SNP NEWS
ฉบับที่ 410
มองอย่างหงส์
“ประกันเอาใจ”
จอมอนิเตอร์ถูกตรวจพบแตกในลัง ณ ที่ทำการผู้นำเข้า
ทั้ง ๆ ที่สภาพหีบห่อสินค้าดี ไม่มีร่องรอยถูกกระแทก หรือแตกร้าว
หลักฐานรับรองความเสียหายจากท่าเรือก็ไม่มี
อย่างนี้ ผู้นำเข้าจะเรียกร้องความเสียหายจากผู้ใด ???
กรณีศึกษาข้างต้น มันเป็นการยากจริง ๆ สำหรับจอมอนิเตอร์ที่แตกในลังที่จะพิสูจน์ว่า ผู้ใดก่อความเสียหายให้เกิดขึ้น
เนื่องจากความเสียหายตรวจพบ ณ ที่ทำการของผู้นำเข้า
ยิ่งหีบห่อสินค้าอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีร่องรอยถูกกระแทก และไม่มีร่องรอยแตกร้าวให้เห็นก็ยิ่งตัดสินกันยาก
มันอาจตีความว่า จอมอนิเตอร์แตกตั้งแต่ต้นทางจากผู้ขาย แตกจากการถูกกระแทกในเรือที่บรรทุก แตกเพราะถูกโฟร์คลิฟท์กระแทก แตกในคลังสินค้า แตกบนรถบรรทุก หรือแตกเพราะคนงานโยน หรือแม้แต่พนักงานของผู้นำเข้าทำเองก็ได้
เมื่อไม่มีการทำหลักฐานและทุกฝ่ายก็อยู่ในข่าย อย่างนี้แล้วความเสียหายจะเรียกร้องจากผู้ใด ???
ลักษณะเช่นนี้ มันก็คล้าย ๆ กับรถยนต์ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ หรือจากการเฉี่ยวชนนั่นละ
หากไม่มีการพิสูจน์ ณ ที่เกิดเหตุ แต่คนขับคู่กรณีกลับแยกย้ายรถยนต์ของตัวเองกลับบ้านโดยไม่มีผู้ใดยอมรับผิด
แบบนี้ใครจะรับผิดชอบ สุดท้ายมันก็ต้องมีการพิสูจน์
แต่การพิสูจน์ในภายหลังย่อมต้องใช้เวลามาก ต้องมีกระบวนการ ต้องมีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือประกอบ และเผลอ ๆ ไม่แน่ว่าฝ่ายถูกอาจกลายเป็นผิด ฝ่ายผิดอาจกลายเป็นถูกแทนที่ก็ได้
หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไม่มีคู่กรณี แต่บริษัทประกันยินยอมรับผิดชอบความเสียหาย แบบนี้บริษัทประกันก็มักจะมีเงื่อนไข
สินค้าที่เสียหายในกระบวนการโลจิสติสก์ก็ต้องมีการพิสูจน์เหมือนกัน การพิสูจน์ก็ต้องทำกันทันที ณ จุดหน้างานที่สามารถพิสูนฺได้คล้าย ๆ กับกรณีรถยนต์
หากสินค้าแตก หรือเสียหายในคลังสินค้าท่าเรือ หรือสภาพหีบห่อที่พบเห็นในคลังสินค้าท่าเรือมีร่อยรอยถูกกระแทก หรือหีบห่อแตกร้าว ผู้เกี่ยวข้องก็ต้องทำหลักฐานความเสียหายเอาไว้ก่อน
การทำหลักฐาน ณ หน้างาน มันเป็นเรื่องง่าย ๆ
เพียงผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นตัวแทนคลังสินค้า ตัวแทนเรือผู้รับการขนส่ง ตัวแทนคลังสินค้า ตัวแทนผู้นำเข้า หรือตัวแทนผู้รับประกันภัย (หากมี) ร่วมกันทำการสำรวจความเสียหาย
จากนั้น ทุกฝ่ายก็ร่วมกันลงนามในหลักฐานความเสียหาย หรือที่เรียกว่า survey report ให้ผู้นำเข้าใช้เป็นหลักฐาน
การลงนามร่วมกันก็พให้ผู้ผิดก็คือผู้ผิดที่ชัดเจน
ผู้นำเข้าก็สามารถใช้หลักฐาน survey report มาเรียกร้องความเสียหายจากผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายในภายหลัง
หากสินค้ามีการทำประกันภัยทางทะเล (marine insurance) ไว้ ผู้นำเข้าก็สามารถเรียกร้องความเสียหายจากตัวแทนประกันภัยได้ก่อน
จากนั้น ตัวแทนประกันภัยจะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้นำเข้าไปเรียกร้องจากหน่วยงานที่ทำให้สินค้าเสียหายอีกต่อหนึ่ง
แต่กรณีศึกษาข้างต้น ความเสียหายพบเห็น ณ ที่ทำการผู้นำเข้า
หีบห่อดี ไม่มีร่องรอยกระแทก หรือแตกร้าว และไม่มีการทำหลักฐานความเสียหาย แบบนี้หากต้องมีการพิสูจน์ก็จะเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน
หากสินค้าไม่ได้ซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองไว้ การเรียกร้องความเสียหายก็จะยากเป็นเงาตามตัว
แต่หากมีประกันคุ้มครอง บริษัทผู้รับเอาประกันที่ต้องจ่ายให้ก่อนก็ยังคงต้องการหลักฐาน survey report ที่ลงนามโดยผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำไปเรียกร้องจากผู้ทำผิดอีกต่อหนึ่งอยู่ดี
มันก็อาจส่งผลให้บริษัทประกันปฏิเสธการชดใช้ค่าเสียหายได้
ในกรณีที่ไม่มีหลักฐาน survey note แบบนี้
หากผู้นำเข้ามีสินค้ามาก ๆ หรือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทประกันภัย การให้ความช่วยเหลือโดยไม่มีหลักฐาน survey note ก็ยังพอเป็นไปได้บ้าง
ทำไมหรือ ???
เหตุผลง่าย ๆ คือ ประกันเอาใจ
บริษัทประกันทั่วไปย่อมต้องการเอาใจลูกค้ารายใหญ่
แต่หากผู้นำเข้าไม่ใช่ลูกค้ารายใหญ่ แบบนี้บริษัทประกันก็อาจปฏิเสธได้ง่าย ๆ เช่นกัน
แล้วจะแก้ไขกันอย่างไร ???
วิธีการแก้ไขที่ 1
สำหรับผู้นำเข้ารายเล็กที่สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่ม จากนั้นก็ติดต่อซื้อประกันภัยในนามกลุ่ม วิธีนี้ก็ทำให้อำนาจการต่อรองมีมากขึ้น ได้รับการดูแลมากขึ้น
วิธีการแก้ไขที่ 2
หากผู้นำเข้าซื้อประกันผ่านตัวแทน โดยตัวแทนเป็นผู้รวบรวมลูกค้าให้กับบริษัทประกันภัยก็จะทำให้อำนาจการต่อรองมีมากขึ้นได้อีกเช่นกัน
กระบวนการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศมีองค์ประกอบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวสินค้าหลายประการ การซื้อประกันภัยเพื่อคุ้มครองย่อมดีกว่าการไม่มีประกันภัยคุ้มครอง
เว้นแต่สินค้ามีสภาพไม่เสียหาย หรือเสียหายง่ายจนบริษัทประกันภัยมีกฎเกณฑ์ที่ไม่รับคุ้มครองเท่านั้น
ดังนั้น การซื้อประกันภัยย่อมดีกว่า และเป็นการเปิดโอกาสให้สร้างอำนาจการต่อรองโดยการสร้างกลุ่มของตนขึ้นมาก็เป็นประโยชน์อีกทางหนึ่ง
ในทางการตลาดบริษัทประกันย่อมเอาใจลูกค้าเป็นธรรมดา
การขอราคาเพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง
หากราคาสินค้านำเข้าได้รวมค่าเบี้ยประกันลงไปแล้ว อย่างนี้ก็อาจปิดโอกาสให้บริษัทประกันเอาใจได้น้อยลง และทำให้ผู้นำเข้าขาดโอกาสในการสร้างอำนาจการต่อรองไปในตัว
หากผู้นำเข้าสามารถต่อรองให้ลดราคาลงมาโดยไม่ต้องรวมประกันภัย แล้วนำส่วนลดที่ได้รับมาซื้อการประกันภัยเองก็จะเปิดโอกาสให้บริษัทประกันเอาใจมากขึ้น
วิธีนี้ก็ส่งผลให้ผู้นำเข้ามีอำนาจการต่อรองมากขึ้น
ในกรณีศึกษาข้างต้น จอมอนิเตอร์ที่แตกในลังก็อาจขอให้บริษัทประกันเอาใจโดยการช่วยรับผิดชอบได้เช่นกัน
สิทธิชัย ชวรางกูร
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://www.thaiday.com/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9510000046418
The Logistics
แมงมุมลายตัวนั้น ฉันเห็นมันอยู่บนหลังคา…..
แมงมุม สัตว์ที่ใครหลายคนอาจจะไม่ชอบ แต่กลับถูกนำมาอ้างถึงอย่างมาก
ไม่ว่าจะเป็น เพลงแมงมุมตอนต้นที่ทุกคนน่าจะเคยร้องกันตอนเด็กๆ หรือเพลงแมงมุม แมงมุม แมงมุมขยุ่มหัวใจ…ที่โด่งดังเมื่อสิบกว่าปีก่อน หนังในตำนานอย่างสไปเดอร์แมน ก็หยิบยกเรื่องของมนุษย์แมงมุม ฮีโร่ในดวงใจผู้พิทักษ์โลก โดยนำเอาลักษณะพิเศษของสัตว์น้อยผู้น่ารักที่สามารถปล่อยใยได้ มาใช้เป็นกิมมิคของหนัง
วันนี้มีอีกหนึ่งสิ่งในแวดวงโลจิสติกส์ ที่กำลังจะถูกเปิดตัวในไม่ช้า นั่นคือ “บัตรแมงมุม” ชื่อก็บอกใบ้ว่าคงมีบ้างอย่างคล้ายคลึงหรือสัมพันธ์กับแมงมุม บัตรปล่อยใยได้? ผิดค่ะ คำตอบคือ บัตรไม่ได้ปล่อยใยได้ แต่เป็นบัตรโดยสารที่สามารถใช้ได้กับระบบขนส่งเกือบทุกระบบ นั่นคือ ระบบตั๋วร่วมหรือบัตรใบเดียว ที่ใช้ได้ทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ และระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ทั้งบีทีเอส เอ็มอาร์ที แอร์พอร์ตลิ้งก์ ซึ่งระบบนี้อยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งาน และคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนส.ค.นี้
บัตรแมงมุม เป็นความหวังอันสดใสของผู้เดินทางทุกเช้าเย็น ผู้โดยสารคงจะสะดวกสบายมากขึ้นกับการลดความยุ่งยากลงบ้างบางอย่าง บัตรแมงมุม ผู้เชื่อมโยงโลกกำลังจะมาถึงแล้ว เตรียมตัวกันให้พร้อมนะคะทุกคน…สวัสดี
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://goo.gl/VwjnsZ