CEO ARTICLE
ปกติธุระ
คำว่า “ปกติธุระ” ที่ใช้กับการฉ้อโกงคืออะไร ?
ข่าวสารวันนี้เชื่อว่า คนจำนวนมากคงได้ยินคำว่า “การฉ้อโกงเป็นปกติธุระ”
คนที่มีความรู้กฎหมายคงรู้ และเข้าใจเป็นอย่างดี แต่คนไม่มีความรู้คงสงสัยว่า การฉ้อโกงเป็นปกติธุระจะต่างจากการฉ้อโกงทั่วไปอย่างไร ?
ความผิดฐานการฉ้อโกงอยู่ในหมวด 3 ของประมวลกฎหมายอาญา
เมื่อเป็นกฎหมายอาญา การฉ้อโกงจึงเป็นความผิดทั้งต่อบุคคลและแผ่นดิน เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ และเพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ จึงขอแบ่งการฉ้อโกงออกเป็น 2 ลักษณะคือ
“การฉ้อโกงคน 1 คน” กับ “การฉ้อโกงคนหลายคน”
“การฉ้อโกงคน 1 คน” อยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 หมายถึง การหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือโดยปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรบอกซึ่งเป็นการกระทำโดยทุจริต และการหลอกลวง ทำให้ได้ทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือการทำลายเอกสารสิทธิ
มาตรา 341 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่เพราะเป็นความผิดต่อคน 1 คน หากคนที่เสียหายได้รับการชดใช้ และยินดียอมความ มาตรา 341 ก็อาจยอมความได้ (คมชัดลึกออนไลน์ เผยแพร่ 01 พ.ย. 2567)
“การฉ้อโกงคนหลายคน” อยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 คนหลายคนมีสภาพเป็นประชาชน โทษจำคุกจึงหนักกว่าถึง 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพราะเป็นการโกงประชาชนจึงเป็นคดีอาญาที่ยอมความกันไม่ได้
การฉ้อโกงยังมีอีกหลายลักษณะ และเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญาอีกหลายมาตรา
แต่ไม่ว่าจะฉ้อโกง 1 คน หรือหลายคน บทลงโทษจะมีเพียงการปรับ หรือการจำคุกผู้ทำผิดเท่านั้น เมื่อผู้ทำผิดพ้นโทษออกมาก็เสวยสุขจากเงินที่เก็บซ่อนไว้จากการฉ้อโกง ส่วนประชาชนที่ถูกฉ้อโกงมากมายอาจไม่ได้อะไรเลย บางคนหมดเป็นล้านบาทถึงขั้นหมดตัวก็มี
ในที่สุดก็เกิด พรบ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ที่ให้อำนาจยึดทรัพย์ผู้ทำผิดโดยกำหนดมูลฐานความผิดไว้ถึง 21 มูลฐาน ตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ๆ เช่น
1. ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มาตรา 3 (1)
2. ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ มาตรา 3 (2)
3. ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (3) และความผิดอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ มาตรา 3 (18)
คำว่า “เป็นปกติธุระ” ปรากฏใน พรบ. ฟอกเงินที่ให้อำนาจยึดทรัพย์โดยให้ความหมายว่า การกระทำที่มีเจตนาทำซ้ำ ๆ มากกว่า 1 ครั้ง เป็นสันดาน หรือจะทำสม่ำเสมอต่อไปในภายหน้า และโทษจำคุกสูงตั้งแต่ 1 – 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พรบ. ฟอกเงิน มาตรา 60)
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตำรวจต้องสืบหาพฤติการณ์ที่เข้าข่าย “การฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” เพื่อส่งผลให้ถึงการอายัดทรัพย์ การทำสำนวนส่งอัยการ และการฟ้องศาลตามกฎหมายฟอกเงินต่อไป
คนทำดีย่อมมีร่องรอยความดีให้สืบค้น
คนทำผิด คนฉ้อโกงก็ย่อมมีร่องรอยให้สืบค้นได้ไม่ต่างกัน คดีความในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านจึงมีร่องรอยให้สื่อสืบค้น ขุดคุ้ย และเสนอไม่หยุดหย่อน
สื่อจึงมีอิทธิพลสูงในการสร้างการตื่นตัว การรับรู้ให้สังคม แต่สื่อมีทั้งดีและไม่ดี
ตำรวจก็มีทั้งดีและไม่ดี ตำรวจดีจึงมองไปที่ความเสียหายของประชาชน มองขบวนการให้ถึงกฎหมายฟอกเงิน และมองให้ถึงการยึดทรัพย์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียหาย
ตำรวจไทยมีความสามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่ปัญหามีเพียง 1 เดียวคือ การเมืองที่หนุนหลัง
การเมืองหนุนตำรวจดีให้ทำคดีเร็วและถ้วนหน้า ทำดีให้เป็นปกติธุระอย่างสม่ำเสมอทั้งวันนี้และวันหน้าก็ได้ หรือทำดีเฉพาะเรื่องที่ผู้มีอำนาจได้ประโยชน์ก็ได้เช่นกัน
รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติให้อำนาจทางการเมืองไม่อยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม แต่อย่างที่เห็น การเมืองก็พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และทำให้ผู้ทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต้องเซ่นไหว้เทวดาเพื่อให้คุ้มครอง และปัดเป่าความผิดให้เบาลง
ไม่แน่ว่า คดีดังช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็อาจมีเทวดาแวะเวียนผ่านมาก็ได้
แต่หากสื่อดีมีมากขึ้น การขุดคุ้ยร่องรอยความผิดก็จะมีมากขึ้น ตำรวจดีก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย การฉ้อโกงทั่วไปก็จะถูกลากให้เป็นการฉ้อโกงปกติธุระที่ตามมาด้วยการยึดทรัพย์มากขึ้น
แบบนี้เทวดาที่ไหนจะผ่านมาคุ้มครองให้สื่อดีลากไส้จนเสียเทวดา.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : November 12, 2024
Logistics
โอกาสมันสำปะหลังไทย ในอินโดนีเซีย
ในโอกาสที่สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทยเยือนอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2567 มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1. การประชุมหารือระหว่างสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย (THAI TAPIOCA STARCH ASSOCIATION : TTSA) และสมาคมผู้ผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษแห่งอินโดนีเซีย (Indonesian Pulp and Paper Association/ Asosiasi Pelatih Kebugaran Indonesia : APKI)เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าโดยสรุป ดังนี้
ไทยมีผลผลิตแป้งมันสำปะหลังปีละ 22-30 ล้านตัน โดยส่งออกไปทั่วโลกปีละ 3.5-4.5 ล้านตัน โดยส่งมาอินโดนีเซีย 0.3-0.5 ล้านตันต่อปี
อินโดนีเซียมีแป้งมันสำปะหลังปีละ 16 ล้านตัน ส่วนใหญ่ใช้ในประเทศหากผลผลิตไม่เพียงพอจะมีการนำเข้าจากไทย (ร้อยละ 80 ของปริมาณการนำเข้า) ด้วยอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษที่สำคัญอันดับ 6 ของโลกทำให้มีการใช้แป้งมันสำปะหลังในอุตสาหกรรมกระดาษถึงร้อยละ 60 ของผลผลิตทั้งหมดในประเทศ
โดยโรงงานผลิตกระดาษอินโดนีเซียส่วนใหญ่ใช้ราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลัง ที่ประกาศโดยสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย
ในการพิจารณาการสั่งซื้อแป้งมันสำปะหลังทั้งจากภายในประเทศและการนำเข้า
2. การเดินทางสำรวจพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ณ เมืองลัมปุง (Lampung)
สคต.ณ กรุงจาการ์ตา เดินทางร่วมกับ TTSA เพื่อเยี่ยมชมโรงงาน และแปลงเพาะปลูกในเมืองลัมปุงซึ่งมีผลผลิตมันสำปะหลังมากที่สุดในอินโดนีเซียหรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของผลผลิตทั้งประเทศ โดยผลิตแป้งมันสำปะหลังเพื่อป้อนตลาดในประเทศเป็นสำคัญและนำเข้ามันสำปะหลังจากไทยเมื่อผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศมีไม่เพียงพอ โดยลักษณะภูมิประเทศในเมืองลำปุงมีลักษณะเป็นที่ราบต่างจากเกาะชวาที่มีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อน และมีคลองชลประทาน จึงเป็นเขตเพาะปลูกพืชหลายชนิด อาทิ มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์ม และสับปะรส โดยราคามันสำปะหลังสดมีราคาขึ้นลงใกล้เคียงกับไทยที่ 2-3 บาท/กก.
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญอันดับ 7 ของโลก (ไทย เป็นผู้ผลิตอันดับ 3 แต่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก) โดยผลผลิตมันสำปะหลังของอินโดนีเซียส่วนใหญ่ใช้ภายในประเทศ ด้วยนโยบายการพึ่งตนเองด้านอาหารของอินโดนีเซียทำให้รัฐบาลพยายามเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้ในปีก่อนหน้าอินโดนีเซียประสบภาวะเอลนีโญทำให้ประมาณน้ำฝนทั้งปีน้อยกว่าปกติ มีผลให้ผลผลิตทางการเกษตรทุกชนิดลดลงรวมทั้ง สต๊อกอาหารโดยรวม จึงมีการนำเข้าสินค้าอาหารทุกประเภทเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจุบันอินโดนีเซียมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นจึงต้องติดตามภาวะอาหารสำรองของประเทศ และภาวะการบริโภคของประชากรอินโดนีเซียต่อไป อย่างไรก็ตาม สินค้าแป้งดัดแปลง ( Modified Starch) ของไทยมีโอกาสในตลาดอินโดนีเซียสูง เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของอินโดนีเซียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและผู้ผลิตแป้งของอินโดนีเซียยังไม่สามารถผลิตสินค้าให้เพียงพอต่ออุตสาหกรรมอาหารในประเทศได้ จึงเห็นควรส่งเสริมให้ผู้ส่งออกไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านอาหารของอินโดนีเซียเพื่อขยายตัวเลขส่งออกของประเทศไทยต่อไป
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/187349
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!