
CEO ARTICLE
5 : 4 มีความนัย
Published on September 6, 2022
Follow Us :
มติ 5 : 4 ทำให้กฎหมายดูเป็นปัญหา หรือศาลกำลังจะสื่ออะไร ?
24 ส.ค. 2565 ศาลรัฐธรมนูญมีมติเอกฉันท์ ให้รับคำร้องวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหมของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลง มติ 9 : 0 ชัดเจน และเข้าใจได้
แต่พอจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนกลับมีมติ 5 : 4 ที่ต่างกันเพียง 1 เสียงเท่านั้น
กฎหมายฉบับเดียวกันแท้ ๆ ศาลธรรมนูญ 9 คนก็ถือว่าสูงสุดของประเทศ หากมติออกมา 8 : 1 หรือ 7 : 2 หรือแม้แต่ 6 : 3 ที่เป็นเสียงข้างมากจริง ๆ ก็พอเข้าใจและยอมรับได้
แต่มติ 5 : 4 ท่ามกลางสังคมแตกแยก ฝ่ายเชียร์ใจหาย เตรียมทำใจ 1 เสียงก็ทำให้วาระ 8 ปี สิ้นสุดได้ ตรงกันข้ามฝ่ายแช่งดีใจ 1 เสียงคือความหวัง เร่งกดดัน พล.อ. ประยุทธ์ ให้ลาออก เร่งศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดสินวาระ 8 ปีไปตามมติ 5 : 4
กฎหมายรัฐธรรมนูญอาจเป็นปัญหา หรือศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะสื่ออะไร ??
ทุกประเทศมีระบบการปกครองต่างกัน กฎหมายจึงมีหลายระบบ เช่น ระบบคอมมิวนิสต์ ระบบสังคมนิยม แต่กฎหมายทุกระบบก็มี ‘เจตนารมณ์หลัก’ เพื่อ ‘ความสงบสุขของสังคม’ เหมือนกัน เว้นแต่จะมีเจตนาอื่นแอบแฝง ส่วนประเทศประชาธิปไตยจะใช้กฎหมายอยู่ 2 ระบบ คือ
1. กฎหมายจารีตประเพณี (Common Law)
หมายถึง การนำพฤติกรรมที่ทุกคนในสังคมยอมรับ สืบต่อกันมา และมีความศักดิ์สิทธิ์มาเป็นกฎหมาย เช่น การชกมวยที่เป็นกีฬา มีกติกา แม้จะเกิดการบาดเจ็บ ล้ม ตายก็ไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย หรือฆ่าคนตาย เป็นต้น ประเทศที่ใช้ระบบจารีตฯ เช่น อังกฤษซึ่งเป็นต้นกำเนิด และสหรัฐ (http://www.satit.up.ac.th/BBC07/AroundTheWorld/law/34.htm)
กฎหมายจารีตประเพณีไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็จริง แต่บางเรื่องก็จำเป็นต้องมีตัวอักษร เช่น รัฐธรรมนูญของสหรัฐที่มีเพียง 7 มาตรา เป็นต้น
2. กฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law)
หมายถึง การนำคำสั่ง ข้อห้าม ข้อปฏิบัติ หรือจารีตประเพณีมาทำเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนกว่า เช่น การหมั้นของไทยมาทำเป็นกฎหมาย เป็นต้น ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เช่น อิตาลี เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ สเปน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และประเทศไทย
กฎหมายลายลักษณ์อักษร มีตัวอักษรให้อ้างอิง แต่บางเรื่องก็ยึดตามจารีตประเพณี
แต่ไม่ว่าจะใช้กฎหมายระบบใด คนที่รู้และไม่รู้กฎหมายก็มักตีความให้ตนได้ประโยชน์จนอาจขัดต่อ ‘ความสงบสุขของสังคม’ กฎหมายจึงไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหามักเกิดจากคนตีความจนต้องมีผู้รู้สูงสุดกลุ่มหนึ่งให้มานั่งคุยกัน ถกหาเหตุผลกันแล้วลงมติร่วมกัน คนกลุ่มนั้นคือ ‘ศาล’
วาระ 8 ปีก็เช่นกัน ฝ่ายหนึ่งยึดเจตนารมณ์มาตรา 158 (4) ที่ไม่ต้องการให้สืบทอดอำนาจ แต่ตัวอักษรไม่ระบุให้นับตั้งแต่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือนับย้อนหลังตั้งแต่เมื่อไร
ส่วนอีกฝ่ายให้ยึดตัวอักษรที่ตีความแล้วนับตั้งแต่ปี 2557 2560 หรือ 2562 ได้ถึง 3 ระยะ
มติ 5 : 4 ทำให้เห็นว่า ศาล 5 คนอาจมองเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้สืบทอดอำนาจจึงให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อน ไม่ให้ใช้อำนาจเกิน 8 ปี และศาล 4 คนอาจมองลายลักษณ์อักษรที่ยังต้องตีความจึงยอมให้ปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน แต่มติ 5 : 4 ก็ก่อให้เกิดมุมมองหลากหลาย
บางคนมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษ อาจมีคนสั่งให้มติออกมา 5 : 4 เพื่อไม่ให้น่าเกลียดตอนตัดสินวาระ 8 ปี ก็ให้เริ่มนับจากปี 2562 ที่ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ยาวถึงปี 2570
บางคนกลับมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่ได้ เป็นอิสระ มติ 5 : 4 จึงออกมาเช่นนี้
บางคนมองว่า ทุกวันนี้ เสียงต่อต้านของฝ่ายแช่งในโซเซียลสูงกว่าฝ่ายเชียร์ขึ้นเรื่อย ๆ มติ 5 : 4 ก็เพื่อให้ พล.อ. ประยุทธ์ เตรียมตัวลงจากตำแหน่งด้วยกฎหมายอย่างไม่เสียหน้า
บางคนนำมติ 5 : 4 ไปทำโพลสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มของตนเพื่อกดดันศาล หากวาระ 8 ปีที่จะออกมาไม่ตรงกับโพล การต่อต้านและความไม่สงบสุขในสังคมจะเกิดขึ้น
บางคนมองว่า การหยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้อำนาจรักษาการนายกฯ มาสั่งการเรื่องหนึ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ยอมสั่ง บางคนมองว่า 2 ป. แตกเป็น 2 ขั้ว แย่งอำนาจกัน และบางคนก็มองว่า 5 : 4 เป็นเพียงลิเกการเมืองฉากหนึ่งเท่านั้น
5 : 4 จึงมีความนัย มีคนได้และคนเสียประโยชน์นำมาขยาย เพิ่มความจริง เติมความเท็จจนแยกไม่ออก แต่เป็นความนัยที่เกิดจากคนตีความเพื่อประโยชน์ของตน และมีประชาชนที่เสพโซเซียลช่วยขยายความนัย
มันเป็นเสน่ห์ของประชาธิปไตย คนเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้โดยมีศาลเป็นคนกลางตัดสิน แต่ปัญหาก็เกิดจากคนที่ไม่ยอมรับการตัดสิน นำมาขยายให้ศาลขาดความน่าเชื่อถือจนตกเป็นจำเลย ทำให้กฎหมายเป็นปัญหา ขาดเสน่ห์ ไม่สามารถนำมาสร้างความสงบสุขให้สังคม สุดท้ายความไม่สงบสุขก็วนกลับสู่ทั้งคนเชียร์ คนแช่ง และคนไม่สนใจการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การลงมติวาระ 8 ปีในภายหลัง คะแนนก็อาจสวิงกลับ ความเห็นอาจต่างไปอีก อาจพลิกกลับไปมา หรืออาจเป็นไปตามความเห็นเดิมก็ได้ ทั้งหมดคือ เสน่ห์ของประชาธิปไตย
หากประชาชนจะรักษาเสน่ห์นี้ไว้ก็เพียงหยุดการส่งต่อทุกบูลลี่ในโซเซียล ติดตาม และดูว่าศาลที่เป็นผู้รู้สูงสุดจะยึดเจตนารมณ์ หรือยึดตัวอักษรมากกว่ากัน ผลออกมาอย่างใดก็อย่างนั้น
“Ubi societas ibi jus” เป็นภาษาลาตินหมายความว่า “ที่ใดมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย” ทุกอย่างคือเสน่ห์ คนที่รักประชาธิปไตยจึงควรช่วยกันรักษากฎหมายและเสน่ห์นี้ไว้.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : September 6, 2022

Logistics
เชื่อม “รถไฟขนสินค้า” วิ่งตรงข้ามทวีปได้ที่แรก ต้อง…กว่างซี และโอกาสของผู้นำเข้าไทย
นับเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของการขนส่งสินค้าด้วย “รถไฟข้ามทวีป” เมื่อขบวนรถไฟขนสินค้าจีน-ยุโรป หรือที่เรียกว่า China-Europe Express Railway กับขบวนรถไฟขนสินค้าจีน-เวียดนาม สามารถเชื่อมกันได้เป็นครั้งแรกแล้ว เป็นมิติใหม่ในการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางรถไฟจากเดิมที่ขบวนรถไฟทั้งสองจะต้องมีการสับเปลี่ยนหัวรถจักร/ขบวนรถโบกี้
เมื่อไม่นานมานี้ “แร่ใยหิน” (Asbestos) จำนวน 41 โบกี้จากประเทศคาซัคสถาน ที่ลำเลียงด้วยขบวนรถไฟขนสินค้า China-Europe Express Railway ผ่านท่ารถไฟนานาชาติซีอาน มณฑลส่านซี มาถึงด่านรถไฟผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง เพื่อผ่านพิธีการศุลกากร โดยมีจุดหมายอยู่ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม นับเป็นบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟข้ามทวีปเที่ยวแรกที่เชื่อมเอเชียกลาง – จีน – อาเซียนได้
23 สิงหาคม 2565 ขบวนรถไฟขนสินค้า China-Europe Express Railway มาถึงท่ารถไฟนานาชาติซีอาน เพื่อดำเนินพิธีการศุลกากร (Customs Transfer) และเปลี่ยนสถานะเที่ยวขบวนรถไฟเป็นชื่อขบวนรถไฟ “ซีอาน – ฮานอย”
26 สิงหาคม 2565 ขบวนรถไฟ “ซีอาน – ฮานอย” วิ่งออกจากท่ารถไฟนานาชาติซีอาน มาถึงด่านรถไฟผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง เพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรขาออก
27 สิงหาคม 2565 เวลา 12.30 น. ขบวนรถไฟลำเลียงสินค้าล็อตแรก (แบ่ง 3 ล็อต) วิ่งออกจากด่านรถไฟผิงเสียง ไปถึงสถานีด่งดัง จังหวัดล่างเซิน ประเทศเวียดนามในค่ำวันเดียวกัน
หลี จิ่นฮัว (李锦花) ผู้จัดการฝ่ายพิธีการศุลกากร บริษัท Guangxi Express Railway International Logistic Co.,Ltd. (广西快列国际物流有限公司) ให้ข้อมูลว่า เมื่อก่อน สินค้าขาล่องเป็นเรื่องชวนปวดหัวของผู้นำเข้าส่งออก จนกระทั่งขบวนรถไฟ China-Europe Express Railway กับขบวนรถไฟจีน-เวียดนาม สามารถเชื่อมตรงแบบไร้รอยต่อ ช่วยให้ขบวนรถไฟขาล่องสามารถลำเลียงสินค้าขากลับมาในจีน รวมถึงไปยังอาเซียน (เวียดนาม) ได้ด้วย ช่วยให้ประหยัดต้นทุนรวม และร่นเวลาขนส่งได้สั้นกว่าทางเรือมากกว่าครึ่ง
ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าด้วยขบวนรถไฟระหว่างประเทศจีน(กว่างซี)-เวียดนามได้รับความนิยมจากผู้ค้ามากขึ้น เนื่องจากการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการทางศุลกากรที่มีความสะดวกรวดเร็ว มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับเวลาที่เสียไป
จากสถิติในช่วง 7 เดือนแรก ปี 2565 พบว่า รถไฟขนสินค้าจีน-อาเซียนวิ่งให้บริการแล้ว 1,536 เที่ยว เพิ่มขึ้น 49.7% สินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านด่านรถไฟผิงเสียงมีปริมาณรวม 4.92 แสนตัน เพิ่มขึ้น 79.5%
ปัจจุบัน สินค้าที่ลำเลียงด้วยขบวนรถไฟระหว่างประเทศจีน-เวียดนามมีมากกว่า 200 ประเภท สินค้าส่งออกไปเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์เครื่องจักร ปุ๋ยเคมี เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่สินค้านำเข้า หลักๆ ได้แก่ ผลไม้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม พืชสมุนไพรจีน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแช่เย็นแช่แข็ง (cold chain) มีปริมาณเกือบ 30,000 ตัน เพิ่มขึ้น 107.2%
จะเห็นได้ว่า การขนสินค้าด้วยรถไฟในภูมิภาคตะวันตกของประเทศจีนมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง หัวเมืองเศรษฐกิจในภาคตะวันตกของจีนเล็งเห็นประโยชน์ของการขนส่งทางรถไฟ ผ่านด่านรถไฟผิงเสียงของกว่างซี เพื่อทำการค้ากับอาเซียนเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น
23 มีนาคม 2565 ขบวนรถไฟลำเลียงสินค้า อาทิ ล้อยางรถยนต์ กระดาษพิมพ์ และมอเตอร์ จำนวน 43 ตู้ ออกจากท่าเรือบกกั่วหยวน นครฉงชิ่ง (果园港) เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ใช้เวลาขนส่งราว 4-5 วัน ขณะที่วิธีการขนส่งแบบเดิมที่ใช้เรือผ่านแม่น้ำแยงซี+เรือทะเลที่นครเซี่ยงไฮ้ต้องใช้เวลามากกว่า 20 วัน นับเป็นขบวนรถไฟขนสินค้าเที่ยวแรกในเส้นทางนครฉงชิ่ง – ด่านรถไฟผิงเสียง-กรุงฮานอย
15 เมษายน 2565 ผู้ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ยี่ห้อ Dell ใช้รถไฟลำเลียงชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ จากท่ารถไฟนานาชาติเฉิงตู มณฑลเสฉวน ผ่านด่านรถไฟผิงเสียง เพื่อมุ่งหน้าไปยังสถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ด้วยระยะทาง 1,841 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งราว 7 วัน สามารถร่นเวลาได้ 2-3 วันเมื่อเทียบกับวิธีการขนส่งแบบเดิมที่ใช้ราง+เรือ นับเป็นขบวนรถไฟขนสินค้าเที่ยวแรกในเส้นทางนครเฉิงตู – ด่านรถไฟผิงเสียง-กรุงฮานอย
18 เมษายน 2565 ขบวนรถไฟพิเศษ (charter route) บรรทุกวัสดุอลูมิเนียม 40 ตู้ น้ำหนักรวมกว่า 1,000 ตัน เคลื่อนตัวออกจากท่าขนส่งร่วมราง+อากาศนานาชาติซวงหลิว นครเฉิงตู (Chengdu(Shuangliu)Air-Rail International Combined Port/ 成都(双流)空铁国际联运港) มณฑลเสฉวน มุ่งหน้าไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ใช้เวลาขนส่ง 7 วัน ร่นเวลาขนส่งได้ 30% และประหยัดต้นทุนได้ 20% เมื่อเทียบกับวิธีการขนส่งแบบเดิมที่ใช้รถบรรทุก
31 พฤษภาคม 2565 ผลิตภัณฑ์ PVC จากมณฑลชิงไห่ จำนวน 34 ตู้ น้ำหนักกว่า 900 ตัน ใช้รถไฟลำเลียงไปยังสถานีรถไฟถวนเจ๋ชุน (Tuanjiecun Railway Station/团结村站) นครฉงชิ่ง เพื่อดำเนินพิธีการศุลกากร ณ สถานีต้นทาง (โดยไม่ต้องตรวจปล่อยที่ด่านรถไฟผิงเสียง) เป็นครั้งแรกของประเทศจีน โดยขบวนรถไฟมาจอดรอที่ด่านรถไฟผิงเสียงเพียง 1 ชั่วโมงก่อนวิ่งไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การขนส่งสินค้าด้วย “รถไฟ” เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับจีน รวมถีงประเทศในเอเชียกลาง และยุโรป เนื่องจากมีข้อได้เปรียบ ทั้งด้านประสิทธิภาพงานขนส่ง ความสะดวกรวดเร็วที่ได้รับจากการใช้บริการ ตลอดจนต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย ในมิติของการนำเข้าสินค้า ความเคลื่อนไหวข้างต้นถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสินค้าที่หายากจากแหล่งอื่นและจำเป็นต้องนำเข้าจากเอเชียกลางและยุโรป
ที่มา : https://thaibizchina.com
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!