CEO ARTICLE

เศรษฐกิจ 2568

Published on January 7, 2025


Follow Us :

    

สภาพเศรษฐกิจของปี 2568 จะเป็นอย่างไร ?

ปลายปี 2567 เกิดข่าวการปิดกิจการของร้านอาหาร โรงงาน และธุรกิจต่าง ๆ จำนวนมาก
ข่าวเกือบทุกสำนักต่างฟันธงเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจปี 2568 ไม่น่าจะดี บางข่าวว่าเกิดจากการเมืองโลกที่แบ่งเป็น 2 ขั้ว บางข่าวว่ารัฐบาลเก่าทำไม่ดี เศรษฐกิจพังที่ทำให้รัฐบาลใหม่แก้ไขลำบาก และบางข่าวก็ว่าคนไทยไม่ใส่ใจทำงาน เอาแต่คอยรับเงินแจกฟรี
แต่หากมองผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP (Gross Domestic Product) ที่ เป็นตัวบ่งชี้สภาพเศรษฐกิจเพื่อหาทางแก้ไขก็พอจะได้คำตอบระดับหนึ่ง
GDP จะเติบโตอย่างไรให้มองไปที่ C + I + G + (X-M)
C คือ Consumption การบริโภคของประชาชนที่เห็น ๆ ว่าลดลง เงินก็ไม่มี กระตุ้นยาก
I คือ Investment การลงทุนของเอกชนก็เห็น ๆ อยู่ว่าร้านค้าปิดตัว ไม่มีลูกค้า แบบนี้ใครจะมาลงทุน โจทย์นี้จึงเป็นของรัฐบาลที่จะส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนให้มากขึ้น
G คือ Government การใช้จ่ายของรัฐ รัฐเป็นเจ้ามือรายใหญ่ มีเงินเป็นล้านล้าน เงินที่รัฐจ่ายเพื่อเงินเดือนข้าราชการ ลงทุน หรือซื้อสิ่งของ เงินจะไหลสู่ประชาชน รัฐใช้จ่ายมาก ประชาชนก็มีเงินมาก แต่รายได้ของรัฐเกือบทั้งหมดมาจากเงินภาษีประชาชน เมื่อกิจการปิดตัว ประชาชนมีงานลดลง มีรายได้ลดลง จ่ายภาษีน้อยลง หรือไม่มีจ่าย รัฐก็ย่อมมีเงินใช้จ่ายน้อยลง
X-M คือ การส่งออก (Export) หักลบด้วยการนำเข้า (Import) โจทย์นี้ก็ของรัฐบาลที่จะส่งเสริมการส่งออกให้มากขึ้นเช่นกันเพื่อให้เกิดการผลิต การจ้างงาน และสร้างรายได้ให้มาเสียภาษี
แต่เท่าที่ผ่านมา ตัวเลขการนำเข้าของไทยโดยเฉพาะจากจีนสูงกว่าการส่งออกแน่ ๆ ส่วนมาตรการส่งเสริมก็มีแต่เดิม ๆ ไม่มีอะไรใหม่ เช่น BOI เงินชดเชยภาษีส่งออกเล็กน้อย ขณะที่จีนมีมาตรการส่งเสริมมากมาย เช่น ด้านระวางขนส่ง (Freight) จนการส่งออกเติบโตอย่างที่เห็น
เมื่อมองสูตร GDP ก็ได้คำตอบว่า เศรษฐกิจของไทยปี 2568 ไม่น่าจะดีจริง

ในเมื่อไม่น่าจะดี แต่ประชาชนยังหวังเงินแจกฟรีจากรัฐ ขณะที่รัฐมีรายได้ลดลง มีหนี้มาก แจกได้ไม่ทั่ว แต่อยากแจกเพื่อหวังคะแนนนิยมก็ยิ่งกด GDP และกดเศรษฐกิจให้โงหัวไม่ขึ้น
ทางรอดเดียวจึงอยู่ที่ประชาชนจะมองอย่างไร จะทำอย่างไร ประเทศก็จะเป็นอย่างนั้น
หากยอมอดตายก็ตาย หากรอเงินแจก พอได้เงินหมื่นแล้วจะไปทางไหนต่อ แต่หากจะหนีตายก็ต้องสร้างงาน สร้างรายได้เท่าที่ทำได้ ทุกคนต้องกิน ต้องใช้ ใครถนัดงานอะไรก็คว้าไว้ก่อน เงินน้อยอย่าเกี่ยง ต้องสร้างงาน สร้างรายได้แม้จะน้อยนิดแค่ไหน ทำเพื่อรอโอกาสเปิดก็จะมีงานที่ดีกว่าเข้ามา หากไม่ทำไว้ก่อน โอกาสก็จะปิด ทุกครั้งที่เศรษฐกิจตกต่ำจะมีงานใหม่ ๆ เกิดขึ้น
ตัวอย่างใกล้ ๆ ช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 สภาพเศรษฐกิจตกต่ำมาก คนตกงานมาก เจ็บป่วยล้มตายมาก หลายคนอยู่ในสภาพปางตาย และธุรกิจร้านค้าต่างก็ปิดตัวจำนวนมาก แต่ก็เกิดธุรกิจรับส่งอาหาร สร้างงาน สร้างอาชีพ และพัฒนาเป็นไรเดอร์ให้เห็นทุกวันนี้
ธุรกิจที่ปิดตัวจะเกิดพื้นที่ที่ว่างเปล่า ไม่นานก็จะเกิดธุรกิจใหม่แทนที่เป็นวัฎจักร
เมื่อประชาชนสร้างงานก็จะมีรายได้เป็นของตัวเองเพื่อการบริโภค แค่นี้ตัว C และตัว I ใน GDP ก็สูงขึ้น รัฐก็มีรายได้จากภาษีมากขึ้น ตัว G ของรัฐก็ใช้จ่ายได้มากขึ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้
ส่วนรัฐ หากจะมอบของขวัญปีใหม่ 2568 ให้ประชาชน รัฐก็ควรนำเงินภาษีที่ได้จากตัว C และตัว I ของประชาชนไปใช้จ่ายเพื่อประชาชนใน 3 ด้านก่อน เรื่องอื่น ๆ ค่อยเป็นลำดับต่อไป
ลำดับที่ 1 ความปลอดภัยของประชาชน ต้องลดอุบัติเหตุ ลดการเมาแล้วขับ ลดปัญหาจากแก๊งคอลเซนเตอร์ ลดอาชญากรรม เพิ่มประสิทธิภาพตำรวจและกระบวนการยุติธรรมให้เร็วขึ้น และให้เกิดความยุติธรรมด้วยกฎหมายอย่างแท้จริง ไม่ปล่อยผู้มีอิทธิพลให้อยู่เหนือกฎหมาย
ลำดับที่ 2 วินัยประชาชน ต้องปลูกฝังตั้งแต่วันนี้ ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กชั้นอนุบาล ไล่เรียงขึ้นไปถึงมหาวิทยาลัย ไม่มุ่งให้เด็กเอาแต่เรียนโดยไม่ใส่ใจสังคม ต้องส่งเสริมประชาชนให้เคารพผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น จอดรถเมื่อคนยืนรอจะข้ามถนน และให้ประชาชนมีวินัยในการทำงานให้มากขึ้น
ลำดับที่ 3 การผลักดันการเมืองท้องถิ่นให้สร้างงานในชุมชนแบบง่าย ๆ
ตัวอย่างเช่น พื้นที่สาธารณะตรงไหนทำถนนคนเดินได้ ทำตลาดนัดสินค้าชุมชนได้ ท้องถิ่นต้องอำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้น พื้นที่ไหนไม่มีที่จอดรถ ท้องถิ่นต้องเข้าไปเจรจากับเจ้าของที่ดินที่ว่างเปล่า ให้เกิดการเช่า สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างธุรกิจในท้องถิ่นให้มากขึ้น เป็นต้น
แต่รัฐบาลเป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ของนักการเมืองมากกว่า
ของขวัญที่ประชาชนอยากได้มักไม่ค่อยได้ ประชาชนจึงควรมอบของขวัญปีใหม่ให้ตนเองและคนที่รักจะดีกว่า ควรลุกขึ้นสร้างงาน สร้างรายได้ให้ตนเองทันที สร้างให้คนอื่นมีงานทำมาก ๆ แทนการวิ่งหาคำตอบว่า สภาพเศรษฐกิจของปี 2568 จะเป็นอย่างไร ?
หากมีงานอยู่แล้วก็ควรรักษาให้มั่นคงขึ้น ให้ดีขึ้น ทำให้เนื้องานมากขึ้น ให้เป็นของขวัญที่ดีต่อตนเอง และแน่นอนเป็นการทำให้เศรษฐกิจปี 2568 ดีขึ้นตามสูตร GDP.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : January 7, 2025

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ความคืบหน้าการประท้วงหยุดงานท่าเรือในสหรัฐฯรอบใหม่

กรณีข้อพิพาทระหว่างสมาคม International Longshoremen’s Association (ILA) ที่เป็นเสมือนสหภาพแรงงานของพนักงานลูกจ้างที่ทำงานจำนวนประมาณ 45,000 คนในท่าเรือที่ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันออก (East Coast) และชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก (Gulf Coast) ของสหรัฐฯ กับเครือข่าย United States Maritime Alliance (USMX) ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ประกอบการกิจการท่าเรือเหล่านั้น ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมวงกว้างมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเมื่อพ้นกำหนดวันสุดท้ายก่อนการประท้วงหยุดงานจริง ก็ต้องใช้เวลาถึง 3 วัน (วันที่ 3 ตุลาคม 2567) ก่อนที่จะตกลงร่วมกันที่จะขยายเวลาเจรจาชั่วคราวออกไปถึงวันที่ 15 มกราคมนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงร่วมกันในประเด็นสำคัญสองเรื่อง ได้แก่ การขึ้นค่าแรง และการต่อต้านการใช้ระบบปฏิบัติการอัตโนมัติในอุปกรณ์ต่าง ๆ ในท่าเรือ โดยสำหรับในรอบนี้ ทันทีที่ข้ามเที่ยงคืนของวันที่ 16 มกราคมนี้ แรงงานทั้งหมดที่ทำงานในท่าเรือจะพร้อมใจกันหยุดทำงานทันทีเพื่อประท้วงต่อรอง

รายละเอียดในภาพรวมข้อเรียกร้องของฝ่ายสหภาพแรงงาน ILA ประกอบด้วย การเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงจากปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 60% (ก่อนหน้านี้เรียกร้องอยู่ที่ 77%) เพื่อให้สามารถรองรับและปรับเข้ากับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเงินชดเชยตั้งแต่ช่วงโรคระบาดโควิด-19 และข้อเรียกร้องในการห้ามมิให้มีการนำระบบปฏิบัติการอัตโนมัติ (Automation) และหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทำหน้าที่แทนบุคลากรเพื่อเป็นการรักษาตำแหน่งงานของสมาชิกสหภาพเอาไว้ ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องในเรื่องการขึ้นค่าแรงถือเป็นประเด็นหลักที่ทำให้การเจรจาระหว่างฝ่ายสหภาพแรงงานและเครือข่ายกิจการท่าเรือไม่สามารถตกลงกันได้ และในส่วนของการห้ามมิให้มีระบบปฏิบัติการอัตโนมัตินั้นก็ถือว่าสวนทางกับนโยบายการบริหารและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของท่าเรือ

ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 16 มกราคมนี้เป็นต้นไปนั้น เราอาจจะได้เห็นการนัดประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่ของพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในท่าเรือกว่า 36 แห่งในชายฝั่งตะวันออกและชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ตั้งแต่รัฐ Maine ยาวลงมาถึง Texas โดยมีเมืองท่าสำคัญ อาทิ New York (รัฐ New York), New Jersey (รัฐ New Jersey), Philadelphia (รัฐ Pennsylvania), Baltimore (รัฐ Maryland), Charleston (รัฐ South Carolina), Savannah (รัฐ Georgia), Houston (รัฐ Texas), New Orleans (รัฐ Louisiana) และ Miami (รัฐ Florida) เป็นต้น ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่าเรือทั้งหมดนี้ในปัจจุบันเป็นแหล่งรองรับสินค้านำเข้าทางเรือมายังสหรัฐฯ คิดเป็นปริมาณครึ่งหนึ่งของการนำเข้าสินค้าทางเรือทั้งประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าหากการประท้วงหยุดงานเกิดขึ้นกินเวลายาวนานหลายสัปดาห์ขึ้นไป จะส่งผลให้สินค้าคงค้างที่ท่าเรือมากมาย และที่สำคัญที่สุดคือจะส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งทางเรือไม่ว่าจะขานำเข้าหรือขาส่งออกจากท่าเรือเหล่านี้ ตลอดจนปัญหาการขาดตลาดและการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าบางประเภทที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่ โดยมีการคาดการณ์มูลค่าความเสียหายระหว่าง 1 – 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ/วัน หากการประท้วงนั้นลากยาว

ท่าทีของว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไป
สิ่งที่ทำให้การวิเคราะห์แนวโน้มของการประท้วงครั้งนี้และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาแตกต่างไปจากรอบเดือนกันยายนที่ผ่านมา คือการที่ครั้งนี้เราทราบผลการเลือกตั้งแล้วว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป โดยสิ่งที่ประธานาธิบดีไบเดนยืนยันชัดเจนสำหรับเรื่องนี้คือจะไม่ก้าวก่ายกับการเจรจา ทั้งนี้ ตามกฎหมายแล้วประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจที่จะยับยั้งการประท้วงในลักษณะดังกล่าวของกลุ่มแรงงาน และนำไปสู่กำหนดช่วงระยะเวลา 80 วันในการเจรจาหาข้อยุติร่วมกันให้ได้ ซึ่งเป็นไปตาม Labor Management Relations Act of 1947 แต่สำหรับว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ภายหลังได้รับชัยชนะการเลือกตั้งแล้วได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนฝ่ายสหภาพแรงงานในข้อเรียกร้องไม่ให้ใช้ระบบปฏิบัติการอัตโนมัติแทนที่การจ้างงานบุคลากร โดยได้ออกมาระบุว่า “จำนวนเงินที่สามารถช่วยลดต้นทุนไปได้จากการนำระบบปฏิบัติการเหล่านั้นมาใช้ เทียบไม่ได้กับความทุกข์ใจ ความเจ็บปวด และความสุ่มเสี่ยงต่อแรงงานชาวอเมริกัน” ซึ่งถือว่าน่าสนใจอย่างมากทีเดียว เนื่องจากการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาจนนำไปสู่ชัยชนะสมัยที่สองของทรัมป์ครั้งนี้ มีจุดยืนที่เหนียวแน่นที่จะเคียงข้างชนชั้นแรงงานชาวอเมริกัน แต่ในขณะเดียวกันทรัมป์ก็ได้พูดถึงเรื่องการบริหารกลไกหลาย ๆ อย่างของภาครัฐให้เป็นไปอย่าง “มีประสิทธิภาพ” ซึ่งในข้อนี้เองที่ทำให้การวิเคราะห์ค่อนข้างยากว่าถ้าหากต้องการสนับสนุนให้มีการจ้างแรงงานชาวอเมริกันเป็นหลักต่อไป จะทำให้ประสิทธิภาพที่จะได้จากการนำเข้าเทคโนโลยีมาใช้ในระบบท่าเรือลดลงซึ่งจะสวนทางกัน หากเป็นเช่นนี้แล้วท่านว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะว่าอย่างไร?

ในกรณีดังกล่าวรองประธานของ S&P Global คุณ Peter Tirschwell ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขามองว่าทรัมป์จะยืนอยู่ข้างฝ่ายสหภาพแรงงาน 100% โดยทรัมป์จะกลับเข้ามารับตำแหน่งอย่างอัศวินขี่ม้าขาวและจัดการกับเรื่องนี้ โดยอธิบายว่า “ภายหลังการประท้วงหยุดงานล่วงเลยเข้าสู่วันที่ 5 (ตรงกับวันที่ 20 มกราคม ซึ่งทรัมป์จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งพอดี) ทรัมป์จะเข้ามาบอกกับเหล่าผู้ประกอบกิจการท่าเรือทั้งหลายว่า ผมต้องการให้พวกคุณยอมรับข้อเสนอของฝ่ายแรงงานทั้งหมดเพื่อยุติปัญหา หรือไม่อย่างนั้นเราจะได้เห็นดีกัน”

บริษัทขนส่งรายใหญ่เริ่มไหวตัว
อีกหนึ่งสิ่งที่ปรากฎให้เห็นเพิ่มเติมจากข่าวคราวการประท้วงเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา คือเราจะเห็นบริษัทผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศรายใหญ่บางรายเริ่มแสดงท่าที่บางอย่างเพื่อเตรียมรับมือ อาทิ บริษัท Hapag-Lloyd บริษัทขนส่งสินค้าชื่อดังสัญชาติเยอรมัน ได้ออกมาประกาศค่าธรรมเนียมให้บริการเพิ่มเติม ซึ่งจะมีผลสำหรับวันที่ 20 มกราคม เป็นต้นไป คือ “Work Disruption and Work Interruption Surcharge” ซึ่งถูกระบุว่า “เพื่อรอบรับการจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในกรณีข้อพิพาทของท่าเรือในชายฝั่งตะวันออกและชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ” ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมดังกล่าวจะครอบคลุมต้นทุนเพิ่มเติมซึ่งเกิดจาก “การขาดแรงงาน การประท้วง ความล่าช้า เหตุการณ์ความไม่สงบ และเหตุการณ์อื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการ หรือต้นทุนการให้บริการส่วนเพิ่ม” โดยค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจะอยู่ที่ 850 เหรียญสหรัฐฯ / TEU และ 1,700 เหรียญสหรัฐฯ / FEU และในส่วนของบริษัท MAERSK ก็ได้ออกคำเตือนไปยังลูกค้าของตนให้ไปรับสินค้าและส่งคืนตู้สินค้าให้แล้วเสร็จจากท่าเรือที่อยู่ในข้อพิพาทก่อนวันที่ 15 มกราคมนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนที่ท่าเรือทั้งหมด

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ผู้ประกอบการไทยที่มีแผนหรือกำลังวางแผนจะส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ควรเกาะติดความคืบหน้าสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากข่าวคราวการประท้วงครั้งนี้ก็อาจนำไปสู่ภาวะชะงักงัน (Disruption) ในอีกจุดหนึ่งของระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มายังสหรัฐฯ และควรเสาะหาทางเลือกและเส้นทางขนส่งสินค้าสำรองเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในระบบการขนส่งสินค้ามายังสหรัฐฯ และรวมถึงประเทศปลายทางอื่น ๆ ที่อาจต้องพึ่งพาการส่งออกอีกทอดหนึ่งต่อจากสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/192156

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.