CEO ARTICLE
“อากรทุ่มตลาด”
อากรทุ่มตลาดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสินค้านำเข้า
มันคืออะไร ???
แล้วทำไมไม่เรียกว่า “ภาษีทุ่มตลาด” ???
ใครเจอคำถามแบบนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนกับคำว่า “อากร” และ “ภาษี” มันต่างกันอย่างไร ???
ประเทศไทยเริ่มเป็นราชอาณาจักรในสมัยกรุงสุโขทัย
การเป็นราชอาณาจักรก็ต้องมีการจัดเก็บรายได้จากราษฎรที่ทำมาหากิน สมัยนั้นเขาไม่ได้เรียก “ภาษีอากร” และไม่ได้เรียกเก็บในอัตรา “ร้อยละ” เหมือนในปัจจุบัน
วัตถุที่ใช้แทนเงินในสมัยนั้นก็ยังไม่สมบูรณ์
การเรียกเก็บจึงเก็บจากสิ่งของแทนตัวเงิน เช่นของ 10 ชิ้นก็ชักเข้าหลวงมา 1 ชิ้น เป็นต้น (อ้างอิง http://taxation18.blogspot.com/)
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาคำว่า “ภาษี” ก็ยังไม่เกิด
สมัยนี้วัตถุที่ใช้แทนเงินมีการวิวัฒนาการมากขึ้น การเรียกเก็บรายได้จากการทำมาหากินก็ยังเหมือนเดิมแต่มีการพัฒนาเรียกรวมเป็น “ส่วยสาอากร” ซึ่งแยกเป็น 4 ประเภท คือ
จังกอบ หรือจกอบ เรียกเก็บจากสินค้าด้วยการชักตามสัดส่วนเหมือนเดิม
อากร เรียกเก็บจากอาชีพต่าง ๆ เช่น เกษตรกรรม จับปลา สุรา โดยจะใช้ตัวเงินหรือสิ่งของเป็นการเรียกเก็บก็ได้ทั้ง 2 อย่าง
ส่วย เรียกเก็บจากเมืองบริวาร เมืองที่อยู่ใต้ปกครองซึ่งเป็นค่าปกครองหรือค่าคุ้มครอง
ฤชา เรียกเก็บจากคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐ เช่น ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ค่าปรับ หรือการออกโฉนด เป็นต้น
พอเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ไทยเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น รูปแบบเงินตราก็มีความชัดเจนขึ้น ในที่สุดก็มีการนำคำว่า “ภาษี” และการเรียกเก็บในอัตรา “ร้อยละ” ตามแบบอย่างต่างชาติมาใช้ แล้วก็นำคำว่า “อากร” จาก 4 ประเภทเดิมมาใช้จนแพร่หลายถึงปัจจุบัน
หากจะสรุปแบบง่าย ๆ ให้พอเข้าใจความแตกต่างระหว่างภาษีกับอากรก็คือ ภาษีเก็บจากคนเป็นพื้นฐาน ส่วนอากรเก็บจากของหรือสินค้าเป็นพื้นฐาน
ภาษี คือเงินที่เก็บโดยพิจารณาจากบุคคลเป็นหลักซึ่งเป็นบุคคลผู้มีกิจกรรมตามที่ประกาศ เช่น บุคคลใดเป็นผู้มีเงินได้ บุคคลใดเป็นผู้บริโภค บุคคลนั้นก็เป็นผู้ชำระภาษี เป็นต้น
อากร คือเงินที่เก็บโดยพิจารณาจากของหรือสินค้าเป็นหลักซึ่งเป็นของหรือสินค้าที่มีประกาศให้เก็บ เช่น สินค้านำเข้า สุรา เป็นต้น แต่เผอิญตัวของหรือสินค้าไม่มีชีวิต การเก็บจึงมาเก็บจากบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือบุคคลที่มาเกี่ยวข้องแทน
พอบุคคลเป็นผู้จ่ายไม่ว่าภาษีหรืออากร ก็เลยใช้คำรวมง่าย ๆ ว่า “ภาษี” อย่างที่เห็น
ทีนี้ก็มาทำความเข้าใจกับคำว่า “ทุ่มตลาด”
การทุ่มตลาด (Dumping) เป็นภาษาทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การกำจัดคู่แข่งขันด้วยการผลิตสินค้าให้มีจำนวนมากจนได้ราคาขายต่ำกว่าท้องตลาด
การทุ่มตลาดจะมีอิทธิพลมากต่อการค้าระหว่างประเทศ เมื่อผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศผู้ส่งออกต้องการกำจัดผู้ผลิตในประเทศนำเข้าด้วยการทุ่มตลาด
ผลของการถูกทุ่มตลาด ผู้ผลิตในประเทศนำเข้าก็สู้ไม่ได้ อาจต้องปิดตัว อุตสาหกรรมในประเทศนำเข้าก็ตกต่ำ แรงงานก็ตกงานแล้วก็ขยายตัวตกกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอื่นในวงกว้าง
การผลิตครั้งละมาก ๆ ให้ได้ต้นทุนต่ำ ๆ ไม่ใช่เรื่องผิด
องค์การการค้าโลก (WTO) จึงห้ามไม่ได้ ในทำนองเดียวกันก็ไม่ได้ห้ามประเทศนำเข้าในการป้องกันระบบเศรษฐกิจของตนมิให้เสียหายจากการทุ่มตลาด
เมื่อเป็นเช่นนี้ การตอบโต้ (Anti-Dumping) ก็ต้องเกิดขึ้น (อ้างอิง http://taxation18.blogspot.com/)
การตอบโต้ของรัฐบาลไทยก็ด้วยการออกเป็นกฎหมาย โดยตราเป็นพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542
พรบ. กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน
รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวงต้องเข้าร่วมโดยตำแหน่งคือ กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการทรวงพาณิชย์ในการตอบโต้การทุ่มตลาด
คณะกรรมการฯ และกระทรวงพาณิชย์จึงต้องร่วมกันสำรวจดูสินค้า ดูการผลิต และระดับราคาสินค้าทั่วโลกตลอดเวลา
เมื่อใดที่พบการทุ่มตลาดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน พรบ. การออกคำสั่งให้กรมศุลกากรจัดเก็บอากรทุ่มตลาดตามอัตราที่กำหนดก็จะเกิดขึ้น
แล้วประกาศให้ประชาชนรับทราบซึ่งถือเป็นการตอบโต้ทันที
ในเมื่อเรียกเก็บจากของหรือสินค้าเป็นหลัก เงินที่เรียกเก็บจึงเรียกว่า “อากร” ด้วยเหตุผลที่กล่าวถึงข้างต้น
ส่วนประชาชนผู้นำเข้าสินค้าทุ่มตลาดอาจไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แล้วไปนำเข้าสินค้าที่มีการทุ่มตลาดมาก็จะมีต้นทุนอากรเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ต้นทุนอากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศสูงขึ้นทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศพอสู้ได้ ไม่ถูกการทุ่มตลาดบีบให้ตายไป
ส่วนผู้นำเข้าที่ไม่อยากถูกดูดเข้าสู้วังวนการตอบโต้แบบนี้ก็ต้องเลี่ยง
วิธีการเลี่ยงที่ดีที่สุดคือ เมื่อใดที่ได้ราคาสินค้าต่ำมาก เมื่อนั้นก็ให้ตรวจสอบกับกระทรวงพาณิชย์ก่อน อย่าดีใจรีบสั่งซื้อทันที
ผู้นำเข้าอยู่ในแวดวงสินค้าตัวนี้ก็ย่อมรู้ระดับราคาดีกว่าผู้ใด ในเมื่อรู้แล้วและได้ราคานำเข้าต่ำกว่ามาก ๆ ก็อย่าหลอกลวงตัวเองโดยไม่ตรวจสอบเพื่อป้องกันความเดือดร้อนในภายหลัง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
ตัวอย่างประกาศคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน
- เรื่อง ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากระเบื้องปูพื้นและทางเดิน กระเบื้องปูพื้นเตา หรือติดผนัง ที่เป็นเซรามิกไม่ได้เคลือบและที่เป็นเซรามิกเคลือบแล้ว รวมทั้งหินโมเสก และของที่คล้ายกันที่เป็นเซรามิกไม่ได้เคลือบและที่เป็นเซรามิกเคลือบแล้ว จะมีสิ่งรองรับหรือไม่ก็ตามที่มีแหล่งกําเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป พ.ศ. ๒๕๕๙
(๑) อัตราร้อยละ ๒.๑๘ ของราคา ซี ไอ เอฟ สําหรับสินค้าที่ผลิตจาก Guangdong Xinruncheng Ceramics Co.,Ltd. หรือ Foshan City Nanhai Chongfa Ceramics Co.,Ltd
(๒) อัตราร้อยละ ๕.๒๗ ของราคา ซี ไอ เอฟ สําหรับสินค้าที่ผลิตจาก Guangdong Winto Ceramics Co.,Ltd. หรือ Guangdong Homeway Ceramics Industry Co.,Ltd.
(๓) อัตราร้อยละ ๗.๖๒ ของราคา ซี ไอ เอฟ สําหรับสินค้าที่ผลิตจาก Foshan City Fangyuan Ceramic Co.,Ltd. หรือ Enping City Huachang Ceramic Co.,Ltd.
(๔) อัตราร้อยละ ๑๒.๕๒ ของราคา ซี ไอ เอฟ สําหรับสินค้าที่ผลิตจาก Foshan Gaoming Shuncheng Ceramic Co.,Ltd.
(๕) อัตราร้อยละ ๓๕.๔๙ ของราคา ซี ไอ เอฟ สําหรับสินค้าที่ผลิตจาก Guangdong Yingchao Ceramics Co.,Ltd หรือ Foshan Yingji Ceramics Co.,Ltd.
(๖) อัตราร้อยละ ๔.๕๘ ของราคา ซี ไอ เอฟ สําหรับสินค้าที่ผลิตจากบริษัทที่มีรายชื่อปรากฏ ตามบัญชีท้ายประกาศฉบับนี้รวม ๔๙ ราย
(๗) อัตราร้อยละ ๓๕.๔๙ ของราคา ซี ไอ เอฟ สําหรับสินค้าที่ผลิตจากผู้ผลิตรายอื่น
(อ้างอิง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/125/6.PDF)
- เรื่อง ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดจากการนำเข้าเหล็กรีดเย็นจากจีน เวียตนาม และไต้หวันเป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา 29 มกราคม 2557
1) สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศจีน ได้แก่ ก) Angang Steel Co., Ltd. อัตรา 10.71% ของราคาซี ไอ เอฟ ข) Baoshan Iron & Steel Co., Ltd. อัตรา 9.24% ของราคาซี ไอ เอฟ ค) ผู้ผลิตรายอื่น อัตรา 20.11% ของราคาซี ไอ เอฟ
2) สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศเวียดนาม ได้แก่ ก) Posco Vietnam Co., Ltd. อัตรา 14.35% ของราคาซี ไอ เอฟ ข) ผู้ผลิตรายอื่น อัตรา 14.35% ของราคาซี ไอ เอฟ
และ 3) สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากไต้หวัน ได้แก่ ก) China Steel Corporation อัตรา 8.80% ของราคาซี ไอ เอฟ ข) Kao Hsing Chang Iron & Steel Corporation อัตรา 17.47% ของราคาซี ไอ เอฟ ค) Ton Yi Industrial Corporation อัตรา 4.22% ของราคาซี ไอ เอฟ และ ง) ผู้ผลิตรายอื่นอัตรา 17.47% ของราคาซี ไอ เอฟ
แต่หากผู้ใดไม่พอใจคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการตามประกาศนี้ ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัย
(อ้างอิง http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1392290866)
The Logistics
ไทย-ปากีสถาน ถก FTA เร่งสรุปผลเจรจากลางปี 60
FTA คำคุ้นหูที่มีมานานราวสิบปี นานจนหลายคนอาจจะลืมไปแล้ว ว่า FTA ได้ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราไม่มากก็น้อย สินค้าหลายอย่างที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ที่สามารถซื้อหามาใช้กันได้อย่างสะดวกในราคาที่เอื้อมถึง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ FTA
ที่กล่าวอย่างนั้นก็เพราะว่า “Free Trade Area หรือ Free Trade Agreement (FTA) หมายถึงเขตการค้าเสรีหรือข้อตกลงทางการค้าเสรี นั่นคือ ประเทศ 2 ประเทศหรือ หลายประเทศจะรวมกลุ่มกันเพื่อทำการลดภาษีศุลกากรระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็น 0 และใช้อัตราภาษีที่สูงกับประเทศนอกกลุ่ม ดังนั้นประโยชน์เบื้องต้นที่เห็นได้ คือสินค้าของเราหากส่งไปขายยังประเทศในกลุ่มจะมีต้นทุนที่ลดลง เพราะภาษีถูกลง หรือเหลือศูนย์ส่งผลให้สินค้าของเรามีความสามารถในการแข่งขันในตลาดนั้น ๆ หรือหากนำเข้าเราก็ เสียภาษีในอัตราที่ถูกลงทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าไม่สูงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์ไปด้วยจากการที่มีสินค้าหลากหลายเข้ามาขาย ทำให้สามารถเลือกซื้อได้ตามราคาและคุณภาพที่ต้องการในราคาที่ถูกลง”
ล่าสุด มีการประชุมเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 6 ที่กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 17-18 ม.ค. โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า การเจรจารอบนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับรูปแบบการเปิดตลาดสินค้า การแลกเปลี่ยนข้อมูลและรายการสินค้าที่จะเปิดตลาดระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะเปิดตลาดระหว่างกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด นอกจากนั้นยังสามารถสรุปผลการหารือในส่วนของข้อบทได้เกือบทุกข้อแล้ว ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้เร่งสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในปลายปีนี้ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจาครั้งต่อไปในเดือนมีนาคม 2560
การจัดทำ FTA ไทย-ปากีสถาน จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองประเทศทั้งด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งในรูปภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เป็นการเพิ่มโอกาสการนำเข้าโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ โดยปากีสถานยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีค่าเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าของไทยไปประเทศปากีสถานและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ
ในปี 2558 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 42 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย โดยการค้าระหว่างไทยกับปากีสถานในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558) มีมูลค่าเฉลี่ย 1,016.95 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของปากีสถาน เช่น สิ่งทอ (เครื่องนุ่งห่ม ผ้าลินิน ผ้าฝ้าย เสื้อผ้าสำเร็จรูป) เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกีฬา เคมีภัณฑ์ พรม เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่มีศักยภาพของปากีสถาน เช่น น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องจักร พลาสติก อุปกรณ์เพื่อการขนส่ง น้ำมันพืช เหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23-25 มกราคม 2560