SNP NEWS

ฉบับที่ 427

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO Talk

“ปฏิวัติสงฆ์”

6959_2461

พระสงฆ์ไทยมีทั้งดีและไม่ดีควบคู่กัน

ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาสงฆ์ไม่ดีให้หมดไป ???

ภายหลังการรัฐประหารในปี 2535 ประเทศไทยก็มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยตัวแทนประชาชนในปี 2540

เวลานั้น นักวิจารณ์ทางการเมืองส่วนใหญ่ก็มองว่า ประเทศไทยคงไม่มีการรัฐประหารอีกแล้วด้วยเหตุผลง่าย ๆ ก็คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 มีการตรวจสอบ มีการถ่วงดุจ และอำนาจต่าง ๆ ก็ยึดโยงกับประชาชนจึงถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด

แล้วเป็นอย่างไร ???

วันนี้ ประเทศไทยก็ผ่านการรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 ไปแล้วอีก 2 ครั้ง แล้วก็มีการผ่านประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจริงและฉบับร่างไปแล้วรวม 2 ครั้ง

อย่างนี้นักวิจารณ์ทางการเมืองส่วนใหญ่คงไม่มีใครกล้าฟันธงว่า ประเทศไทยจะไม่มีการรัฐประหารอีกแล้ว

มันเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีความแน่นอนใด ๆ

บางคนถึงกับมองว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทยไปเลยก็มี

บางครั้ง สื่อก็เรียก “การรัฐประหาร” บางครั้งก็เรียก “การปฏิวัติ”

2 คำนี้ มันต่างกันอย่างไร สื่อน่าจะรู้ความหมายดีแต่ทำไมไม่ใช้คำเดียวให้เหมือน ๆ กัน ไปเลย ???

ตามหลักวิชาการ การปฏิวัติหมายถึง การเปลี่ยนแปลงชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ในเรื่องระบอบการปกครอง การปฏิวัติจึงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมากกว่า

คำว่า “ปฏิวัติ” จึงจะใช้ในกรณีนี้เท่านั้น

การปฏิวัติของไทยจึงมีเพียงครั้งเดียวในปี 2475 โดยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากราชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตย

การเปลี่ยนแปลงหลังจากปี 2475 จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนรัฐบาล ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ จัดทำกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายปัญหาของประเทศ

จากนั้นก็มีการเลือกตั้ง แล้วก็ได้รัฐบาลขึ้นมาใหม่เพื่อปกครองและบริหารประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเหมือนเดิม

การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งจึงไม่ควรใช้คำว่า “การปฏิวัติ แต่ควรใช้คำว่า “การรัฐประหาร” จึงน่าจะถูกต้องมากกว่า

แต่ทำอย่างไรได้ ก็ในเมื่อประชาชนคุ้นเคยกับคำว่า “ปฏิวัติ” สื่อทุกสำนักก็น่าจะรู้ แต่เป็นเพราะต้องเอาใจผู้อ่านก็เลยใช้คำว่า “ปฏิวัติ”

มันสั้น ง่าย เหมาะกับหัวข้อข่าว และตามใจผู้อ่านได้ดีกว่า

ไม่ว่าจะเรียก “การรัฐประหาร” หรือ “การปฏิวัติ” ก็ตาม

ทั้งหมดนี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงโดยพลัน อย่างนั้นหากประเทศไทยจะแก้ไขปัญหาสงฆ์ที่ไม่ดี ทำไมไม่ทำการรัฐประหารหรือการปฏิวัติสงฆ์ที่ไม่ดีไปเลย

ปัจจุบัน สงฆ์ปกครองสงฆ์ด้วยกันเองภายใต้พระราชบัญญัติสงฆ์

สงฆ์ใดที่ทำผิดวินัยสงฆ์ก็เป็นเรื่องของสงฆ์ที่จะลงโทษกันเอง ยกเว้นสงฆ์ไม่ดีที่ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองเท่านั้น

แล้วใครละที่เป็นคนทำ พรบ. สงฆ์ออกมาให้สงฆ์ใช้ ???

มันก็หนีไม่พ้นตัวแทนประชาชนไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือสภาที่คณะรัฐประหารเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมานั่นละ

ตัวแทนประชาชนเป็นผู้ร่างและแก้ไข พรบ. สงฆ์ จากนั้นก็ตัวประชาชนเองก็เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูสงฆ์ในศาสนาพุทธและรวมไปถึงศาสนาอื่นด้วย

สงฆ์ที่ไม่ดี ส่วนหนึ่งจึงมีประชาชนนั่นละที่เป็นผู้ส่งเสริม

การแก้ไขปัญหาสงฆ์ไม่ดีอย่างฉับพลันก็น่าจะทำการรัฐประหาร หรือจะเรียกว่าการปฏิวัติสงฆ์ก็ได้

วิธีการง่าย ๆ ก็เพียงการทำ พรบ. ขึ้นมาใหม่

ใน พรบ. สงฆ์ใหม่ที่เกี่ยวกับธรรมวินัยจะให้ประชาชนหรือตำรวจมีส่วนร่วมอย่างไรก็บรรจุเข้าไป

ที่ผ่านมา สงฆ์ไม่ดีที่ไปเสพเมถุนกับสีกาที่บรรลุนิติภาวะแล้วก็ผิดแค่วินัยสงฆ์ การลงโทษอย่างเก่งก็แค่จับสึก

ในการปฏิวัติสงฆ์ใหม่ก็ให้มีโทษปรับหรือจำคุกทั้งสงฆ์ทั้งสีกาไปด้วยเลย

หากกำหนดโทษปรับ โทษจำลงใน พรบ. สงฆ์แบบปฏิวัติได้ อย่างนี้สงฆ์ไม่ดีและคนทั่วไปที่มีส่วนร่วมก็จะลดน้อยลง

ใคร ทำอะไร และทำอย่างไรร่วมกับสงฆ์ไม่ดี หรือแม้แต่ตัวสงฆ์ไม่ดีทำผิดธรรมวินัยก็ระบุลงไปให้ชัดเจน แล้วต้องไม่มีโทษทางสงฆ์ที่มีการปราชิกอย่างเดียว

มันต้องมีโทษจำและปรับเข้าไปด้วย

หากปฏิวัติสงฆ์อย่างนี้แล้วยังไม่ดี มันก็เหมือนกับการมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ว่าดีที่สุดนั่นละ มันก็ต้องปฏิวัติซ้ำเข้าไปอีก

ปฏิวัติสงฆ์ซ้ำ ๆ เข้าไป วันหนึ่งสงฆ์ที่ไม่ดีก็ย่อมหมดไปเหมือนนักการเมืองที่ไม่ดีนั่นละ

สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

“ซัมซุง” เล็งใช้เครื่องบินขนถ่ายสินค้าจากเรือ หลังยักษ์เดินเรือเกาหลีใต้ล้มละลาย

หลังจากมีข่าวช็อควงการเดินเรือเมื่อปลายเดือนที่แล้ว “ฮันจิน ชิปปิ้ง” บริษัทสายเรือสัญชาติเกาหลีใต้ ยักษ์ใหญ่อันดับที่ 7 ของโลกล้มละลาย เพราะประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง นอกจากจะเสียส่วนแบ่งการตลาดไปถึง 2 ใน 3 ของอุตสาหกรรมการเดินเรือ ยังต้องประสบปัญหาต่อเนื่องจากการที่มีเรือขนส่งสินค้าอีกประมาณ 89 ลำ ในเอเชีย อเมริกา และยุโรป ที่ไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้เนื่องจากไม่มีเงินมากพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมเพื่อขนถ่ายสินค้าเข้าประเทศ

จากเหตุการณ์นี้มีบริษัทลูกค้าจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ โดยบริษัทที่ได้รับผลกระทบอย่างมากบริษัทหนึ่ง ก็คือ “ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์”  ที่มีการขนส่งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รวมไปถึงจอภาพ มูลค่าราว 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงติดค้างอยู่บนเรือขนส่งของฮันจินชิปปิ้ง 2 ลำ ในอเมริกา

ซึ่งแหล่งข่าวจากซัมซุง ระบุว่าหากไม่สามารถขนถ่ายสินค้าขึ้นสู่พื้นดินได้ ก็อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำอย่างน้อย 16 ลำ เพื่อจัดส่งสินค้า เช่นเดียวกันกับ “แอลจี อิเล็กทรอนิกส์” ผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่อันดับสองของโลก ก็กำลังพยายามหาผู้ให้บริการขนส่งรายใหม่สำหรับสินค้าของตน

นอกจากกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ฮันจินชิปปิ้งยังบริการขนส่งสินค้าอื่นๆ จากบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งของโลก เช่น รองเท้าผ้าใบและเสื้อยืดจากไนกี้และฮิวโก้ บอสส์ โดยช่วงเวลาระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม ถือเป็นช่วงเวลาที่คึกคักที่สุดของอุตสาหกรรมเรือเดิน เนื่องจากจะมีการจัดส่งสินค้าไปยังร้านค้าปลีกต่างๆ เพื่อสต็อกไว้สำหรับเทศกาลคริสต์มาสในช่วงปลายปี

ภาวะคับขันของฮันจินชิปปิ้ง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าแล้ว ยังกระทบโดยตรงต่อพนักงานที่อยู่บนเรือสินค้าซึ่งยังไม่สามารถขึ้นฝั่งได้ โดยเรือขนส่งสินค้าหนึ่งลำประกอบด้วยลูกเรือ 24 คน พร้อมทั้งอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่บริโภคได้เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ โดยกัปตันคนหนึ่งของเรือขนส่งสินค้าฮันจิน ซึ่งติดอยู่บริเวณน่านน้ำสากลกล่าวว่า เรือของเขาได้รับการปฏิเสธการขออาหารและน้ำดื่ม  ขณะที่เรือขนส่งสินค้าอื่นที่จอดเทียบท่าที่เมืองรอตเทอร์ดาม เมืองท่าหลักของเนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ยืนยันว่าได้รับอาหารและเครื่องดื่มที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตจากฮันจินชิปปิ้ง

ภาวะการล้มละลายของบริษัทเดินเรือฮันจินส่งผลต่ออุตสาหกรรมเดินเรือทั่วโลก และเปิดโอกาสที่ดีให้กับ บริษัท ฮุนได เมอร์ชานส์ มารีน บริษัทขนส่งทางทะเลลำดับที่ 2 ของเกาหลีใต้ วางแผนที่จะเร่งดำเนินการเพิ่มเรืออีก 13 ลำ เพื่อเดินเรือไปยังอเมริกาและยุโรป เพื่อช่วยเหลือการหยุดชะงักการขนส่งสินค้า

นอกจากนี้ ก็ได้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าทางทะเลจากฮ่องกงถึงลอสแองเจลิสพุ่งพรวด ถึง 40% มากที่สุดในรอบกว่าหนึ่งปี

ทั้งนี้ แม้ว่าฮันจินชิปปิ้งจะสามารถชำระหนี้และขายเรือทิ้งทั้งหมด แต่อุตสาหกรรมการเดินเรือของเกาหลีใต้ก็จะยังคงเผชิญปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย ซึ่งเรื้อรังมายาวนาน 4-5 ปี สาเหตุเกิดจากที่ผ่านมาบริษัทเดินเรือต่างๆ มีการซื้อเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะขนตู้คอนเทนเนอร์ได้จำนวนมากขึ้น และทำให้ราคาขนส่งคอนเทนเนอร์ต่อตู้ลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

ที่มา: http://www.marinerthai.net

สุวิตรี ศรีมงคลวิศิษฎ์​