SNP NEWS

ฉบับที่ 391

CEO Article

“มุมมอง 59”

tnews_1430199180_739

อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี 59 ???

คำถามข้างต้นเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็อยากได้คำตอบ
นักวิชาการส่วนหนึ่งกล่าวว่า ความเหนื่อยยากและความลำบากจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของไทย บางท่านกล่าวหนัก ๆ ว่า ปี 58 เผาหลอก ปี 59 เผาจริง
บางท่านให้ข้อมูลว่า ปี 40 ไทยเจอวิกฤติเศรษฐกิจเรียกว่า “ต้มยำกุ้ง” ผลคือคนระดับบนล้มระเนระนาด กิจการใหญ่ ๆ ปิดตัวจำนวนมากจนคนระดับล่างตกงานตามไปด้วย แล้วก็กล่าวว่า ปี 59 ไทยจะเจอ “ผัดไทยไคล์ซิส”
ความหมายก็คือ คนระดับล่างที่เป็นพวกเส้นสายเล็ก ๆ แบบเส้นผัดไทยจะล้มระเนระนาด ตอนปี 40 คนระดับบนล้ม ระดับล่างก็ร่วงตาม หากปี 59 ระดับล่างล้ม ระดับบนก็น่าจะร่วงตามจนกลายเป็นวิกฤติเหมือนกัน
แม้จะมีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า มันไม่ได้รุนแรงมากขนาดนั้น แต่ประชาชนส่วนหนึ่งที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอดเวลาก็รู้สึกเสียว ๆ ตามไปด้วย
ตอนปลายปี รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้คนออกมาซื้อสินค้าระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558
มันยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า เศรษฐกิจไม่น่าจะดีอย่างว่า แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันจะไม่ดีขนาดไหน
การคืนภาษีเพื่อการบริโภคเป็นการกระตุ้นการบริโภคที่ดี แต่เงื่อนไขหยุมหยิมกลับสร้างความวุ่นวายให้แก่ประชาชนและร้านค้าในการออกใบกำกับภาษีและการทำเรื่องขอคืน
มันเหมือนไม่อยากกระตุ้นกันจริง
หากรัฐบาลอยากจะใช้มาตรการนี้ก็น่าจะอำนวยความสะดวกและใช้กันตลอดปี 59 ไปเลย เอาเป็นว่าใครซื้อสินค้าเพื่อการบริโภคตามรายการที่รัฐบาลกำหนดในวันที่ 20 ของทุกเดือนสามารถซื้อโดยไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มทันทีที่ซื้อไม่ดีกว่าหรือ
วันที่ 20 เป็นช่วงปลายเดือนที่คนกินเงินเดือนไม่ค่อยมีเงินเหลือ มันจะส่งผลให้คนรับเงินตอนต้นเดือนต้องเก็บเงินไว้ซื้อของเข้าบ้านในวันที่ 20 ถือเป็นการออมเงินทางอ้อม
ส่วนการยกเว้นให้ทันทีขณะซื้อ มันดูกระจายได้ทั่วถึงและสะดวกจริง ๆ ใคร ๆ ก็ได้ประโยชน์จริง ไม่ต้องมารอคิวออกใบเสร็จ ไม่ต้องมาขอคืนให้วุ่นวาย
รัฐบาลเพียงประกาศให้ชัด ๆ ว่า สินค้าอุปโภคบริโภคอะไรบ้างที่ได้สิทธิ์นั้น คนหนึ่งซื้อได้เท่าไร และอื่น ๆ ที่อยากกำหนดซึ่งดูแล้วมันน่าจะกระตุ้นการซื้อได้อย่างถึงใจและจริงใจมากกว่า

ตอนปลายปี สถาบันหลายแห่งได้จัดอันดับธุรกิจที่จะเป็นด่าวเด่นในปี 59 เช่น การบริการทางการแพทย์ ความงาม เครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว การท่องเที่ยว การประกันภัยและประกันชีวิต อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ขนส่งและโลจิสติกส์ ตลาดนัด ตลาดสดทันสมัย ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ ฟิตเนส/สนามกีฬา และอีกหลายธุรกิจโดยให้ข้อสรุปว่า คนไทยจะให้ความสำคัญต่อตนเองมากขึ้น
หากเป็นไปอย่างนั้นจริง มันก็สื่อว่า เศรษฐกิจไม่น่าจะแย่ขนาดนั้น ในภาพรวมอย่างน้อยเมื่อมีธุรกิจที่ล่วงลงไปก็จะมีธุรกิจที่รุ่งขึ้นมาแทนที่
หากพิจารณาว่าคนไทยจะหันมาใส่ใจตัวเองมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ ความงาม เครื่องสำอางค์ ท่องเที่ยว อาหารสุขภาพ ตลาดนัด ผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุ และฟิตเนส มันก็ดูว่า ด้านธุรกิจอาจจะดี แต่ผลอีกด้านหนึ่งสำหรับคนที่มองตัวเองมากเกินไปก็อาจทำให้ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจนกลายสังคมเห็นแก่ตัวก็ได้
มันอาจเป็นสังคมที่เอาแต่ตัวเองและพวกพร้องก็ได้
ด้านขนส่งและโลจิสติกส์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า จุดแข็งของไทยคือลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่กลางอินโดจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ติดทะเลทั้ง 2 ฝั่งจนทำให้ไทยสามารถเป็นฮับโลจิสติกส์ของอาเชียน
แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้อย่างจริงจัง
ตรงกันข้าม ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติกลับรู้จุดแข็งนี้และนำสินค้าเข้าออกผ่านไทยเป็นว่าเล่น เดี๋ยวผ่านไทยออกประเทศโน้น เดี๋ยวผ่านไทยเข้าประเทศนี้
กำไรมหาศาลจากการบริหารจัดการจึงตกไปอยู่ในมือต่างชาติ ส่วนไทยก็ได้เหมือนกัน แต่เพียงค่าผ่านแดนและค่ารถบรรทุกทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็นฮับ
จุดแข็งมีอยู่แล้ว เหมือน ๆ กับการท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ที่คาดการว่าจะเป็นดาวรุ่ง มันจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการสร้างความรู้เชิงบริหารจัดการให้แก่เอกชน
หากเอกชนไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการ ผลประโยชน์จากจุดแข็งก็จะเกิดขึ้นน้อยเช่นกัน
การบริหารจัดการเท่านั้นที่จะนำจุดแข็งไปสร้างประโยชน์ได้
รัฐบาลอาจใช้วิธีที่ง่ายที่สุด นั่นคือเชิญเอกชนมา ถามเขาว่าต้องการอะไร
อะไรที่สนองได้ให้รีบสนอง อะไรที่สนองไม่ได้ก็ให้ดูว่ามันติดขัดกฎหมายหรืออะไร แล้วก็แก้ไข ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรืออุปสรรคนั้นให้สิ้นไป
เพียงเท่านี้ การบริหารจัดการของเอกชนไทยก็จะค่อย ๆ เดินขึ้นไปรับประโยชน์ได้เอง
จุดแข็งที่ไม่มีการบริหารจัดการจึงไม่น่าจะเป็นจุดแข็งที่ดีได้ คนไทยจึงโดนต่างชาติเข้ามาบริหารจัดการและขนกำไรกลับไปให้เจ็บใจ

ยิ่งพอเริ่มต้นเข้าสู่ปี 2559 การรวมตัวเป็น AEC ต้องเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว ตอนแรก ๆ ใคร ๆ ก็กล่าวว่าไทยไม่พร้อม แต่มาถึงวันนี้ คงไม่มีใครกล่าวคำนี้อีกแล้ว
AEC ให้ประโยชน์มากทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้า ทุน เทคโนโลยี และคนอย่างสะดวก แต่ประโยชน์จะได้จริง ๆ ก็ต้องผ่านการบริหารจัดการอยู่ดี
แล้วใครละจะเป็นผู้สร้างความเข้าใจ และผลักดันให้เอกชนบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ???
มันก็คือรัฐบาลอีกนั่นละ
วันนี้ การประชาสัมพันธ์เชิงการบริหารจัดการโดยรัฐบาลให้แก่เอกชนยังน้อยเกินไป การตื่นตัวในภาคประชาชนจึงน้อยตามไปด้วย
สุดท้าย การรวมตัวกันเป็นกลุ่มก็ให้ประโยชน์กับคนที่สามารถบริหารจัดการเป็นจนอาจทำให้ไทยเสียเปรียบตามที่คาดการไว้ตั้งแต่ต้น
“ไทยยังไม่พร้อม” ก็ได้
สิ่งเหล่านี้มองผิว ๆ มันดูไม่เป็นปัญหา แต่หากพิจารณาลึก ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทั่วโลก หรือการได้ประโยชน์จาก AEC
ทั้งหมดนี้มันหนีไม่พ้นการบริหารจัดการให้ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น

จีนเข้ามาครอบงำอาเชียนเรื่อย ๆ วันนี้ทุกคนเห็นทัวร์จีน คนจีน และสินค้าจีนเกลื่อนไทย ขณะที่สหรัฐก็เริ่มหันมาสนใจอาเชียนมากขึ้น
ไทยมีจุดแข็ง ไทยมีโอกาสได้ประโยชน์ แต่จะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ ???
สุดท้าย มันก็วนกลับมาที่การบริหารจัดการอีกนั่นละ
ประเทศไทยอยากให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและลงทุนมาก ๆ การท่องเที่ยวและการลงทุนทำให้คนไทยมีงานทำและมีสินค้าส่งออกได้มากขึ้น
เงินตราก็ไหลเข้าประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง
กลุ่มต่างชาติที่เข้าใจประเทศไทย ไม่กลัวการรัฐประหารก็เข้ามาท่องเที่ยวและลงทุน ตรงกันข้าม มันยังมีต่างชาติอีกมากที่มากกว่ากลุ่มแรกไม่ชอบรัฐประหารก็ไม่เข้ามาท่องเที่ยวและไม่เข้ามาลงทุน
ทำไมหรือ ???
มันเป็นสูตรสำเร็จที่เขามองกันทั่วโลก นักท่องเที่ยวและนักลงทุนกลัวการปฏิวัติรัฐประหารกันทั้งนั้น
เมื่อกลัวก็หนีไปท่องเที่ยวและไปลงทุนกันที่อื่น
วันนี้ สูตรสำเร็จของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจึงอยู่ที่การหนีรัฐประหารไปสู่การเลือกตั้งให้เร็ว แต่ คสช. จะปล่อยให้มีการเลือกตั้งได้อย่างไรในเมื่อความขัดแย้งยังซ่อนตัวรอการประทุขึ้นมา ในขณะที่กติกาในรัฐธรรมนูญยังไม่ลงตัว
มันอยู่ในสภาพคืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างนี้

คำถามที่ว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี 59 ???
คำตอบจึงน่าจะเป็นว่า ด้านสังคม รัฐบาลที่มีมาตรา 44 ในมือคงคุมสภาพสังคมจนประชาชนพอใจ ด้านการเมืองก็คงขยับอะไรลำบาก นักการเมืองยังคงทำการแบบลับ ๆ ต่อไป ส่วนจะส่งผลในทางสว่างมากแค่ไหนคงไม่มีใครคาดเดาได้
ส่วนด้านเศรษฐกิจ ช่วงแรกของปี 59 คงจะไม่ต่างจากปี 58 มากนัก เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นที่ให้ผลในภาพกว้างจริง ๆ ออกมาใช้
มันจะซึม ๆ แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ซึมดีบ้าง ซึมร้ายบ้างตามแต่ปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่เข้ามาเสริมหรือกระทบให้เสีย
คนไทยทุกคนจึงได้แต่ภาวนาว่า ประเทศไทยจะไม่มีปัจจัยร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติขึ้นมาอีกไม่ว่าจะมาจากภายนอกหรือภายในประเทศจนกลายเป็นวิกฤติขึ้นมา
ส่วนปัจจัยร้าย ๆ ที่คนสร้างได้ประโยชน์จากวิกฤติของประเทศไทยนี่ซิกลับน่ากลัวกว่า มันคลุมยาก ไม่ใช่ธรรมชาติ ไม่มีใครคาดเดาได้โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์ทั้งทางธุรกิจขนาดใหญ่และการเมือง คนที่เสียมากก็ต้องดิ้นมากเป็นธรรมดา
แต่หากไม่มีปัจจัยร้าย ๆ อย่างว่า ระบบต่าง ๆ ก็คงจะประคองให้เศรษฐกิจเสมอตัวแบบไม่ต่างจากปี 58 สักเท่าไร ธุรกิจที่ต้องร่วงก็คงต้องล้มหายไปโดยมีธุรกิจดาวรุ่งขึ้นมาแทนที่
มันมีร่วงและก็มีรุ่งทดแทนกัน การเผาจริงในปี 59 ตามการคาดการก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น
คนไทยก็ได้แต่ภาวนาให้สิ่งร้าย ๆ ที่คนสร้างไม่เกิดขึ้นและรัฐบาลสามารถแสดงฝีมือการบริหารจัดการได้ดีเพื่อความโชคดีในปี 59 ของทุกคน
สวัสดีปีใหม่ 2559

สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

myanmar-container-trains

“ร.ฟ.ท.-กรมศุลกากร” เปิดโครงการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟด้วยอุโมงค์เครื่องเอ็กซเรย์ เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการขนถ่ายสินค้านำเข้า-ส่งออก “รองผู่ว่าฯร.ฟ.ท.”เผยจะช่วยเพิ่มปริมาณตู้สินค้าจากไอซีดี-ทลฉ.แน่นอน สอดคล้องแผนเพิ่มรายได้ด้านขนส่งสินค้า และลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. และนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ร่วมเป็นประธานในการเปิดเดินขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าคอนเทนเนอร์ ผ่านระบบตรวจสอบตู้สินค้าทางรถไฟด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ (Railway X-ray Container Inspection System)
ณ บริเวณอุโมงค์ เอกซเรย์ขบวนรถไฟท่าเรือแหลมฉบัง โดย ระบบตรวจสอบตู้สินค้าทางรถไฟด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ เป็นระบบที่กรมศุลกากรจัดหาเพื่อตรวจสอบตู้สินค้าให้เพียงพอต่อภารกิจในการให้บริการศุลกากร สอดคล้องกับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการนำเข้า-ส่งออกที่เพิ่มขึ้น ให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใส ในการปฏิบัติงานของกรมศุลกากร

นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าฯร.ฟ.ท.กลุ่มธุรกิจการเดินรถ กล่าวว่า ตรวจสอบตู้สินค้าทางรถไฟด้วยเครื่องเอ็กซเรย์แบบใหม่ จะทำให้ประหยัดเวลาจากเดิมที่ต้องยกตู้สินค้าลงจากรถไฟ เพื่อตรวจเอกซเรย์ ที่สถานีไอซีดีลาดกระบังจากนั้นจะต้องยกขึ้นรถไฟมายังแหลมฉบัง เปลี่ยนเป็นให้ขบวนรถไฟวิ่งผ่านอุโมงค์ที่ กรมศุลกากรสร้างคร่อมรางรถไฟสามารถตรวจสอบสินค้าในตู้ได้โดยไม่ต้องยกตู้สินค้าลง ลดเวลาในกระบวนการตรวจสอบลงอย่างมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันรถไฟมีขบวนรถสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ จากไอซีดีลาดกระบัง-ท่าเรือแหลมฉบัง 28 ขบวนต่อวัน (ไป/กลับ) ขีดความสามารถในการรองรับสินค้า 34 ตู้ต่อขบวน หรือ กว่า 900 ตู้ต่อวัน แต่ต้องเสียเวลาในการยกตู้ขึ้นลงในแต่ละขบวน ทำให้ยังไม่สามารถขนส่งสินค้าได้เต็มขีดวามสามารถ แต่หลังจากนี้จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถได้แน่นอน ซึ่งร.ฟ.ท.จะมุ่งเน้นในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดด้านการขนส่งสินค้าจากรถยนต์ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ในขณะที่การขนส่งโดยสารนั้น ต้องยอมรับว่ามีการแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์แอร์ไลน์) สูงมาก

ซึ่งนอกจากร.ฟ.ท.นะได้รับประโยชน์ในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขยายฐานลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งทางราง เนื่องจากสามารถเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบตู้สินค้า ต้นทุนการขนส่งสินค้าต่ำลง ยกระดับการจัดเก็บรายได้และกำไรของร.ฟ.ท. ตอบสนองนโยบายในการให้บริการขนส่งราคาต่ำและมีประสิทธิภาพของรัฐ สนับสนุนระบบโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศให้มีศักยภาพสมบูรณ์

รายงานข่าวแจ้งว่า ร.ฟ.ท. และกรมศุลกากรได้ร่วมมือในโครงการตรวจสอบตู้สินค้าทางรถไฟด้วยเครื่องเอ็กซเรย์มา2 ปีแล้ว แต่เพิ่งเริ่มดำเนินการได้เนื่องจาก จะต้องจัดหามาตรการด้านความปลอดภัย สำหรับพนักงานขับรถที่จะต้องไม่ได้รับอันตรายจากรังสีต่างๆ ต่อร่างกาย ซึ่งล่าสุดกระบวนการตรวจสอบตู้สินค้า จะใช้วิธีการตรวจสอบจากตู้ที่ 3 เป็นต้นไป ส่วนตู้ที่1-2 จะเว้นการตรวจสอบ โดยจะบรรทุกสินค้าที่ไม่ต้องผ่านการเอกซเรย์หรือเผ้นแคร่เปล่าแทน เพื่อให้คนขับรถไฟมีความปลอดภัยสูงสุด โดยมีกรมอาชีวอนามัยร่วมตรวจสอบและยืนยันความปลอดภัยแล้ว

ที่มา : http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000142864

AEC Info

13750913871375091535l

แผ่นดินไหวพม่า-ลาว ช่วงเช้าที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานเสียหาย

สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อเวลา 10.36 น. ตามเวลาประเทศไทย เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.4 ตามมาตราริกเตอร์ ที่ประเทศพม่า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ประมาณ 98 กม.
ก่อนหน้านี้ เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศลาว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อเวลา 08.53 น. ขนาด 3.8 ตามมาตราริกเตอร์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ประมาณ 133 กม.
และ ครั้งที่ 2 เวลา 09.22 น. เกิดขนาด 3.2 ตามมาตราริกเตอร์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ บ้านน้ำช้าง ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ประมาณ 146 กม.

ที่มา : http://www.ryt9.com/s/iq01/2334061

คุยข่าวเศรษฐกิจ

Business-Information-Technology1

เศรษฐกิจแบบนี้ ทำธุรกิจอะไรดี?

เศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายประการ ตั้งแต่เรื่องผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมือง เหตุการณ์ที่ราชประสงค์ รวมถึงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่อันมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนตัวรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งท่านรองนายกฯ ก็ได้แถลงนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทันที โดยมีการกระตุ้นสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการ SMEs เป็นแกนหลัก ทั้งเรื่องการเข้าถึงเงินทุนและการเพิ่มศักยภาพ เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับผู้ประกอบการทุกท่านครับ

ในช่วงนี้นอกจากเรื่องเศรษฐกิจมหภาคแล้ว ต้องยอมรับว่าสถานการณ์โดยรวม ผู้ประกอบการ SMEs นั้นถูกกดดันถึงที่สุดแล้ว สังเกตได้จากการปิดตัวลงของโรงงานหลายแห่ง ป้าย billboard โฆษณาในทำเลสวยเริ่มว่างลงไม่มีคนเช่า และหลายๆ ร้านที่เคยเปิดทำการเริ่มปิดตัวลง เมื่อวันก่อนผมได้มีโอกาสไปเดินถนนย่านทองหล่อก็ได้เห็นร้านอาหารร้านกาแฟที่คุ้นเคยได้ปิดตัวลง รวมถึงร้านที่เปิดอยู่ก็มีคนนั่งบางตาไปมาก

ช่วงนี้ถ้าผมได้มีโอกาสไปบรรยายพูดคุยให้ความรู้ที่ไหน คำถามยอดนิยมที่ถูกยิงเข้ามาจึงเป็นคำถามที่ว่า

“แล้วในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ควรทำธุรกิจอะไรดี?”

เป็นคำถามที่ทั้งตอบง่ายและยากครับ อย่างแรกคงต้องถามก่อนว่าในตอนนี้คุณทำอาชีพอะไรอยู่ และคำถามที่สองคือในเวลานี้เศรษฐกิจไทยไม่ดีจริงหรือ? เพราะผมได้มีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนผู้ประกอบการบางคนที่บอกว่าเขาไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจไม่ดี เพราะในเวลาที่ทุกคนบ่นกัน เขากลับบอกว่าช่วงนี้เขา “ขายดีมาก” และก็ไม่ใช่ว่าเขาอยู่ในธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง แต่เป็นเพราะเขาทำได้ดีกว่าคู่แข่ง คำถามที่ย้อนกลับมาจึงเป็นว่าที่เราพูดกันว่าช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดีนั้น มันเป็นแค่เศรษฐกิจ “ของคุณ” รึเปล่าที่ไม่ดี?

ดังนั้นในความคิดของผมในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ธุรกิจที่ดีก็คือ อะไรที่คุณทำอยู่แล้วและชำนาญนั่นแหละครับ

ถ้าคุณทำธุรกิจอยู่แล้ว ผมขอแนะนำให้คุณลองใช้เวลาช่วงขาลงนี้พิจารณาดูแต่ละห่วงโซ่ของธุรกิจให้ดี ตรงไหนบ้างที่เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ตรงไหนบ้างที่ลดค่าใช้จ่ายได้ และที่สำคัญไม่ควรลดงบการตลาดลง เพราะในขณะที่คู่แข่งของคุณกำลังย่ำแย่และยุติการทำการตลาด สื่อที่คุณใช้จะได้ผลมากขึ้นเพราะไม่มีใครมาตะโกนแข่งกับคุณ ที่สำคัญคือถ้าสินค้าหรือบริการของคุณนั้นไม่ได้ถูกจัดอยู่ในประเภทของฟุ่มเฟือย ผมเชื่อว่าความต้องการของลูกค้าก็ยังคงอยู่ เพียงแต่พฤติกรรมการซื้ออาจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ต้องการสินค้าที่มีขนาดเล็กลง หรือต้องการชะลอการซื้อเนื่องจากต้องการเครดิตในการชำระเงินที่นานขึ้น หรือต้องการสินค้าที่ราคาย่อมเยากว่า เจ้าของธุรกิจควรใช้เวลานี้พินิจไตร่ตรองให้ดี

คำถามเดียวกันสำหรับท่านที่ยังไม่ได้เริ่มทำธุรกิจของตัวเอง ผมแนะนำว่าถ้าจะเริ่มต้นควรเริ่มจากธุรกิจที่ตนชำนาญและมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน ที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงสินค้าและบริการฟุ่มเฟือย รวมทั้งการลงทุนที่ต้องใช้เงินสดหนักๆ (ในอัตราส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับเงินทุนสำรองที่เรามี) แต่อย่ากลัวที่จะเริ่มต้นครับ อย่างที่ผมกล่าวไปข้างต้น ในขณะที่ธุรกิจของคนอื่นซบเซา อาจเป็นโอกาสทองของคุณก็เป็นได้

ธีระ กนกกาญจนรัตน์

ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจและเทคโนโลยี เจ.เอ็ม.คาตาลิสท์

ที่มา http://www.thairath.co.th/