SNP NEWS

ฉบับที่ 432

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ฉลาดนำเข้า”

1465670261

“ผู้นำเข้าของไทยสมัยนี้ฉลาดขึ้นเยอะ”

“อะไรละที่ดูฉลาดขึ้น ?”

“ก็เวลาสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ผู้นำเข้าสมัยนี้จะใช้เงื่อนไขให้ผู้ขายส่งมอบสินค้า ณ หน้าโรงงานในต่างประเทศ จากนั้นผู้นำเข้าของไทยก็ว่าจ้างบริษัทโลจิสติกส์ไปรับสินค้าเอง”

“แบบนี้ดูเหนื่อยมากกว่านะ”

“เหนื่อยที่ไหน ลองคิดดู หากให้ผู้ขายส่งมอบสินค้าถึงท่าเรือในประเทศไทย หรือส่งให้ถึงมือผู้นำเข้าในประเทศไทยแบบ Door to Door มันดูสบายก็จริง แต่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ผู้ขายต่างประเทศก็ต้องรวมเข้าไปกับค่าสินค้าอยู่ดี”

“ครับ มันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ผู้ขายที่ไหนจะมาออกให้”

“ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริง ผู้ขายก็ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเคลื่อนย้ายสินค้ามายังประเทศไทยด้วยตนเอง ผู้ขายต้องไปว่าจ้างพวกบริการโลจิสติกส์ต่างชาติอยู่ดี”

“แล้วมันต่างกันอย่างไร”

“ต่างกันซิ สมมติคุณเป็นผู้ขายต่างประเทศแล้วได้ราคาค่าโลจิสติกส์เพื่อเคลื่อนย้ายสินค้ามายังท่าเรือในประเทศไทยที่ US$ 1,000 คุณจะเอา US$ 1,000 หรือคุณจะเอามูลค่าที่มากกว่ามารวมเข้าไปกับค่าสินค้า”

“หากผมเป็นผู้ขาย ผมก็ต้องเผื่อค่าความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน และเผื่อค่าผันผวนอื่น ๆ ลงไปอีก สุดท้ายผมก็ต้องเอามูลค่าที่มากกว่า US$ 1,000 รวมเข้าไปนั่นละ”

“นั่นละ มันปกติทางการค้า หากไม่บวกนะซิก็กลายเป็นความเสี่ยงและดูผิดปติ แล้วมันก็แปลว่า ผู้นำเข้าของไทยก็ต้องจ่ายค่าบริการโลจิสติกส์มากกว่าจริงใช่ไหม ?”

“น่าจะใช่นะ”

“นี่ไงที่ผมว่า ผู้นำเข้าของไทยฉลาดขึ้น แล้วลองดูราคาสินค้าที่รวมค่าเคลื่อนย้ายทั้งหมดจนส่งถึงมือผู้นำเข้าในประเทศไทยที่เรียกว่า door to door ดูซิ”

“ราคาสินค้าแบบนี้มันให้ความสะดวกมากนะ”

“ใช่ครับมันสะดวกมาก สมมติสินค้ารวมค่าภาษีอากรเข้าและค่าโลจิสติกส์เพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าถึงมือผู้นำเข้าในประเทศไทยเลย คุณรู้ไหมว่าผลจะเป็นอย่างไร ?”

“ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน”

“หากสินค้ามีอากรขาเข้าที่ต้องชำระ ใบเสร็จอากรขาเข้าต้นฉบับแม้จะออกในนามผู้นำเข้าแต่ผู้ขายต่างประเทศเป็นผู้จ่ายผู้ขายก็ต้องเอาไป ผู้นำเข้าก็ไม่ได้ใบเสร็จมาลงรายการทางบัญชี หากใบเสร็จมีภาษีมูลค่าเพิ่มหลายรายการ ผู้นำเข้าก็ยิ่งไม่สามารถขอเครดิตภาษีคืนได้”

“ผมเข้าใจแล้ว ในความเป็นจริงผู้นำเข้าเป็นผู้จ่ายภาษีเพราะรวมไปในค่าสินค้า แต่ในทางปฏิบัติ ผู้นำเข้ากลับไม่ได้ใบเสร็จต้นฉบับมาลงรายการทางบัญชี ภาษีมูลค่าเพิ่มหลายรายการที่น่าจะขอคืนได้ ก็เลยขอคืนไม่ได้ มันก็เลยทำให้ต้นทุนสูงเกินจริง”

“ใช่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ค่าบริการโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น การเคลื่อนย้ายสินค้าตั้งแต่ท่าเรือนำเข้าในประเทศไทยไปยังมือผู้นำเข้า งานพวกนี้ โลจิสติกส์ต่างชาติเป็นผู้ได้รับงาน ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้ามาทำงานในประเทศไทย”

“อ้าว แล้วโลจิสติกส์ต่างชาติเขาทำอย่างไร”

“เขาก็ต้องมาว่าจ้างโลจิสติกส์ท้องถิ่นของไทยรับงานไปทำแบบสัญญาช่วงไงละ แล้วเขาก็เอากำไรค่าบริหารจัดการกลับไปประเทศเขาทั้ง ๆ ที่ผู้นำเข้าของไทยเป็นผู้จ่าย”

“ผมเห็นแล้ว ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยเป็นคนทำงาน ผู้นำเข้าเป็นผู้จ่าย แต่ผลกำไรถูกโอนไปยังต่างชาติ แบบนี้ คนไทยก็เสียเปรียบตลอดเวลาซิครับ”

“หากเป็นแบบนี้ก็ใช่ แต่สมัยนี้ผู้นำเข้าฉลาดขึ้น มีความรู้มากขึ้น สถานการณ์ก็เริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเช่นกัน”

บทสนทนาข้างต้นเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

เวลานี้ ผู้นำเข้าของไทยมีความรู้มากขึ้น ฉลาดขึ้น และรู้จักเลือกซื้อสินค้าและบริการโลจิสติกส์จากต่างประเทศมากขึ้นจนสามารถบริหารจัดการได้ดีกว่า

วันนี้ ผู้นำเข้าของไทยส่วนใหญ่เมื่อสั่งซื้อสินค้าที่มิใช่ของเล็กน้อยมักจะขอราคาสินค้า 2 แบบเพื่อเป็นฐานในการจัดการ

ราคาที่ 1 คือ ราคา CIF เป็นราคาสินค้าที่รวมค่าเบี้ยประกันภัย (Insurance) และค่าระวางขนส่ง (Freight) จนสินค้าส่งถึงท่าเรือนำเข้าในประเทศไทย

ราคาที่ 2 คือ ราคา EXW (Ex-Works) เป็นราคาสินค้าที่รับมอบสินค้า ณ หน้าโรงงานผู้ขายในต่างประเทศโดยผู้นำเข้าจะเป็นผู้เคลื่อนย้ายสินค้าเอง

จากนั้น ผู้นำเข้าก็เอาราคา CIF มาหักราคา EXW ออก ผลที่ได้คือต้นทุนค่าโลจิสติกส์รวมเพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าจากหน้าโรงงานผู้ขายมายังท่าเรือในประเทศไทย

เพียงแค่นี้ ผู้นำเข้าก็รู้แล้วว่า หากตนเองบริหารจัดการเคลื่อนย้ายสินค้าเอง ผู้นำเข้ามีงบประมาณในการจัดการอยู่เท่าไร

เมื่อทราบงบประมาณ ผู้นำเข้าก็เพียงขอขนาดหีบห่อสินค้า (Measurement) และน้ำหนักรวม (Gross Weight) จากผู้ขายส่งมอบให้โลจิสติกส์ของไทยไปเสนอราคาและบริหารจัดการ

หากโลจิสติกส์ของไทยสามารถเคลื่อนย้ายได้ถูกกว่า ผู้นำเข้าก็สามารถเลือกซื้อสินค้าในราคา EXW ได้ทันที แล้วก็มอบหมายผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยเป็นผู้ดำเนินการ

วิธีนี้ผู้นำเข้าก็ไม่ได้เหนื่อยอะไร ค่าบริการที่จ่ายก็มีใบเสร็จ แถมภาษีมูลค่าเพิ่มก็นำมาลงบัญชีขอคืนเครดิตภาษีได้ด้วย

หากโลจิสติกส์ของไทยให้ราคาเท่ากันหรือแพงกว่าเล็กน้อย ผู้นำเข้าก็สามารถต่อรอง หรืออาจเลือกใช้โลจิสติกส์ของไทยเพื่อควบคุมประสิทธิภาพได้ดีกว่า

แต่หากโลจิสติกส์ของไทยให้ราคาแพงกว่ามาก อย่างนี้ผู้นำเข้าก็สั่งซื้อในราคา CIF ทันที

นี่คือความฉลาดของผู้นำเข้าในปัจจุบันที่มีส่วนควบคุมประสิทธิภาพโลจิสติกส์ และทำให้ต้นทุนที่ต่ำลง

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยมีวิวัฒนาการขึ้นมาก

วันนี้ โลจิสติกส์ของไทยสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายที่ให้การบริการครอบคลุมต่างประเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)

มันขึ้นอยู่กับผู้นำเข้าต้องการอะไรมากกกว่า

นิยามโลจิสติกส์ที่ดีต้องให้ประสิทธิภาพด้านการเคลื่อนย้ายสินค้าที่สูงขึ้น และต้นทุนที่ต่ำลงในภาพรวม

หากผู้นำเข้าพิจารณาตัวแทนให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ผู้นำเข้าก็ต้องมองตัวแทนที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ตามนิยามอย่างแท้จริง

แต่หากผู้นำเข้ามองตัวแทนให้เป็นเพียงตัวแทน

อย่างนี้ ตัวแทนก็ทำหน้าที่ได้เพียงตัวแทนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการห่วงโซ่อุปทานแต่อย่างใด

วันนี้ ผู้นำเข้าฉลาดขึ้น และมีทางเลือกมากขึ้่นจริง ๆ

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

ตารอบตัว มีหัวไว้จุก – สับปะรดไทยไปไกลทั่วโลก

‘ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ’ สำนวนไทยที่คุ้นหูกันมาแต่นานนม ประเทศไทยเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ทั้งพืชผักผลไม้นานาพันธุ์ วันนี้เราจะมาคุยกันถึงผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีตารอบตัว มีหัวไว้จุก ซึ่งเป็นผลไม้ที่ใครหลายคนนิยมรับประทาน สังเกตได้ง่ายๆ จากเมนูผลไม้-ของหวานหลังอาหารคาว ย่อมขาดสับปะรดไปไม่ได้เลย เพราะนอกจากรสชาดที่ชุ่มฉ่ำ หวานบ้างเปรี้ยวบ้าง หรืออมเปรี้ยวอมหวานจึงเป็นที่ถูกปากของคนทั่วโลก เลยไม่น่าแปลกใจที่จะได้ยินข่าวดีว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับและยังคงครองแชมป์อันดับ 1 ในการส่งออกสับปะรดกระป๋องไปยังตลาดโลก โดยครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50% ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีประมาณ 35,000-40,000 ล้านบาท อันมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ แคนนาดา เป็นต้น

ล่าสุด สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการโคเด๊กซ์ สาขาผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ ครั้งที่ 28 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐอเมริกา ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา

โดยมีตัวแทนจากประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขมาตรฐานสับปะรดกระป๋องที่มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2524 ให้สอดคล้องกับรูปแบบการค้าในปัจจุบัน ซึ่งได้ขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมถึงสับปะรดที่ไม่เจาะแกน และสับปะรดที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวหรือถุงเพาซ์ด้วย ประเทศไทยได้นำเสนอผลการแก้ไขมาตรฐานสับปะรดกระป๋องให้คณะกรรมการพิจารณา จนได้รับการยอมรับให้เสนอคณะกรรมาธิการโคเด๊กซ์ เพื่อประกาศรับรองให้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศโดยเร็วต่อไป จากความสำเร็จในการเจรจาแก้ไขมาตรฐานสับปะรดกระป๋องในครั้งนี้ คาดว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคของอุตสาหกรรมการผลิตสับปะรดกระป๋องของไทย และส่งผลให้ไทยสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกสับปะรดกระป๋องไปยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น  (ที่มา: ThaiPR.net — จันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2559)

สุวิตรี ศรีมงคลวิศิษฎ์