CEO ARTICLE
ไม่ตรวจค้น
“กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกาหรูจะไม่ถูกตรวจค้น”
แถลงการณ์นี้ออกโดยศุลกากรเมื่อ 6 ก.พ. 2566 เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต้อนรับการเปิดประเทศ แต่จะเป็นต้นแบบให้ตำรวจและหน่วยราชการอื่นผ่อนคลายได้หรือไม่ ?
แถลงการณ์มีความชัดเจน รักษาภาพลักษณ์ที่ดีของศุลกากรเอง และส่งเสริมประเทศไทยด้านการท่องเที่ยวที่กำลังเริ่มต้นด้วยดีภายหลัง Covid-19
นักท่องเที่ยวอาจไม่รู้ แต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานถูกย้ำเตือนให้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ
การรายงานของสื่อมีหลายสำนัก ครบถ้วนบ้าง ไม่ครบถ้วนบ้าง และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดง่าย ๆ ต่อนักท่องเที่ยวและคนไทยที่เดินทางกลับประเทศ ดังนี้
1. แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ใช่นโยบายพิเศษ แต่เป็นระเบียบปฏิบัติเดิมอยู่แล้วที่ศุลกากรจะไม่ตรวจค้นนักท่องเที่ยวต่างชาติ และครอบคลุมคนไทยที่เดินทางกลับประเทศด้วย
2. ของที่ไม่ตรวจค้นคือ สินค้าแบรนด์เนม นาฬิกาหรู และอื่น ๆ แม้จะมีราคารวมเกิน 20,000 บาทตามที่กำหนดแต่ถือเข้ามา แต่มีลักษณะของใช้ส่วนตัวที่สวมใส่เข้ามา ไม่ใช่ของต้องห้าม ต้องกำกัด เช่น อาวุธ ยาเสพติด สัตว์ป่า หรือซากตามอนุสัญญาไซเตส เป็นต้น
3. ศุลกากรยังมีการให้เสียภาษีปกติในกรณีที่เห็นชัดเจนโดยไม่ได้ตรวจค้นว่า ของนำเข้านั้นมีลักษณะไม่ใช่ของใช้ส่วนตัว แต่เป็นไปในเชิงพาณิชย์ และมีราคาเกิน 20,000 บาท เช่น ของที่ใส่กล่องมา ของที่ซื้อมาฝากผู้อื่น เป็นต้น
4. ศุลกากรจะยังมีการตรวจค้นเฉพาะในกรณีที่มีข้อมูลทางลับ มีเบาะแสความผิดปกติ หรือนำมาขายซึ่งยังคงให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามขั้นตอน พิธีการ และเสียภาษีให้ถูกต้อง
5. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 1 ลิตร บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หรือซิการ์ หรือยาเส้น อย่างละ 250 กรัม หรือหลายชนิดรวมกันมีน้ำหนักทั้งหมด 250 กรัม ถือเป็นของใช้ส่วนตัวที่ได้ยกเว้นภาษี
6. บุหรี่ไฟฟ้าเป็นของที่ห้ามนำเข้า แม้จะเป็นของใช้ส่วนตัว ศุลกากรจะมีกล่องให้ทิ้งไว้ที่ด่าน
ข้อคิดเห็นคือ บุหรี่ไฟฟ้าอาจมีราคาสูง ของมีคุณค่า นักท่องเที่ยวอาจไม่ทราบว่าเป็นของห้ามนำเข้า และห้ามสูบในประเทศไทย หากให้ทิ้งก็อาจสร้างความไม่พอใจ แต่หากเปลี่ยนเป็นการฝากที่ด่าน เรียกเก็บค่าธรรมเนียมฝาก ให้มารับภายในวันที่กำหนดเพื่อนำกลับออกไป หากไม่มารับตามกำหนดจะถูกทำลายก็จะให้ความรู้สึกที่ดียิ่งขึ้นต่อนักท่องเที่ยว
แถลงการณ์ไม่ใช่ของใหม่ เพียงออกมาตอกย้ำ แต่ก็ให้ความรู้สึกที่ดีต่อประชาชน
หากพิจารณาตามหลักการ กฎหมายศุลกากรมีความเข้มงวด หลบเลี่ยงภาษีเล็กน้อย ผิดนิด ผิดหน่อยก็ถือว่าผิด แต่ศุลกากรไม่ตรวจค้น มีมาตรการ และมีแถลงการณ์ให้ผ่อนคลาย
ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน ประเทศเดียวกัน กรมศุลกากรผ่อนคลายได้ ทำไมตำรวจและหน่วยราชการอื่นจะผ่อนคลายเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีต่อประชาชนบ้างไม่ได้ ตัวอย่างเช่น
การขับรถยนต์เกินความเร็วที่กำหนดเล็กน้อย ไม่มีเจตนา การใช้ป้ายแดงกับรถยนต์ใหม่ที่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าโชว์รูมผู้ขายรถยนต์ใหม่ติดมาให้ แต่ตำรวจก็ไม่ฟัง จะจับ จะดำเนินคดี
การปลูกกัญชาและกัญชงเพื่อการใช้ในครัวเรือน หรือการแพทย์ เล็กน้อย ไม่ใช่การค้า แต่ต้องเดือดร้อนจากตำรวจที่ยึดแต่ตัวอักษร ปัจจุบันมีการเมืองพยายามให้มีกฎหมายรองรับ ทั้งที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่การจับกุมกลับเงียบหาย แสดงให้เห็นว่าการผ่อนคลายทำได้ หรือการกลั่นสุราที่ชาวบ้านกลั่นเองเล็กน้อย แต่มักถูกจับเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ เป็นต้น
ตัวอย่างต่าง ๆ นานาข้างต้นเป็นเรื่องจริงในอดีต ปัจจุบันยังมี และในอนาคตก็น่าจะยังมี บางเรื่องก็เห็นการผ่อนคลาย บางเรื่องไม่เห็น ทั้ง ๆ ที่ทุกหน่วยราชการมีนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันและถือเป็นผู้บังคัญชาสูงสุดของหน่วยราชการทุกกระทรวง กรม และกอง
ในเมื่อศุลกากรมีอำนาจตรวจค้น แต่มีแถลงการณ์ไม่ตรวจค้นให้ผ่อนคลาย ถ้าหากนายกรัฐมนตรีจะบัญชาให้หน่วยงานต่าง ๆ สร้างมาตรการผ่อนคลายในความผิดที่ผ่อนคลายได้ และจัดให้มีแถลงการณ์ตามอย่างศุลกากรบ้างก็จะดีไม่น้อย
ความผิดเล็กน้อย ไม่มีเจตนา บางเรื่องมีมาตรการอยู่แล้ว บางเรื่องไม่มี แต่หากผ่อนคลายได้ ความสงบสุขของสุจริตชนก็จะเกิดตามมาได้อีกมาก.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : February 14, 2023
Logistics
ตลาดอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ “Made in Chongqing” ของนครฉงชิ่งขยายสู่อาเซียน
ในช่วงที่ผ่านมา นครฉงชิ่งเร่งผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่อย่างแข็งขัน เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 Sino Singapore Chongqing DC Multimodal Logistics (SSCDC) ได้ส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่แบรนด์ Seres จำนวน 50 คันให้กับลูกค้าในสิงคโปร์ และเมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 นครฉงชิ่งได้ขนส่งรถยนต์พลังงานใหม่ “Made in Chongqing” โดยมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ Qingling Motors Group และรถยนต์พลังงานใหม่แบรนด์อื่น ๆ จำนวนมากไปยังตลาดอาเซียน โดยเดินทางออกจากสถานีถวนเจี๋ยชุนในเขตซาผิงป้า นครฉงชิ่ง ผ่านด่านโม่หาน และคาดว่าจะเดินทางถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ภายใน 5-7 วัน โดยผู้จัดการฝ่ายขายของ Qingling Motors Group กล่าวว่า บริษัทมีความคุ้นเคยกับการส่งออกรถยนต์เชื้อเพลิงดั้งเดิมไปยังอาเซียนแล้ว แต่สำหรับรถยนต์พลังงานใหม่กำลังอยู่ในขั้นตอนค้นหาเส้นทางการส่งออกใหม่
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นครฉงชิ่งได้ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างจริงจัง การผลิตและการขายรถยนต์พลังงานใหม่ “Made in Chongqing” กำลังเฟื่องฟู ด้วยการสนับสนุนจากรถไฟจีน-ลาวและช่องทางโลจิสติกส์หลักอื่น ๆ ตามสถิติของกรมศุลกากร ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 นครฉงชิ่งส่งออกรถยนต์กว่า 261,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.4 อยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศ มีมูลค่าการส่งออก 19.88 พันล้านหยวน และมีการส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 772.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีมูลค่ารวม 20.77 ล้านหยวน และรถยนต์พลังงานใหม่แบรนด์ SAIC และ Great Wall ของนครฉงชิ่งก็ส่งออกไปยังไทยแล้ว
นอกจากนี้ การเร่งส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ของนครฉงชิ่งทำให้ความต้องการด้านโลจิสติกส์และการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น นอกจากการขนส่งแบบดั้งเดิมของนครฉงชิ่งที่ใช้เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (หยูซินโอว) และระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตกแล้ว ยังมีการใช้รถไฟจีน-ลาวในการสนับสนุนการส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่เพื่อขยายตลาดสู่อาเซียนด้วย นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังลดระยะเวลาพิธีการศุลกากรสำหรับการส่งออกรถยนต์ สนับสนุนการพัฒนารถไฟขบวนพิเศษสำหรับการขนส่งรถยนต์พลังงานใหม่ และรับประกันการส่งออกผลิตภัณฑ์รถยนต์อย่างเต็มที่
อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่กำลังเป็นที่จับตามองของตลาดในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากการสนับสนุนทางนโยบายของรัฐบาลในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้ประกาศว่า ภายในปี 2573 รถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ทั้งหมด ฟิลิปปินส์กำหนดให้บริษัทขนส่งสาธารณะในประเทศเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าให้มากกว่าร้อยละ 5 อินโดนีเซียวางแผนที่จะให้เงินอุดหนุนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 โดยหวังว่าจะมีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าถึง 2.5 ล้านคนภายในปี 2568 สิงคโปร์จะเลิกจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลภายในปี 2568 และภายในปี 2573 การจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ต้องเป็นรถยนต์รุ่นประหยัดพลังงาน
จากการสนับสนุนเชิงนโยบายของผู้นำในหลายประเทศทำให้กลุ่มผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่เล็งเห็นโอกาสสำคัญในการขยายตลาด และกระชับความร่วมมือทั้งในด้านการนำเข้า-ส่งออก และการลงทุนในต่างประเทศ นครฉงชิ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนที่มีการพัฒนารถยนต์พลังงานใหม่อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จึงเป็นหนึ่งในคู่ค้าความร่วมมือที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยควรจับตามอง และพิจารณาไปสู่การพัฒนาความร่วมมือทางการค้าต่อไปในอนาคต
ที่มา : https://thaibizchina.com/chongqing-new-energy-vehicle-industry
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!