CEO ARTICLE

ฐานะแห่งตน


Follow Us :

    

ทำอย่างไรคนทั่วไปส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงจะมีเงินออม ???

ชีวิตที่ไม่มีเงินฉุกเฉินเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน คนส่วนใหญ่ก็ต้องกู้เงินที่มีภาระให้ผ่อนแม้จะโดนดอกเบี้ยโหดก็ยอม สุดท้ายก็ไม่มีเงินออมไว้ใช้ในอนาคต

บางคนเมื่อกู้เงินแล้วยังทำผิดซ้ำสองด้วยการทำทุจริตจนชีวิตตกต่ำ

MGR ONLINE เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2562 เวลา 16.12 ระบุหัวข้อ กทม. ชวนประชาชนบริหารเงินออมครอบครัว-แก้ไขปัญหาหนี้สินโดยมีหน่วยงานดูแล

“ศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัวและแก้ไขปัญหาหนี้สิน”

ในข่าวให้เหตุผลคือ ประชาชนมีปัญหาหนี้สิน ไม่มีวินัยการออม ไม่มีการวางแผนการใช้เงินโดยศูนย์ฯ จะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำและส่งเสริม ฯลฯ

การออมเงินในปัจจุบันเป็นเรื่องยาก ตั้งแต่ลืมตาขึ้นจากที่นอนกระทั่งกลับเข้านอนใหม่ คนส่วนใหญ่ต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคกันทุกวัน

การใช้สาธารณูปโภค การสื่อสาร อาหาร และการบริการอื่น ๆ จำเป็นต้องใช้เงิน ยิ่งไปกว่านั้น วิวัฒนาการการผลิต เทคโนโลยี และการตลาดยังทำให้สินค้ามีราคาถูกลง ของใช้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นไม่เว้นวัน การกระตุ้นความอยากได้

ต่าง ๆ นานาเหล่านี้ล้วนดึงดูดเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้หายไปง่าย ๆ

เมื่อชีวิตมาถึงจุดที่จำเป็นต้องใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาของบุตรหลาน อุบัติเหตุ การเจ็บป่วย หรือการลงทุนล้วนส่งเสริมให้เข้าหาเงินกู้ทั้งสิ้น

หากพิจารณาในมุมนี้จะพบว่า คนในอดีตได้เปรียบกว่าเพราะสิ่งดึงดูดใจให้ใช้เงินมีน้อย อีกทั้งวิธีการประหยัดเงินเพื่อออมก็มีทางให้เลือกมากภายใต้แนวคิด

“คนกินอยู่เกินกว่าฐานะแห่งตน ไม่มีวันร่ำรวย”

“คนกินอยู่ต่ำกว่าฐานะแห่งตน ไม่มีวันยากจน”

‘ฐานะแห่งตน’ เป็นวลีที่น่าคิด

ปัญหาคือ ฐานะแห่งตนอยู่ที่ตรงไหนและจะกินอยู่อย่างไรให้เหมาะกับฐานะแห่งตน

วิธีการคำนวณฐานะแห่งตน สมมุติคนผู้หนึ่งมีรายได้หลังหักภาษีแล้ว 10,000 บาท หากคนผู้นี้แบ่งรายได้ออกเป็น 4 ส่วนแบบคนรุ่นก่อน เขาต้องทำ ดังนี้

1. ส่วนจำเป็น เช่น ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเตอร์เนท ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าเช่าห้องพัก และค่าใช้รายเดือนที่จำเป็นที่สร้างรายได้เพิ่มรวมถึงเงินให้พ่อแม่รายเดือนและเงินชำระหนี้ เป็นต้น

รายจ่ายใดที่ไม่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือจ่ายโดยไม่คุ้มค่าเงิน เช่น ค่าแพคเก็ทที่ต้องใช้คลื่นโทรศัพท์มือถือรายเดือนที่ใช้ไม่คุ้มค่าก็ควรตัดออก ค่าผ่อนรถยนต์ที่ไม่จำเป็นต่องาน ไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้ก็ให้ตัดออกหรือลดให้เหลือน้อยที่สุด เป็นต้น

สมมุติรายจ่ายส่วนจำเป็นเมื่อตัดแล้วอยู่ที่ 2,000 บาท ให้พ่อแม่อีก 1,000 บาท รายจ่ายส่วนจำเป็นของคนผู้นี้จะเป็น 3,000 บาทต่อเดือน

2. ส่วนฉุกเฉิน เช่น การเจ็บป่วยฉุกเฉิน การซื้อเสื้อผ้า การพักผ่อน การท่องเที่ยว และอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ทั้งหมดคือเรื่องฉุกเฉิน

เงินฉุกเฉินไม่ควรมาก หากเดือนไหนไม่ใช้ ส่วนนี้จะเพิ่มมากขึ้น การเก็บก็ควรแยกบัญชีเปิดใหม่เพื่อเก็บเงินฉุกเฉินต่างหาก สมมุติอยู่ที่ 300 บาท

3. ส่วนออมเพื่ออนาคต เงินจำนวนนี้ต้องไม่มาก ไม่กระทบส่วนอื่น ให้คิดว่าส่วนนี้จะฝังดินไม่ใช้จนกว่าจะถึงกำหนดที่ตั้งไว้ เช่น 5 ปี ส่วนนี้ก็ควรแยกเปิดบัญชีไว้เป็นความลับ ไม่ควรบอกใคร สมมุติเงินออมอยู่ที่ 800 บาท

เงินออมเดือนละ 800 บาท ปีหนึ่งจะได้ 9,600 บาท หรือราว 10,000 บาท หากออมได้ 5 ปี โดยไม่เหลียวดูก็จะมีเงินออมราว 50,000 บาท

4. ส่วนประจำวัน เมื่อนำรายได้ประจำเดือนหักส่วนจำเป็น (3,000) ส่วนฉุกเฉิน (300) และส่วนเงินออม (800) แล้ว คนผู้นี้จะมีเงินเหลือ 6,000 บาทเป็นเงินที่ใช้จ่ายได้ในเดือนนั้น

เงิน 6,000 บาท ต่อเดือนหรือ 200 บาทต่อวันนี่ละคือ ‘ฐานะแห่งตน’

เมื่อคำนวณได้ฐานะแห่งตนแล้ว ประเด็นคือ ทำอย่างไรคนผู้นี้จึงจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินเฉลี่ยวันละ 200 บาท

การหาที่พักใกล้ที่ทำงาน หาอาหารที่ประหยัด และอื่น ๆ เพื่อให้อยู่ได้ด้วยเงิน 200 บาทต่อวัน นี่จึงเป็นเหตุผลของคนรุ่นก่อนยอมอาศัยวัด อาศัยญาติพี่น้องซึ่งเมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5 ปี เขาก็มีเงินฉุกเฉินจำนวนหนึ่งที่อาจใช้หรือไม่ใช้ และมีเงินออม 50,000 บาท จนนำไปลงทุนตั้งตัวได้

การรักษาวินัยการเงินไม่ใช่เรื่องง่ายในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้ยาก

หากรักษาวินัยการเงินนี้ได้ระยะหนึ่ง ความคุ้นเคยจะเกิดขึ้น เมื่อเงินเดือนเพิ่มขึ้นรายได้แต่ละเดือนมากขึ้น เงินส่วนต่าง ๆ ก็จะสามารถจัดสรรเพิ่มขึ้น

‘การมีวินัยการเงิน’ คือ ‘การเคารพเงินส่วนอื่น’ ที่จัดสรรไว้ ไม่นำเงินส่วนจัดสรรอื่นไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

เมื่อใดท่านมีวินัยการเงินที่ดี เมื่อนั้นท่านก็ควบคุมตนเองให้อยู่ในฐานะแห่งตนได้เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นอื่นเข้ามาแทรก

คนที่ไม่พอกินพอใช้อยู่แล้วหากได้เงินเพิ่มอีกวันละเล็กน้อย ชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่ หากใช้เงินน้อยลงอีกเล็กน้อยชีวิตก็ไม่ได้แย่ไปกว่าเดิมเช่นกัน

การไม่มีเงินออม 50,000 บาท ในอีก 5 ปี กับการมีเงินออม 50,000 บาท ในเวลา 5 ปีที่ต้องอดทน มันต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นี่เป็นแนวทางหนึ่งของคนรุ่นเก่าเท่านั้น ส่วนคนที่ทำไม่ได้ก็คงต้องหาวิธีอื่นหรือปรึกษาศูนย์ส่งเสริมฯ ที่ กทม. จัดขึ้นข้างต้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

ป.ล. สำนักงานการพัฒนาชุมชน สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร เพื่อแนะนำวิธีการบริหารเงินออม โทร. 0 2247 9454-5 หรือ

ติดต่อ ศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัวและแก้ไขปัญหาหนี้สิน ณ สำนักงานเขต ในวันเวลาราชการตั้งแต่ 08.30 น.-16.30 น.

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - S.N.P. GROUP

Logistics

เส้นทางขนส่งสินค้าไทยไปยังคาซัคสถานในปัจจุบัน เส้นทางไหนปังหรือพัง

สาธารณรัฐคาซัคสถานเป็นประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดทะเล (Landlocked) แต่มีพรมแดนติดกับประเทศจีน ทำให้จีนร่วมมือกับคาซัคสถาน รวมถึงประเทศอื่นๆ เพื่อริเริ่มสร้างเส้นทางสายไหม (Silk Road Initiatives) ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าที่เชื่อมโยงสินค้าระหว่างประเทศตะวันออกกับประเทศตะวันตกหรือยุโรปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ระยะการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากท่าเรือทางตะวันออกของจีน (ผ่านคาซัคสถาน) ไปยังประเทศยุโรปประมาณ 10,000 กิโลเมตร ใช้เวลาอย่างน้อย 13 – 15 วัน ถือเป็นเส้นทางที่มีระยะทางสั้นที่สุดและใช้เวลาการเดินทางน้อยที่สุด ขณะที่เส้นทางอื่นๆ ได้แก่ การขนส่งทางรถไฟผ่านแถบไซบีเรียในประเทศรัสเซีย (ใช้เวลา 18 – 20 วัน) เส้นทางเดินเรือผ่านทางทะเลเหนือ (อาร์คติก) (ใช้เวลา 33 – 35 วัน) และทางเรือผ่านทะเลใต้ (ใช้เวลา 45 – 60 วัน) ดังนั้น ประเทศคาซัคสถานมีความตั้งใจที่กำหนดยุทธศาสตร์ประเทศตนเองให้เป็น transit country เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้แก่โครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของประเทศคาซัคสถานให้เติบโตมากขึ้นกว่าเดิมที่ มองว่าเป็นตนไม่มีทางออกทะเล

แล้วการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังคาซัคสถานมีทางไหนบ้าง? เส้นไหนปัง
การค้าระหว่างไทยกับคาซัคสถานในช่วงเดือนมกราคม กรกฎาคม 2562 มีมูลค่า 51.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยส่งออกไปยังคาซัคสถานถึง 46.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ได้แก่ ยานยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องสำอางค์ และผลิตภัณฑ์ยาง) ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากคาซัคสถาน เพียง 5.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (แร่เหล็กและเคมีภัณฑ์) ไทยได้ดุล 41.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การหาเส้นทางการขนส่งที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นและจะทำให้สร้างลู่ทางการส่งออกของสินค้าไทยไปยังคาซัคสถานได้มากขึ้นด้วย

เส้นทางการขนส่งสินค้าไทยยังคาซัคสถาน มีเส้นทางไหนบ้าง ลองมาดูกัน
1. การขนส่งทางอากาศ บริษัทคาซัคสถานที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าไทยยังคงใช้การขนส่งทางอากาศ แม้ว่าต้นทุนค่าขนส่งจะสูงแต่ได้ความสะดวก รวดเร็วมากกว่าการขนส่งในรูปแบบอื่น แต่ทำให้ต้นทุนสินค้าราคาสูง สินค้าของไทย อาทิ เครื่องสำอาง ผลไม้อบแห้ง
2. การขนส่งทางทะเลและทางราง สินค้าไทยขนส่งทางเรือไปถึงท่าเรือในประเทศจีนและต่อด้วยรถไฟไปคาซัคสถานใช้ระยะเวลาประมาณ 24 วัน (รวมพิธีการออกของ) ที่ผ่านมา มีการส่งสินค้าจากไทย อาทิ ยางรถยนต์และผลไม้กระป๋อง อย่างไรก็ดี การขนส่งเส้นทางนี้ยังพบปัญหาในการจัดการเอกสารการออกของเอเจนต์ในประเทศจีน ทำให้ระยะเวลาที่สินค้าถึงลูกค้าปลายทางล่าช้ากว่ากำหนด มี Khorgos Dry Port เป็น eastern gate ที่เชื่อมการขนส่งทางรถไฟกับจีน สินค้าหลักที่ขนส่งผ่านท่าเรือ
3. ทางเรือผ่านมหาสมุทรอินเดีย ทะเลแดง คลองสุเอซ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลบอลติก ไปยังท่าเรือนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของรัสเซียที่มีความพร้อมและเส้นทางขนส่งทางบกดี แต่ใช้เวลาขนส่งนาน เร็วสุด 30-40 วัน ทั้งนี้ อีกทางหนึ่งสามารถใช้ท่าเรือที่ลัตเวียและเอสโตเนียแทน เนื่องจากศุลกากรไม่เข้มงวดแล้วจึงใช้รถบรรทุกลากเข้ารัสเซียต่อไป และต่อทางบกเข้าประเทศคาซัคสถาน
4. ทางทะเลไปยังท่าเรือวลาดิวอสต็อก แล้วต่อทางรถไฟทรานส์ไซบีเรีย แต่ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้มากเท่ากับตู้ container ทางเรือ และการขนส่งทางรถไฟมีต้นทุนสูง และต่อทางบกเข้าประเทศคาซัคสถาน
5. ทางทะเลไปยังท่าเรือบันดาร์อับบาสของอิหร่านแล้วต่อทางบกไปทางเหนือของอิหร่านริมชายฝั่งทะเลแคสเปียนแล้วลงเรือต่อไปยังท่าเรืออัคเตาของคาซัคสถาน หรือไปยังท่าเรือ Chabahar ของอิหร่านแล้วต่อขึ้นไปทางอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นเส้นทางที่สั้นและมีศักยภาพมากที่สุดสำหรับการขนส่งสินค้าไทยไปยังเอเชียกลาง แต่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงตลอดจนปัญหาการคว่ำบาตรอิหร่านโดยสหรัฐฯ
6. ท่าเรืออัคเตาริมทะเลแคสเปียนของคาซัคสถานอาจสามารถเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยท่าเรืออัคเตาตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของทะเลแคสเปียนทางภาคตะวันตกของคาซัคสถานและเป็นส่วนหนึ่งของ Trans-Caspian International Transport Route (TITR) ที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนผ่านคาซัคสถาน ทะเลแคสเปียน อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจียสู่ยุโรป โดยคาซัคสถานต้องการพัฒนา TITR ให้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรป ท่าเรืออัคเตาจึงเป็น western gate ของคาซัคสถาน

ขอสรุปว่าเส้นทางที่ 2 (ผ่านประเทศจีน) น่าจะเป็นเส้นทางที่ปังในอนาคต แต่ต้องแก้ไขปัญหาการจัดการที่มักเกิดขึ้นในช่วงการขนส่งในประเทศจีนมากขึ้น ผู้ประกอบการคาซัคสถานให้ข้อมูลว่า จีนมักจะให้ priority แก่สินค้าของตนเป็นหลัก ทำให้สินค้าไทยมักถูกกักไว้ที่จีนนานกว่ากำหนด และประเด็นปัญหาการจัดการเอกสารการออกของ ทำให้สินค้ามาถึงคาซัคสถานล่าช้า อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการขนส่งสินค้าทางอากาศยังคงนิยมแม้ว่าราคาค่าขนส่งยังสูงมากที่สุดก็ตาม หากผู้ส่งออกสินค้าไทยไปยังคาซัคสถานสนใจสอบถามข้อมูลหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับการส่งออกและรวมถึงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศคาซัคสถานเพิ่มเติมสามารถติดต่อสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก Email: moscow@thaitrade.ru

ข้อมูลอ้างอิง:
1. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา, สิงหาคม 2562, เส้นทางขนส่งสินค้าไทยไปยังรัสเซียและคาซัคสถานในปัจจุบัน
2. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส านักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ที่มา: https://www.ditp.go.th

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.