SNP eJournal

ฉบับที่ 438

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“หอมมะลิ”

010210

“หอมมะลิเป็นชื่อข้าวของไทย”

คำกล่าวแบบนี้ คนไทยเกือบทุกคน “รู้”

แล้วข่าวข้าวหอมมะลิของไทยกลับมาคว้ารางวัลอันดับที่ 1 จากการจัดประกวดข้าวที่ดีที่สุดของโลก โดย World’s Best Rice ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2559

คำกล่าวแบบนี้ จะมีคนไทยสักกี่คน “รู้” ???

ข่าวข้าวหอมมะลิของไทยกลับมาคว้ารางวัล เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

วันนี้คนไทยน้อยคนจริง ๆ ที่จะรู้ว่า ข้าวหอมมะลิของไทยเคยได้แชมป์ข้าวคุณภาพอันดับ 1 เป็นเวลาถึง 2 ครั้งติดต่อกันในปี 2552 และปี 2553

แล้วตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นปีน้ำท่วมใหญ่เป็นต้นมา ข้าวหอมมะลิก็เสียแชมป์ให้กับข้าวปอว์สั่นของพม่า ข้าวผกาลำดวลของกัมพูชาถึง 3 ปี ซ้อน ข้าวแคลโรสของสหรัฐ

ระยะเวลารวม 5 ปี ที่ผ่านมา กลับดูเหมือนว่าข้าวหอมมะลิถูกลืมไปโดยไม่มีสื่อใด ๆ บอกว่า ข้าวหอมมะลิของไทยจะมีโอกาสกลับมาคว้าแชมป์ได้อีก

ทำไมหรือ ???

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกือบทั้งประเทศต้องจมอยู่กับการปลูกข้าวที่มุ่งเอาปริมาณมากกว่าคุณภาพ

รัฐบาลหลายสมัยที่ผ่านมาทำโครงการช่วยเหลือชาวนา ไม่ว่าจะเป็นการประกันราคาข้าว การรับจำนำข้าว หรืออื่น ๆ ที่ให้ผลทางปริมาณมากว่าคุณภาพ

ไม่มีรัฐบาลไหนสร้างโครงการคุณภาพข้าวให้สัมผัสอย่างเป็นรูปธรรม

ผลที่ตามมาคือ ชาวนาไทยต้องทุ่มเทเทคโนโลยี เคมีภัณฑ์ และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ด้วยตนเองเพื่อให้ได้ปริมาณมากกว่าให้ได้คุณภาพ

การลงแขกร่วมกันเกี่ยวข้าวจากเพื่อนชาวนาในระแวกข้างเคียงก็ลดน้อยลงทุกวัน

การว่าจ้างแรงงานแทนการลงแขกเข้ามามีอิทธิพลแทนที่ เงินเป็นตัวชี้ขาด แล้วก็ส่งผลให้ต้นทุนการเกี่ยวข้าวสูงขึ้นตามค่าแรง

ทุกอย่างต้องใช้เครื่องมือทันสมัยแทนที่

ยิ่งรัฐบาลไหนทุ่มเทโครงการช่วยเหลือชาวนาให้ได้เงินดีจากปริมาณข้าว การปลูกข้าวในช่วงเวลานั้นก็จะยิ่งมากเป็นเงาตามตัว

แล้วคุณภาพก็ยิ่งถูกละเลยเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

รัฐบาลช่วยเหลือชาวนาจากปริมาณข้าว มันก็เกิดชาวนาปลอมคิดรวยทางลัดโดยการซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านในทางลับ แล้วนำมาขอรับเงินจากรัฐบาลตามที่เป็นข่าว

ด้านหนึ่งไปช่วยอุดหนุนข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน

อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ข้าวไทยตกอยู่ในวังวนของปริมาณมากกว่าคุณภาพ จนในที่สุด ข้าวก็มีปริมาณมากเกินความต้องการ

ของใดที่มีปริมาณมากเกินความต้องการ ราคาก็ต้องตกลง ข้าวไทยก็อยู่ในข่ายนี้ เมื่อมารวมกับการไม่เน้นคุณภาพ

ราคาข้าวไทยก็เลยยิ่งต่ำลงตามไปด้วย

แล้วอยู่ ๆ ตลาดโลกก็อยู่ในสภาพแข่งขันเร่งระบายขายข้าวด้วยการลดราคา ผู้ส่งออกข้าวไทยก็ต้องลดราคาแข่งตามไปด้วย

ผู้ส่งออกก็ต้องมากดราคากับโรงสีและชาวนาอีกต่อหนึ่ง

วันนี้ ความต้องการข้าวทั่วโลกมีอัตราการเพิ่มน้อยกว่าปริมาณข้าวทั่วโลก ราคาก็ยิ่งตกต่ำลงไปอีก

แล้วทั้งหมดนี้ก็คือต้นเหตุที่ทำให้ราคาข้าวไทยตกต่ำ

เมื่อรู้ปัญหา การแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำก็ไม่ยาก

วันนี้ ข้าวหอมมะลิกลับมาคว้าแชมป์อีกครั้ง มันก็แสดงว่า ข้าวไทยเป็นข้าวดี แต่ทำไมไม่มีการเฉลิมฉลองให้เหมือนประเทศไทยได้รางวัล Miss Universe บ้าง

แม้แต่ทีมฟุตบอลที่คนไทยเป็นเจ้าของแต่นักเตะเป็นต่างชาติ เวลาได้แชมป์มาก็ยังต้องมาฉลองที่ประเทศไทย

ข้าวหอมมะลิได้แชมป์ก็น่าจะฉลองกันบ้าง

รัฐบาลหรือหน่วยงานเอกชนต้องนำเรื่องนี้มาประชาสัมพันธ์ “ข้าวไทยมีคุณภาพดี”

จากนั้น รัฐบาลต้องทำโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพแทนการเอาปริมาณด้วยการให้ความช่วยเหลือ

จะให้ความช่วยเหลืออย่างไรก็ได้ที่เป็นด้านคุณภาพ

ผลที่ตามมาคือ ชาวนาได้รับการช่วยเหลือ คุณภาพข้าวดีขึ้นตามข้าวหอมมะลิ ในด้านปริมาณข้าวก็จะลดลง

ของที่มีคุณภาพและมีปริมาณน้อยลง ราคาก็จะดีขึ้นมาเอง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

CITES คืออะไร เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกอย่างไร 

CITES – ไซเตส อักษรย่อภาษาอังกฤษ 5 ตัวนี้ หลายคนอาจจะเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก หลายคนอาจจะเคยได้ยินแต่ไม่รู้จัก และคงกำลังสงสัยว่าคืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับการนำเข้า-ส่งออก วันนี้เราจะพาไปพบคำตอบกันค่ะ

CITES ย่อมาจาก Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora หรือภาษาไทยคือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือรู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า อนุสัญญากรุงวอชิงตัน (Washington Convention) เป็นสนธิสัญญาที่มีเป้าหมายในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม ทำให้ปริมาณร่อยหรอจนอาจเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ วิธีการอนุรักษ์กระทำโดยการสร้างเครือข่ายทั่วโลกในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ทั้งสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสัตว์ป่าและพืชป่า ข้อตกลงนี้นานาประเทศได้ร่วมกันลงนามเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 1973 ณ กรุงวอชิงตัน และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1975 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมโครงการกว่า 180 ประเทศทั่วโลก

การค้าสัตว์ป่า พืชป่า และผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ จะถูกควบคุมโดยระบบใบอนุญาต (Permit) ซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่อนุสัญญาควบคุมจะต้องมีใบอนุญาตในการนำเข้า (Import) ส่งออก (Export) นำผ่าน (Transit) และส่งกลับออกไป (Re-Export) โดยชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่อนุสัญญาควบคุมจะระบุไว้ในบัญชีหมายเลข 1, 2, 3 (Appendix I, II, III) ของอนุสัญญา โดยมีหลักการอย่างย่อ ดังนี้

ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยหรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับคำยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย

ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้ง จะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นในธรรมชาติ

ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 3 (Appendix III) เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วขอความร่วมมือประเทศภาคีสมาชิกให้ช่วยดูแลการนำเข้า คือจะต้องมีหนังสือรับรองการส่งออกจากประเทศถิ่นกำเนิด

จากหลักการข้างต้น ทำให้เห็นความร่วมมือของนานาประเทศในการอนุรักษ์พันธุ์พืช-สัตว์ป่าให้อยู่คู่โลกต่อไป โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “อนุสัญญาระหว่างประเทศ” ในการกำหนดมาตรการควบคุมการค้า อย่างไรก็ตามการจรรโลงโลกให้น่าอยู่ ไม่ใช่เรื่องของภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานอิสระ หรือแค่ฝ่ายใดฝ่ายเดียว แต่ทุกคนควรมีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน การสร้างจิตสำนึกที่ดีมีใจรักษ์ธรรมชาติและมุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะช่วยสร้างสรรค์โลกให้มีความสงบสุขและสวยงามอย่างยั่งยืน

สุวิตรี ศรีมงคลวิศิษฎ์

ขอบคุณข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org