักขาม สำนักแต้ว และปาดัง เบซาร์ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด พื้นที่ 31,375 ไร่ ประกอบด้วย 3 ตำบลในอำเภอคลองใหญ่ ได้แก่ ตำบลคลองใหญ่ หาดเล็ก และไม้รูด
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ประกอบด้วย…เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดหนองคาย พื้นที่ 296,042 ไร่ ประกอบด้วย 13 ตำบลใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองหนองคาย 12 ตำบล, อำเภอสระใคร 1 ตำบล
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนราธิวาส พื้นที่ 246,747 ไร่ ประกอบด้วย 5 ตำบลใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนราธิวาส 1 ตำบล, อำเภอตากใบ 1 ตำบล, อำเภอยี่งอ 1 ตำบล, อำเภอแว้ง 1 ตำบล, อำเภอสุไหงโก-ลก 1 ตำบล…เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย พื้นที่ 477,030 ไร่ ประกอบด้วย 21 ตำบลใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงของ 7 ตำบล, อำเภอเชียงแสน 6 ตำบล, อำเภอแม่สาย 8 ตำบล
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม พื้นที่ 465,493 ไร่ ประกอบด้วย 13 ตำบล ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม 10 ตำบล, อำเภอท่าอุเทน 3 ตำบล และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ 162,993 ไร่ ประกอบด้วย 2 ตำบลในอำเภอเมืองกาญจนบุรี ได้แก่ ตำบลแก่งเสี้ยน และบ้านเก่า
“เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะสร้างการกระจายรายได้ ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ…ผลักดันให้ประเทศก้าวผ่าน “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” ไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง.

ที่มา : http://www.thairat.co.th

คุยข่าวเศรษฐกิจ

thaiaways4
บินไทย ปัดซื้อหุ้นแอร์เอเชีย-ร่วมทุนสายการบินอื่น
การบินไทย ปัดเข้าถือหุ้นแอร์เอเชีย แจงร่วมถกทุกสายการบิน ดันยุทธศาสตร์คมนาคม หนุนท่องเที่ยวไทย…
วันที่ 24 ก.พ. 59 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จากการที่มีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ได้เสนอข่าวเกี่ยวกับการให้ THAI เข้าถือหุ้นสายการบินไทยแอร์เอเชีย อย่างน้อย 20% เป็นมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาทนั้น
การบินไทย ขอชี้แจงว่า ได้มีการหารือกับสายการบินในประเทศไทยทุกสาย ในเชิงกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมการบินไทยของประเทศ เพื่อร่วมกันสนับสนุนยุทธศาสตร์การคมนาคมและการท่องเที่ยวของประเทศไทย
ทั้งนี้ บริษัทยังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องการร่วมลงทุนกับสายการบินอื่นๆ แต่อย่างใด หากมีความคืบหน้าของบริษัทจะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทราบต่อไป.

ที่มา : http://www.thairat.co.th