CEO ARTICLE

Clean On Board

Published on November 26, 2024


Follow Us :

    

สินค้าส่งออกเสียหายปลายทางควรทำอย่างไร ?

การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Shipping) มีหลักปฏิบัติ 2 ข้อที่ผู้ส่งออกควรทราบ คือ
1. Seaworthy Packing
หมายถึง หลักการเลือกใช้หีบห่อที่แข็งแรงตามมาตรฐานสากลเพื่อป้องกันสินค้าจากแรงกระแทก และแรงเหวี่ยงภายในตู้สินค้า (Container) ขณะเดินทางในท้องทะเลที่มีคลื่นลมแรง
หากหีบห่อแข็งแรงไม่เพียงพอ ผู้ส่งออกก็อาจถูกปฏิเสธการรับสินค้าจากผู้ขนส่ง และหากสินค้ามีความเสียหายก็อาจถูกปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งจากผู้ขนส่งและผู้รับประกันภัย (Insurer)
2. Standard Loading
หมายถึง หลักการบรรจุและการจัดเรียงสินค้าเข้าตู้ตามมาตรฐานสากล
ไม่ว่าผู้ส่งออกจะบรรจุและจัดเรียงสินค้าเข้าเอง (Shipper Load and Count) หรือว่าจ้างผู้ขนส่งให้บรรจุ ณ สถานีของผู้ขนส่ง หรือที่เรียกว่า CFS (Container Freight Station) ซึ่งผู้ส่งออกต้องจ่าย และจะได้รับใบเสร็จค่าบรรจุสินค้าเข้าตู้ (CFS Charge) ให้เป็นหลักฐาน
ความหมายคือ ผู้ใดเป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้ ผู้นั้นก็ต้องจัดเรียงตามมาตรฐาน
ในกรณี CFS และสินค้าเสียหายง่าย ผู้ส่งออกก็ควรควบคุม หรือกำชับตัวแทนออกของให้ช่วยควบคุมการบรรจุและจัดเรียงสินค้าเข้าตู้ให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อป้องกันความเสียหาย
หลักปฏิบัติเพื่อช่วยป้องกันความเสียหายเบื้องต้นมีเพียง 2 ข้อ
กรณีผู้ขนส่งเป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้ แต่สินค้าพบเสียหายที่ปลายทาง หากมีการซื้อประกันภัย (Insurance) ไว้ และลูกค้าต่างประเทศเข้าใจระบบการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศอย่างดี ทำการเคลมค่าเสียหายจากประกันภัยเอง เรื่องคงจบลงโดยไม่เสียความรู้สึกต่อกัน
แต่ในกรณีที่ไม่มีการซื้อประกันภัย หรือมีการซื้อ แต่ลูกค้าไม่รู้ระบบ ไม่เข้าใจ และไม่พอใจความเสียหายที่ได้รับ แถมต้องการหลักฐานที่แสดงว่า ผู้ส่งออกส่งสินค้าอย่างถูกต้องแล้ว
หากผู้ส่งออกหาหลักฐานไม่ได้ หรือไม่ใส่ใจ ลูกค้าอาจไม่พอใจ อาจไม่ชำระเงิน อาจขอส่วนลด หรืออาจไม่ซื้อต่อในอนาคตจนผู้ส่งออกสูญเสียลูกค้าได้ง่าย ๆ กรณีเช่นนี้ ใบเสร็จค่าบรรจุสินค้าเข้าตู้ และใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) ที่ปรากฏคำว่า “Clean On Board” จะช่วยได้

คำว่า “Clean” หมายถึง “ความสะอาด”
แต่ในการขนส่งระหว่างประเทศ หมายถึง “ความถูกต้อง” หรือ “ความเรียบร้อย”
คำว่า “On Board” หมายถึง การนำสินค้าขึ้นบนระวางขนส่ง หรือบนพาหนะขนส่ง
เมื่อนำมารวมกันเป็น “Clean On Board” จึงหมายถึง สินค้าได้รับและได้ส่งบรรทุกขึ้นบนพาหนะขนส่งด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย ครบจำนวน (In Good Order and Condition)
ใบตราส่งสินค้าที่ปรากฏคำว่า “Clean On Board” จึงเป็นคำยืนยัน และคำประกาษิตของผู้ขนส่งที่แสดงว่า ผู้ขนส่งได้รับสินค้าด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย และครบจำนวน ณ ท่าเรือส่งออกต้นทาง (Port of Departure)
“Clean On Board” จึงเป็นหลักฐานในเบื้องต้นให้ผู้ส่งออกพ้นผิด และผู้ส่งออกก็สามารถใช้เป็นคำอธิบายให้ลูกค้าต่างประเทศทราบ ขณะเดียวกันผู้ส่งออกก็ไม่ควรนิ่งเฉย แต่ควรประสานผู้ขนส่งต้นทางในการตรวจสอบต้นเหตุของความเสียหาย และหาหลักฐานเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย
การช่วยประสานงานจะช่วยให้ความรู้สึกของลูกค้าดีขึ้น
คำว่า “Clean” อยู่ตรงข้ามกับคำว่า “Dirty” ซึ่งแปลว่า สกปรก
หากนำ “Dirty” มาใช้จะเป็น “Dirty On Board” จะหมายถึง สินค้านำขึ้นบนพาหนะขนส่ง ณ ท่าเรือส่งออกต้นทางมีข้อบกพร่อง มีความเสียหาย ไม่ถูกต้อง หรือไม่เรียบร้อย
หากใบตราส่งมีคำว่า “Dirty On Board” หรือไม่มี แต่มีการระบุถึงข้อบกพร่องไว้ แน่นอน ผู้ขนส่งต้องให้ผู้ส่งออก หรือตัวแทนผู้ส่งออกลงนามรับทราบถึงข้อบกพร่องซึ่งทำให้ผู้ขนส่งปฏิเสธความรับผิดชอบได้ และทำให้ผู้ส่งออกหนีความรับผิดชอบไปไม่พ้น
เมื่อผู้ส่งออกรู้ถึง “Dirty On Board” ก็ควรแจ้งลูกค้าต่างประเทศโดยเร็ว ผู้ส่งออกอาจขอยกเลิกการส่งออก อาจเสนอส่วนลดให้ลูกค้า หรืออาจส่งสินค้าทดแทนให้ในภายหลังก็ได้
“Clean On Board” จึงเป็นวลีสำคัญที่ยืนยันความบริสุทธิ์ และเป็นวลีที่ผู้ส่งออกควรตรวจสอบให้ปรากฏในใบตราส่งทุกครั้งที่ได้รับจากผู้ขนส่งก่อนที่จะส่งไปให้ลูกค้าต่างประเทศ

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : November 26, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

Pop Mart พลิกโฉมวงการของเล่นไทย ปรากฏการณ์ Labubu ที่สั่นสะเทือนวงการ

ในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2567 Pop Mart แบรนด์ของเล่นสัญชาติจีนได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทย ด้วยยอดขายที่พุ่งสูงขึ้นถึง 440-445% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเพิ่มขึ้นถึง 18.5% ในวันเดียว

ความสำเร็จอันโดดเด่นนี้มีตัวละครเอกคือ Labubu (ลาบูบู) ตุ๊กตาที่มีลักษณะเป็นสัตว์ประหลาดขนฟูน่ารัก ซึ่งได้กลายเป็นไอคอนวัฒนธรรมป๊อปในประเทศไทย จากรายงานของ Nielsen ในเดือนพฤษภาคม พบว่าบน TikTok มีความคิดเห็นเกี่ยวกับ Labubu จากผู้ใช้ชาวไทยมากถึง 365,000 ความคิดเห็น ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีเพียงพันกว่าความคิดเห็นเท่านั้น จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ Lisa BLACKPINK ซุปเปอร์สตาร์ชาวไทยระดับโลก ได้โพสต์รูปตุ๊กตา Labubu บน Instagram ของเธอในเดือนเมษายน ภาพของ Lisa ที่พกพา Labubu ไปในที่ต่างๆ ได้จุดกระแสความนิยมอย่างท่วมท้น จนกระทั่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้แต่งตั้งให้ Labubu เป็น “ทูตการท่องเที่ยวไทย” อย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม

ความสำเร็จของ Pop Mart ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลจากกลยุทธ์ที่วางแผนอย่างรอบคอบโดยเฉพาะการสร้าง Intellectual Property (IP) หรือ ทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นของตัวเอง เช่น Labubu, MOLLY และ SKULLPANDA เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันสร้างรายได้ถึง 65% ของรายได้ทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการปรับตัวเข้ากับตลาดท้องถิ่น โดยศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศอย่างละเอียด

การขยายฐานการผลิตไปยังเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ Pop Mart ในการเติบโตในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทได้พัฒนาระบบการจัดการสต็อกและการขายที่ทันสมัย ทำให้สามารถติดตามยอดขายและสินค้าคงคลังในแต่ละประเทศได้แบบเรียลไทม์ ในประเทศไทย Labubu ไม่ได้เป็นเพียงของเล่นสะสม แต่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อป เห็นได้จากการที่วัยรุ่นไทยนิยมแขวน Labubu ไว้กับกระเป๋า

การเปิดร้าน Pop Mart สาขาแรกที่ Central World ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน 2566 ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จของแบรนด์ในประเทศไทย โดยมีการจัดกิจกรรมพิเศษมากมาย รวมถึงการจัดแสดง Labubu ขนาดใหญ่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธานในพิธี ความสำเร็จของ Pop Mart ในประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างการตลาดที่ชาญฉลาด การใช้อิทธิพลของดาราที่มีชื่อเสียง และการเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น บริษัทกำลังวางแผนที่จะขยายไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา แม้ว่าการทำซ้ำความสำเร็จในตลาดเหล่านี้อาจเป็นความท้าทาย แต่ความสำเร็จในประเทศไทยได้พิสูจน์ให้เห็นว่า Pop Mart มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นแบรนด์ระดับโลกได้อย่างแท้จริง

ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
ความสำเร็จของ Pop Mart ในประเทศไทยได้สะท้อนให้เห็นโอกาสและแนวทางที่สำคัญสำหรับ นักธุรกิจไทย โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กุญแจสำคัญประการแรกคือการสร้างทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ที่แข็งแกร่ง นักธุรกิจไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวละครหรือแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ซึ่งสามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับความร่วมสมัย

การใช้อิทธิพลของบุคคลที่มีชื่อเสียง (Influencer Marketing) ถือเป็นกลยุทธ์ที่ทรงพลัง แต่สิ่งสำคัญคือต้องเลือกบุคคลที่มีภาพลักษณ์สอดคล้องกับแบรนด์และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สามารถช่วยยกระดับแบรนด์และเพิ่มความน่าเชื่อถือได้อย่างมาก

ในด้านการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาระบบการจัดการสต็อกและการขายที่ทันสมัยเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามยอดขายและสินค้าคงคลังแบบเรียลไทม์ นักธุรกิจไทยควรพิจารณาการลงทุนในระบบดิจิทัลที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

สุดท้าย การทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งและการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ แม้ว่าธุรกิจจะมีเป้าหมายในการขยายไปยังตลาดต่างประเทศ แต่การสร้างฐานที่แข็งแกร่งในประเทศไทยก่อนจะช่วยให้การขยายธุรกิจในอนาคตมีความมั่นคงมากขึ้น การศึกษาวิธีการที่ Pop Mart ใช้ในการผสมผสานความเป็นสากลเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นจะเป็นแนวทางที่มีประโยชน์สำหรับนักธุรกิจไทยที่มีความฝันในการสร้างแบรนด์ระดับโลก

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/188328

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.