CEO ARTICLE

มุมมอง 2566

Published on January 3, 2023


Follow Us :

    

วันนี้ไม่มีใครค้านว่า เศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนทุกประเทศทั่วโลกต้องการ แต่ไม่ว่าสังคมหรือเศรษฐกิจก็ต้องมีการเมืองชี้นำ ปี 2566 นี้ ทั่วโลกและไทยจะเป็นอย่างไร ?

    Covid-19 ตามสถิติของ Our World in Data จนถึงปลายปี 2565 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกราว 658 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตราว 6.68 ล้านราย 

แต่หากรวมตัวเลขที่ไม่ได้แจ้งลงทะเบียน ผู้ติดเชื้อทั่วโลกน่าจะมากกว่า 700 ล้านราย หรือมีผู้ติดเชื้อราว 10% ของประชากรโลกที่มีราว 7 พันกว่าล้านคน

ตั้งแต่ปี 2563 ที่ Covid-19 เริ่มแพร่ระบาด ทั่วโลกต้องผจญกับความยากลำบากส่งผลให้สังคมและเศรษฐกิจปั่นป่วนไปทั่ว กระทั่งต้นปี 2565 ก็เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน สหรัฐเข้าถือหางยูเครน จีนถือหางรัสเซียอย่างไม่ออกหน้า

ในอดีตทั้งสหรัฐและสหภาพโซเวียตเคยอยู่ในสงครามเย็นกันมาก่อน กระทั่งสภาพโซเวียตล่มสลายเหลือเพียงรัสเซีย สหรัฐจึงโดดเด่นขึ้น แต่ปัจจุบันกลับมีจีนขึ้นมาใหญ่ที่ดูเป็นฝ่ายตรงข้าม

สหรัฐและจีนจึงเป็นไม้เบื่อไม้เมาทางเศรษฐกิจ ทำให้โลกคล้ายแบ่งข้าง ยังมีความขัดแย้ง  เมื่อมีสงครามไม่ว่าประเทศใดก็จะมีการช่วยอย่างลับ ๆ แต่ที่ร้ายที่สุดคือ น้ำมันขาดแคลนทั่วโลก

    สงครามทำให้น้ำมันขึ้นราคา ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการผลิตขึ้นราคา สินค้าเพื่อการดำรงชีวิตต่างก็ขึ้นราคาตาม เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงลำบากอย่างคาดไม่ถึง แต่พอผ่านไปหลายเดือนจนถึงปลายปี 2565 ก็เคยชิน และพอถึงเทศกาลปีใหม่ความทุกข์ก็คลายตัวลง

    แล้วอยู่ ๆ ปลายปี 2565 จีนก็ประกาศมาตรการคลายล็อกจาก Covid-19 ที่จะเริ่มในวันที่ 8 ม.ค. 2566 ที่ทำให้หุ้นไทยที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหุ้นโรงแรม ร้านอาหาร สนามบิน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องเด้งรับทันที่ 

แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้น ข่าวนักท่องเที่ยวจีนไปอิตาลี คนจีนติดเชื้อ Covid-19 ไปครึ่งหนึ่ง และเกิดข่าวในทำนองเดียวกันจากประเทศอื่นมากบ้าง น้อยบ้างอย่างน่าตกใจ

หลายฝ่ายจึงวิตกกันว่า จีนคลายล๊อกครั้งนี้จะเป็นการส่งออก Covid-19 เหมือนเมื่อครั้งอู่ฮั่นที่เป็นต้นตอมาสู่ไทย และลามไปสู่วิฤกติโลกหรือไม่ ??

จีนคลายล๊อกเป็นสิ่งดี กระตุ้นการท่องเที่ยว และเป็นที่ต้องการของทุกประเทศทั่วโลก มันจึงขึ้นอยู่กับมาตรการป้องกันของรัฐบาลแต่ละประเทศจะรับมืออย่างไร ?

ในระดับโลกจึงมี Covid-19 ที่ไม่มีใครฟันธงว่าจะหนักขึ้นหรือเบาลง มีความขัดแย้ง และมีสงครามเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่ทำให้ปี 2566 ยังไม่น่าไว้วางใจ

    หากปี 2566 Covid-19 กลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทยหนักอีกครั้ง รัฐบาลคงเสียหน้า แต่ก็มีฝ่ายได้ประโยชน์จากการติดเชื้อมาก ๆ ของคนไทยซึ่งในที่สุดก็หนีไม่พ้น ‘การเมือง’

    คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ได้ออกมาเตือน Covid-19 สายพันธ์ Omicron จะกลายพันธ์ จะแตกหน่อไปกว่า 633 สายพันธุ์ย่อย จะดื้อต่อภูมิคุ้มกัน จะแพร่ระบาดง่าย และจะทำให้คนไทยพบกับความเสี่ยงมากขึ้น (แนวหน้าออนไลน์ 28 ธ.ค. 2565 08.02 น.) 

การกลับมาของ Covid-19 จึงน่าเป็นห่วงสอดรับกับการทำนายของ กกร. (คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน) ที่ชี้ว่า เศรษฐกิจโลกปี 2566 จะชะลอตัวจากผลของ Covid-19 ที่ยาวนาน วิกฤติเงินเฟ้อ สงครามที่ผ่านมา ทั่วโลกถูกทำนายว่าจะไม่ดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีขึ้นยกเว้น การส่งออก การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังเป็นพระเอกได้ (http://www/pptvhd36.com)

ปี 2566 จึงน่าจะมีทั้งข่าวเท็จ ข่าวลวง และมีประชาชนที่เป็นเหยื่ออย่างน่าเป็นห่วง

แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่การเมืองจะส่งเสริมให้ดีขึ้น หรือซ้ำเติมสังคมและเศรษฐกิจให้แย่ลง เช่น ข่าวการขึ้นค่าแรงเป็นเท่าตัวอย่างก้าวกระโดด แม้จะสร้างความดีใจให้แรงงาน แต่ก็ทำให้สินค้าขึ้นราคา เป็นเงินเฟ้อ และเป็นภาระให้เจ้าของกิจการจนอาจทำให้นักลงทุนหนีไปประเทศอื่นง่าย ๆ 

ความจริงแล้ว ค่าแรงเป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี (ตัวแทนลูกจ้าง ตัวแทนนายจ้าง และรัฐบาล) เป็นผู้พิจารณา แต่เพราะมีการเมืองชี้นำ ใครได้ยินก็ต้องคล้อยกันเป็นธรรมดา 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งช้าสุดไม่เกินวันที่ 7 พ.ค. 2566 การเมืองที่ชี้นำอาจเปลี่ยนไป อาจดี อาจร้าย และอาจเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายทางสังคมและเศรษฐกิจก็ได้

ทุกอย่างอยู่ที่ประชาชนจะคิดและจะเลือกนักการเมืองฝ่ายไหนให้มากกว่ากันเท่านั้น 

สิ่งที่แน่นอนอีกด้านไม่ว่าสังคม เศรษฐกิจ การเมืองจะดีหรือแย่อย่างไรคนทั่วโลกก็ต้องกิน ต้องใช้ กิจกรรมโลจิสติกส์เพื่อการรวบรวม จัดเก็บ เคลื่อนย้าย กระจายสินค้า และธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ยังเป็นหนึ่งในพระรองที่ต้องเติบโตตาม และต้องปรับตัวให้ทันต่อวิวัฒนาการโลกในครั้งนี้

โลจิสติกส์จึงยังเป็นพระรองที่ดีของปี 2566 ที่จะช่วยผู้นำเข้าและผู้ส่งออกต่อไป.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

SNP Group

ในวาะดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2566 ที่มาถึงนี้ คณะผู้จัดทำบทความขอให้ท่านผู้อ่าน ครอบครัว และบุคลากรในองค์กรจงปลอดโรค ปลอดภัย (Stay Safe) พบแต่ความสุข ความเจริญ และทำมาค้าขึ้นในปีใหม่นี้ด้วยเทอญ

    สวัสดีปีใหม่ 2566

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : January 3, 2023

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

Baltic Hub เริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือแห่งที่สามในท่าเรือ Gdańsk

Baltic Hub หนึ่งในผู้ปฏิบัติการท่าเทียบเรือขนส่งตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโปแลนด์และแถบทะเลบอลติก ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก Terminal – T3 ซึ่งเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2025 ท่าเทียบเรือแห่งใหม่นี้จะมีความยาวหน้าท่า 717 เมตร ลึก 17.5 เมตร โดยจะเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งที่สามของ Baltic Hub ที่สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้

ท่าเทียบเรือแห่งใหม่นี้จะทำให้ Baltic Hub มีพื้นที่ปฏิบัติการเพิ่มขึ้น 36.5 เฮกตาร์ หรือราว 365,000 ตร.ม. ภายใต้มูลค่าการลงทุนสูงถึง 450 ล้านยูโร โครงการ T3 นี้ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของ Baltic Hub ในการพัฒนาศูนย์กลางตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออก รวมถึงกลุ่มประเทศบอลติก และเติบโตขึ้นเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือขนส่งตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

สำหรับการก่อสร้างโครงการ T3 จะแบ่งออกเป็นสองเฟส โดยในเฟสแรกจะพัฒนาพื้นที่ท่าเทียบเรือขนาด 36 เฮกตาร์ ถัดจาก Terminal 1 มีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2024 ซึ่งจะขยายขีดความสามารถในการรองรับสินค้าของ Baltic Hub เป็น 4.5 ล้านทีอียูต่อปี สำหรับเฟสที่สองจะมีการสร้างผนังกำแพงท่าเทียบเรือความยาว 717 เมตร ลึก 17.5 เมตร โดยมีกำหนดเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 2023 และแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2025

โครงการ T3 ยังครอบคลุมถึงการจัดซื้อเครนหน้าท่าจำนวนเจ็ดตัวที่สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงรถคานเคลื่อนที่ยกตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (เครน RMG) แบบกึ่งอัตโนมัติสำหรับลานตู้สินค้าจำนวน 20 ตัว ซึ่งผู้ปฏิบัติการจะสามารถควบคุมได้จากระยะไกลบนห้องทำงานที่ได้รับการออกแบบตามหลักการยศาสตร์ (ergonomics) และจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย เปี่ยมประสิทธิภาพ ทันสมัย และสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ Baltic Hub เป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโปแลนด์ ปัจจุบันมีหน้าท่าเทียบเรือน้ำลึกสองท่า ความยาว 1,300 เมตร เครนหน้าท่า (STS) 14 ตัว สามารถรองรับปริมาณสินค้าผ่านท่าได้ถึงสามล้านทีอียูต่อปี นอกจากนี้ Baltic Hub ยังเป็นประตูการค้าสำหรับพื้นที่ยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออก รวมถึงศูนย์กลางการขนส่งทางบกสู่ปลายทางในสาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย ฮังการี และเยอรมนี โดยมีขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางรางสูงถึง 750,000 ทีอียูในปี 2020

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.