
CEO ARTICLE
คดีอีซูซุ
Published on October 4, 2022
Follow Us :
‘อีซูซุ’ ชนะคดีฟ้องกรมศุล-สรรพากร ไม่ต้องชำระอากร 1.8 พันล้านบาท (ไทยรัฐออนไลน์ 24 ก.ย. 65) … ชัยชนะของ ‘อีซูซุ’ ในคดีนี้ให้ข้อคิดอะไรแก่กรมศุลกากรและผู้ประกอบการ ?
คดีนี้เป็นการพิจารณาถึง 4 เรื่องในคราเดียว โดยบริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำ ‘ชุดเกียร์’ รถยนต์เข้ามาเพื่อใช้ประกอบเป็นรถยนต์ระหว่างปี 2542 – 2545
การนำเข้าครั้งนี้เป็นไปตาม ‘ประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก. 17/2541 (ครอ. 1)’ เรื่องการนำเข้าที่ได้สิทธิลดหย่อนอากรจาก 42% ลงเหลือ 5% ภายใต้โครงการ AICO
AICO มาจากคำว่า ‘ASEAN Industrial Cooperation Scheme’ เป็นโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของประเทศอาเซียนที่มุ่งส่งเสริมการผลิตด้วยเทคโนโลยีเป็นฐานการผลิต
สิทธิประโยชน์ทางภาษีคือ การส่งเสริมให้สินค้าภายใต้โครงการที่ซื้อขาย หรือเคลื่อนย้ายภายในประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับ “สิทธิลดหย่อนอากรศุลกากร”
ส่วนการใช้สิทธิลดหย่อนอากรตามประกาศดังกล่าว ผู้นำเข้าต้องนำใบรับรองเมืองกำเนิด (Certificate of Origin) และใบรับรองผลิตภัณฑ์ (Certificate of Eligibility) มาประกอบ
ประเด็นปัญหาเกิดขึ้นเมื่อศุลกากรตรวจพบว่า ‘ชื่อ หมายเลข ยี่ห้อ และรุ่น’ ของชุดเกียร์ที่ระบุใน ‘ใบรับรองผลิตภัณฑ์’ ขณะนำเข้าไม่ตรงกับ ‘รุ่นของรถยนต์’ ที่จะนำชุดเกียร์ไปประกอบ
ศุลกากรจึงต้องการยกเลิกสิทธิการลดหย่อนอากรขาเข้า และมีผลให้การลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกยกเลิกไปด้วย ภาษีอากรในคดีจึงมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 1.8 พันล้านบาท
‘อีซูซุ’ ไม่ยอมรับ ฟ้องทั้งกรมศุลกากรและกรมสรรพากรต่อศาลภาษีอากรกลาง
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ ‘อีซูซุ’ ชนะเหมือนกันจนเกิดการฎีกา และในที่สุด 23 ก.ย. 65 ศาลฎีกาก็มีคำตัดสินให้ ‘อีซูซุ’ ชนะอีกครั้งโดยให้เหตุผลที่พอสรุปได้ (ผู้เขียน) คือ
การที่ ‘ใบรับรองผลิตภัณฑ์’ ระบุ ‘ชื่อ หมายเลข ยี่ห้อ และรุ่น’ ของชุดเกียร์นั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ AICO และประกาศกระทรวงการคลังฯ อย่างถูกต้อง ย่อมได้รับสิทธิการลดหย่อนภาษีอากร
ส่วนชื่อ ‘รุ่นของรถยนต์’ ที่ระบุเป็นเพียง ‘รหัสรุ่น’ ของรถยนต์ที่จะนำ ‘ชุดเกียร์’ ที่นำเข้าไปประกอบ ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิการลดหย่อนภาษีอากร
‘อีซูซุ’ ชนะทั้ง 3 ศาลด้วยเหตุผลที่ว่า รหัสรุ่นของรถยนต์ที่จะประกอบ ‘ไม่ใช่สาระสำคัญ’
เหตุผลของศาลทำให้เกิดข้อคิดตามมา ในเมื่อไม่ใช่สาระสำคัญ แล้วอะไรคือ ‘สาระสำคัญ’ ?
เมื่อพิจารณาแล้ว คำตอบที่ได้คือ ‘ตัวสินค้าที่นำเข้า’ คือสาระสำคัญ
หากสินค้านำเข้าสอดคล้องกับ ‘เจตนารมณ์’ ของการส่งเสริมฯ แล้ว ผู้นำเข้าก็ควรได้สิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี ข้อมูลประกอบ ข้อมูลปลีกย่อยของสินค้า หรือตัวอักษรที่พิมพ์ผิดพลาดในเอกสารที่ไม่กระทบต่อ ‘เจตนารมณ์’ ก็ย่อม ‘ไม่ใช่สาระสำคัญ’ ตามเหตุผลของศาล มันคือความแตกต่างระหว่างการตีความตามตัวอักษร หรือตามเจตนารมณ์เท่านั้น
การยึด ‘ตัวอักษร’ มากกว่า ‘เจตนารมณ์’ เกิดขึ้นบ่อยในอดีต เช่น การพิมพ์ชื่อรุ่น ยี่ห้อ เลขที่เอกสาร เครื่องหมายและเลขหมาย (Shipping Mark and Number) และอื่น ๆ ในเอกสารทางการค้าขัดแย้งกัน หรือไม่ตรงกับสินค้าที่นำเข้าจริง และเห็นโดยชัดว่าไม่ใช่สาระสำคัญ
แต่ศุลกากรก็มักตีความให้สิทธิการยกเว้น หรือลดหย่อนภาษีตามข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Agreement) ถูกยกเลิก เป็นต้น ทำให้ผู้นำเข้าเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรได้ กระทบต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ และอาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตได้ง่าย
แม้ปัจจุบันกรมศุลกากรจะมีการทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น และมีประกาศความชัดเจนมากขึ้น
แต่การยื่นฎีกาคดีอีซูซุก็ยืนยันว่า กรมศุลกากรยังมอง ‘ตัวอักษร’ มากกว่ามอง ‘เจตนารมณ์’ อยู่ดีทั้งที่ข้อตกลงระหว่างประเทศย่อมมีศักดิ์สูงกว่ามาก
ในเมื่อผลของฎีกายืนยันชัดเจนแล้ว กรมศุลกากรซึ่งเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากร ป้องกันการหลบเลี่ยง และส่งเสริมการค้าจึงควรนำฎีกานี้มาสร้างแนวทางการทำงานให้ยึดหลัก ‘เจตนารมณ์’ มากกว่าปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ตัวแทนออกของ (Customs Broker) และคนทำงานด้านนี้ หากเกิดความขัดแย้งกับศุลกากรบนข้อมูลที่เห็นชัดว่า ‘ไม่ใช่สาระสำคัญ’ ก็ควรต่อสู้
วิธีการต่อสู้ที่ดีที่สุดคือ ความรู้และความเข้าใจที่คนทำงานควรมี
เจตนารมณ์ของการส่งเสริมแต่ละเรื่องหรือแต่ละโครงการคืออะไร ? สินค้าที่นำเข้าเป็นไปตามเจตนารมณ์อย่างไร ? และตัวอักษรที่ขัดแย้งไม่ใช่สาระสำคัญอย่างไร ?
หากจำเป็นต้องต่อสู้ในชั้นศาลก็ควรนำผลฎีกาคดีอีซูซุในครั้งนี้เป็นแนวทาง ตัวสินค้านำเข้าต้องเป็นสาระและต้องให้ความสำคัญมากกว่า
คดี ‘อีซูซุ’ จึงให้ความรู้ และให้ข้อคิดมากกว่าการอ่านเพียงผ่านสายตาไป.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : October 4, 2022

Logistics
รัฐบาลสหรัฐฯ ทุ่มงบ 1.6 แสนล้าน สร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า 500,000 สถานีทั่วประเทศ
1 – 2 ปี ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่หลายประเทศทั่วโลก หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากมีผู้ผลิตที่หันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์สันดาป ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์รักษ์โลก
แต่จุดหนึ่งที่หลายคนตัดสินใจได้ยากว่า จะหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์สันดาปดีหรือไม่
ก็ไม่พ้นเรื่องที่ว่า สถานีชาร์จแบตฯ รถไฟฟ้าในหลาย ๆ ประเทศยังไม่ทั่วถึงนั่นเอง
และเพื่อแก้ปัญหานี้ ทางประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน จึงประกาศทุ่มงบกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 163,500 ล้านบาท) เพื่อสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วสหรัฐฯ กว่า 500,000 สถานี ภายในปี 2030 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า
ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามนี้ สหรัฐฯ จะมีสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับจำนวนสถานีชาร์จในปัจจุบัน
โดยเริ่มแรก ในปีนี้รัฐบาลจะแจกจ่ายงบประมาณไปยัง 50 รัฐทั่วประเทศ เพื่อสร้างสถานีชาร์จตามถนนทางหลวงที่ใช้เดินทางระหว่างรัฐ จากนั้นจะค่อยขยายไปตามย่าน ชุมชน และพื้นที่ห่างไกล
ท้ายที่สุด สหรัฐฯ ตั้งเป้าว่า ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะพบสถานีชาร์จไฟฟ้าได้ทุก ๆ 50 ไมล์ (ราว 80 กิโลเมตร)
ด้าน โจ ไบเดน กล่าวถึงการทุ่มเงินในครั้งนี้ว่า “มันจะช่วยให้มั่นใจได้ว่า อเมริกาจะเป็นผู้นำโลกในด้านยานยนต์ไฟฟ้า”
สำหรับเงินกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ เป็นเงินส่วนหนึ่งจากแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Bipartisan Infrastructure Package ที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา และโจ ไบเดน ได้ลงนาม ไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ซึ่งแผนดังกล่าว มีงบประมาณโดยรวม 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (39 ล้านล้านบาท) เพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคของประเทศ
โดยการทุ่มเงินในครั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และหันมาใช้แหล่งพลังงานสะอาดมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังตั้งเป้าด้วยว่า ภายในปี 2030 ครึ่งหนึ่งของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด อีกด้วย
อ้างอิง :
-https://www.cnbc.com/2022/02/10/biden-rolls-out-5-billion-to-states-for-electric-vehicle-chargers.html
-https://www.engadget.com/biden-administration-unveils-5-billion-plan-or-ev-charging-infrastructure-133022348.html
ที่มา : https://www.marketthink.co/23062
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!