SNP eJOURNAL

ฉบับที่ 429

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“การถอดถอน”

ta

ไม่เห็นประชาชนจะได้อะไรเลย

จากการถอดถอนนักการเมือง

ในยุคที่การรัฐประหารมีอำนาจปกครองประเทศ ประชาชนมักได้เห็นนักการเมืองถูกลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ตรงกันข้าม ในยุคที่ประเทศไทยมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนแทบไม่เห็นการถูกถอดถอนเกิดขึ้น

มันเป็นเพราะเหตุใด ???

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2559 นายประชา ประสพดี ก็ถูก สนช. (สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยคะแนน 182 เสียง ต่อ 7 เสียง งดออกเสียง 2

ข้อกล่าวหาที่นายประชาได้รับคือ การใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงการทำงานขององค์การการตลาด (อ.ต.)

แม้ขณะถูกลงมติถอดถอน นายประชาจะพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีนานแล้วก็ตาม แต่ผลของการถูกถอดถอนในครั้งนี้ก็ทำให้นายประชาต้องถูกเว้นวรรคทางการเมืองในอนาคตเป็นเวลา 5 ปี

แล้วประชาชนจะได้อะไรจากการที่นักการเมืองถูกถอดถอน ???

ในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น รัฐมนตรีไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงานประจำในกระทรวงต่าง ๆ

ในความเป็นจริง รัฐมนตรีเป็นเพียงผู้กำหนดนโยบาย และเป็นผู้กำกับข้าราชการประจำให้ปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดเท่านั้น

ข้าราชการประจำตั้งแต่ปลัดกระทรวงลงมา หากไม่ปฏิบัติตามก็อาจเสี่ยงที่จะถูกย้าย หรือถูกลงโทษอื่นทางวินัยได้

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผ่านการมีรัฐมนตรีทุก ๆ กระทรวงไปแล้วหลายพันคน แล้วลองคิดดูซิว่าช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ผ่านนโยบายไปแล้วกี่ร้อยกี่พันนโยบาย ???

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนกล่าวไปในทิศทางเดียวกันคือ ทุก ๆ นโยบายที่นำมาใช้ต้องมีทั้งผลดีและผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชนควบคู่กัน

เมื่อรัฐมนตรีกำหนดนโยบาย รัฐมนตรีก็ต้องมีหน้าที่ผลักดันผลดีให้เกิดขึ้นมากที่สุด และป้องกันผลเสียให้เกิดน้อยที่สุด

นี่คือเป้าหมายของการบริหารจัดการประเทศ

ดังนั้น นโยบายใดที่มีผลดีมาก แต่ก็มีผลเสียมากตามไปด้วยโดยไม่มีการบริหารจัดการใด ๆ เลย อย่างนี้แล้ว เขาจะมีรัฐมนตรีไปทำไม ???

มิสู้ปล่อยให้ประเทศชาติลอยไปตามนถากรรมไม่ดีกว่าหรือ ???

คนเขาเรียนการบริหารจัดการมามากมาย รัฐมนตรีหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องรู้หมดทุกเรื่องหรอก แต่ต้องรู้เป้าหมายการบริหารจัดการแล้วใช้สอยคนให้เหมาะสมเท่านั้น

ตัวอย่างนโยบายรถคันแรกที่มีการวิเคราะห์ตามสื่อสาธารณะ

ด้านบวก ประชาชนแห่ซื้อรถยนต์จำนวนมาก รถยนต์ที่อยู่ในโครงการขายดีเป็นเทน้ำเทท่าส่งผลให้เจ้าของกิจการมีกำไร อุปกรณ์และเครื่องประดับรถยนต์พลอยขายดีไปด้วย เศรษฐกิจทุก ๆ ประเภทที่เกี่ยวกับรถยนต์ถูกกระตุ้นด้านบวกอย่างรุนแรง

แล้วผลด้านลบละ (http://pantip.com/topic/30780356)

  1. ความต้องการเทียมเกิดขึ้น ราคารถยนต์ที่ถูกลงทำให้คนที่ยังไม่ถึงจุดต้องใช้รถยนต์ก็ต้องซื้อ เมื่อความต้องการเทียมไม่ใช่ความต้องการจริง มันก็เกิดระบบเศรษฐกิจเทียมตามมา
  2. ธุรกิจรถมือสองช่วงนั้นทั้งซบเซา ทั้งตาย
  3. การจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับรถยนต์ผิดจากความจริง รายได้กระจุกอยู่กับคนงานในช่วงระยะเวลาที่เร่งการผลิต ทำให้เกิดการจ่ายใช้ผิดความจริง
  4. รัฐบาลสูญเสียภาษีไปนับหมื่นนับแสนล้านบาท ส่วนหนึ่งไปตกเป็นกำไรของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์
  5. การจราจรติดขัดมากขึ้น แต่คนกลับใช้ขนส่งมวลชนและรถไฟฟ้าน้อยลง
  6. อุบัติเหตุเกิดมากขึ้นเพราะคนขับรถยนต์คันแรกมือใหม่มาก
  7. ความฟุ้งเฟ้อเกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ไม่ว่าจะต้องเติมน้ำมัน การตกแต่งรถยนต์ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องมีราคาสูงขึ้น
  8. บ้านหลังแรกสำหรับการเริ่มต้นของคนเริ่มงานขายไม่ดีเพราะคนเอาเงินไปซื้อรถคันแรกก่อน
  9. น้ำมันแพงขึ้นเพราะคนเติมมากขึ้น น้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวข้องต้องนำเข้าทำให้ค่าเงินผันผวนมาก
  10. การฟ้องร้องมากขึ้นเพราะคนผ่านไม่ไหวและยังมีคนถูกฟ้องเรียกคืนภาษีเพราะผิดเงื่อนไขอีก

หากนโยบายรถคันแรกดีมาก แต่ผลเสียที่ตามมาก็มากตามการวิเคราะห์ข้างต้น รัฐมนตรีเจ้าของนโยบายก็ต้องรู้ก่อนและต้องป้องกันผลเสียที่จะตามมาพร้อมกัน

แต่หากไม่ป้องกัน ผลเสียก็ย่อมขยายเป็นวงกว้างออกไป

คำถามที่ว่า ประชาชนจะได้อะไรจากการถอดถอนนักการเมือง ???

คำตอบก็คือ นักการเมืองที่อ่อนด้อยด้านบริหารจัดการจะค่อย ๆ ล้มหายไป และโอกาสที่นักการเมืองมีความสามารถจะก้าวเข้ามามากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การถอดถอนจะเป็นบทเรียนและนำไปสู่การพิจารณาคดีอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย

ส่วนคำถามที่ว่า เพราะเหตุใด ในยุคที่ประเทศไทยมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนแทบไม่เคยเห็นการถูกถอดถอนเกิดขึ้น ???

คำตอบก็คือ ผู้ที่จะลงมติถอดถอนนักการเมืองนั้น รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะกำหนดให้ ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) เป็นผู้มีอำนาจลงมติถอดถอน

ในยุคที่ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง ส.ว. ส่วนใหญ่จะได้รับการเลือกตั้งจากฐานเสียงเดียวกับนักการเมืองทั่วไป

หาก ส.ว. ต้องการชนะการเลือกตั้ง ส.ว. ส่วนใหญ่ก็ต้องอาศัยนักการเมือง

เมื่อเรื่องการถอดถอนนักการเมืองถูกส่งมายัง ส.ว. โอกาสที่ ส.ว. จะลงมติถอดถอนจึงมีน้อยจนทำให้นโยบายที่ดีแต่มีผลเสียมากมายกลับไม่ได้รับการเอาใจใส่ด้านป้องกันผลเสีย

นี่คือข้อเสียหนึ่งของการมี ส.ว. จากการเลือกตั้ง

แต่ในยุครัฐประหาร ไม่มี ส.ว. แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สนช. ทำหน้าที่แทน ส.ว.

กลุ่ม สนช. มาจากการแต่งตั้ง ไม่ต้องอาศัยฐานเสียงนักการเมือง จึงไม่ค่อยเกรงใจนักการเมือง

การถอดถอนจึงมีให้เห็น

นี่คือบทสรุปที่ว่า ทำไมการถอดถอนจึงเกิดในยุครัฐประหาร แต่ไม่ค่อยเกิดในยุค ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง

วันนี้ ด้านหนึ่งประเทศไทยต้องการนักการเมืองที่ดีและมีความสามารถในการสร้างนโยบายที่เป็นประโยชนจริง ๆ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องการป้องกันผลเสียโดยรักการเมืองจากนโยบายนั้นด้วย

การถอดถอนจึงถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เกิดนักการเมืองที่ดีและมีความสามารถ และส่งผลให้ประเทศและประชาชนก็ได้ประโยชน์โดยตรง

สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกหลายท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อระบบ NSW กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะมีอีกหลายท่านที่ยังไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน

เราจึงถือโอกาสพาไปทำความรู้จักกับ NSW ให้มากขึ้นกันค่ะ

ระบบ NSW หรือ National Single Window เป็นระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ สำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นระบบบริการแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติควบคู่ไปกับการปฏิรูปกระบวนการและขั้นตอนการให้บริการ และการลดรูปเอกสาร โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์แบบปลอดภัยและไร้เอกสาร รวมถึงการใช้ข้อมูลร่วมกันกับทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง และการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตและใบรับรองระหว่างหน่วยงานภาครัฐภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยผู้ใช้บริการทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจสามารถติดตามผลในทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินงานนำเข้า ส่งออกและการอนุมัติต่างๆผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ (e-Tracking) ทุกวันและตลอดเวลา 24 ชั่วโมง​

[ ที่มา http://wiki.mof.go.th/mediawiki/index.php/ระบบ_National_Single_Window_(NSW) ]

จากหลักการข้างต้น ถือว่าระบบนี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของประเทศ เชื่อมโยงข้อมูลแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ โดยผู้ประกอบการค้าจัดทำข้อมูลเพียงครั้งเดียวหรือจัดเตรียมเอกสารเพียงหนึ่งชุด แล้วส่งให้ระบบ NSW ทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งระบบ NSW จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลเหล่านั้นให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธุรกรรมการชำระเงิน โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลหลายชุดเพื่อจัดส่งให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในทางปฏิบัติ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพจัดตั้งระบบ Thailand National Single Window ของประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ระบบนี้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก โดยดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2558 และเริ่มใช้ในปี 2559 เชื่อว่าผู้ประกอบการหลายท่านน่าจะกำลังทดลองใช้งานระบบนี้กันอยู่ ในระยะเริ่มแรกอาจพบเจอปัญหา/อุปสรรคต่างๆ เช่น ความไม่เข้าใจในวิธีการใช้งาน ฯลฯ ก็สามารถโทรสอบถามที่ Call Center 02-034-9500 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมในระบบ NSW นี้ โดยเข้าไปศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ http://www.thainsw.net เมื่อเข้าใจแล้วจึงเริ่มลงทะเบียนขอใช้บริการผ่านเว็บไซต์ (โดยไม่ต้องยื่นกระดาษเอกสาร)

ปัจจุบันระบบ NSW ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ กว่า 30 หน่วยงาน ตัวอย่างเช่น

​กรมศุลกากรเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาต/ใบรับรองที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก, กรมสรรพสามิต,​ กรมการค้าต่างประเทศ, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย,​ กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, กรมปศุสัตว์, กรมประมง, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, กรมศิลปากร

​ ฯลฯ​

​อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการไม่สะดวกที่จะลงทะเบียนระบบ NSW ด้วยตนเอง หรือประสบพบเจอกับปัญหาในการใช้งานระบบ ก็สามารถขอคำปรึกษาเบื้องต้นได้จากตัวแทนออกของที่ท่านใช้บริการอยู่ เพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันและแแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปด้วยเช่นกัน

สุวิตรี ศรีมงคลวิศิษฎ์