CEO ARTICLE

สตรีทฟู้ดจอมเทียน

Published on January 14, 2025


Follow Us :

    

สตรีทฟู้ดจอมเทียน

ทำอย่างไรให้ประชาชนมีกิน มีใช้ไปพร้อม ๆ กัน ?

สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเป็น 3 ปัจจัยที่สัมพันธ์กัน
สังคมครอบครัว สังคมที่ทำงาน หรือสังคมเมืองจะดีหรือร้าย ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับระบบของสังคมในสถานที่แห่งนั้น และขึ้นอยู่กับความรู้ ความเข้าใจของประชาชนที่จะทำตามระบบนั้นได้
เศรษฐกิจก็ต้องมีระบบไม่ต่างกัน เศรษฐกิจจะดีหรือร้ายก็ขึ้นอยู่กับระบบที่เอื้ออำนวย
คำถามที่น่าคิดคือ ใครเป็นผู้สร้างระบบสังคมและเศรษฐกิจ ?
คำตอบคือ การเมือง และต้องเป็นการเมืองที่ดีที่หมั่นพัฒนาระบบสังคมและเศรษฐกิจให้ดี หมั่นอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดการขนส่ง การนำเข้า การส่งออก เศรษฐกิจก็จะดี มีความสุข ส่งผลให้สังคมทุกระดับดีขึ้น และมีความสุขมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้ง 3 ปัจจัยจึงสัมพันธ์กัน แยกกันไม่ออก และมักเริ่มจากการเมืองท้องถิ่น
ตัวอย่างง่าย ๆ เกิดขึ้นที่หาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ราวปี 2563 กรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพถมหาดจอมเทียมให้ยื่นไปในทะเลจนมีความกว้างราว 50 เมตร มีสภาพสวยงามยาวสุดสายตา
พอเสร็จ พ่อค้าแม่ค้าก็มายึดขายอาหาร เป็นสตรีทฟู้ด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวจนโด่งดัง
เวลานั้น หาดจอมเทียนยามค่ำคืนจะเต็มไปด้วยผู้คน แต่ทำให้การจราจรติดขัดมาก สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ที่ต้องการพักผ่อนริมหาด ร้านค้า และธุรกิจในย่านนั้นจนเกิดการร้องเรียน
กลางปี 2565 หน่วยราชการท้องถิ่นจึงยึดกฎหมาย ประกาศห้ามยึดพื้นที่สาธารณะเพื่อการค้า ปิดฉากสตรีทฟู้ดยามค่ำ และปิดฉากเศรษฐกิจท้องถิ่นที่กำลังเฟื่องฟูในบริเวณนั้นให้จบลง
พ่อค้าแม่ค้าขาดที่ทำกินย่อมขาดรายได้ กระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจท้องถิ่น
วันนี้ แม้จะมีประชาชนมาพักผ่อนที่หาดจอมเทียนจำนวนหนึ่ง แต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นน้อย ตัวหาดขาดการดูแลรักษา เกิดปัญหาชายฝั่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนกรมเจ้าท่าต้องเข้ามาดูแล ฟื้นฟูความสวยงามในปี 2567 ด้วยโครงการ “คมนาคมส่งยิ้ม เจ้าท่าสร้างสุข”
ไม่ว่าจะมี Street Food หรือไม่ ชายฝั่งก็ต้องถูกกัดเซาะ เสียหาย กรมเจ้าท่าซึ่งเป็นผู้ถมทะเลก็ต้องกลับมาฟื้นฟู เสียเงินภาษี แต่ไม่คุ้มค่าทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างที่เห็น

หาดจอมเทียนเป็นตัวอย่างของการเมืองท้องถิ่นที่ยึดความถูกต้องและกฎหมาย
หากทุกท้องถิ่นยึดแต่กฎหมาย สังคมและเศรษฐกิจทั่วประเทศก็อาจถูกกระทบในวงกว้าง แต่หากมองถนนคนเดิน มองตลาดนัดที่มีกระจายทั่วประเทศ ทำไมจึงเจริญเติบโต มีชื่อเสียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นได้ ?
ถนนคนเดินทุกแห่งใช้พื้นที่สาธารณะเหมือนกัน แต่การเมืองท้องถิ่นยึดประชาชนให้มีที่ทำกินมากกว่า ใช้การบริหาร และการจัดการมากกว่ากฎหมาย เศรษฐกิจท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น
สิ่งที่ตามมาคือ พ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่นผลิตอะไรได้ก็เอาออกมาขาย เกิดเอกลักษณ์ท้องถิ่น (Localization) เกิดการผลิต การจ้างงาน เกิดสินค้าและการบริการแปลก ๆ ใหม่ ๆ ในท้องถิ่น
ประชาชนในท้องถิ่นมีโอกาสได้งานมากขึ้น สามารถหาซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และในราคาท้องถิ่นที่ถูกกว่าการซื้อตามห้างฯ
ถนนคนเดินในท้องถิ่นใดมีปัญหาเรื่องการจราจร ปัญหาที่จอดรถ การเมืองท้องถิ่นก็ช่วยเจรจากับเจ้าของที่ดินที่ว่างเปล่า ช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการเช่าระหว่างเอกชนกับเอกชน เกิดรายได้ให้เจ้าของที่ดิน สร้างงาน และสร้างรายได้ให้ผู้ที่มาเช่าทำพื้นที่จอดรถ
หากเกิดปัญหาสิ่งผิดกฎหมาย หรือความปลอดภัย การเมืองท้องถิ่นก็เพียงจัดสรรพื้นที่ให้ปลอดภัย และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ร่วมดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน
หากต้องการพื้นที่สาธารณะส่วนหนึ่งเพื่อการพักผ่อนก็จัดพื้นที่แยกโซนให้ชัดเจน
หากเกิดปัญหาความสะอาด การเมืองท้องถิ่นก็ช่วยจัดระเบียบพื้นที่ ระเบียบพ่อค้าแม่ค้า ร่วมกันดูแล รักษาความสะอาด จ่ายค่าส่วนกลาง สร้างการอบรม และสร้างความรู้ให้พ่อค้าแม่ค้า
ถนนคนเดิน ตลาดนัด หรืออื่น ๆ ตามแต่ท้องถิ่นจะเรียกจึงเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ง่ายที่สุด ท้องถิ่นใดมีดีอยู่แล้ว ทำดีอยู่แล้ว รัฐบาลก็ส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น ให้งบประมาณเพื่อจัดการสถานที่ให้สวยงาม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามแต่ลักษณะของชุมชน
ท้องถิ่นใดไม่มี รัฐบาลก็กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน ให้รู้ไปทั่ว ผลักดันการเมืองท้องถิ่นให้สร้างขึ้น ให้เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นด้านการค้าและการท่องเที่ยว และให้กระจายทั่วประเทศ
การเปิดโอกาสให้ประชาชนท้องถิ่นทำการค้า เข้าใจระบบตลาดจะทำให้คนส่วนใหญ่ค่อย ๆ มีงานทำ มีกิน มีใช้ มีการท่องเทีี่ยว และอื่น ๆ ที่เป็นเศรษฐกิจท้องถิ่นก็จะดีขึ้นเหมือนสตรีทฟู้ดจอมเทียนในเวลานั้น สุดท้าย ประชาชนทั้งประเทศจะมีกิน มีใช้ไปพร้อม ๆ กันได้ง่ายขึ้น.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : January 14, 2025

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

รัฐบาลบังกลาเทศจะเพิ่ม VAT สำหรับสินค้าและบริการ สูงสุดร้อยละ 15

ข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2568 รายงานว่ารัฐบาลบังกลาเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าและบริการที่มีการบริโภคในบังกลาเทศ ซึ่งบังกลาเทศได้ยอมรับเป็นเงื่อนไขตามโครงการโปรแกรมเงินกู้ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ที่ได้แนะนำให้รัฐบาลบังกลาเทศปรับปรุงระบบภาษีภายในประเทศเพื่อเพิ่มรายได้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อสินค้าและบริการต่างๆ เช่น การเดินทางทางอากาศ การรับประทานอาหารในร้านอาหาร การเข้าพักในโรงแรม และการซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ กรมสรรพากรบังกลาเทศ (National Board of Revenue – NBR) จะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Tax – VAT) สำหรับการรับบริการในร้านอาหารจาก 5% เป็น 15% ค่าที่พักของโรงแรมที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศอาจเพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 7.5% เป็น 15%

นอกจากนี้ จะมีการปรับอากรสรรพสามิต (Excise Duty – ED) ค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารสำหรับเส้นทางภายในประเทศ และเส้นทางระหว่างประเทศด้วย โดยอากรสำหรับเที่ยวบินในประเทศอาจเพิ่มขึ้นจาก 500 ตากา (ประมาณ $5.70 USD) เป็น 700 ตากา (ประมาณ $8.00 USD) สำหรับประเทศในภูมิภาค SAARC อากรอาจเพิ่มขึ้นจาก 500 ตากา (ประมาณ $5.70 USD) เป็น 1,000 ตากา (ประมาณ $11.40 USD) และสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ อากรอาจเพิ่มขึ้นจาก 3,000 ตากา (ประมาณ $34.20 USD) เป็น 4,000 ตากา (ประมาณ $45.60 USD)

นอกจากนี้ จะมีการปรับเพิ่ม VAT สำหรับเสื้อผ้าทั้งที่มีแบรนด์และไม่มีแบรนด์ โดยอาจเพิ่มขึ้นจาก 7.5% เป็น 15% และ VAT สำหรับการค้าทุกประเภทอาจเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 7.5% โดยรวมแล้ว VAT สำหรับสินค้าและบริการ 43 รายการอาจเพิ่มขึ้นเป็น 15% การปรับเพิ่ม VAT นี้ NBR ได้ส่งไปขออนุมัติขั้นสุดท้ายต่อสภาที่ปรึกษาของรัฐบาลชั่วคราวแล้ว รายงานระบุว่า อาจมีการยกเว้น VAT สำหรับยารักษาโรคและอากรเสริม (Supplementary Duty – SD) สำหรับค่าโทรศัพท์ ทั้งนี้ NBR ยังไม่ได้ประกาศรายการสินค้าที่จะปรับ VAT ออกมาอย่างเป็นทางการ

รัฐบาลบังกลาเทศคาดว่าเป้าหมายรายได้จากการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และอากรสรรพสามิต (SD) จะสร้างรายได้เพิ่มให้รัฐบาลบังกลาเทศ 12,000 crore ตากา (ประมาณ $1.37 พันล้าน USD)

ความเห็นสำนักงานฯ
การเพิ่ม VAT สำหรับสินค้าครั้งนี้ในบังกลาเทศ อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าจากประเทศไทย ดังนี้
1. ผลกระทบต่อราคาสินค้าจากประเทศไทยที่ส่งออกไปยังบังกลาเทศ
การเพิ่ม VAT ส่งผลให้ราคาสินค้าจากประเทศไทยที่ส่งออกไปยังบังกลาเทศมีราคาสูงขึ้น เนื่องจาก VAT จะถูกเรียกเก็บเพิ่มเติมในขั้นตอนการนำเข้า ส่งผลให้สินค้าจากประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันน้อยลงเมื่อเทียบกับสินค้าจากประเทศอื่น ๆ หรือสินค้าภายในประเทศบังกลาเทศเอง
2. การลดการบริโภคและการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ
การบริโภคสินค้าของประชาชนอาจลดลง โดยเฉพาะสินค้านำเข้า เนื่องจากผู้บริโภคต้องเผชิญกับราคาที่สูงขึ้นและอาจลดการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ การลดลงของการบริโภคส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าจากไทยที่ได้รับความนิยมในบังกลาเทศ
3. ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนและสินค้าอุตสาหกรรม
บังกลาเทศมีการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากประเทศไทยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของบังกลาเทศ การเพิ่ม VAT อาจทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
4. ความเสี่ยงในด้านการแข่งขันระหว่างประเทศ
การเพิ่ม VAT ในบังกลาเทศส่งผลให้ตลาดบังกลาเทศมีราคาสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้สินค้าจากประเทศไทยที่ส่งออกไปยังบังกลาเทศเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้นจากประเทศอื่นๆ ที่สามารถเสนอราคาที่แข่งขันได้ดีกว่า โดยเฉพาะสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคและสินค้าที่มีการแข่งขันสูง

สรุป
การเพิ่ม VAT ในบังกลาเทศมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อลำดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจากประเทศไทยในตลาดบังกลาเทศ โดยเฉพาะในกรณีของสินค้านำเข้าและการส่งออกสินค้าระหว่างสองประเทศ การเพิ่มต้นทุนและราคาสินค้าอาจทำให้การค้าระหว่างสองประเทศชะลอตัวลง หากไม่มีการปรับตัวของอุตสาหกรรมหรือการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภาษี
ที่มาภาพ/ข่าว https://www.bangladeshmonitor.com.bd
อัตราแลกเปลี่ยน (ณ วันที่ 6 มกราคม 2025): 1 ตากา (BDT) ≈ 0.0114 ดอลลาร์สหรัฐ (USD)

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/192272

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.