CEO ARTICLE

ยากทำให้ดูง่าย

Published on October 18, 2022


Follow Us :

    

การทำงานยากให้ดูยากเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่การทำงานยากให้ดูเป็นงานง่ายไม่ใช่เรื่องปกติที่ใครจะทำได้ มันต้องใช้ฝีมือขั้นเทพขนาดไหน และจะให้ประโยชน์อะไร ?

คนทำงานทุกคนต้องเคยประสบกับ ‘งานง่าย’ และ ‘งานยาก’ กันทั้งนั้น
การทำงาน 2 แบบนี้ต่างกัน ‘งานง่าย’ ทำให้สำเร็จง่ายกว่า แต่ ‘งานยาก’ แม้จะมีอุปสรรคมาก ปัญหาเยอะ และทำให้สำเร็จยาก แต่หากทำได้สำเร็จจะให้ภาพลักษณ์ที่ดีแก่คนทำ ให้คุณค่า และให้ประโยชน์มหาศาล
ในเมื่อเป็น ‘งานง่าย’ ปัญหาจึงมีเพียง 1 เดียวคือ คนทำงานจะทำอย่างไรให้สำเร็จง่าย เสร็จอย่างสมบูรณ์ และเสร็จเร็วภายในเวลาที่กำหนด !!!
ปัญหานี้ไม่ยาก หากคนที่ทำงานนั้นมีความชำนาญพอสมควรก็ย่อมทำได้สบาย
แต่หากทำไม่ได้ หรือทำได้ แต่ขาด ๆ เกิน ๆ ไม่สมบูรณ์ ไม่สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด ‘งานง่าย’ ที่ว่าจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของคนทำงานนั้นทันที
ตรงกันข้าม ‘งานยาก’ ทุกคนย่อมรู้ว่ายาก หากทำไม่สำเร็จ หรือทำสำเร็จแต่ไม่สมบูรณ์ก็อาจเป็นเรื่องปกติ อาจยอมรับได้ และอาจไม่กระทบภาพลักษณ์มากนัก
แต่หากทำ ‘งานยาก’ ให้สำเร็จ ไม่ขาด ไม่เกิน ทำให้ดูเป็น ‘งานง่าย’ คนทำงานก็จะได้รับความไว้วางใจ ภาพลักษณ์จะดี คุณค่าจะเกิด เงินเดือนมีโอกาสได้สูงขึ้น ความเชื่อใจจะได้มาก ลูกค้ายินดีจ่ายค่าบริการ หรือค่าสินค้าให้มาก ประโยชน์ที่ได้จึงมหาศาล
การทำ ‘งานยาก’ ให้ดูเป็น ‘งานง่าย’ ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร ไม่ต้องใช้ฝีมือขั้นเทพอะไร รูปแบบและวิธีการก็มีหลากหลาย
ตัวอย่างที่เริ่มง่าย ๆ ก็ด้วย 2 ปัจจัยเท่านั้นคือ ขั้นตอนการทำงาน และความชำนาญ

งานทุกประเภทของทุกองค์กรที่อยู่ในมาตรฐาน ISO ต้องมีขั้นตอนการทำงานอยู่แล้ว
ส่วนคนทำงาน หรือองค์กรที่ไม่อยู่ใน ISO แต่จะใช้ขั้นตอนการทำงานเป็นเครื่องมือนำทางก็ไม่ผิดกติกา กลับมีแนวทางการทำงาน ทำให้งานดูเป็นมาตรฐาน ได้ประโยชน์ และยังทำให้ ‘งานยาก’ ดูเป็น ‘งานง่าย’ อีกด้วย
คนทำงานที่ทำตามขั้นตอนฯ จนชำนาญแล้ว ขั้นตอนการทำงานจะอยู่ในหัว ไม่ว่าจะขยับงานไปทางไหน จะเริ่มงานด้วยขั้นตอนฯ ไหนก่อน หรือจะสลับขั้นตอนฯ อย่างไร งานก็จะครบถ้วน สมบูรณ์ อยู่ภายในขั้นตอนฯ ที่กำหนด ไม่ขาด และไม่เกินให้เสียหายง่าย ๆ
เวลาเสนองาน ขายงาน หรืออธิบายงานที่ยากก็เพียงอธิบายวิธีการและข้อมูลต่าง ๆ ตามขั้นตอนฯ ที่กำหนดเท่านั้น การอธิบายก็จะดูง่าย ดูคล่อง และดูพริ้วเหมือนร่ายรำกระบี่
ในเบื้องต้น ผู้เสนอ ‘งานยาก’ ก็จะดูมีความชำนาญ ดูมีความเป็นมืออาชีพ ได้รับความเชื่อถือ และดูเป็น ‘งานง่าย’ ไปแล้วกว่าครึ่ง
เมื่อทำจริง คนทำงานก็เพียงใช้ความชำนาญทำไปตามขั้นตอนฯ ที่ได้อธิบายเท่านั้น
แต่หากงานนั้นมีส่วนอื่นงอก หรือที่ต้องทำมากกว่าขั้นตอนฯ ที่กำหนด การเติมส่วนที่เพิ่มก็จะง่าย ไม่ยุ่งยาก ทีมงานทุกคนรู้ว่ามีส่วนเพิ่ม มีความพร้อมเพรียง และดูมีความเป็นมืออาชีพทั้งทีม
กรณีพบ ‘งานยาก’ ที่ทำไม่ได้ หรือไม่สามารถทำให้ดูเป็น ‘งานง่าย’ ได้ หากมีขั้นตอนการทำงานกำกับอยู่ ไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็เพียงทำตามขั้นตอนฯ เท่านั้น ‘งานยาก’ ก็ไม่ต้องถามซ้ำซาก ไม่ต้องถามแต่เรื่องเดิม ‘งานยาก’ ก็ย่อมทำได้ และทำให้ดูเป็น ‘งานง่าย’ ได้เสมอ
งานยากที่ทำยาก หรือทำไม่ได้เลยจึงมีแต่งานที่ไม่มีขั้นตอนการทำงานเท่านั้น
‘ยากทำให้ดูง่าย’ จึงไม่ใช่เรื่องยากเย็น ไม่ต้องใช้ฝีมือขั้นเทพ ใช้เพียงขั้นตอนการทำงานที่ต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ
แต่หากไม่ใส่ใจ ไม่ฝึกฝน ละเลยขั้นตอนการทำงาน ไม่มีความชำนาญ ‘งานยาก’ ก็จะยากเรื่อยไป ไม่สร้างคุณค่า ไม่สร้างภาพลักษณ์ ไม่ให้ประโยชน์ และไม่มีวันเป็น ‘งานง่าย’ ตลอดไป

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : October 18, 2022

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

โอมานประกาศห้ามนำเข้าถุงพลาสติก เริ่มม.ค. 2566

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Oman News Agency ระบุว่ากระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรมและส่งเสริมการลงทุนของประเทศโอมาน ออกมติรัฐมนตรีเห็นชอบห้ามนำเข้าถุงพลาสติกตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ฝ่าฝืนนำเข้าถุงพลาสติกจะถูกปรับจำนวน 1,000 OMR หรือประมาณ 2,600 เหรียญสหรัฐฯ ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลโอมานกำลังทำงานร่วมกันเพื่อวางข้อกำหนดในการบังคับใช้หรือผ่านกฎหมายการห้ามใช้ถุงพลาสติกทั้งหมดหรือบางส่วนให้รัดกุมเพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะดำเนินการไปได้อย่างเหมาะสม

ในขณะเดียวกัน นาย Sami Salim Al Sahib อธิบดีกรมอุตสาหกรรมของกระทรวงพาณิชย์ฯ กล่าวว่าการตัดสินใจนี้สอดคล้องกับแผนของกระทรวงพาณิชย์ฯ ในการออกระเบียบที่เข้มงวดเพื่อควบคุมสินค้านำเข้าที่อาจจะทำลายสิ่งแวดล้อม แต่นโยบายดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตถุงพลาสติกในประเทศที่ยังสามารถผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโอมานมีแนวโน้มในการมุ่งที่จะเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ฯ ของโอมาน กำลังดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อวางข้อกำหนดและคำแนะนำสำหรับผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า ตลอดจนประชาชนทั่วไป เพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะดำเนินการไปได้อย่างเหมาะสม และมีช่วงเปลี่ยนผ่านให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการปรับตัวมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อทดแทนพลาสติก

มาตรการลดการใช้พลาสติกในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
มาตรการลดการใช้พลาสติกที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลายเป็นกระแสที่ส่งแรงกระเพื่อมในสังคมโลก เนื่องจากชาวโลกกำลังเห็นผลกระทบของจากใช้ถุงพลาสติกที่มากเกินไป จนส่งผลให้ธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าไม้ ทะเล และสัตว์ได้รับผลกระทบจากพลาสติก ในส่วนของประเทศโอมานกระบวนการงดการใช้พลาสติกกำลังเริ่มต้นอย่างจริงจังในปีหน้า ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ได้ประกาศใช้มาตรการเพื่อลดการใช้พลาสติกแล้วในปีนี้ เช่น
– กรุงอาบูดาบีเมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ห้ามการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 พร้อมเตรียมประกาศห้ามใช้ ถ้วย จานและภาชนะโฟมใส่อาหารในปี 2567
– เมืองดูไบมีมาตรการเพื่อกระตุ้นให้ลดการใช้ถุงพลาสติกโดยการจัดเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ต้องการถุงพลาสติกในซูเปอร์มาเก็ตเพิ่มเติมใบละ 25 fils หรือประมาณ 2.50 บาท
– รัฐชาร์จาห์ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ว่าจะห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งและภาชนะประเภทใช้แล้วทิ้งอื่นๆ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ
การประกาศงดใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เกิดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ตรงจุด ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลาสติกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเตรียมตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับประเทศไทยนั้นเม็ดพลาสติกเป็นสินค้าส่งออกสำคัญชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10.2 ต่อปี นโยบายดังกล่าวจึงย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกเม็ดพลาสติกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมพร้อมในการปรับตัว เช่น หันมาผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ หรือเม็ดพลาสติกประเภทที่สามารถหลอมนำกลับมาใช้ใหม่ (Recyclable) เป็นต้น
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและมาตรการของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจให้มีข้อจำกัดและความท้าทายมากขึ้น การติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็อาจเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอื่นที่ใช้ทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น สินค้าบรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ สินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษ สินค้าที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นต้น ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวคือการปรับตัวอยู่เสมอเพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/804177/804177.pdf&title=804177&cate=413&d=0

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.