CEO ARTICLE

คนรุ่นเก่า

Published on January 10, 2023


Follow Us :

    

โลกปัจจุบันหมุนเร็วมาก คนรุ่นใหม่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ เร็วมาก
แต่คนรุ่นใหม่ก็มีมุมมอง มีการคิด และมีวิธีการทำงานต่างจาก ‘คนรุ่นเก่า’ จนเกิดอุปสรรคและความขัดแย้ง … ทำอย่างไรคน 2 รุ่นนี้จึงจะเข้าใจกันและทำงานร่วมกันได้ ?

ประเทศใด สังคมใด และที่ทำงานใดมีคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สถานที่แห่งนั้นจะมี ‘ความก้าวหน้า’ และ ‘ความมั่นคง’ คู่กันอย่างชัดเจน
หลักคิดง่าย ๆ คนรุ่นใหม่คือ ‘ความก้าวหน้า’ และคนรุ่นเก่าคือ ‘ความมั่นคง’
คนรุ่นใหม่ย่อมผ่านวิธีการเรียนรู้ใหม่ ๆ มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีความคิดใหม่ ๆ และได้สัมผัสเรื่องราวใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น คนรุ่นใหม่จึงเป็นผู้สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับองค์กร สร้างเป้าหมายใหม่ เป็นผู้ปฏิบัติมากกว่า และเป็นผู้พาองค์กรไปสู่ ‘ความก้าวหน้า’ ตามเป้าหมายนั้น
คนรุ่นใหม่ที่เก่ง ๆ ที่มีไฟแรงจะมุ่งเป้าหมายมากกว่าวิธีการ มุ่งความสำเร็จ และมุ่งความก้าวหน้ามากกว่าธรรมเนียมประเพณี
ส่วนคนรุ่นเก่าจะผ่านเรื่องราวมามาก มีประสบการณ์ รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด รู้ผิดชอบชั่วดี มีความอดทน มีระเบียบวินัย มีวิธีการทำงานที่แม้จะดูเก่าแต่ก็สร้างความสำเร็จให้เห็น และเป็นผู้ส่งมอบรากฐานที่สำเร็จและ ‘ความมั่นคง’ ไปสู่คนรุ่นใหม่
คนรุ่นเก่าจะมุ่งคุณธรรมน้ำมิตร ธรรมเนียมประเพณี ความกตัญญู บุญคุณ ความถูกต้อง มุ่งวิธีการมากกว่าเป้าหมาย และเชื่อว่าหากเดินด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ความสำเร็จจะเกิดขึ้นเอง
คนรุ่นใหม่มุ่ง ‘เป้าหมาย’ มากกว่า แต่คนรุ่นเก่ามุ่ง ‘วิธีการ’ มากกว่า ความแตกต่างทำให้ มุมมองต่างกันและเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งและปัญหา
มันเป็นไปตามโลกที่หมุนเร็ว เป็นเรื่องจริงในสังคมและองค์กรส่วนใหญ่ แต่ก็มีส่วนน้อยที่คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าสามารถอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน และใช้จุดแข็งส่งเสริมซึ่งกันและกันได้

‘คนรุ่นใหม่’ กับ ‘คนรุ่นเก่า’ เป็นปัญหาโลกแตก แต่ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้
ข้อเท็จจริงที่ทุกคนรู้ดีคือ สมองคนรุ่นเก่ามีแต่ฝ่อลีบลงทุกวัน สังขารแก่ลงทุกวัน ดักดาน จมอยู่กับเรื่องเก่า ๆ และในที่สุดวันหนึ่งก็ต้องจากไป คนรุ่นเก่าจึงเป็นที่ต้องการน้อยกว่า ตรงข้ามกับคนรุ่นใหม่ที่มีการเติบโต เป็นที่ต้องการมากกว่า และวันหนึ่งก็ต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ
พอมีคำว่า ‘ผู้นำ’ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำรุ่นเก่า รุ่นกลาง หรือรุ่นใหม่ก็ต้องมีคำว่า ‘ภาวะผู้นำ’
หากผู้นำมีภาวะผู้นำเพียงพอก็ต้องมองออก คนรุ่นเก่า Baby Boomer (เกิด พ.ศ. 2489 – 2507) คนรุ่นกลาง Gen X (เกิด พ.ศ. 2508 – 2522) คนรุ่นใหม่ Gen Y (เกิด พ.ศ. 2523 – 2540) หรือ Gen Z (เกิด พ.ศ. 2540 ขึ้นไป) คนแต่ละรุ่นมองอะไร และต้องการอะไร ??
ในหลักการทั่วไป คนรุ่นใหม่มองความรู้ ความก้าวหน้า ส่วนคนรุ่นเก่ามองการยอมรับและศักดิ์ศรี หากไม่ได้อย่างที่มอง เงินจะขึ้นมาเป็นปัจจัยสำคัญของคนทั้ง 2 รุ่นจนถึงขั้นลาออก
คนรุ่นใหม่คือสิ่งจำเป็นมากที่ต้องมี ส่วนคนรุ่นเก่าจะขึ้นกับประเภทของงาน
หากมีคนรุ่นเก่าคอยแนะ คอยเตือน คอยให้คำปรึกษาดีกว่าไม่มี ผู้นำก็ต้องสร้างศักดิ์ศรีที่เป็นพื้นฐานของการยอมรับ สร้างคุณค่า อะไรคือจุดแข็งของคนรุ่นเก่า คนไหนมีอะไรดี มีอะไรเด่น และจะเอาจุดแข็ง จุดดี จุดเด่นของคนเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ???
ผู้นำที่มีภาวะผู้นำจึงต้องมองให้ออก เอาจุดแข็งนั้นมาใช้ ศักดิ์ศรีและคุณค่าของคนรุ่นเก่าก็จะเกิดขึ้น การยอมรับก็จะมี ส่วนจุดอ่อนที่ทุกคนต้องมี ผู้นำก็ต้องช่วยป้องกัน เยียวยา หรือแก้ไข
ตัวอย่างเช่น จุดแข็งของคนรุ่นใหม่คือ ‘ไฟ’ ไฟที่จะบุกไปข้างหน้าเพื่อความก้าวหน้า แต่ยังขาดความรู้จริง รู้กว้าง รู้ลึก และประสบการณ์จนเป็นจุดอ่อน ผู้นำก็ต้องสร้างการเรียนรู้ สร้างวิธีการทำงาน สร้างเป้าหมายให้ฝ่าฟัน สร้างความสำเร็จและความก้าวหน้าให้สัมผัสได้
ขณะเดียวกัน จุดแข็งของคนรุ่นเก่าคือ ความรู้ ประสบการณ์ และความสัมพันธ์ ผู้นำก็ควรนำมาสร้างหัวข้อ สร้างขั้นตอนการทำงาน และสร้างรูปแบบการอบรมให้เป็นเครื่องมือเพื่อให้คนรุ่นเก่านำเครื่องมือนั้นไปพัฒนาคนรุ่นใหม่อย่างเป็นระบบ
เพียงเท่านี้ การยอมรับ ศักดิ์ศรี ความจงรักภักดี และการพัฒนาคนทุกรุ่นจะเกิดขึ้น ความเสียสละ การมีส่วนร่วมมุ่งสู่วิสัยทัศน์ การปฏิบัติตามพันธกิจและในนโยบายองค์กรก็จะตามมา
ตัวอย่างเป็นเพียงตัวอย่าง ความจริงยังมีวิธีการอื่นอีกมาก ยิ่งหากคนรุ่นเก่ารู้จักเปลี่ยนตัวเอง วิ่งให้ทันเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ ๆ ยอมรับคนรุ่นใหม่ คลื่นลูกใหม่ สร้างศักดิ์ศรีและคุณค่าให้แก่ตนเองให้เกิดขึ้น คนรุ่นเก่าก็จะเป็นที่การยอมรับและร่วมงานกับคนทุกรุ่นได้มากยิ่งขึ้น
แต่หากบังเอิญผู้นำขาดภาวะผู้นำ ไม่มีระบบฝึกฝนคนรุ่นใหม่ หรือผู้นำเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใส่ใจคนรุ่นเก่า ปล่อยให้คนรุ่นเก่าไม่มีงานที่ดี ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีคุณค่า แบบนี้ปัญหาระหว่างรุ่นที่มีมานานก็จะเรื้อรัง องค์กรก็จะขาด ‘ต้นแบบ’ ของความจงรักภักดี และมีอัตราคนเข้าออกสูง
‘คนรุ่นใหม่’ กับ ‘คนรุ่นเก่า’ แม้จะเป็นปัญหาโลกแตก อย่างไรก็ต้องเกิดในทุกสถานที่ แต่ก็ป้องกันและแก้ไขได้ ได้ทั้ง ‘ความก้าวหน้า’ และได้ ‘ความมั่นคง’ ในเวลาเดียวกัน.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : January 10, 2023

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ข่าวดีสำหรับผู้ส่งออกไทย กว่างซีพร้อม ‘ปลดล็อก’ มาตรการโควิดในสินค้านำเข้า เริ่ม 8 มกราคม 2566

การดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคนและสินค้านำเข้าด้วยความเข้มงวดตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ภายใต้นโยบาย Dynamic Zero COVID ของรัฐบาลจีน ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะ ‘การค้าต่างประเทศ’ ซึ่งเป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบมากอย่างมีนัยสำคัญ

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นหนึ่งในมณฑลที่มีด่านการค้าจำนวนมากที่สุดในประเทศจีน โดยเฉพาะด่านทางบก (ทั้งด่านสากล ด่านทวิภาคี และด่านประเพณี) เนื่องจากมีพรมแดนติดกับประเทศเวียดนาม ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้ดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดฯ ทั้งในคนและสินค้าอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการปิดด่านหลายแห่งโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าเมื่อมีพบเชื้อโควิด และการดำเนินมาตรการตรวจและฆ่าเชื้อโควิด-19 ในสินค้าอาหารแช่เย็นแช่แข็ง (cold-chain) ส่งผลให้ระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้านานขึ้น เกิดปัญหารถบรรทุกแออัด สินค้าตกค้างและเน่าเสียที่บริเวณด่าน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแบบประเมินค่าไม่ได้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการเร่งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของการขนส่งบริเวณชายแดน ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของการค้ากับต่างประเทศจึงได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการอย่างมีระบบและค่อยเป็นค่อยไป จนในที่สุด ‘วันฟ้าหลังฝนโควิด-19’ ของจีนก็มาถึง โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนได้ประกาศ ‘ปลดล็อก’ มาตรการโควิด-19 ในประเทศจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทยอยขานรับนโยบายดังกล่าวแล้ว

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการไทย สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ออกประกาศฉบับที่ 131 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2565 เกี่ยวกับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องภายหลังการปรับลดระดับมาตรการจัดการโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยสาระสำคัญ ดังนี้

นับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ยกเลิกมาตรการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศจีน โดยให้แสดงผลตรวจโควิดเป็นลบ (PCR) ภายใน 48 ชั่วโมง
มณฑล (เขตปกครองตนเอง) ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการฟื้นฟูด่านพรมแดนทางบกให้กลับมาขนส่งสินค้าและผู้โดยสารอย่างเป็นขั้นตอน
นับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ยกเลิกมาตรการทั้งหมดเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในอาหารแช่เย็นแช่แข็ง (cold-chain) และสินค้าทั่วไปที่ไม่ใช่ cold-chain ที่ด่านนำเข้า
เช่นเดียวกับสำนักงานการบินพลเรือแห่งชาติจีน (CAAC) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ได้ออกมาประกาศมาตรการฟื้นฟูเที่ยวบินผู้โดยสารระหว่างประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้ สนามบินนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิงได้เตรียมการฟื้นฟูเที่ยวบินผู้โดยสารระหว่างประเทศกับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศไทยอยู่ด้วยแล้ว (ปัจจุบัน มีสายการบินนกแอร์ และสายการบิน Spring Airlines ที่ให้บริการในเส้นทาง “นครหนานหนิง-กรุงเทพ” ในวันพุธ และวันศุกร์ของสัปดาห์)

ความเคลื่อนไหวข้างต้นเป็นข่าวดีสำหรับภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านเขตฯ กว่างซีจ้วง ที่จะสามารถกลับมาทำธุรกิจการค้าได้อย่างราบรื่นอีกครั้ง การขนส่งสินค้าและบริการ รวมไปถึงการเดินทางไปมาหาสู่เพื่อติดต่อธุรกิจและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไม่ช้า

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศจะถูก ‘ม่านกำบัง’ ด้วยมาตรการโควิดที่เข้มงวด แต่ภาครัฐและภาคเอกชนกว่างซียังคงเดินหน้าผลักดันโครงการต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ไฮไลท์ที่เห็นได้เด่นชัดคือการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งภายในและระหว่างมณฑล ให้เชื่อมโยงถึงกัน รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผ่านด่านให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการค้า การขนส่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะกลับมาเป็นปกติภายหลังการเปิดประเทศ

บีไอซี เห็นว่า พัฒนาการด้านความเชื่องโยงเหล่านี้ กอปรกับข่าวดีที่จีนจะปลดล็อกมาตรการโควิด-19 ทั้งในคนและสินค้า จะเป็น ‘โอกาส’ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งและความพร้อมด้านระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ของเขตฯ กว่างซีจ้วงในการส่งออกสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนได้
จัดทำโดย : นายกฤษณะสุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ www.customs.gov.cn (海关总署) วันที่ 28 ธันวาคม 2565

ที่มา: https://thaibizchina.com

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.