CEO ARTICLE
ใครเป็นแม่
Shipping และ Logistics ใครใหญ่ และใครเป็นแม่ ?
คนในแวดวงธุรกิจโดยเฉพาะการนำเข้าและการส่งออกต้องเคยมีความสงสัยมาบ้าง
Shipping และ Logistics เป็นคำที่เกี่ยวกับการขนส่ง แต่หากเป็นการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (International Transportation) จะมีกิจกรรมเพื่อการนำเข้าและการส่งออกที่หลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ละกิจกรรมคืออะไร และกิจกรรมใดใหญ่กว่าจนทำหน้าที่คล้ายเป็นแม่ ??
ในทางปฏิบัติ แต่ละกิจกรรมที่เกี่ยวกับเป็นการบริการ มีความเชี่ยวชาญต่างกัน มีวิธีการทำงาน และมีประสิทธิภาพคนละแบบที่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกควรเข้าใจ ดังนี้
1. Transportation
หมายถึง การขนส่งทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจง ส่วนใหญ่ใช้กับการขนส่งสินค้าภายในประเทศมากกว่า แต่หากจะนำไปใช้กับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศก็ไม่ผิดอะไร
2. Shipping
คำว่า Ship ตามศัพท์หมายถึง “เรือ” คำว่า Shipping จึงหมายถึง การเดินเรือ
แต่ในการค้าระหว่างประเทศ คำว่า Shipping หมายถึง การขนส่งทางเรือ หรือการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่ใช้เรียกผู้ประกอบการเดินเรือระหว่างประเทศ หรือสายการเดินเรือ
3. Shipping Agent
ในเมื่อ Shipping คือสายการเดินเรือ Shipping Agent จึงหมายถึง ตัวแทนของสายของการเดินเรือ หรือตัวแทนผู้ได้รับแต่งตั้งจากสายการเดินเรือให้ประจำในแต่ละประเทศ
Shipping Agent มีหน้าที่วางแผนเพื่อรับสินค้าลงเรือขนส่ง ส่งมอบสินค้าเมื่อเรือเทียบท่าปลายทางภายหลังสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรอย่างถูกต้องแล้ว ดูแลเรือให้เทียบท่าและออกจากท่าอย่างถูกกฎหมาย และรวมไปถึงการขายพื้นที่ระวางขนส่ง (Freight) อีกด้วย
4. Liner
หมายถึง สายการเดินเรือที่มีตารางเส้นทางการเดินทางประจำ หรือกำหนดไว้ล่วงหน้า
5. Charter
หมายถึง เรือที่ไม่มีตารางเส้นทางประจำ ส่วนใหญ่เป็นการ “เช่าเหมาลำ”
6. Freight Forwarder
หมายถึง ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยการซื้อระวาง (Freight) จากสายการเดินเรือ (Shipping) ทั้งที่มีเส้นทางประละเอีจำ (Liner) หรือเช่าเหมาลำ (Charter) ทำพิธีการศุลกากร จัดการเอกสาร และอื่น ๆ ให้ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกเพื่อจัดการขนส่งให้ถึงเมืองท่าปลายทาง
7. Customs Broker
หมายถึง ตัวแทนออกของ ผู้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือตัวแทนผู้นำเข้าและผู้ส่งออก
คนไทยเรียก “ชิปปิ้ง” มาแต่ดึกดำบรรพ์ทำให้คนต่างชาติงง กรมศุลกากรพยายามรณรงค์ให้เรียกตัวแทนออกของ และมีประกาศที่ 61/2561 กำหนดระเบียบเกี่ยวกับตัวแทนออกของ
8. Delivery
หมายถึง การส่งมอบ ส่วนใหญ่ใช้กับการขนส่งที่รวมการส่งมอบจนสินค้าถึงมือผู้รับ
9. Logistics
หมายถึง กิจกรรมมากมายเกี่ยวกับการรวบรวม จัดเก็บ เคลื่อนย้าย และกระจายวัตถุดิบ และสินค้าต่าง ๆ จากต้นน้ำถิ่นกำเนิด เข้าสู่กลางน้ำการผลิต และไปสู่ปลายน้ำการบริโภค
ทั้ง 9 กิจกรรมข้างต้นอยู่ในกลุ่มของการเคลื่อนย้ายสินค้า แต่ Logistics ในอันดับ 9 ต้องมีทั้งการรวบรวม การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย การกระจาย และรวมไปถึงการพยากรณ์ความต้องการของลูกค้า การจัดการสินค้าคงคลัง การบรรจุภัณฑ์ และอื่น ๆ อีกมาก
ในภาพรวม Logistics จึงมีสภาพใหญ่กว่า และทำหน้าคล้ายที่แม่ที่คลุมกิจกรรมทั้งหมด
แต่ Logistics ที่เป็นแม่ก็ยังต้องพึ่งกิจกรรมลูก ๆ ทั้งหมด หากกิจกรรมลูก ๆ ทำงานพลาด ไร้ประสิทธิภาพ ตอบสนองแผนงานของแม่ไม่ได้ Logistics ย่อมขาดประสิทธิภาพไปด้วย
สุดท้ายแม่ที่ว่าใหญ่ก็ต้องพึ่งพาลูก ๆ ทุกคน ในทำนองเดียวกัน หากแผนงานของแม่ไม่ดี ประสิทธิภาพของลูกคนหนึ่งที่ทำได้ดีมากก็ไม่เกิดประโยชน์ในภาพรวมทั้งระบบเช่นกัน
“น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” ต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกัน
เมื่อต้องการประสิทธิภาพทั้งระบบ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกจึงควรพิจารณาสภาพสินค้าให้ดี และความต้องการให้ชัดเจน เลือกผู้ให้บริการแต่ละกิจกรรมที่รู้และเข้าใจในภาพรวม เชี่ยวชาญทั้งระบบเพื่อให้ทำงานสอดคล้องกัน ไม่ทำตัวเด่นกว่า เหนือกว่า หรือด้อยค่ากิจกรรมอื่นจนส่งผลกระทบประสิทธิภาพในภาพรวมทั้งระบบ
การเลือกใช้ผู้ให้บริการแต่ละกิจกรรม ให้สอดคล้องกับสภาพสินค้าและความต้องการที่แท้จริงจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้นำเข้าและผู้ส่งออกมากกว่า.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : August 29, 2023
Logistics
ไทย” มองโอกาสจาก “ลิ้นจี่” ผลไม้หน้าร้อนที่ชาวจีนชื่นชอบอย่างไร
“ลิ้นจี่” เป็นผลไม้เมืองร้อนอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน แม้ว่าพื้นที่จีนตอนใต้จะมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการปลูกลิ้นจี่ โดยเฉพาะมณฑลกวางตุ้ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลไห่หนาน และมณฑลฝูเจี้ยน ถือเป็นแหล่งผลิตใหญ่ในจีน แต่ช่วงเวลาที่ลิ้นจี่ออกสู่ตลาดกับปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค และยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน
สถานการณ์การผลิตลิ้นจี่ในประเทศจีนกำลังชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกมีแนวโน้มลดลงทุกปี (จาก 3.58 ล้านไร่ในปี 2560 เหลือ 3.28 ล้านไร่ในปี 2565 ที่ผ่านมา) ขณะที่ผลผลิตลิ้นจี่ก็มีความผันผวนเช่นกัน ข้อมูลปี 2565 ผลผลิตลิ้นจี่ในจีนมีอยู่ราว 2.53 ล้านตัน ลดลง 10% จากปีก่อนหน้า
ปัจจุบัน รัฐบาลจีนอนุญาตให้มีการนำเข้าลิ้นจี่จากประเทศเวียดนาม ไทย มาเลเซีย และเมียนมา โดยช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี เป็นช่วง High season ของการนำเข้าลิ้นจี่ โดย ‘ลิ้นจี่ญวน’ ครองส่วนแบ่งในตลาดจีนมากที่สุด ปี 2565 มณฑลยูนนาน มณฑลซานตง เขตฯ กว่างซีจ้วง มณฑลเจ้อเจียง และนครฉงชิ่งมีการนำเข้าลิ้นจี่จากต่างประเทศ
ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ศุลกากรด่านโหย่วอี้กวาน ได้ทำการตรวจสอบลิ้นจี่นำเข้าจากเวียดนามแล้ว 26 คันครั้ง คิดเป็นน้ำหนักเกือบ 546 ตัน คุณเหมิง อวี้ชุน (Meng Yuchun/蒙玉春) ตัวแทนสหกรณ์เกษตรในเมืองผิงเสียง ให้ข้อมูลว่า สหกรณ์เกษตรนำเข้าลิ้นจี่เป็นประจำทุกปี ผลผลิตลิ้นจี่ของเวียดนามมีระยะเวลาสั้นเพียง 1 เดือน และลิ้นจี่จำเป็นต้องใช้การขนส่งและการผ่านพิธีการศุลกากรที่รวดเร็ว ดังนั้น ด่านการค้าชายแดนผู่จ้ายจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของสหกรณ์ในการนำเข้าลิ้นจี่
“ลิ้นจี่” เป็นผลไม้ที่เน่าเสียง่าย ดังนั้น การขนส่งและการปฏิบัติพิธีการศุลกากรจำเป็นต้องแข่งกับเวลา นับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ที่รัฐบาลจีนเริ่ม ‘ปลดล็อก’ มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ
โควิด-19 ในคนและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ บรรยากาศการเดินทางเข้า-ออกด่านพรมแดนของรถบรรทุกสินค้าผ่านด่านทางบกระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วง(จีน)กับเวียดนามเป็นไปด้วยความคึกคัก โดยเฉพาะด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวานและด่านการค้าชายแดนผู่จ้าย กิจกรรมทางเศรษฐกิจบริเวณได้ฟื้นตัวกลับมาสู่ช่วงก่อนโควิด-19
เพื่อให้ผลไม้นำเข้าคงคุณภาพและความสดใหม่ ศุลกากรผิงเสียงได้ดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ค้าในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านด่านทางบก โดยเฉพาะสำหรับลิ้นจี่แล้ว ศุลกากรโหย่วอี้กวานได้ปรับปรุงขั้นตอนการผ่านด่าน การส่งเสริมกลไกการประสานงานระหว่างด่านกับผู้ค้า การดำเนินนโยบายอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรตรวจสินค้า เช่น การให้สิทธิสำหรับสินค้าเกษตรสดและมีชีวิตในการผ่านเข้าด่านก่อน (Green lane) รวมถึงกระบวนการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้าที่ห้องปฏิบัติการให้ทราบผลอย่างรวดเร็ว
คุณหวง เต๋อ ยรง (Hu Derong/黄德荣) รองหัวหน้าฝ่ายงานควบคุมตรวจสอบประจำด่านโหย่วอี้กวาน ให้ข้อมูลว่า ศุลกากรโหย่วอี้กวานได้จัดฝึกอบรมด้านการตรวจกักกันโรคและแมลงศัตรูพืชในลิ้นจี่เป็นการเฉพาะ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบหน้างาน เพื่อสร้างหลักประกัน ‘ลิ้นจี่นำเข้าปลอดภัย’ ในขณะเดียวกัน ศุลกากรฯ รับทราบแผนการนำเข้าลิ้นจี่ของสหกรณ์เป็นการล่วงหน้า และได้จัดทำแผนการตรวจสอบลิ้นจี่นำเข้า โดยปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบ เพิ่มอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสินค้า และเพิ่มพื้นที่จอดรถบรรทุกสินค้าสำหรับการตรวจสอบสินค้า เพื่อให้ลิ้นจี่สามารถนำเข้าผ่านด่านได้อย่างรวดเร็ว
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ด้วยความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของผลไม้เมืองร้อนและผลไม้เขตกึ่งร้อนที่สามารถปลูกและผลิดอกออกผลได้ตลอดทั้งปี แถมยังมีราคาย่อมเยา ทำให้ผู้บริโภคสามารถควักกระเป๋าซื้อหามารับประทานได้ทั่วไป จนเกิดเป็นไวรัลในโลกโซเชียลที่พูดถึงกว่างซีว่าเป็น Fruit Freedom หรือในภาษาจีนพูดว่า “สุยกั่ว จื้อโหยว” (水果自由) ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปีเป็นช่วงที่ผลไม้เมืองร้อนท้องถิ่นหลายชนิดจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งมะม่วง ลิ้นจี่ และลำไย
อย่างที่ได้นำเสนอไปข้างต้นว่า แม้ว่าผลไม้เมืองร้อนบางชนิดสามารถเพาะปลูกได้ดีในพื้นที่จีนตอนใต้ อย่างลิ้นจี่ในกว่างซี คาดว่าปีนี้จะได้ผลผลิตราว 9.7 แสนตัน แต่ปริมาณผลผลิตยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคในจีนได้ อีกทั้ง ฤดูกาลที่ผลผลิตออกสู่ตลาดที่เหลื่อมกัน จึงเป็น ‘โอกาส’ ที่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ไทยจะส่งเสริมการเพาะปลูกผลไม้เมืองร้อนที่หลากหลายและต้องได้คุณภาพ ควบคู่การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออกไปตลาดจีน ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่า (Value added) ให้กับตัวสินค้าแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์และค่านิยมของผลไม้ไทยที่มีคุณภาพและความสดใหม่ในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน
ที่มา : https://thaibizchina.com/%e0%b9%84%e0%b8%97%e0%b8%a2-%e0%b8%a1%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%82%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81-%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%88/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!