CEO ARTICLE

ทีมเวิร์ค

Published on June 8, 2021


Follow Us :

    

การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิง Nation League 25 พ.ค. – 25 มิ.ย. 64 ที่ประเทศอิตาลี นักวอลเลย์บอลหญิงชุดตัวจริงที่เก็บตัวซ้อมอย่างหนักติดโควิด ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน
ประเทศไทยได้รับการผ่อนผัน จึงคัดนักวอลเลย์หญิงรุ่นใหญ่ที่มีประสบการณ์ มีอายุ แต่ไม่ได้เก็บตัวฝึกซ้อม เป็นทีมทดแทนเข้าร่วมแข่งขันโดยมีเวลาฝึกซ้อมระบบทีมเล็กน้อย
เมื่อถึงเวลาแข่งขัน คนไทยติดตามชมเอาใจเชียร์กันมาก การรับชมขึ้นเป็นอันดับ 1 การเล่นทำได้ดี เกมสูสีหลายแมทซ์ด้วยความสามารถเฉพาะตัวเป็นส่วนใหญ่
แม้ผลแต่ละแมทซ์จะไม่ชนะ แต่ส่วนใหญ่ได้ใจคนไทยที่ติดตาม
หากนักวอลเลย์บอลหญิงทดแทนกลุ่มนี้มีโอกาสได้ซ้อมระบบทีมมากกว่านี้ เชื่อว่าโอกาสชนะจะมีมากกว่านี้แน่นอน
ความสามารถเฉพาะตัวเป็นสิ่งสำคัญหนึ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องมี แต่เมื่อเข้ามาเล่นเป็นทีม ทีมเวิร์คย่อมมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หากขาดด้านใดด้านหนึ่ง โอกาสชนะก็ย่อมน้อยลงเป็นธรรมดา
อย่างไรก็ตาม คนไทยทุกคนชื่นชมนักวอลเลย์บอลหญิงทดแทนที่เสียสละในครั้งนี้ด้วยใจ

ระบบทีมหรือทีมเวิร์ค (Team Work) เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกีฬาทุกประเภทที่เล่นเป็นทีมซึ่งรวมถึงการทำงานที่ต้องร่วมกันทำตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปก็ต้องการทีมเวิร์คไม่ต่างกัน
การทำงานเป็นทีมสามารถทำงานใหญ่ ๆ ที่คน ๆ หนึ่งอาจไม่รู้จักด้วยซ้ำให้สำเร็จได้
คนทำงานเป็นทีมจึงต้องรู้และเข้าใจวัตถุประสงค์ของงาน ต้องร่วมมือกัน มีหน้าที่ชัดเจนของตน มีขั้นตอนการทำงาน แผนงาน การประสานงาน ความร่วมมือ และอื่น ๆ อีกมาก
วอลเล่ย์บอลและกีฬาอื่น ๆ ที่เล่นเป็นทีมใช้การซ้อมเพื่อพัฒนาทีมเวิร์ค
การทำงานเป็นทีมเวิร์คก็ต้องซ้อมเพื่อสร้างความเข้าใจต่อกัน สร้างความชำนาญ และการแก้ไขปรับปรุงข้อผิดพลาดซึ่งเป็นการพัฒนาทีมเวิร์ค
การซ้อมของนักกีฬาเห็นได้ชัด แต่การซ้อมของการทำงานเป็นทีมกลับมีปัจจัยหลายด้าน และปัจจัยที่สำคัญหนึ่งคือ “การประชุม”
ทีมเวิร์คที่มีส่วนในการประชุมบ่อย เข้าอบรม หรือสัมนาบ่อย ๆ จะพัฒนาตนเองได้ดีกว่า มีความรู้ มีวิสัยทัศน์ มีทัศนคติ มีภาวะผู้นำ เข้าใจผู้อื่น และได้ประโยชน์จากทีมเวิร์คได้ดีกว่า
แต่น่าเสียดาย คนทำงานส่วนหนึ่งไม่ชอบการประชุม บ้างเข้าร่วมอย่างเสียมิได้ เข้าหูซ้าย ทะลุหูขวา มีอีโก้ ชอบใช้ความสามารถเฉพาะตัวด้านเดียว จึงได้ประโยชน์จากการประชุมไม่มากทำให้จุดแข็งและประสิทธิภาพที่ควรจะได้จากทีมเวิร์คไม่เกิดขึ้น
คนทำงานที่หลีกเลี่ยงการประชุมบ่อย ๆ จึงเป็นคนทำลายทีมเวิร์คอย่างไม่รู้ตัว
ยิ่งหากตัวหัวหน้าขาดทักษะความเป็นผู้นำ ไม่ชอบการประชุม นำการประชุมไม่ได้ ชอบใช้ความสามารถเฉพาะตัวมากกว่า ไม่ขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือจากผู้มีประสบการณ์สูงกว่า ในกรณีเช่นนี้ทีมเวิร์คจะพัฒนาได้น้อยและข้อผิดพลาจะเกิดได้บ่อย
ประสิทธิภาพและความสำเร็จของทีมเวิร์คก็จะลดน้อยลง
การประชุมมีหลายประเภท แต่หากเป็นการประชุมเพื่อพัฒนาทีมเวิร์คจำเป็นต้องมีวาระที่ชัดเจน เช่น วาระติดตาม วาระผลงาน วาระข้อผิดพลาด/ข้อร้องเรียน เป็นต้น
เจตนารมณ์ของวาระต่าง ๆ ก็เพื่อให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างวิธีการทำงานใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น วาระจึงสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะงาน
วาระต่าง ๆ ควรกระจายให้ทีมงานหลายคนเป็นผู้รวบรวมหัวข้อ เนื้อหา และกำหนดให้มีผู้ดำเนินการประชุมแทนที่จะให้ประธานเป็นผู้ดำเนินการแต่ละหัวข้อ
วิธีนี้จะทำให้บุคลากรในทีมได้พัฒนา ไม่เป็นภาระแก่ประธานในที่ประชุมหรือหัวหน้างานในการหาเนื้อหาและต้องเป็นผู้จัดประชุม หัวหน้าทีมจึงเพียงทำหน้าที่ประธาน แสดงความคิดเห็นแต่ละหัวข้อ เชิญผู้มีความรู้ มีประสบการณ์เข้าร่วมแสดงความเห็น
วิธีการนี้จะทำให้ทีมเวิร์คได้แนวทางใหม่ ๆ หลายด้านเป็นการพัฒนาทีมโดยตรง
การประชุมเพื่อพัฒนาทีมเวิร์คที่ดีจึงต้องมีแนวทางที่ชัดเจน มีสมาชิกครบถ้วน มีวัน เวลาให้รู้ล่วงหน้า มิใช่ตามใจผู้จัด พร้อมเมื่อไรก็ประชุมเมื่อนั้น
วันนี้ ทีมวอลเลย์บอลแพ้แล้วก็แพ้ไป เป็นภาวะจำยอมที่เข้าใจ แต่ทีมเวิร์คเพื่อการทำงานจะแพ้ไม่ได้ มันหมายถึงเศรษฐกิจของแต่ละครอบครัวในภาวะ Covid-19 จะแพ้ตามไปด้วย
การประชุมเพื่อการพัฒนาทีมเวิร์คจึงเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาเช่นนี้

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : June 8, 2021

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

พุ่งแรงแซงโค้งค่าระวางเรือปรับเพิ่มกว่า 300%

“ค่าระวางเรือพุ่ง 300% ส่งออกอาหารยังลุ้น 1 ล้านล้าน” ข่าวพาดหัวจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 6 มิ.ย. 2564 เห็นแล้วก็สะดุ้งกันเลยทีเดียว

ผลกระทบจาก COVID-19 ขยายตัวเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เป็นที่ทราบกันว่า สถานการณ์ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลให้ค่าระวางเรือทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น และราคายังคงสูงอย่างต่อเนื่อง

ภาคส่งออกอาหารไทยที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1ล้านล้านบาท ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ ทั้งเศรษฐกิจการค้าโลกหดตัว, การแข็งค่าของเงินบาท, ภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์, ค่าภาระตู้เปล่าที่นำเข้ามาใส่สินค้า และต้นทุนขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น

จากข่าวรายงานว่า ปี 2563 ไทยส่งออกสินค้ามูลค่า 980,703 ล้านบาท หดตัวลง 4.1% ส่วนแบ่งในตลาดโลกก็ลดลงเหลือ 3.32% จาก 2.49% ในปี 2562 ส่งผลให้ไทยหล่นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก จากอันดับที่ 11 ในปีก่อน อันเป็นผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำเศรษฐกิจการค้าโลกหดตัว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 สามองค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สถาบันอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ตั้งเป้าหมายการขยายตัวการส่งออกอาหารที่ 7.1% มูลค่า 1.05 ล้านล้านบาท

บทสัมภาษณ์เรื่องทิศทางอนาคตการส่งออกอาหารของไทย นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย ได้แสดงความคิดเห็นไว้ โดยสรุปดังนี้

ส่งออกอาหารปีนี้เป้า 1 ล้านล้านบาทมองว่าจะไปถึงหรือไม่

สิ่งที่น่ากังวลคือ เรื่องตู้คอนเทนเนอร์ และค่า Freight เนื่องจากสินค้าเกษตรและอาหาร แตกต่างจากสินค้าอุตสาหกรรมเรื่องมูลค่าสินค้าที่ต่ำ ซึ่งมูลค่าสินค้าจะไปใกล้เคียงกับค่าระวางเรือ (ค่า Freight) ส่งผลให้ผู้ซื้อปลายทางบางรายก็ชะลอการสั่งซื้อ เพราะต้นทุนค่า Freight ที่เพิ่มขึ้นสูงมาก จนทำให้ต้นทุนค่าสินค้าก็พลอยสูงตามไปด้วย โดยค่า Freight ปรับขึ้น 100-200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในบางเส้นทางเดินเรือ (Route) ก็ปรับเพิ่มถึง 300% เช่น โซนอเมริกา, ยุโรปสำหรับปัญหาดังกล่าว รัฐบาลก็ได้พยายามหาทางแก้ไข วิธีหนึ่งคือการปลดล็อกให้เรือขนาดใหญ่ 400 เมตรสามารถนำตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นตู้เปล่ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังได้แล้วหลายลำ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการไปถ่ายลำเรือที่สิงค์โปร์ หรือมาเลเซียก่อน วิธีผ่อนปรนนี้จะช่วยให้เรือขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะเข้ามาเทียบท่าในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนสาเหตุที่เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าเทียบท่าที่แหลมฉบังได้แต่เดิม เป็นเพราะความยุ่งยากเรื่องพิธีการ ต้องขออนุญาตเป็นรายครั้ง ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับอนุญาตจากทางการไทยหรือไม่
นอกจากนี้ในส่วนของภาคเอกชน ได้เสนอให้ภาครัฐขยายเวลาการปรับลดค่าภาระตู้เปล่าเดิมภาครัฐได้ปรับลดลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้า ในอัตรา 1,000 บาท ต่อทีอียูสำหรับตู้ขนาด 20 ฟุต อัตรา 2,000 บาท สำหรับตู้ 40 ฟุต และอัตรา 2,250 บาท สำหรับตู้ 45 ฟุต เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 แต่หลังจากสถานการณ์ยืดเยื้อเอกชนต้องการให้รัฐบาลขยายเวลาออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของเอกชน ซึ่งรัฐยอมปรับลดมาสองรอบแล้ว แต่รอบนี้ยังไม่มีคำตอบ

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/482791เรียบเรียงใหม่ : น.ส. สุวิตรี ศรีมงคลวิศิษฎ์

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.