SNP eJournal

ฉบับที่ 433

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ส่งออกให้ต่าง”

eksperyansla

“Please quote your best EXW export price for us, thank you”

โปรดเสนอราคาสินค้าส่งออกที่ดีที่สุดด้วยเงื่อนไขการส่งมอบสินค้า ณ หน้าโรงงานของท่าน ขอบคุณ

ผู้ส่งออกของไทยสมัยนี้จะค่อย ๆ ได้รับคำสั่งจากผู้ซื้อสินค้าต่างประเทศให้เสนอขายสินค้าด้วยราคา EXW กันมากขึ้น

ราคาส่งออกภายใต้เงื่อนไข EXW (Ex-Works)หมายถึง สินค้าจะส่งมอบกันหน้าโรงงานของผู้ส่งออกในประเทศไทย

จากจุดส่งมอบนี้ ผู้ซื้อสินค้าต่างประเทศจะมารับสินค้าด้วยตนเอง

ราคาสินค้าของผู้ส่งออกจึงไม่มีค่าบริการโลจิสติกส์ต่าง ๆ เพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังประเทศปลายทางรวมเข้าไป

ใครเป็นผู้ส่งออกเจอเงื่อนไขแบบนี้ก็ชอบใจ

เหตุผลง่าย ๆ มันสะดวก สบาย ตัวผู้ส่งออกไม่ต้องวุ่นวาย เมื่อผลิตสินค้าเสร็จก็บรรจุเข้าหีบห่อให้เรียบร้อย แล้วก็รอให้โลจิสติกส์ที่เป็นตัวแทนผู้ซื้อต่างประเทศมารับสินค้าไป

จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการจัดทำเอกสารเพื่อรับเงินค่าสินค้า

รูปแบบการซื้อสินค้าด้วยราคาภายใต้เงื่อนไข EXW แบบนี้มักเกิดจากผู้ซื้อต่างประเทศรายใหญ่ ๆ

ทำไมผู้ซื้อต่างประเทศรายใหญ่จึงต้องการซื้อสินค้าด้วยเงื่อนไขนี้ ?

คำตอบง่าย ๆ คือ ผู้ซื้อต่างประเทศรายใหญ่มักมีกระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทานของตน

การบริการโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน ผู้ซื้อรายใหญ่จึงดึงผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศของตนเข้าสู่การจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ

ผู้ซื้อรายใหญ่จะได้อะไร ?

ผลที่ได้ก็คือ ประสิทธิภาพโลจิสติกส์ที่ควบคุมได้ง่ายและความสะดวกสบายที่ได้รับจากการบริการของโลจิสติกส์ของตน

ผู้ซื้อยิ่งเป็นรายใหญ่ ยิ่งมีความรู้ด้านการจัดการมาก และยิ่งเป็นผู้จ่ายเงินค่าสินค้าก็ยิ่งมีพลังอำนาจในการเลือก

ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องมีกองเรือของตัวเอง ไม่ต้องมีกิจการโลจิสติกส์เป็นของตัวเอง และไม่จำเป็นต้องดำเนินการเคลื่อนย้ายสินค้าด้วยตนเอง

ผู้ซื้อเพียงดึงผู้ให้บริการโลจิสติกส์มาเป็นหุ้นส่วนการค้า จากนั้นก็มอบหมายให้โลจิสติกส์ดำเนินการภายใต้แผนงานที่เป็นหุ้นส่วนร่วมกัน

มันเป็นวิวัฒนาการของระบบห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นก็ทำให้ผู้ซื้อต่างประเทศมีโอกาสฝึกฝนคนของตนให้ชำนาญยิ่งขึ้น

ผู้ซื้อรายใหญ่ทำได้ แล้วผู้ซื้อต่างประเทศรายเล็กละ

ทำไมจะทำไม่ได้ ???

ในความเป็นจริง ใคร ๆ ก็ทำได้ เพียงแต่ว่า ผู้ซื้อต่างประเทศรายเล็กอาจยังไม่ใส่ใจ หรืออาจมีเวลาไม่เพียงพอก็ได้

ทั้ง ๆ ที่มันเป็นความสะดวกสบายของผู้ซื้อต่างประเทศ

ประเด็นนี้ หากผู้ส่งออกของไทยมองเห็น แทนที่ผู้ส่งออกจะเสนอราคาสินค้าแค่ส่งขึ้นเรือ ณ ท่าเรือในประเทศไทย หรือ FOB (Free On Board) หรือส่งถึงท่าเรือในต่างประเทศ หรือ CFR (Cost and Freight) ผู้ส่งออกก็ให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ซื้อต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายเล็กด้วยการเสนอราคาแบบส่งถือมือผู้ซื้อในประเทศเขาเลย

ราคาส่งถึงมือแบบนี้ ในทางการค้าระหว่างประเทศเรียกว่า DDP (Delivery Duty Paid) หรือที่ในอดีตเรียกว่า Door to Door

หากเปรียบเทียบกับผู้ซื้อต่างประเทศรายใหญ่ มันก็คือทฤษฏีการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ต่างกัน เพียงแต่สลับด้านกัน

แทนที่จะบอกให้ผู้ซื้อต่างประเทศไปวางแผนจัดการ ผู้ส่งออกก็เป็นผู้วางแผนจัดการให้แทนที่

แบบนี้มันก็คือการสร้างความต่างให้แก่สินค้าของผู้ส่งออกเอง

ความต่างก็คือ สินค้าส่งถึงมือผู้ซื้อในต่างประเทศด้วยความสะดวกสบาย

หากสินค้าได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อตกลง FTA แล้วผู้ซื้อก็ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีตามต้องการ แบบนี้ผู้ต่างประเทศจะยิ่งชอบใจใหญ่

วิธีการก็ไม่ต่างจากผู้ซื้อต่างประเทศรายใหญ่

ผู้ส่งออกก็เพียงเสาะหาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยให้ร่วมบริหารจัดการ แล้วก็เอาราคาค่าบริการโลจิสติกส์ที่รวมการเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังมือผู้ซื้อต่างประเทศรวมเข้าไปกับค่าสินค้า

เมื่อเสนอไปยังผู้ซื้อต่างประเทศ ราคาสินค้าที่ส่งถึงมือผู้ซื้อย่อมให้ความสะดวกสบายมากกว่า

หากผู้ซื้อไม่ต้องการบริการส่งถึงมือ แบบ DDP ที่เสนอ ผู้ส่งออกก็เสนอเป็น FOB หรือ CFR เหมือนเดิม

สิ่งที่ผู้ส่งออกจะได้คือ ผู้ส่งออกจะได้โอกาสฝึกฝนการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ทุกวันนี้ ใคร ๆ พยายามฝึกฝนกัน

วันนี้ ธุรกิจมักนำห่วงโซ่อุปทานด้านต่าง ๆ มาร่วมกันให้มีฐานะเป็นหุ้นส่วนทางการค้า

ธุรกิจอยู่ได้ ห่วงโซ่อุปทานอยู่ได้ ลูกค้าก็อยู่ได้ ต่างคนต่างเกื้อกูลกัน แต่หากขายในราคา EXW โอกาสฝึกฝนของผู้ส่งออกก็น้อยลง

แนวคิดนี้เป็นเพียงการฝึกฝนสินค้าส่งออกให้มีความต่างด้านบริการโลจิสติกส์ นอกจากจะเป็นตัวเลือกให้ผู้ซื้อต่างประเทศแล้ว

ผู้ส่งออกของไทยก็จะมีโอกาสฝึกฝนให้ชำนาญยิ่งขึ้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

จัดระเบียบรถตู้ 
การเดินทางไปไหนต่อไหน ด้วยรถตู้โดยสารเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้คนนิยมใช้บริการ เพราะมีความสะดวกรวดเร็ว หรือประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่ารถโดยสารประเภทอื่น
หลายคนคงทราบดีว่าศูนย์รวมรถตู้โดยสารแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะขึ้นเหนือลงใต้ ก็สามารถไปขึ้นรถตู้ได้ที่ใจกลางกรุงฯ นั่นคือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิฯ
นอกจากจะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น เป็นทำเลทองที่มีผู้คนเดินทางพลุ่กพล่าน เป็นฮับเชื่อมต่อการเดินทางที่สะดวก แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักในพื้นที่นั้นและลามไปบริเวณใกล้เคียงด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้หาทางแก้ไขปัญหานี้มายาวนาน ซึ่งก่อให้เกิดการจัดระเบียบวินรถตู้ที่อนุสาวรีย์ฯ ให้ย้ายไปใช้พื้นที่สถานีขนส่ง 3 แห่ง (จตุจักร, สายใต้ปิ่นเกล้า, เอกมัย) โดยถือดีเดย์วันที่ 25 ตุลาคม 2559 เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันแรก จากการประชุมติดตามผลพบว่า การให้บริการรถตู้โดยสารของทั้ง 3 สถานีในช่วงเช้าวันนี้ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ทั้งนี้กรมการขนส่งทางบก และ บขส.ได้เตรียมความพร้อม จัดรถ shuttle bus ให้บริการรับ-ส่ง ผู้โดยสารจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปสถานีทั้ง 3 แห่งฟรี เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนไม่นำรถตู้เข้าใช้สถานีทั้ง 3 แห่ง จะมีความผิดทั้งพนักงานขับรถ และผู้ประกอบการขนส่ง โดยกรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการมาตรการลงโทษสูงสุดตามกฎหมายทุกกรณี และหากพบการกระทำผิดซ้ำซาก จะพิจารณาเพิกถอนรถออกจากบัญชีประกอบการและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการเดินรถด้วย ประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดการเดินทาง หรือร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ โทร. 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา: http://www.thairath.co.th/