มองอย่างหงส์
“แยกเพื่อรวม”
“รองเท้าข้างเดียวนำเข้ามาเพียงเพื่อเป็นตัวอย่าง
จะได้สิทธิ์ยกเว้นอากรขาเข้าหรือไม่ ???”
หากพิจารณาประกาศกรมศุลกากร ภาค 4 ข้อ 14 จะพบข้อความสั้น ๆ สำหรับตัวอย่างสินค้านำเข้าให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ดังนี้
“ตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างสินค้าและไม่มีราคาในทางการค้า”
ข้อความในกฎหมายมีเพียงเท่านี้แต่มีความหมายชัดเจน รองเท้าข้างเดียวจะสวมใส่ก็ไม่ได้ จะขายก็ไม่ได้ ไม่น่าจะมีราคาทางการค้า จึงถือว่ามีลักษณะตัวอย่างสินค้า
รองเท้าข้างเดียวจึงควรได้รับยกเว้นอากรขาเข้า
คนทั่วไปมองในมุมนี้ก็ต้องตอบว่า “ใช่”
แต่คนที่พอจะรู้เรื่องศุลกากรบ้างอาจไม่มองอย่างนี้
สมมติคนผู้หนึ่งนำรองเท้าข้างซ้ายเข้ามาก่อน แล้วก็นำข้างขวาเข้ามาภายหลัง จากนั้นนำทั้ง 2 ข้างมารวมกันให้เป็นคู่ มันก็กลายเป็นรองเท้าที่สมบูรณ์ได้
ถามว่า “รองเท้าแยกนำเข้าแล้วนำมารวมจนเป็นคู่แบบนี้ ใครจะนำมาสวมใส่ หรือนำไปขายได้หรือไม่ ???”
หากตอบว่า “ไม่ได้ เพราะรองเท้านำเข้าเพียงเป็นตัวอย่างและได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าให้เป็นตัวอย่าง” อย่างนี้มันก็พิลึกน่าดู
คราวนี้ลองสมมติใหม่ บริษัทแห่งหนึ่งคิดพิเรนใช้คน 2,000 คน นำเข้ารองเท้าคนละข้างเพื่อขอรับการยกเว้นอากรขาเข้าให้เป็นตัวอย่าง
หากยกเว้นอากรขาเข้าได้ อะไรจะเกิดขึ้น ???
บริษัทนี้ก็จะมีรองเท้าหรู ๆ ราคาแพง ๆ ไม่ต้องเสียอากรขาเข้าถึง 1,000 คู่ ออกขายกำไรงามทีเดียว
เนื้อหาทางกฎหมายข้างต้นเป็นของจริง แต่เรื่องราวที่สมมติให้ดูโอเวอร์เป็นเพียงการฉายภาพให้ท่านผู้อ่านได้เห็นชัดเจนเท่านั้น
ในความเป็นจริงคงไม่มีผู้ใดคิดพิเรนนำรองเท้าข้างเดียวเข้ามาเป็นตัวอย่างแน่ ไม่มีผู้ใดหาคนมา 2,000 คน นำเข้ารองเท้าคนละข้างเพื่อขอยกเว้นอากรขาเข้า และก็คงไม่มีศุลกากรใดมานั่งเพ่งเล็งรองเท้าที่นำเข้าข้างเดียวเป็นแน่แท้
ในทางปฏิบัติ กรมศุลกากรได้มีประกาศกำหนดของที่จะนำเข้าเป็นตัวอย่างโดให้ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าไว้ชัดเจน เช่น การกำหนดมูลค่านำเข้าไม่เกิน 1,500 บาท เป็นต้น
การนำแนวคิดแบบนี้มาอธิบายก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า การแยกชิ้นส่วนนำเข้าเพื่อใช้สิทธิ์ยกเว้นอากรขาเข้า หรือขอชำระภาษีอากรในอัตราต่ำ จากนั้นก็นำชิ้นส่วนนั้นมารวมกันภายหลังนั้น มันมีการปฏิบัติกันเรื่อยมา
หากสินค้านำเข้าครบสมบูรณ์มีอัตราอากรขาเข้าสูงกว่าการนำเข้าเป็นชิ้นส่วน อย่างนี้การแยกชิ้นนำเข้าแล้วมาประกอบในประเทศไทยก็จะเกิดขึ้น
ธุรกิจใดให้กำไรมาก คนก็จะทำธุรกิจนั้นมากตามไปด้วย
การแยกชิ้นส่วนรถยนต์หรูนำเข้าแล้วประกอบขึ้นมาใหม่ จึงกลายเป็นธุรกิจขึ้นมาโดยผู้ทำธุรกิจหรือผู้ซื้อก็อาจไม่รู้ด้วยว่า มันผิดกฎหมายหรือไม่ ???
รถยนต์หรู 4 ล้อ หากนำข้ามาสมบูรณ์ทั้งคัน (CBU = Completed Built-In Unit) ต้องชำระภาษีอากรในพิกัด 8703
สมมติมีปริมาณกระบอกไม่เกิน 2,400 ซีซี ภาษีอากรที่คำนวณจากราคา C.I.F. จะมีดังนี้
อากรขาเข้าก็ 80% เข้าไปแล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มก็อีก 7% แล้วยังมีค่าธรรมเนียมพิเศษ 10% ภาษีสรรพสามิต 37.5% ภาษีมหาดไทย 10%
ภาษีอากรที่เกี่ยวข้องมีมากหลายรายการจนงง แต่หากเอาง่าย ๆ โดยรวมให้เบ็ดเสร็จแล้วก็ตกประมาณ 242.40% ของราคานำเข้า C.I.F.
หากนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญ ๆ ที่กฎหมายกำหนดว่า ชิ้นส่วนเหล่านี้หากมาจากรถยนต์หรูคันเดียวกันแล้วมาประกอบขึ้นใหม่ มันก็คือการนำเข้ารถยนต์ทั้งคันนั่นละ
แต่อัตราอากรขาเข้าของชิ้นส่วนสำคัญจะต่างกับการนำเข้าทั้งคันมาก เช่น
เครื่องเกียร์ก็อัตรา 5% เครื่องยนต์ก็อัตรา 10% ตัวถังก็อัตรา 40% และส่วนประกอบอื่น ๆ อีกราว 20-30%
เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว การนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญจะอยู่ประมาณ 12 – 49.8% เท่านั้น
ส่วนภาษีสรรพสามิตไปจ่ายภายหลังตามราคาเมื่อประกอบเป็นรถยนต์เสร็จแล้วและจดทะเบียนเพื่อใช้งาน แต่ค่าธรรมเนียมพิเศษกับภาษีมหาดไทยไม่ต้องเสีย
หากนำอัตราภาษีอากร การนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญสูงสุด 49.8% เปรียบเทียบกับอัตราภาษีอากรรวมทั้งคันที่ 242.40% มันต่างกันราวฟ้ากับดิน
แถมราคานำเข้า C.I.F. ที่จะสำแดงเสียภาษีของแต่ละชิ้นส่วนก็ถูกกว่าการนำเข้าทั้งคันอีก
แบบนี้ก็ย่อมมีคนสมองใสซื้อรถยนต์หรูจากต่างประเทศ จากนั้นก็ชำแหละเป็นชิ้นส่วนแล้วทยอยนำเข้ามาประกอบเป็นรถยนต์หรูกันมาก
แต่กฎหมายย่อมมีเจตนาของกฎหมาย
หากชิ้นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะนำเข้าโดยคนเดียวหรือหลายคนก็ตาม แต่แท้จริงแล้วชิ้นส่วนเหล่านั้นเป็นของรถยนต์หรูเดียวกัน
แบบนี้ มันก็เข้าข่ายต้องเสียภาษีอากรแบบสมบูรณ์นั่นละ ความผิดทางกฎหมายก็เกิดขึ้น
ของอย่างนี้มันพิสูจน์ได้ไม่อยาก
ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นตอนประกอบเป็นรถยนต์หรูใหม่ ๆ โรงงานผู้ผลิตเขามี Part Number จดไว้หมด
ชิ้นไหน เบอร์อะไร ประกอบอยู่ในรถยนต์หรูคันไหน
พอรถยนต์หรูคันนั้นมีสภาพเก่าลงก็ถูกขายทิ้ง รถยนต์ก็จะถูกแยกออกเป็นชิ้นส่วน คนไทยชอบชิ้นส่วนไหนก็ไปซื้อมา
จากนั้นก็นำเข้ามาจ้างโรงงานประกอบในไทยจนกลายเป็นรถจดประกอบขึ้น แบบนี้ก็ถือเป็นเรื่องจดประกอบธรรมดา
แต่สิ่งผิดปกติที่เห็นชัด ๆ คือ ทำไมชิ้นส่วนที่ถูกแยกขายในต่างประเทศพอนำมาประกอบเป็นรถยนต์หรูในประเทศไทยกลับมี Part Number แต่ละชิ้นตรงกับเลขเดิมที่ประกอบขึ้นครั้งแรก
หากราชการไทยถามไปยังประเทศต้นทาง ราชการของประเทศต้นทางก็ต้องตอบมา การค้นหาคำตอบก็ได้ไม่ยาก
ชิ้นส่วนสำคัญ ๆ แต่ละชิ้นมันมีเลขที่ฟ้องอยู่ การตรวจสอบก็ง่าย
คนซื้ออยากซื้อรถยนต์หรูราคาถูก คนขายก็อยากขายเอากำไรก็เลยหาหลักฐานการนำเข้าที่ถูกต้องมาให้ดู
สำเนาใบขนสินค้าขาเข้าที่แสดงชิ้นส่วน ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีอากร และหลักฐานอื่น ๆ ก็เอามาให้ดู
หลักฐานการนำเข้าทุกอย่างก็ถูกต้องสมบูรณ์ ก็ตอนนำเข้าแจ้งว่าเป็นชิ้นส่วน มันก็เป็นชิ้นส่วน แต่พอมารวมเป็นรถยนต์หรูกลับขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กลายเป็นการหลบเลี่ยงภาษีอากร
ส่วนคนซื้อที่ไม่ใช่ผู้นำเข้าย่อมเป็นผู้ครอบครอง ส่วนจะมีเจตนาครอบครองโดยสุจริตหรือไม่ก็คงต้องให้ศาลท่านพิจารณา
แยกเพื่อรวม มันทำให้ราคาถูกลงก็จริง แต่หากรู้ไม่จริงมันก็ทำให้ชีวิตวุ่นวายเปล่า ๆ
สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
“4 หัวรถจักรใหม่ของเอเชีย”
ได้ยินคำว่า หัวรถจักร ทำให้นึกย้อนไปถึงสมัยเรียนวิชาสังคมเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 นับตั้งแต่เวลานั้นมาโลกก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จนถึงตอนนี้ก็เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว มนุษย์มีการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าก้าวไกลไปมากเกินกว่า การนำเหล็กมาใช้ในอุตสาหกรรม รถจักรไอน้ำที่เคยเป็นยานพาหนะสำคัญขับเคลื่อนพลวัตโลกในอดีต ตอนนี้ก็กลายเป็นสิ่งของสำคัญในประวัติศาสตร์โลกแล้วเท่านั้น รถไฟไฮสปีดเข้ามามีบทบาทแทน ซึ่งประเทศไทยเองก็มีโครงการที่จะสร้างระบบรถไฟไฮสปีด อย่างที่หลายท่านติดตามข่าวกันอยู่ วันก่อนอ่านข่าวไทยรัฐออนไลน์เจอเรื่อง “4 หัวรถจักรใหม่ของเอเชีย” ซึ่งเนื้อหามีความน่าสนใจก็เลยอยากจะสรุปใจความสำคัญมาฝากท่านผู้อ่านกันค่ะ
” ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ชู ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ขึ้นมาเป็น “4 หัวรถจักรสำคัญ” ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียให้แข็งแกร่งต่อไป โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง มีธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก มีธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กเป็นซัพพลายเชน ทำให้การบริโภคในญี่ปุ่นเติบโตสูงมาก ช่วงสิบปีที่ผ่านมาบริษัทใหญ่ๆในญี่ปุ่น ต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดโลกสูงมาก สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องทำคือการพัฒนาเทคโนโลยีและการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ส่วนประเทศจีน มีจุดเด่นเรื่องการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่เทคโนโลยี ในลักษณะที่เป็น Mass Startup และ Mass Entrepreneur สร้างสตาร์ตอัพและเจ้าของธุรกิจจำนวนมาก ทำให้เกิดเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่อินเดีย มีจุดเด่นที่รัฐบาลลดขั้นตอนการทำธุรกิจ ประชากรมีการศึกษาสูง และมีการนำเข้าเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง และ เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ก้าวหน้าในเรื่อง อุตสาหกรรมอนาคต เทคโนโลยี และ การศึกษา แต่มีจุดอ่อนคือ 20% ของจีดีพีมาจากบริษัทซัมซุงบริษัทเดียว รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพยายามกระจายตัวธุรกิจให้มีการขยายตัวในวงกว้างขึ้น
นอกจาก 4 หัวรถจักรสำคัญข้างต้นแล้ว เอเชียยังมีหัวรถจักรขนาดรองลงมา คือ ฮ่องกง ไต้หวัน อาเซียน ซึ่งการผลักดันให้เศรษฐกิจเอเชียก้าวไปข้างหน้าได้ จะต้องเร่งสรุปเจรจาเรื่อง การเปิดเสรีการค้าในกรอบความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเอเชีย ทำให้เอเชียเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจีดีพี 30% ของโลก ดร.สมคิด สรุปว่า ถ้า RCEP เกิดขึ้นได้จริง จะทำให้ อาเซียน กลายเป็น แอ่งการค้าทางเศรษฐกิจ แอ่งการผลิตที่สำคัญของเอเชีย เพราะมีแรงงานต้นทุนถูก มีชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตจำนวนมาก เป็นกำลังซื้อสำคัญที่จะรองรับการค้าในวันข้างหน้า รวมทั้งจุดแข็งด้านการศึกษา ซึ่งเห็นได้จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 5 อันดับแรกของสหรัฐฯ นักเรียน 70% มาจากเอเชีย”
ขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.thairath.co.th/content/659871
สุวิตรี ศรีมงคลวิศิษฎ์