Logistics Corner 574 ผูกขาดทางอ้อม

SNP NEWS

Follow Us :

    

CEO ARTICLE

ผูกขาดทางอ้อม

“ขับแกร็บถูกกฎหมาย”

วันที่ 4 ก.ค. 62 ที่ผ่านมา MGR Online เผยแพร่ผลสำรวจของกรมการขนส่งทางบกดังกล่าวโดยให้ข้อมูลว่า คนหนุนล้นหลามถึง 97% เพื่อเป็นข้อมูลให้ รมว. คมนาคมคนใหม่
ก่อนหน้านั้นเพียง 2 วัน ไทยรัฐฉบับวันที่ 2 ก.ค. 62 คอลัมน์ ‘ลม เปลี่ยนทิศ’ ก็ขึ้นหัวข้อข่าวว่า ‘แกร็บถูกกฎหมายมาแน่’ โดยหมายรวมถึง Grab และ Uber ที่กำลังเป็นข้อถกเถียงในสังคม
การผูกขาดในทางธุรกิจเกิดขึ้นประเทศไทยมาช้านาน คนไทยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้และไม่ว่าจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม ธุรกิจผูกขาดก็เกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
การผูกขาดอาจเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น ธุรกิจกลุ่มหนึ่งสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ต่ำกว่าผู้อื่นโดยอาจใช้เทคโนโลยีที่ต้องลงทุนสูง หรืออาจควบคุมร้านสะดวกซื้อซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายได้ทั่วประเทศจนสินค้าอื่นอาจจำหน่ายไม่ได้ เป็นต้น
การผูกขาดโดยธรรมชาติจะทำให้ผู้ลงทุนมีน้อยรายเข้าแข่งขัน
การผูกขาดอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้นโดยกฎหมาย เช่น ธุรกิจการให้บริการแท็กซี่ซึ่งผู้ที่ทำธุรกิจนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่มีการควบคุมเพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ
เมื่อกฎหมายเข้ามาควบคุม ความยุ่งยากและต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้เกิดการผูกขาด
ธุรกิจที่มีการผูกขาด ประชาชนผู้บริโภคจะทางเลือกน้อยลง ราคาสินค้าหรือค่าบริการก็ขาดการแข่งขันที่ทำให้คุณภาพไม่มีการพัฒนาตามไปด้วย
ธุรกิจการให้บริการแท็กซี่เกือบทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยก็ถูกผูกขาดโดยกฎหมาย
กรณีของแท็กซี่ในประเทศไทย เมื่อประชาชนไม่ได้รับความสะดวกและมีความระแวงในความปลอดภัย ประชาชนส่วนใหญ่ที่พอจะหาเงินผ่อนรถยนต์ได้ก็จะหันมาซื้อรถยนต์ขับเอง
รถยนต์ที่วิ่งจำนวนมากในเมืองเศรษฐกิจ สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากประชาชนปฏิเสธการใช้บริการรถยนต์สาธารณะจนก่อให้เกิดปัญหามลภาวะ การจราจรติดขัด การนำเข้าชิ้นรถยนต์ ปัญหาเศรษฐกิจ และลุกกลามไปถึงต้นทุนทางอ้อมของ Logistics สูงขึ้นที่ผู้ประกอบการ Logistics ไม่อาจควบคุมได้ง่าย ๆ
ในที่สุด ธุรกิจ Grab และ Uber ก็เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ให้เป็นทางเลือกแก่ประชาชนภายใต้แนวคิด ‘การแบ่งปัน’ โดยประชาชนที่มีรถยนต์ส่วนตัวสามารถเข้าร่วมในธุรกิจใหม่นี้
เมื่อ Grab และ Uber เข้ามาประเทศไทย การต่อต้านจากแท็กซี่ที่มีกฎหมายรองรับ และเป็นธุรกิจผูกขาดโดยกฎหมายก็เกิดขึ้น
การต่อต้านลุกลามไปถึงการปิดล้อม การทำร้ายคนขับ Grab และ Uber จนทำให้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวต้องตกใจ ในที่สุดก็กระทบต่อการท่องเที่ยว ชื่อเสียง และภาพลักษณ์ของประเทศไทย
เมื่อแท็กซี่เป็นธุรกิจผูกขาดโดยกฎหมาย เป็นการผูกขาดทางอ้อม ประเทศต่าง ๆ ก็แก้ไขหรือออกกฎหมายให้เกิดการรองรับยกเว้นประเทศไทยที่ล่าช้าทั้งที่ในยุค คสช. การออกกฎหมายสามารถทำได้ด้วยความรวดเร็ว
จากบทความในไทยรัฐดังกล่าวทำให้ทราบว่า ประเทศสิงคโปร์ได้ออกกฎหมายชื่อ The Road Traffic 2017 ตั้งแต่เดือน ก.พ. 60 เพื่อนำ Grab and Uber เข้าสู่ระบบให้ถูกต้องเพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้ขับขี่สามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย
ผู้ขับขี่ Grab และ Uber ต้องสอบใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถรับจ้างส่วนบุคคล ต้องอบรมหลักสูตรเป็นเวลา 10 ชั่วโมง ต้องต่อใบอนุญาตทุก 6 ปี ต้องติดสติกเกอร์ที่กระจกรถเพื่อยืนยันสถานะ และไม่อนุญาตให้รับผู้โดยสารที่จุดจอดหรือจากการโบกริมถนน แต่ให้รับผู้โดยสารจาก Applicaion ที่บริษัทผู้ให้บริการต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นกัน
นี่คือความปลอดภัยที่กฎหมายมอบให้กับประชาชน
ขณะที่มาเลเซียก็ออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน ส.ค. 59 โดยต้องทำประกันภัยให้ครอบคลุมผู้โดยสาร และอื่น ๆ
ธุรกิจผูกขาดไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็สามารถแก้ไขได้โดยกฎหมายซึ่งวันนี้ Grab และ Uber กำลังรอรัฐบาลใหม่ที่มีนักการเมืองมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในการแก้ไข

การผูกขาด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Monopoly เป็นลักษณะธุรกิจที่ทำให้การแข่งขันเกิดขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ผู้ให้บริการมีรายเดียว แต่หมายความว่า ผู้ให้บริการมีน้อยรายจนทำให้ขาดการแข่งขัน
ในบางกรณี การผูกขาดก็เกิดจากการร่วมมือของผู้ให้บริการที่มีน้อยราย
การให้บริการแท็กซี่แม้จะมีกฎหมายควบคุม แต่เพราะกฎหมายทำให้ Grab และ Uber กลายเป็นธุรกิจผิดกฎหมาย และทำให้แท็กซี่เป็นธุรกิจผูกขาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งที่กฎหมายไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้เกิดการผูกขาด
ประเทศไทยยังมีสินค้าและการบริการในลักษณะผูกขาดแม้ไม่ชัดเจนอีกมาก เช่น การให้บริการคลื่นโทรศัพท์ที่มีเพียงไม่กี่ราย ร้านสะดวกซื้อที่สามารถควบคุมช่องทางจำหน่ายสินค้าได้ทั่วประเทศ และอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การผูกขาดให้เห็นกันตรง ๆ
การผูกขาดที่เกิดขึ้นทางอ้อมเหล่านี้ไม่สามารถมองเห็นกันง่าย ๆ แต่ทำให้กลไกทางการตลาดถูกผูกขาด การแข่งขันเกิดขึ้นไม่เสรี ผู้ผลิตสินค้าและผู้ประกอบการรายย่อยขาดโอกาส ถูกกดราคา หรือไม่สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ง่าย ๆ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่เติบโตเท่าที่ควร
ทั้งที่ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายป้องกันมิให้ผู้ให้บริการรายใหญ่ควบรวมธุรกิจ ป้องกันการผูกขาด มิให้กีดขวางการค้าเสรี ฯลฯ แต่สินค้าและการบริการหลายด้านก็ยังถูกผูกขาดทางอ้อม
หากรัฐบาลจะนำ Grab และ Uber ขึ้นมาพิจารณาให้มีกฎหมายรองรับ รัฐบาลที่มาจากประชาชนน่าจะนำสินค้าและการบริการที่มีลักษณะผูกขาดทางอ้อมขึ้นอีกมากมาพิจารณาแก้ไข
หากแก้ไขปัญหาการผูกขาดทางอ้อมได้ก็เชื่อว่า การพัฒนาสินค้าและบริการของไทยน่าจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับก็จะเพิ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่งตามไปด้วย

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

 

LOGISTICS

TangerMed และ A.P. Moller – Maersk เปิดท่าเทียบเรือมูลค่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐในโมร็อกโก

ท่าเทียบเรือ APM Terminals Medport Tangier คือความร่วมมือครั้งที่สองระหว่างท่าเรือ TangerMed ในโมร็อกโก และบริษัท A.P. Moller – Maersk หลังจากท่าเทียบเรือ APM Terminals MedPort Tangier ซึ่งสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากกว่า 5,000,000 ทีอียูได้เปิดให้บริการ ประเทศโมร็อกโกได้กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการถ่ายลำสินค้าที่สำคัญที่สุดในโลก ปัจจุบันท่าเรือ TangerMed นับเป็นหนึ่งในท่าเรือชั้นนำของทวีปแอฟริกา และเป็นหนึ่งใน 50 ท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่สำคัญของโลกจากที่ตั้งซึ่งอยู่บนเส้นทางการค้าหลัก และมีส่วนสำคัญในการเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าและออกจากทวีปแอฟริกา

ท่าเทียบเรือ APM Terminals MedPort Tangier ใช้เวลาก่อสร้างสองปี และเงินทุน 800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าดังกล่าวได้รับการออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการโดยบริษัท APM Terminals และจะให้บริการแก่สายการเดินเรือ Maersk รวมทั้งบริษัทคู่ค้าอื่นๆ ซึ่งภายในท่าเทียบเรือมีการติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยระดับสูงสุด

โดย Mr. Morten H. Engelstoft ประธานบริหาร APM Terminals กล่าวว่า “บริษัท APM Terminals ของเรามีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลโมร็อกโกมาอย่างยาวนาน และพวกเราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะได้บริหารงานท่าเทียบเรือตู้สินค้าแห่งที่สองในท่าเรือ TangerMed เราเชื่อว่าท่าเทียบเรือตู้สินค้า APM Terminals MedPort Tangier จะกลายเป็นส่วนสำคัญในเครือข่ายระดับโลกของเรา และจะทำให้เราดูแลลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมการค้าทั่วโลกด้วย”

ท่าเทียบเรือแห่งใหม่นี้จะช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือ TangerMed ได้มากถึง 9,000,000 ทีอียูต่อปี ซึ่งจะช่วยโมร็อกโกในการเชื่อมต่อกับทั่วโลก

ค่า GDP ของประเทศโมร็อกโกเติบโตขึ้นถึง 4.1 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มทางด้านบวกในการนำเข้าและส่งออกตู้สินค้า ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ปัจจุบันมีเรือขนส่งสินค้าประมาณ 200 ลำเดินทางผ่านช่องแคบยิบรอลตาร์ด้วยจุดประสงค์ในการเชื่อมต่อทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา และแอฟริกาเข้าด้วยกัน ด้วยท่าเรือที่มีความกว้าง 1,200 เมตร ความลึกหน้าท่า 16-18 เมตร ทำให้ท่าเทียบเรือ APM Terminals MedPort Tangier สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดได้

ที่มา: http://thai.logistics-manager.com/2019/07/03/ap-moller-maersk-morocco/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.