SNP NEWS

ฉบับที่ 516

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE


” น้ำมันแพง “
‘ขึ้นราคาบ่อยเกิน ! โซเซียลปลุกระดม งดใช้บริการ “ปตท.” หลังราคาน้ำมันดีดต่อเนื่อง’
หัวข้อข้างต้นมาจากสื่อออนไลน์ (https://www.sanook.com/news/6582630/) แสดงการต่อต้าน ปตท. ด้วยข้อกล่าวว่า ปตท. คือตัวดีที่เป็นต้นเหตุให้ราครน้ำมันในบ้านเราสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

แล้วข้อกล่าวหาที่ถล่มใส่ ปตท. ให้เป็นจำเลยสังคมในสื่อโซเซียลก็โหมกระหน่ำหนักมากขึ้น กระทั่งชวนกันไม่เติมน้ำมัน ปตท. พร้อมข่าวปลอมจากคนไม่ชอบ ปตท. ออกมาอีกมาก

ด้านผู้ประกอบการขนส่งไม่ว่าจะเป็นการขนคนหรือสินค้าก็ตั้งท่ากระหึ่มจะขึ้นราคาตาม

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาราว 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนจนรับไม่ได้ด้วยคำถามง่าย ๆ ที่ไม่มีใครตอบได้ตรง ๆ

น้ำมันแพง ทำไมน้ำมันประเทศไทยจึงแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ???

เพียงไม่นานก็มีการอธิบายทางสื่อหลายแขนง และการชี้แจงโดยตรงผ่านทางเฟซบุ๊กจาก นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่พอรับฟังในประเด็นหลัก ๆ ได้ ดังนี้

    1.  ในภูมิภาคนี้ ราคาน้ำมันขายปลีกในไทยไม่ได้สูงสุด สิงคโปร์ต่างหากที่สูงสุดเพราะสิงคโปร์กำหนดนโยบายลดการใช้รถยนต์ ขณะที่มาเลเซียราคาต่ำสุดเพราะขุดน้ำมันได้มากกว่าไทยจึงมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซมากกว่าไทยและแทบไม่เก็บภาษีจากผู้ใช้น้ำมัน
    1.  ปตท. ไม่ได้มีนักการเมืองถือหุ้นใหญ่อยู่เบื้องหลัง ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่แท้จริงคือรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ถือหุ้นอยู่ 63.5% สถาบันการเงินและกองทุนถือหุ้นอยู่ 32% และนักลงทุนรายย่อย 4.5%
    1.   ราคาขายปลีกน้ำมันที่สูงเพราะมีภาระภาษีหลายรายการ สมมติดีเซลราคาขายปลีกลิตรละ 29.79 บาท จะเป็นราคาหน้าโรงกลั่นเพียง 19.2958 บาท ส่วนที่ส่งผลให้น้ำมันมีราคาสูงสุดคือภาษีสรรพสามิตจำนวน 5.85 บาท  (ดูรายละเอียดประกอบด้านท้าย)

นี่คือข้อมูลที่ได้รับจากสื่อต่าง ๆ ทำให้เข้าใจได้ว่า ราคาน้ำมันขายปลีกของทุกประเทศไม่ว่าจะถูกหรือแพงก็ตามล้วนขึ้นอยู่กับนโยบายแห่งรัฐด้านภาษีอากรทั้งสิ้น
มาเลเซียไม่มีนโยบายเก็บภาษีมากนักจากผู้ใช้ เนื่องจากความสามารถที่ขุดน้ำมันได้เองในประเทศ ขณะที่สิงคโปร์และไทยใช้นโยบายเก็บภาษีมากเป็นการแสดงว่า ไม่ส่งเสริมให้ใช้น้ำมัน

นี่คือนโยบายแห่งรัฐด้านภาษีอากรของทั้ง 3 ประเทศ

ข้อมูลที่ได้ในครั้งนี้คือ ไทยเก็บภาษีสรรพสามิตสูงถึง 5.85 บาทต่อดีเซล 1 ลิตรในระดับราคาขายปลีก 29.79 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19.64 ของราคาขายปลีก

ภาษีสรรพสามิตเป็นภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากการบริโภคสินค้าฟุ้มเฟือย รัฐไม่ส่งเสริมให้ใช้สินค้าฟุ้มเฟือยจึงเก็บภาษีสรรพสามิตจากผู้ใช้ ตัวอย่างที่เห็นคือ สุรา บุหรี่ อาบอบนวด สนามม้า ไพ่ สนามกอล์ฟ และอื่น ๆ เป็นต้น

รัฐบาลตีความว่า น้ำมันที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ขุดใช้เองได้น้อย ต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่คือสินค้าฟุ้มเฟือยจึงกำหนดนโยบายเก็บภาษีสรรพสามิต

หากจะให้ลดราคาน้ำมันขายปลีกก็ง่าย รัฐเพียงกำหนดว่าน้ำมันไม่ใช่สินค้าฟุ้มเฟือย หรือประกาศลดอัตราภาษีสรรสามิตจากน้ำมันลง

เพียงแค่นี้ ราคาน้ำมันขายปลีกก็ย่อมลดตามลง แต่ทำไมรัฐบาลไม่ทำ ???

20 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผ่านการมีรัฐบาลหลายชุดไม่ว่าจะโดยการรัฐประหาร หรือการเลือกตั้ง ไม่ว่าโดยการรัฐประหาร หรือโดยการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทย หรืออื่น ๆ

ทุกรัฐบาลเคยผ่านราคาน้ำมันที่มีการขึ้นและการลงไม่แพ้กัน และราคาที่ขึ้นหรือลงทุกครั้งต่างก็มาจากปัจจัย 2 ประการหลักนคือ การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นลง ส่วนปัจจัยอื่นอาจจะมีบ้างแต่ไม่มาก

ตรงกันข้าม ไม่มีรัฐบาลคณะไหนที่จะเข้าไปแตะต้องภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันอย่างจริงจัง จะมีก็แต่เพียงนำมาพิจารณา แตะนิดหน่อย และสุดท้าย ภาษีสรรพสามิตก็มาอยู่ในอัตราอย่างที่เห็น

ภาษีสรรพสามิตกลายเป็นปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันสูงสุด

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทุกรัฐบาลต่างต้องการคะแนนเสียงจากชาวบ้านทั้งนั้น เพียงแค่ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกลดลงเท่านั้น รัฐบาลย่อมได้ใจและได้คะแนนเสียงมากทีเดียวแต่สุดท้ายก็ไม่มีรัฐบาลไหนเลยที่กล้าลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง

เวลาที่ผ่านมา 20 กว่าปี รัฐบาลก็อีกหลายคณะ แต่นโยบายแห่งรัฐกลับยังคงเดิม มันจึงน่าจะยืนยันว่า การลดภาษีสรรพสามิตเพื่อลดราคาขายปลีกน้ำมันจึงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะคิดทำง่าย ๆ มันต้องมีอะไรมากเกินกว่าการตีความว่า น้ำมันเป็นสินค้าฟุ้มเฟือย

คำถามที่ว่า ทำไมน้ำมันของไทยจึงแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ???

คำตอบจึงไม่น่าจะเกี่ยวกับ ปตท. แต่น่าจะอยู่ที่นโยบายแห่งรัฐโดยมาตรการภาษีสรรพสามิต และมาตรการอื่น ๆ ตามที่กล่าวถึงข้างต้นมากกว่า เว้นแต่กรณีราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการเคลื่อนไหว

ส่วนการนำราคาน้ำมันจากประเทศอื่นมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยในทำนองที่ถูกว่านั้น ในทางทฤษฏีสามารถทำได้ แต่ผู้เปรียบเทียบต้องนำบริบททางสังคมและนโยบายแห่งรัฐของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันมาประกอบด้วย ขณะที่ทางปฏิบัติกลับไม่สามารถทำได้เลยเนื่องจากขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ

ดังนั้น ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นจนส่งผลต่อค่าโดยสาร ค่าขนส่งสินค้า และต้นทุน Logistics ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งจึงหนีไม่พ้นนโยบายแห่งรัฐดังที่กล่าวข้างต้น

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐหรือผู้เกี่ยวข้องในการทำความเข้าใจต่อประชาชนให้มากกว่านี้ซึ่งในยุคข่าวสารข้อมูลเช่นปัจจุบัน เรื่องแบบนี้ไม่น่าจะยากเย็นเข็ญใจอะไรมากนัก
ปล. ประมาณการณ์องค์ประกอบราคาน้ำมันดีเซลของไทย สมมติขายปลีก 29.79 บาท

ราคาหน้าโรงกลั่น 19.2958 บาท

ภาษีสรรพสามิต    5.8500

ภาษีเทศบาง  0.5850

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง    0.0100

กองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน  0.1000

ค่าการตลาด  2.0003

ภาษีมูลค่าเพิ่ม  1.9489

รวมราคาขายปลีก 29.79 บาท
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

MOL ประกาศร่วมทุนจัดตั้งบริษัทท่าเทียบเรือ Haiphong International Container Terminal

สายการเดินเรือ Mitsui O.S.K Lines (MOL) ประกาศร่วมทุนจัดตั้งบริษัทท่าเทียบเรือใหม่ ในนาม Haiphong International Container Terminal (HICT) ณ ท่าเรือ Lach Huyen เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

โดย HICT ถือเป็นท่าเทียบเรือแห่งแรกในเวียดนามเหนือที่มีความลึกหน้าท่าที่สามารถรองรับเรือขนส่งตู้สินค้า ขนาด 14,000 ทีอียู ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าในด้านการขนถ่ายสินค้าที่รวดเร็วและมีต้นทุนการขนส่ง ที่ลดลง เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในเวียดนามเหนือ รวมไปถึงเขตอุตสาหกรรม Haiphong เนื่องจากท่าเรือสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ที่เชื่อมต่อโดยตรงระหว่างท่าเทียบเรือฯ กับท่าเรือหลักอื่นๆ ในทวีปเอเชีย และอเมริกาเหนือ/ยุโรป

นอกจากนี้ สายการเดินเรือ MOL ยังมีส่วนร่วมในธุรกิจเรือพ่วงในท่าเรือ Lach Huyen ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ HICT สามารถให้การสนับสนุนเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่ ด้วยการเพิ่มความถี่ในการเข้าเทียบท่าเรือ เพื่อให้มั่นใจว่าเรือขนส่งตู้สินค้ามีการปฏิบัติการด้วยความปลอดภัย

โดยงานเปิดท่าเทียบเรือดังกล่าว ถือเป็นการเปิดตัวโครงท่าเรือ Lach Huyen ไปในตัว ซึ่งโครงการนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนครั้งแรกระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและเวียดนาม โดยได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลเวียดนามได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ เขื่อนกั้นน้ำ ทางหลวง และการเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งทางบกและท่าเรือ และเกาะ Cat Hai ทั้งนี้ บริษัท HICT เป็นธุรกิจเอกชน ซึ่งมีสายการเดินเรือ MOL เป็นผู้ร่วมทุน และเช่าพื้นที่ในการปฏิบัติการท่าเทียบเรือตู้สินค้า

ที่มา:

http://thai.logistics-manager.com/2018/05/24/mol