CEO ARTICLE
แหล่งซื้อระวาง
การซื้อระวางขนส่ง (Freight) ให้ได้ประสิทธิภาพ ไม่ได้หมายถึงการซื้อให้ได้ในราคาต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงประโยชน์อื่นที่ผู้นำเข้าต้องได้รับเพื่อการเคลื่อนย้ายสินค้าอีกด้วย
ระวางขนส่งซื้อได้จากแหล่งไหน และประโยชน์อื่นที่ผู้นำเข้าควรได้คืออะไร ?
การซื้อสินค้านำเข้าในเงื่อนไขราคา CIF (Cost Insurance and Freight) คือ ราคาสินค้าที่ได้มีการรวมค่าเบี้ยประกันภัยและค่าระวางขนส่งแล้ว หมายความว่า ผู้นำเข้ายอมรับประสิทธิภาพและประโยชน์อื่นที่ผู้ขาย (Seller) ในต่างประเทศได้จัดการเคลื่อนย้ายให้จนถึงท่าเรือในประเทศไทย
ในกรณีเช่นนี้การเสาะหาแหล่งอื่นเพื่อซื้อระวางขนส่งจึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ
แต่หากราคาสินค้าเป็นการซื้อขายแบบหน้าโรงงาน EXW (Ex-Works) หรือ FOB (Free On Board) ที่ผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องซื้อระวางขนส่งและจัดการการเคลื่อนย้ายเองนั้น ผู้นำเข้าสามารถหาซื้อระวางขนส่งและหาประโยชน์อื่นได้จากผู้ขนส่ง 2 แหล่งที่แตกต่างกันนี้
แหล่งที่ 1 ผู้ขนส่งที่เป็นเจ้าของเรือ หรือ VOCC (Vessel Operating Common Carrier) เช่น Liner, หรือ Shipping Agent ที่มีสำนักงานในประเทศไทยซึ่งจะเป็นการซื้อจากสายเรือหรือตัวแทนโดยตรง
ในเมื่อเป็นเจ้าของเรือ ค่าระวางของ VOCC จึงกำหนดได้โดยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น แต่ก็พอต่อรองได้ ยิ่งหากสินค้ามีปริมาณมาก การต่อรองก็อาจได้มาก
VOCC ยังเก็บค่าความผันผวนต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนด เช่น อัตราแลกเปลี่ยน หรือ CAF (Currency Adjustment Factor) ราคาน้ำมัน หรือ BAF (Bunker Adjustment Factor) เป็นต้น
ธนาคารก็มีความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน และประกาศทุกวันแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนค่าระวางจะอยู่ภายใต้ พรบ. การขนส่งของทางทะเล มาตรา 3 ที่ภาษากฎหมายเรียก “อุปกรณ์แห่งค่าระวาง” อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนของ 2 หน่วยงานี้จึงมีหลักการ เหตุผล และกฎหมายที่ต่างกัน และจะนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้
แหล่งที่ 2 ผู้ขนส่งที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเรือ หรือ NVOCC (Non Vessel Operating Common Carrier) เช่น Freight Forwarder หรือ 3rd Party International Logistics Service Provider ที่มีกฎหมายรองรับให้เป็นผู้ขนส่งได้เช่นเดียวกับ VOCC
NVOCC ในไทยจะได้ต้นทุนค่าระวางจากเครือข่าย (Agent) ต่างประเทศ อาจรวมตัวกัน ทำสัญญาซื้อระวางขนส่งจากเรือกลุ่ม VOCC ในปริมาณมากแล้วกระจายช่วยกันขายทั่วโลก
หากขายได้ปริมาณมากตามสัญญาก็อาจได้ผลประโยชน์อื่นตามแต่จะตกลงกัน
ค่าระวางของ NVOCC ก็จะรวมค่าความผันผวน เช่น CAF, BAF และอื่น ๆ ตามกฎหมายเช่นกัน เมื่อต้องแข่งขัน NVOCC จึงมีการบริการเสริมที่มากกว่า เช่น การเก็บรักษา การรวมสินค้าเข้าตู้สินค้า การกระจายถึงมือผู้รับ (Door to Door) พิธีการศุลกากร และอื่น ๆ อีกมาก
ด้วยเหตุนี้ VOCC และ NVOCC จึงเป็น 2 แหล่งซื้อระวางขนส่ง (Freight) ที่ต่างกัน
แต่ประสิทธิภาพ ไม่ได้หมายถึงการซื้อระวางขนส่งให้ได้ราคาต่ำเพียงอย่างเดียว
ประสิทธิภาพทั้งระบบยังหมายรวมถึง ประโยชน์อื่นในการเคลื่อนย้ายสินค้าถึงมือผู้นำเข้าให้ประสบความสำเร็จภายใต้เวลา ต้นทุน และรายจ่ายแฝงมากมายอีกด้วย
VOCC จะมีระยะเวลาเดินทางที่ตายตัว หากมีการถ่ายลำที่เมืองท่าใดก็ต้องใช้เรือในเครือข่ายของตนเอง การข้ามสายการเดินเรือจึงลำบากและยุ่งยาก ขณะที่ NVOCC คบกับสายการเดินเรือมาก มีทางให้เลือกมาก ยืดหยุ่น และสามารถเปลี่ยนแปลงเรือได้ง่ายกว่า
ท่าเรือเพื่อเทียบท่านำเข้า (Arrival Port) ของ VOCC ก็ค่อนข้างถูกกำหนดไว้ตายตัว หากต้องการเลือกท่าเรือนำเข้า เลือกเครื่องมือการขนถ่ายทันสมัย เลือกการบริการด้านใบอนุญาตต่าง ๆ หรือการบริการอื่น NVOCC ย่อมให้บริการได้มากกว่า และตอบโจทย์นี้ได้ง่ายกว่า
ศุลกากรเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างความรวดเร็วหรือความล่าช้า ในทางทฤษฏีไม่ว่าจะผ่านพิธีการ ณ ท่านำเข้าใดก็ไม่ต่างกัน แต่ในทางปฏิบัติ ความรู้และความเข้าใจในสินค้าและเอกสารของศุลกากรที่ต่างกันก็อาจส่งผลกระทบไม่มากก็น้อย
ต่าง ๆ นานาเหล่านี้คือประโยชน์อื่นที่ต่างกัน แต่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการนำเข้าโดยตรง ผู้นำเข้าจึงควรนำมาประกอบการตัดสินใจเพื่อเลือกแหล่งซื้อระวางขนส่ง ไม่ว่าจะซื้อจาก VOCC หรือ NVOCC ก็ตาม
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
ปล. พรบ. การขนส่งของทางทะเล มาตรา 3 (บางส่วน)
“อุปกรณ์แห่งค่าระวาง” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายอย่างใดที่ผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่ง ซึ่งตามประเพณีในการขนส่งทางทะเลถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวาง และให้หมายความรวมถึงเงินที่ผู้ขนส่งจำเป็นต้องเรียกเก็บเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าระวางปกติ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการให้บริการของผู้ขนส่งเนื่องจากเหตุที่ผู้ขนส่งไม่อาจป้องกันได้ อันมีประเพณีในการขนส่งทางทะเลที่ผู้ขนส่งจะเรียกได้ เช่น การขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะคับคั่งของท่าเรือหรือที่ที่บรรทุกหรือขนถ่ายของ หรือการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างสกุลเป็นต้น
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : March 22, 2022
Logistics
มาเลเซียร่าง SOP สำหรับการเดินทางเข้าประเทศทางอากาศ นำร่องให้กัมพูชา สิงคโปร์ และไทย ใช้เป็น 3 ประเทศแรก
Datuk Seri Dr Wee Ka Siong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดำเนินการร่างขั้นตอนปฏิบัติมาตรฐาน (SOP) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เดินทางช่องทางอากาศ (Air-VTL) โดยจะใช้วิธีตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรูปแบบ “test and release” ประเดิมที่สนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์และสนามบินนานาชาติปีนัง นำร่องให้ผู้ที่เดินทางมาจากกัมพูชา สิงคโปร์ และไทย ใช้เป็น 3 ประเทศแรก มีผลตั้งแต่วัน 16 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป เมื่อผู้เดินทางจากประเทศข้างต้นเดินทางมาถึงมาเลเซียจะต้องทำการตรวจหาเชื้อ (swab test) ทันที หลังจากนั้นสามารถใช้รถขนส่งส่วนตัว/สาธารณะ/ว่าจ้าง เพื่อเดินทางไปกักตัวเดี่ยว (self-isolation) ระหว่างรอผลออกประมาน 24 ชั่วโมง ณ ที่พักของตนตามคำสั่งของ MySejahtera Home Surveillance Order (HSO) ถ้าผลเป็นลบ สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ดี หากผลเป็นบวก ผู้เดินทางต้องทำตามขั้นตอนปฏิบัติของกระทรวงสาธารณะสุขมาเลเซียต่อไป
VTL-Air เป็นโครงการที่ มาเลเซีย – ไทย – กัมพูชา ร่วมกันดำเนินการเพื่อเปิดใช้พรหมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งสำหรับไทย – มาเลเซีย ได้รับอนุญาตให้เปิด 6 เที่ยวบินต่อวันผ่านเส้นทางกัวลาลัมเปอร์ – กรุงเทพฯ และ 4 เที่ยวบินต่อวันผ่านเส้นทางกัวลาลัมเปอร์ – ภูเก็ต ในขณะที่ กัมพูชา – มาเลเซียอนุญาตให้เปิด 2 เที่ยวบินต่อวันผ่านเส้นทางกัวลาลัมเปอร์ – พนมเปญ ส่วนสิงคโปร์นั้นมี VTL กับมาเลเซียทั้งทางอากาศและทางบก นอกจากนี้ก็ได้เริ่มหารือกับบรูไนเพื่อหาข้อตกลงต่อไป เมื่อวันที่ 8 มีนาคม นายกรัฐมนตรี Datuk Seri Ismail Sabri Yaakob ได้ประกาศว่าจะเปิดพรมแดนอีกครั้งในวันที่ 1 เมษายน 2565
ความเห็นของ สคต. แม้ว่าขณะนี้มาเลเซียจะอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศทางอากาศเพียงเส้นทางเดียว แต่การเคลื่อนไหวของมาเลเซีย
ลักษณะนี้ สคต. ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในอนาคต แสดงให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ จะเริ่มกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกครั้ง เบื้องต้นผู้ประกอบการไทยสามารถเดินทางมายังมาเลเซียเพื่อสำรวจตลาด สำรวจเทรนด์ของลูกค้าในปัจจุบัน สำรวจวิถีชีวิตของชาวมาเลเซีย รวมถึงพบปะหารือกับห้างร้านเพื่อสร้างพันธมิตรก่อนได้ อย่างไรก็ดี หากเริ่มเปิดเส้นทางคมนาคมทางบก คาดว่าจะสร้างมูลค่าการค้าชายแดนเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันมีแค่ด่านสะเดา-ปาดังเบซาร์ที่เปิดให้มีการขนส่งสินค้า ดังนั้น หากด่านบ้านประกอบ – ด่านดุเรียนบุรงของมาเลเซียที่เป็นเส้นทางขนส่ง อาหารสด (ผักผลไม้ สินค้าประมง) และด่านสุไหงโกลก – ด่านรันเตาปันยังที่เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ สินค้าอาหาร (ปลา ไก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้สด แป้งข้าวเหนียว ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี) ผ้าผืน และวัสดุก่อสร้าง เปิดอีกครั้งจะอำนวยความสะดวกด้านการค้าอย่างยิ่ง รวมถึงบริษัท/ธุรกิจ/ชาวบ้านที่อยู่บริเวณด่านก็จะได้รับประโยชน์และอานิสงส์จากการค้าชายแดน ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน มีรายได้เพิ่มขึ้น
ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/767596/767596.pdf&title=767596&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!