CEO ARTICLE

อาวุธผู้จัดการ

Published on August 22, 2023


Follow Us :

    

คนปัจจุบันที่ไม่จบปริญญาสามารถเป็นผู้จัดการได้หรือไม่ ?

คนในอดีต แม้อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ก็สามารถสร้างงาน สร้างขวัญกำลังใจให้ทีมงานฮึกเหิม เป็นผู้นำ บริหาร และเป็นผู้จัดการสายงานต่าง ๆ มีให้เห็นมากมาย
“อาวุธผู้จัดการ” เปรียบเสมือน หอก ดาบ หรือมีดสั้นเพื่อใช้จัดการ ในอดีตยังไร้รูปแบบ ไร้ทิศทาง ผู้จัดการจึงออกอาวุธแบบขาด ๆ เกิน ๆ แต่มีเพียง “ใจมุ่งมั่น” เท่านั้นก็ทำหน้าที่ได้แล้ว
ปัจจุบัน อาวุธผู้จัดการมีมาก หาได้ทั่วไป สร้างเองก็ได้ แม้คนผู้หนึ่งไม่ได้จบปริญญาใด ๆ หากได้อาวุธและใช้ให้ครบก็สามารถควบคุมงาน บริหาร และเป็นผู้จัดการที่ดีได้ไม่ต่างกัน
แต่ก่อนอื่น ผู้จัดการควรทำความเข้าใจคำว่า “บริหาร” และ “จัดการ” ก่อน 2 คำนี้ฟังเก๋ ดูสั้น ง่าย แต่กลับกว้าง ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ความเข้าใจง่าย ๆ แบบไม่อ้างอิงทฤษฏี ดังนี้
“การบริหาร” หมายถึง ความสามารถในการใช้อาวุธต่าง ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาวให้ถูกต้องและแม่นยำ
Keyword ของการบริหารคือ “ความถูกต้องและแม่นยำ”
“การจัดการ” หมายถึง ความสามารถในการใช้อาวุธต่าง ๆ เพื่อนำทีมงานสู่การปฏิบัติจริง หากสิ่งที่ประเมินจากการบริหารเป็น “ผลดี” ก็ให้เกิดผลดีจริง แต่หากสิ่งที่ประเมินเป็น “ผลเสีย” ก็ป้องกันมิให้เกิดขึ้น หากป้องกันไม่ได้ก็ให้เกิดผลเสียน้อยที่สุด
Keyword ของการจัดการคือ “การนำไปสู่การปฏิบัติจริง”
หัวใจหลักของ “การบริหารและการจัดการ” จึงเป็น “ความสามารถ” ในการใช้อาวุธต่าง ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ให้ถูกต้อง ให้แม่นยำ และให้นำทีมงานไปสู่การปฏิบัติได้จริง
อาวุธผู้จัดการสร้างขึ้นเองได้ แต่ทางที่ดีควรให้ผู้รู้ที่มีประสบการณ์สูงสร้างให้เป็นระบบ ให้สอดคล้องกันจะดีกว่า ข้อสำคัญคือ ผู้จัดการต้องได้อาวุธ ต้องใช้ให้เป็น และใช้ให้ครบถ้วน

“ภารกิจ” ของผู้จัดการมีหลายด้าน แต่ส่วนใหญ่หนีไม่พ้น การนำทีมงานปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน และให้ได้รับความพึงพอใจจากลูกค้าหรือผู้เกี่ยวข้อง
ส่วน “อาวุธผู้จัดการ” ที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพก็มีมากมาย ตัวอย่างเช่น
1. ขั้นตอนการทำงาน
ทีมงานยุคเก่าจะปฏิบัติงานจนเกิดความชำนาญ แต่ทุกคนจะชำนาญไม่เหมือนกัน
ขั้นตอนฯ จึงเข้ามาเป็นอาวุธ ผู้จัดการอยากให้ปฏิบัติอย่างไรก็เขียนลงไปเป็นข้อ ๆ สั้น ๆ ให้จำง่าย แต่ละขั้นตอนฯ ต้องใช้เวลาเท่าไรก็เขียนลงไป อธิบาย ทำให้ดู และควบคุมให้ใช้อาวุธนี้
เมื่อทุกคนปฏิบัติตามขั้นตอนฯ ผู้จัดการก็จะประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
ส่วนทีมงานที่ได้รับการเอาใส่ใจแต่ละขั้นตอนฯ ก็จะเชื่อมั่น มีผลงาน เมื่อทำไปจนชำนาญก็จะมีความเป็นมืออาชีพ มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน ใครทำก็เหมือนกัน และได้รับความพึงพอใจ
ขั้นตอนการทำงานใช้กับงานประจำ แต่หากเป็นงานที่ปฏิบัติไม่ประจำ งานโครงการที่ต้องมีทีมงานมาก ๆ หลายแผนก หรืองานผิดปกติก็ใช้ “แผนงาน” เป็นอาวุธผู้จัดการ
ทีมงานคนไหนคือผู้ที่เหมาะสม เขาต้องทำอะไร ทำอย่างไร ทำที่ไหน ทำเมื่อไรเพื่อความสำเร็จก็เขียนลงไป ทำความเข้าใจ ควบคุมให้ปฏิบัติ และต้องเก็บไว้เพื่อนำมาปรับใช้ในอนาคต
ทั้งขั้นตอนฯ และแผนงานเป็นอาวุธที่สำคัญของผู้จัดการ และควรใช้กับงานทุกงาน
2. การรายงาน
การรายงานเป็นอาวุธที่สำคัญมากที่ทำให้ผู้จัดการรู้ เข้าใจ และประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง แม่นยำมากขึ้น นำไปสู่การปรับปรุงขั้นตอนฯ แผนงาน และการควบคุมได้ดียิ่งขึ้น
การรายงานยังถือเป็นการเรียกร้องชัยชนะ (Victory Claim) ให้ทีมงาน และได้ใจทีมงาน
ผู้จัดการต้องกำหนดรูปแบบการรายงาน เวลาที่ต้องรายงาน เช่น ทุกวันก่อนเลิกงาน ส่วนผู้จัดการก็ต้องนำข้อมูลที่ได้ไปรายงานต่อลูกค้า และผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่า
3. การประชุม
การประชุมเป็นอาวุธใช้แลกเปลี่ยนข้อมูล แก้ไขขั้นตอนฯ สร้างกลยุทธ์ใหม่ ๆ พัฒนาความรู้ต่าง ๆ ประเมินสถานการณ์ร่วมกัน ให้ถูกต้อง แม่นยำ และนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างเข้าใจ
การประชุมที่ดีต้องมีรูปแบบ มีกำหนดเวลาแน่นอน  มีการบันทึก และมีการรับทราบ
ตัวอย่างเป็นอาวุธพื้น ๆ ที่ยังมีลึกอีกมาก เช่น การกำหนดเป้าหมาย (KPI) การหมุนเวียนคน การทดสอบ และอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การประเมินสถานการณ์แต่ละช่วงเวลาให้ถูกต้อง แม่นยำ (การบริหาร) และการนำไปสู่การปฏิบัติจริง (การจัดการ) ทั้งสิ้น
กรณีเจ้าของกิจการอยากให้โอกาสคนเรียนไม่สูงได้เป็นผู้จัดการก็ควรรู้ว่า อาวุธอะไรที่คนเรียนไม่สูงถนัด ไม่ถนัด อยากใช้ ไม่อยากใช้ แล้วสร้างให้ สอนให้ และฝึกเขาให้ใช้อาวุธให้เป็น
มิฉะนั้นคนเรียนไม่สูงจะมีเพียงมือเปล่าที่อาจพาทีมงานออกทะเลจนว้าเหว่ง่าย ๆ
อาวุธจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากใช้ไม่เป็น ร่ายรำไม่ถูกกระบวนท่า ออกอาวุธไม่ครบ ไม่หาอาวุธใหม่ ๆ ให้เป็นกลยุทธ์ และไม่มี “ใจมุ่งมั่น” อาวุธผู้จัดการที่ได้มามากมาย แม้จะเปรียบเสมือนหอก ดาบ หรือมีดสั้นให้ดูหรูหราอย่างไร สุดท้ายก็ไม่ต่างอะไรไปจาก “ไม้จิ้มฟัน” ธรรมดา นี่เอง.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉  Home and Health … https://www.inno-home.com
👉  Art and Design …… https://www.cose.life

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : August 22, 2023

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

ตลาดโปรตีนทางเลือกจากขนุนยังมีแนวโน้มสดใส – สคต. ชิคาโก

ขนุนเป็นผลไม้เมืองร้อนที่มีสรรพคุณและประโยชน์มากมายเพาะปลูกมากในประเทศแถบทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย เมียนมาร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทยเนื่องจากมีลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้นเหมาะสมในการเพาะปลูก โดยปัจจุบันขนุนได้ก้าวขึ้นมาเป็นผลไม้มาแรงและมีแนวโน้มได้รับความนิยมและการยอมรับมากขึ้นในตลาดโลกโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ในประเทศกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งให้ความสำคัญและนิยมเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ความนิยมในการบริโภคขนุนยังขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มที่รับประทานอาหารเจ (Vegetarian) และอาหารมังสวิรัติ (Vegan) ด้วยเนื่องจากขนุนเป็นผลไม้ที่ให้สารโปรตีนและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย อีกทั้ง ยังมีลักษณะและรสชาติคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์สามารถนำไปปรุงอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ได้หลากหลายชนิด เช่น ทาโก (Taco) เบอร์เกอร์หมูฉีก (Pulled Pork Burger) เบอร์ริโต (Burritos) นักเก็ต ไส้กรอก แกงเผ็ด และสตูว์ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานบริษัท Expert Market Research ผู้วิจัยตลาดซึ่งได้ศึกษาแนวโน้มตลาดสินค้าอาหารจากขนุนพบว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าอาหารจากขนุนทั่วโลกมีมูลค่าทั้งสิ้น 311.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 380.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.09 ต่อปี (Compound Average Growth Rate หรือ CAGR)

นอกจากนี้ บริษัท Allied Market Research ผู้วิจัยตลาดยังได้รายงานแนวโน้มทิศทางของตลาดสินค้าอาหารจากขนุนไปในทิศทางเดียวกันว่า ยังมีโอกาสในการขยายตัวอีกมากและจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ตลาดสินค้าอาหารโปรตีนจากพืชทั่วโลกขยายตัวเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3.30 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2574 อีกด้วย

ในส่วนของตลาดในสหรัฐฯ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพหันไปทำตลาดสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพจากขนุนเพิ่มมากขึ้นตามกระแสการใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภคในปัจจุบัน เช่น

*บริษัท The Jackfruit Company สำนักงาน ตั้งอยู่ที่เมือง Boulder รัฐโคโลราโด ก่อตั้งโดย Annie Ryu ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Harvard นับเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ในตลาดที่มองเห็นศักยภาพและโอกาสทางการตลาดในการนำขนุนมาใช้ปรุงอาหารทดแทนเนื้อสัตว์เพื่อเป็นโปรตีนทางเลือกสำหรับผู้บริโภคกลุ่มที่ต้องการหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ อีกทั้ง อุตสาหกรรมการเพาะปลูกขนุนเองยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความยั่งยืนทางธรรมชาติซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภครุ่นใหม่ในตลาดปัจจุบันให้ความสำคัญ

โดยบริษัทฯ นำเข้าวัตถุดิบเนื้อขนุนจากอินเดียเป็นหลักเนื่องจากเป็นมีกำลังการผลิตสูงเพียงพอกับความต้องการและยังเป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรที่มีฐานะค่อนข้างยากจนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย ขณะนี้บริษัททำสัญญาซื้อขายกับเกษตรกรอินเดียทั้งสิ้น 1,783 ราย รวมต้นขนุนในสัญญาทั้งสิ้น 516,677 ต้น ซึ่งสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้ทั้งสิ้นประมาณ 28,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่า กลุ่มเกษตรกรในสัญญาจะสามารถเพิ่มปริมาณการเพาะปลูกต้นขนุนได้อีก ราว 61,000 ต้นภายในปีหน้า

*บริษัท Jack & Annie’s ซึ่งเป็นบริษัทภายในเครือบริษัท The Jackfruit Company ผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานจากโปรตีนทางเลือกเพื่อทำตลาดผู้บริโภคชาวอเมริกันที่สนใจเลือกซื้อสินค้าอาหารรับประทานง่ายสะดวกสบายและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ปีกไก่ทอดวีแกน มีทบอลจากพืช หมูฉีกจากขนุน (Pulled Pork) และไก่ทอดโปรตีนจากพืช เป็นต้น โดยบริษัทฯ เป็นที่รู้จักในตลาดอย่างกว้างขวางจากการร่วมทำตลาดกับ Smashburger ผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารเร่งด่วนชื่อดังในการจำหน่ายแฮมเบอร์เกอร์โปรตีนจากพืชซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านคุณภาพและรสชาติจากผู้บริโภค

*บริษัท Jack & Friends ก่อตั้งโดย Ms. Jessica Kwong ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) จากมหาวิทยาลัย Cornell โดยได้นำเนื้อขนุนมาคิดค้นพัฒนาผสมกับโปรตีนจากถั่ว (Pea Protein) จนเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อโปรตีนจากพืชแห้ง (Plant Based Jerky) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับรับประทานเป็นของว่างภายใต้แบรนด์ “Jack & Tom” เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่ม Millennial และกลุ่มที่รับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) โดยขณะนี้มีจำหน่ายในตลาดทั้งสิ้น 3 รสชาติ ได้แก่ “Jack & Tom” รสมะเขือเทศและพริก Polbano “Jack & Barb” รสบาร์บีคิว และ “Jack & Teri” รสเทอริยากิ

นอกจากนี้ การเพาะปลูกขนุนยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืชที่นิยมนำมาปรุงเป็นสินค้าอาหารโปรตีนจากพืชชนิดอื่นเนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้น้ำ สารฆ่าแมลง หรือปุ๋ยในปริมาณมาก อีกทั้ง การเพาะปลูกขนุนยังมีส่วนที่จะสามารถช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในบริเวณที่เพาะปลูกได้ด้วย

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ปัจจุบันผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดให้ความสำคัญในการเลือกบริโภคสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น โดยมักจะเลือกซื้อสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและสนับสนุนความยั่งยืนทางธรรมชาติซึ่งส่งผลดีต่อกลุ่มสินค้าจากธรรมชาติ สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าให้อรรถประโยชน์ (Functional) และสินค้าโปรตีนจากพืชทำให้ตลาดมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาหารโปรตีนจากพืชซึ่งเป็นกระแสและได้รับความนิยมมูลค่าตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านประโยชน์ต่อสุขภาพและยังให้ความสำคัญและพิจารณาไปถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางธรรมชาติในอนาคตด้วย โดยเป็นที่ทราบกันว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกและภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ (Climate Change)

ทั้งนี้ สมาคมอาหารโปรตีนจากพืชสหรัฐฯ (Plant Based Foods Association) รายงานข้อมูลตลาดอาหารจากพืชสหรัฐฯ (U.S. Plant – Based Food Market) พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามูลค่าตลาดสินค้าอาหารจากพืชสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 เป็น 8.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี หรือกว่าสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวของตลาดสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์สหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.15 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้านมจากพืช อาหารและเครื่องดื่มพร้อมรับประทานจากพืช ขนมขบเคี้ยวจากพืช และโปรตีนเสริมจากพืช เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวอเมริกันที่สนใจบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชเองก็เริ่มที่มีความกังวลกับผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชที่วางจำหน่ายในตลาดปัจจุบันเนื่องจากสินค้าเหล่านั้นมักจะเพิ่มสารแต่งสีกลิ่นรสเพื่อให้สินค้ามีลักษณะและรสสัมผัสคล้ายกับเนื้อสัตว์มากที่สุด ซึ่งการบริโภคในปริมาณมากอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคในระยะยาวได้ ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันบางส่วนจึงเริ่มหันกลับไปเลือกบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชที่มาจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ถั่ว สาหร่าย เห็ด และขนุน มากขึ้น

โดยแนวโน้มการขยายตัวของตลาดอาหารจากพืชรวมถึงอาหารแปรรูปจากเนื้อขนุนในตลาดเป็นโอกาสในการขยายตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งประเทศไทยเองมีความได้เปรียบในการเข้าถึงวัตถุดิบสำหรับสนับสนุนการผลิตค่อนข้างง่าย โดยเฉพาะขนุนเนื่องจากเป็นพืชทนแล้งสามารถเพาะปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ จึงทำให้มีปริมาณผลผลิตเพียงพอความต้องการของอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ จากการสำรวจตลาดค้าปลีกสหรัฐฯ ขณะนี้ส่วนใหญ่พบว่าสินค้าเนื้อขนุนอ่อนบรรจุในน้ำเกลือบรรจุกระป๋องของไทยวางจำหน่ายในตลาดอย่างแพร่หลาย ส่วนสินค้าอาหารแปรรูปจากเนื้อขนุนจากไทยยังมีไม่มากนัก การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาสินค้าเพิ่มมูลค่า (Value Added) จากขนุนเป็นสินค้าอาหารสำเร็จรูปสำหรับเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชน่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาแปรรูปสินค้าเป็นเมนูอาหารไทยที่น่าสนใจและเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดอยู่แล้ว เช่น สะเต๊ะเนื้อขนุน ขนุนแดดเดียว และแกงจากเนื้อขนุน เป็นต้น ซึ่งน่าจะช่วยให้ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคในตลาดได้

นอกจากนี้ ในระยะยาวคาดว่า ความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพทั้งในสหรัฐฯ และในตลาดโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น การเตรียมพร้อมอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทั้งระบบ (ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ) โดยเฉพาะการสนับสนุนการผลิตวัตถุดิบด้านอาหาร (Food Resources) จะช่วยให้ไทยสามารถก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้นำตลาดอาหารโลกในยุคที่หลายประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/142603

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.