
CEO ARTICLE
แลนด์สไลด์
Published on May 31, 2022
Follow Us :
ชัยชนะของ ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ด้วยคะแนนเกือบ 1.4 ล้านเสียง มากกว่าคู่แข่งหลายคนรวมกันกว่าเท่าตัวถือเป็นแลนด์สไลด์อีกครั้งที่เกิดขึ้นของไทย
อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย และการเลือกตั้งทั่วไปจะมีแลนด์สไลด์เกิดขึ้นอีกหรือไม่ ?
คำว่า ‘แลนด์สไลด์’ (Landslide) หมายถึง การเคลื่อนที่ของแผ่นดิน มวลดิน หรือหินที่ไหลลงมาตามลาดเขาด้วยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของโลก หรือจะเรียกสั้น ๆ ว่า ‘แผ่นดินถล่ม’ ก็ได้
เมื่อนำมาใช้ในทางการเมือง ‘แลนด์สไลด์’ จึงหมายถึง ชัยชนะอย่างถล่มทลายที่คนผู้หนึ่งหรือพรรคการเมืองหนึ่งได้รับเหนือคู่แข่งขัน
‘แลนด์สไลด์’ ของ ดร. ชัชชาติ ที่ทำเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. 65 เป็นเรื่องน่าคิด และน่าคิดมากยิ่งขึ้นเมื่อย้อนไปวันที่ 10 พ.ค. 65 ในประเทศฟิลิปปินส์ก็เกิด ‘แลนด์สไลด์’ เช่นกัน
ตอนนั้น เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ บอง บอง วัย 64 ปี ได้รับเลือกด้วยคะแนนราว 30 ล้านเสียงอย่างถล่มทลายเหนือคู่แข่งที่ได้เพียง 14 ล้านเสียงจนได้เป็นประธานาธิบดี
บอง บอง เป็นลูกชายอดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซีเนียร์ ที่มีคดีทุจริตมาก หนีการขับไล่ไปสหรัฐในปี 2529 ด้วยทรัพย์สินมหาศาล และอีก 3 ปีต่อมาก็เสียชีวิตที่นั่น
ข่าวแจ้งว่า บอง บองใช้การตลาดผ่านโชเชี่ยลเข้าหาคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใส่ใจอดีต สนใจเพียงปัจจุบันและอนาคต ทำให้ภาพไม่ดีในอดีตของพ่อหายไป (MGR Online เผยแพร่ 20 พ.ค. 65)
แลนด์สไลด์ของบอง บอง และของ ดร. ชัชชาติ ทำให้มองกันว่า การเลือกตั้งทั่วไปของไทยที่จะมีในอนาคตอันใกล้นี้ก็อาจเกิด ‘แลนด์สไลด์’ ตามฟิลิปปินส์ไปด้วย
หลายทศวรรษที่ผ่านมา การต่อสู้ทางการเมืองทั่วโลกส่วนหนึ่งแบ่งเป็นฝ่ายซ้ายกับขวา
แต่ของไทยจะหนักกว่าเพราะมีวังวนของทุจริตและรัฐประหารซ้ำซาก นำไปสู่ความขัดแย้ง การแตกความสามัคคีระหว่างซ้ายและขวาอย่างหนัก และกระทบเศรษฐกิจให้สาหัสยิ่งขึ้น
หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557 คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากขึ้น เข้ามาร่วมเป็นคู่ขัดแย้งมากขึ้น มองในมุมโอกาส หากรัฐบาลที่เกี่ยวกับการรัฐประหารฉวยสร้างผลงาน สร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดการยอมรับ การต่อต้านจากคนรุ่นใหม่ และความขัดแย้งก็น่าจะทุเลาลง
ในฟิลิปปินส์ก็ไม่ต่างกัน คนรุ่นใหม่เพียงต้องการคนทำงานและผลงาน เมื่อผลงานรัฐบาลไม่เข้าตา ‘แลนด์สไลด์’ ในฟิลิปปินส์จึงเกิดขึ้นอย่างที่เห็น และวันนี้คนรุ่นใหม่เกือบทั่วโลกก็คิดแบบนี้ รัฐบาลไทยมีเวลาถึง 8 ปีที่จะสร้างผลงานและความเชื่อมั่น แม้ผลงานจะมีไม่น้อย แต่เพราะขาดการตลาด การทำงานเชิงรุก และการยึดติดระบบราชการเกินไปจนไม่สามารถครองใจคนรุ่นใหม่ได้
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิษร ถูกคนรุ่นใหม่จัดให้เป็นตัวแทน อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ส่วน ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีภาพเป็นคนทำงานจริงจังมากกว่า ลาออกจากพรรคการเมืองให้มีความเป็นอิสระ ขณะที่ ดร. ชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายสกลธี ภัททิยกุล และอีกหลายคนถูกจัดให้เป็นตัวแทนรัฐบาลที่เมื่อนำคะแนนรวมกันก็ยังได้ราวครึ่งหนึ่งของ ดร. ชัชชาติ เพียงคนเดียวเท่านั้น
หากมองในมุมรัฐบาล 3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกอยู่ในสงครามกับ Covid-19 ที่ไม่มีรัฐบาลของประเทศไหนชนะ สังคมและเศรษฐกิจของทุกประเทศตกต่ำ ยิ่งปีนี้เจอสงครามรัฐเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันที่สูงมาก ๆ ก็ยิ่งซ้ำเติมค่าขนส่งและค่าครองชีพ เศรษฐกิจก็ยิ่งตกต่ำ
ข้อมูลเหล่านี้เพียงพอให้คนที่ยังนิยมรัฐบาล ยังเทคะแนนให้ผู้สมัครที่ถูกมองเป็นตัวแทนรัฐบาล แต่ในมุมของคนรุ่นใหม่กลับมองว่า รัฐบาลควรทำได้ดีกว่านี้ ควรมีผลงานให้มากกว่านี้
ยิ่งถูกกล่าวหา ถูกโจมตีทางโซเซียลที่มีทั้งข่าวจริงและปลอม ความนิยมก็ยิ่งลดลง รัฐบาลก็ยิ่งต้องทำให้มากกว่านี้ และให้ดีกว่านี้อีกมาก การวิเคราะห์จากแหล่งต่าง ๆ มองว่า คนกลุ่มหนึ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ แม้จะเคยนิยมรัฐบาลก็เทคะแนนให้ ดร. ชัชชาติ อย่างที่เห็น
หากมองการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นโจทย์ แน่นนอน ดร. ชัชชาติ ตอบโจทย์การเมืองนี้ได้ คนกรุงเทพฯ ก็น่าจะพอใจ แต่หากมองการเมืองเป็นละครที่ฝ่ายชอบคือตัวเอก และฝ่ายชังคือตัวร้าย แบบนี้ ดร. ชัชชาติ ในฐานะตัวร้ายก็คงถูกขุดคุ้ยจนไม่ได้ทำงานแน่
ทุกคนย่อมมีข้อดีและเสียคู่กัน การไม่ยอมรับฝ่ายตรงข้าม การเอาแต่โจมตีข้อเสียรังแต่จะสร้างความขัดแย้ง การต่อต้าน และความหมั่นไส้ไม่จบสิ้นจนอาจนำไปสู่ ‘แลนด์สไลด์’ ในการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อการตอบโต้ตามอย่างการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ และในกรุงเทพฯ อีกครั้งก็ได้
คนรุ่นเก่ามีแต่ล้มหายตายจากและมีน้อยลง คนรุ่นใหม่มีแต่มากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมองโลกในมุมความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะดีหรือร้ายย่อมเป็นไปตามคนรุ่นใหม่มากกว่า
แต่ไม่ว่าดีหรือร้าย มันก็เป็นเสน่ห์ของประชาธิปไตยที่จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาตรวจสอบ เข้ามาเป็นฝ่ายค้าน คนรุ่นใหม่ถูกปลูกฝังมาอย่างไร การต่อสู้ในอนาคตก็คงเป็นอย่างนั้นไปด้วย
แลนด์สไลด์ที่อาจเกิดอีกครั้งจึงเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่จะสู้กับคนรุ่นใหม่ และในอนาคตคนรุ่นใหม่วันนี้ก็จะกลายเป็นคนรุ่นเก่าที่มีคนรุ่นใหม่กว่าเข้ามาเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : May 31, 2022

Logistics
เรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะ ขนาดใหญ่ 100,000 ตัน ลำแรกของโลก พร้อมใช้งานแล้วที่ชิงต่าว มณฑลซานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เรือ “The Conson No 1” หรือ “กั๋วซิ่น 1” เรือเลี้ยงปลาอัจฉริยะขนาดใหญ่ 100,000 ตัน ลำแรกของโลกของ บ. Qingdao Conson Development Group ได้เริ่มใช้งานครั้งแรกในชิงต่าวแล้ว ซึ่งการส่งมอบเรือในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการเดินเรือของชิงต่าว นอกจากนี้เรือลำนี้ยังทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางทะเลของจีนขยายจากพื้นที่ใกล้ชายฝั่งสู่ทะเลลึกอีกด้วย
เรือลำดังกล่าว มีมูลค่า 450 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.31 พันล้านบาท เป็นเรือเพาะเลี้ยงปลาอัจฉริยะลำแรกของโลก มีความยาว 249.9 เมตร มีกระชังเลี้ยงปลา 15 กระชัง แต่ละกระชังมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของสระว่ายน้ำ พื้นที่เชิงปริมาตรของน้ำโดยรวมประมาณเกือบ 90,000 ลูกบาศก์เมตร มีการควบคุมแบบรวมศูนย์ 2,108 จุดบนเรือ ควบคุมแสง ออกซิเจน คุณภาพน้ำ (ซึ่งใช้ทรัพยากรน้ำทะเลคุณภาพสูง) และให้อาหารปลาแบบเรียลไทม์ ย่นวงจรชีวิตได้ 1 ใน 4 ความหนาแน่นของปลาในแต่ละกระชังสูงกว่ากระชังแบบดั้งเดิม 4-6 เท่า เลี้ยงปลาได้หลายสายพันธุ์ อาทิ ปลาเก๋า ปลาแซลมอนแอตแลนติก และปลาจวดเหลืองใหญ่
มีผลผลิตประมาณ 3,700 ตันต่อปี เท่ากับผลผลิตปลาของทะเลสาบฉากาน เมืองซงหยวน มณฑลจี๋หลิน ซึ่งเป็น 1 ในทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของจีน เรือลำนี้สามารถหลบหลีกพายุใหญ่หรือใต้ฝุ่นอย่างไร้ปัญหา รวมถึง ภัยพิบัติระดับสีแดงและสีอื่น ๆ ด้วยความเร็ว 10 นอต หรือประมาณ 18.52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ผลผลิตล็อตแรกของปลาจวดเหลืองใหญ่ จะเข้าสู่ตลาดได้ในฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ (2565) และบริษัทมีแผนลงทุนสร้างเรือ 50 ลำ เพื่อเพาะเลี้ยงปลา 200,000 ตัน
ต่อปี มูลค่า 11,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท
การลงทุนในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงปลาในเรือเพาะเลี้ยงปลาอัจฉริยะนี้ จะสร้างความมั่นคงทางอาหารได้เป็นอย่างดียิ่ง
ที่มา: https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!