CEO ARTICLE

สินค้าเสียหาย

Published on October 17, 2023


Follow Us :

    

สินค้าสูญหายหรือเสียหายในระหว่างการขนส่งทางทะเล ผู้ขนส่งต้องรับผิดชอบอย่างไร ?

สินค้าหรือของที่ขนส่งทางทะเลอาจเกิดอุบัติเหตุหรือภัยต่าง ๆ จากภัยธรรมชาติได้ง่าย
เมื่อเกิดความสูญหายหรือเสียหาย ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า หรือเจ้าของสินค้าย่อมต้องการค่าสินไหมเทียบเท่าราคาสินค้าหรือมากกว่า ขณะที่ผู้ขนส่งย่อมต้องการจ่ายค่าสินไหมให้ต่ำที่สุด เกิดการต่อรอง และความวุ่นวาย
การซื้อประกันภัยการขนส่งทางทะเล (Marine Insurance) จึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งที่ทำให้เจ้าของสินค้าจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัย (Insurer) ไปก่อน
แต่หากไม่มีการซื้อประกันภัยให้คุ้มครองไว้ การเรียกร้องจากผู้ขนส่งเองก็ต้องอ้างอิง พรบ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 เพื่อให้ได้สินไหมทดแทนตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา 58-61 ได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ขนส่ง สรุปรวมโดยย่อ ดังนี้
1. กรณีไม่มีข้อตกลงความรับผิดชอบกับผู้ขนส่ง
หากสินค้าสูญหายหรือเสียหายระหว่างการขนส่งทางทะเล ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้จำกัดความรับผิดชอบของผู้ขนส่งไว้เพียง 10,000 บาทต่อ 1 หน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละ 30 บาทต่อน้ำหนักสุทธิ (Net Weight) แห่งของนั้น แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า
ตัวอย่างเช่น สินค้ามีมูลค่า 200,000 บาท มีน้ำหนักสุทธิ 1,000 กิโลกรัม เจ้าของสินค้าจะเรียกค่าสินค้าได้เพียง 30,000 บาท เป็นต้น
2. กรณีมีข้อตกลงความรับผิดชอบกับผู้ขนส่ง
หากผู้ส่งออก ผู้นำเข้า หรือเจ้าของสินค้ามีข้อตกลงให้ผู้ขนส่งรับผิดชอบมากกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 1. หรือมีการแจ้งราคาของให้ผู้ขนส่งทราบและผู้ขนส่งยอมรับโดยการแสดงราคาของนั้นไว้ในใบตราส่งหรือ B/L (Bill of Lading) ก็ให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น
แต่ค่าสินไหมทดแทนต้องไม่เกิน “ราคาคำนวณที่พึงมี ณ เวลาที่ส่งมอบของเมื่อถึงปลายทาง” ความหมายคือ ค่าสินไหมที่มีข้อตกลงหรือที่ระบุไว้ใน B/L เปรียบเทียบกับ “ราคาคำนวณ” ที่ของนั้นพึงมีเมื่อถึงปลายทาง ราคาใดน้อยกว่าก็ให้ใช้ราคานั้นเป็นค่าสินไหมทดแทน
3. กรณีเป็นความผิดของผู้ขนส่ง
หากผู้ขนส่ง ตัวแทน หรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยเจตนาให้เกิดความสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ให้ยกเว้นข้อจำกัดความรับผิดชอบในข้อ 1. โดยผู้ขนส่งต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม “ราคาคำนวณ” ที่ของนั้นพึงมี ณ เวลาที่ส่งมอบถึงปลายทาง

กฎหมายมักตราขึ้นให้สัมพันธ์กับประเพณีแม้ไม่ทั้งหมด การขนส่งทางทะเลก็เช่นกัน
กฎหมายกำหนดค่าสินไหมทดแทนกิโลกรัมละ 30 บาทที่ดูไม่มาก กฎหมายยังให้ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า หรือเจ้าของสินค้าทำข้อตกลงความผิดชอบกับผู้ขนส่งได้ แต่ก็ไม่ใช่จะทำได้ง่าย ๆ เพราะในประเพณีขนส่งทางทะเล ผู้ขนส่งจะรับรู้เพียงสภาพภายนอกหีบห่อ ไม่รับรู้สภาพสินค้าภายใน
สิ่งที่ช่วยได้มากคือ “ใบตราส่ง” ที่มีผลต่อการขนส่งควรเป็นชนิด “บรรทุกแล้ว” (On Board B/L) ซึ่งหมายถึง สินค้าหรือของตามรายการที่ระบุในใบตราส่งได้บรรทุกลงเรือแล้ว
แต่หากต้องการยืนยันว่า สินค้าหรือของได้บรรทุกลงเรือในสภาพถูกต้องและเรียบร้อย (In Good Order and Condition) ประเพณีการขนส่งทางทะเลจะเพิ่มคำว่า Clean ลงไปในใบตราส่ง หรือที่เรียกว่า Clean B/L หรือ Clean On Board B/L
Clean B/L จึงเป็นการเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ขนส่งให้ชัดเจนขึ้นและมากขึ้น
กรณี Clean B/L นี้ ผู้ขนส่งมักเป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้เอง จัดเรียงเอง และเรียกเก็บค่าบรรจุตู้ หรือที่เรียกว่า CFS Charge (Container Freight Station Charge) จากผู้ส่งออก
แต่หากผู้ส่งออกขอลากตู้สินค้ามาบรรจุเองที่โรงงาน หรือที่เรียกว่า C/Y (Container Yard) ความรับผิดชอบต่อสินค่าสูญหายหรือเสียหายของผู้ขนส่งจะลดลงทันที เนื่องจากผู้ขนส่งไม่ทราบสภาพของหีบห่อและสินค้าที่บรรจุโดยผู้ส่งออกเป็นอย่างไร
กรณี C/Y นี้ ผู้ขนส่งจึงมักระบุในใบตราส่งว่า ผู้ส่งออกเป็นผู้บรรจุ นับสินค้า และปิดผลึกตู้สินค้าเอง (Shipper Load, Count, and Seal) เพื่อป้องกันตนเอง
ส่วนผู้ให้บริการขนส่งภายในประเทศ คลังสินค้า ตัวแทนออกของ (Customs Broker) หรือผู้ให้บริการอื่นเพื่อการนำเข้าและการส่งออกจะไม่เกี่ยวข้องกับ พรบ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 แต่จะมีกฎหมายอื่นควบคุมความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน.
ในการขนส่งสินค้าทางทะเล ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า หรือเจ้าของสินค้าจึงควรซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองไว้ เว้นแต่เห็นโดยชัดเจนว่า สินค้าไม่เสียหาย หรือแม้เสียหายก็ไม่มากเท่านั้น.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : October 17, 2023

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

กว่างซีลดกระหน่ำค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สำหรับรถบรรทุกสินค้า ช่วยภาคธุรกิจ พร้อมดันกว่างซีเป็น Hub โลจิสติกส์จีนกับอาเซียน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า… ปัจจุบัน การขนส่งทางถนน (Road Transport) เป็นรูปแบบการขนส่งหลักที่ได้รับความนิยมแพร่หลายสำหรับการขนส่งสินค้าในประเทศและข้ามแดน ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน การขนส่งโลจิสติกส์ทางถนนของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้เริ่มฟื้นตัวกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะการขนส่งในเส้นทางที่เชื่อมกับท่าเรือและด่านชายแดน

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 การขนส่งสินค้าเข้า-ออกด่านชายแดนของกว่างซี มีปริมาณ 2.83 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 43.44% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) มีรถบรรทุกผ่านเข้า-ออกด่านมากกว่าวันละ 2,500 คันครั้ง
ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เสียด้วยซ้ำ

เพื่อสนับสนุนการขนส่งโลจิสติกส์ ช่วยผู้ประกอบการลดภาระต้นทุนการขนส่ง ตลอดจนส่งเสริมภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ให้พัฒนาอย่างมีคุณภาพสูง เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศใช้มาตรการการลดค่าผ่านทางหลวงพิเศษ หรือ มอเตอร์เวย์ สำหรับรถบรรทุกสินค้าและรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ใน 17 สายทางที่ดูแลดำเนินการโดยบริษัท Guangxi Communications Investment Group Corp. (广西交通投资集团) และบริษัท Guangxi Beibu Gulf Investment Group (广西北部湾投资集团) รวมระยะทาง 2,100 กิโลเมตร โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569

ตามรายงาน มอเตอร์เวย์ 17 สายทาง ครอบคลุมถึงเส้นทางที่เชื่อม 3 ด่านชายแดน (ด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวาน ด่านสากลทางบกตงซิง และด่านรถไฟสากลผิงเสียง) และกลุ่มท่าเรืออ่าวเป่ยปู่กว่างซี หรือคนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย” ด้วย 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือชินโจว ท่าเรือเป๋ยไห่ ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสายสำคัญที่เชื่อมระหว่างเมืองสำคัญในมณฑลและเชื่อมออกไปนอกกว่างซีด้วย (ทั้งเส้นทางที่เชื่อมกับมณฑลเพื่อนบ้าน และเส้นทางที่เชื่อมถึงด่านชายแดนประเทศเวียดนาม)

สาระสำคัญของมาตรการที่กล่าวมาข้างต้น อาทิ ส่วนลดค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 15% สำหรับรถบรรทุกสินค้าที่ใช้ 17 สายทางที่กำหนด / และได้รับส่วนลดเพิ่มอีก 10% สำหรับรถบรรทุกสินค้าที่ผ่านเข้า-ออกด่านเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ใน 3 ท่าเรือ และ 3 ด่านชายแดนที่กล่าวมาข้างต้น

นอกจากนี้ รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (ที่เป็น Intermodal Container) ที่ใช้ 17 สายทางและผ่านเข้า-ออกด่านเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ใน 3 ท่าเรือและ 3 ด่านชายแดน จะได้รับสิทธิส่วนลด On Top กล่าวคือ สิทธิส่วนลดค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 50% จากมาตรการฉบับเดิม และส่วนลดเพิ่มอีก 10% จากมาตรฐานฉบับใหม่นี้

บีไอซี ขอให้ข้อมูลว่า มอเตอร์เวย์ในจีนมีอัตราค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างสูง โดยแยกคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมในส่วนที่เป็นถนน (รถบรรทุก 6 เพลา คิดกิโลเมตรละ 2.33 หยวน) และส่วนที่เป็นอุโมงค์ลอดเขากับสะพาน (รถบรรทุก 6 เพลา คิดกิโลเมตรละ 2.91 หยวน)

ดังนั้น หากรถบรรทุกใช้มอเตอร์เวย์ระยะทาง 100 กิโลเมตร เป็นถนน 80 กิโลเมตร และอุโมงค์กับสะพาน 20 กิโลเมตร หมายความว่า จะต้องชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางรวม 244.6 หยวน (ถนน 186.4 หยวน และอุโมงค์กับสะพาน 58.2 หยวน) ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ – ชลบุรี – พัทยา สำหรับรถยนต์ 6 ล้อ ซึ่งคิดในอัตรา 1.6 บาทต่อกิโลเมตรเท่านั้น

จึงกล่าวได้ว่า มาตรการดังกล่าวสามารถช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมาก ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ ช่วยเพิ่มพลวัตให้กับการขนส่งโลจิสติกส์ในกว่างซี และเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกของรัฐบาลกว่างซีในการพร้อมสนับสนุนการค้าหลังยุคโควิด-19 ซึ่งบีไอซี เห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจไทยที่จะใช้ประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าผ่านเขตฯ กว่างซีจ้วงเพื่อกระจายไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ของกว่างซี และมณฑลข้างเคียงได้ด้วย

ที่มา: https://thaibizchina.com/other/%e0%b8%81%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%8b%e0%b8%b5%e0%b8%a5%e0%b8%94%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b9%88%e0%b8%b3%e0%b8%84%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%9c%e0%b9%88%e0%b8%b2/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.