SNP NEWS

ฉบับที่ 390

CEO Article

“ลาทีปี 58”

14252239791425224029l

“ผมมีหน้าที่ผลักดันสินค้าเหล่านี้ให้ส่งออกเร็วที่สุด”

ประโยคข้างต้นถูกกล่าวขึ้นด้วยเสียงอันดังในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2558 จาก ร.ต.ท. อุดม ปิยนุสรณ์ เจ้าหน้าที่ ตม. ประจำด่านเชียงของ ด่านชายแดนไทยลาว จังหวัดเชียงราย
ประโยคนี้ หากกล่าวจากพ่อค้านักธุรกิจ ใคร ๆ ฟังก็พอจะเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ต้องส่งออกโดยเร็วจะนำเงินกำไรกลับคืนมาให้โดยเร็วเช่นกัน แต่เสียงนี้กลับดังมาจากข้าราชการ ตม. ประจำด่านชายแดนผู้หนึ่ง
“เอ้าคิวต่อไปเชิญ”

เช้าวันนั้น ผมเดินทางไปที่ด่านเชียงของเพื่อนำข้อมูลมาประกอบการนำเข้าสินค้ารายหนึ่งที่จะมาจากประเทศจีนเดินทางเข้าประเทศไทยโดยรถบรรทุกหลายเที่ยวผ่านด่านแห่งนี้
ผู้นำเข้าให้ความสำคัญต่องาน ผู้ให้บริการก็ต้องให้ความสำคัญต่องานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันหรือต้องมากกว่าด้วยซ้ำไป
ตัวสินค้าเป็นเรื่องของศุลกากรที่ผมได้ข้อมูลมาพร้อมแล้ว ส่วนตัวคนเป็นเรื่องของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง
คำว่า “คน” ในที่นี้ก็คือคนขับรถบรรทุกของไทยที่ต้องขับรถผ่านด่านออกไปเพื่อรับสินค้าขนถ่ายข้ามชายแดนฝั่งลาวแล้วขับรถกลับเข้ามา เสียงเรียกทำผมเดินเข้าไปพบตามคิว
“พี่ครับ ผมชอบที่พี่พูดว่ามีหน้าที่ผลักดันสินค้าเหล่านี้ให้ส่งออกเร็วที่สุด”
ผมกล่าวคำแรกที่ได้สนทนากับท่าน แล้วใบหน้าที่ยิ้มแย้มของท่านก็ตอบมา
“ผมทำตามนโยบายของหัวหน้าผม ร.ต.อ. อรรณพ เอิบอิ่ม เราเป็นข้าราชการที่ต้องช่วยเหลือประเทศให้ส่งออกเร็วที่สุด”
เพียงแค่นี้ความวุ่นวายหาที่ต้องหาข้อมูลของผมก็ลดน้อยลง แต่คำว่า “เราเป็นข้าราชการ”ที่ได้ยินกลับทำให้ผมคิดตาม
ข้าราชการได้ทำอะไรไปบ้างกับประเทศไทยใน ปี 2558 ???
ใน htttp://th-th.facebook.com’post ได้ให้ความหมายของคำ “ข้าราชการ” ไว้ว่า
ข้า … หมายถึง ขี้ข้า
ราช … หมายถึง ราชะ หรือราชา
การ … หมายถึง การงาน
ดังนั้น ข้าราชการจึงหมายถึง บุคคลผู้เป็นข้ารับใช้การงานของราชา ข้าราชการเป็นข้ารับใช้งานราชการ นั่นคือ ต้องรับใช้ประชาชน
ปี 2558 ประเทศไทยพบกับความไม่สงบเป็นระยะและปัญหารอบด้านที่ส่งผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจนทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่พอรายจ่าย และหยุดการใช้จ่ายในที่สุด
ผลประกอบการธุรกิจขนาดกลางและเล็กต่างประสบปัญหา ยกเว้นแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ยังยืนอยู่ได้ การกระตุ้นให้ประชาชนท่องเที่ยวและใช้จ่ายจึงเป็นพื้นฐานและส่วนสำคัญจนรัฐบาลต้องออกมาตรการหลายประการเข้ามากระตุ้นจนถึงปลายปี

ต้นเหตุของปัญหาเหล่านี้มาจากอะไร ???
ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ไม่มีใครควบคุมได้ ส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในที่ยังไม่สงบ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการนี่เอง
ปัจจัยภายนอกเป็นเรื่องที่เกินควบคุมจริง ๆ ส่วนปัจจัยการเมืองก็ต้องรอเวลาอีกนานกว่าความปรองดองที่แท้จริงจะกลับเข้ามา
ตรงกันข้าม การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการกลับกลายเป็นปัจจัยที่ทำร้ายประเทศไทยก็ได้ หรือจะช่วยเหลือประเทศชาติที่ได้ผลโดยพลันก็ได้ทั้ง 2 ด้านในเวลาเดียวกัน
ด้านการทำร้าย
ปี 2558 พบว่าข้าราชการรับใช้ประชาชนโดยยึดกฎเกณฑ์ ยึดกฎหมาย หรือยึดระเบียบเหนียวแน่นเกินไป ข้าราชการไม่ใส่ใจภารกิจของงาน เจตนารมณ์ที่ทำผิด และความเสียหายที่จะมีต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจโดยรวม
การยึดที่แน่นเกินไป หรือการปล่อยเกียร์ให้ว่างเกินไปจึงเป็นการทำร้ายและซ้ำเติมประเทศไทยในปี 2558 ให้หนักยิ่งขึ้น
ประชาชนและผู้ประกอบการหลายรายต้องถูกจับ ถูกปรับ และถูกเรียกเงินนอกระบบด้วยความผิดพลาดที่เห็น ๆ ว่าไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีเจตนา แต่กลับไม่มีข้าราชการผู้ใดก้าวเข้ามาช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำแก้ไข มันเหมือนการทำร้ายและซ้ำเติม
การนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าและส่งออกอย่างมีหลักฐานพิสูจน์ได้ แต่เพียงผู้นำเข้าสำแดงพิกัดและอัตราอากรขาเข้าผิด มันก็กลายเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าชัดเจน

วัตถุดิบที่นำเข้ามาเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทย ส่วนการส่งออกก็เป็นการนำเงินตราต่างประเทศให้ไหลเข้าสู่ประทศไทย มันได้ประโยชน์ต่อส่วนรวมทุกทาง

แม้จะเห็นชัด ๆ ว่าความผิดไม่มีเจตนาแต่กฎหมายก็ถูกตีความอย่างแข็งแรง จากนั้นความหายนะก็เข้ามาเยือนจนอยากเลิกกิจการ
ด้านการช่วยเหลือ
ข้าราชการรับใช้ประชาชนโดยคำนึงถึงภารกิจของงานนั้น การยึดกฎเกณฑ์ ยึดกฎหมาย ยึดระเบียบก็เพียงเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น
เมื่อใดที่ข้าราชการพบความผิดโดยสุจริตใจ การเข้ามาช่วยเหลือ หรือหาแนวทางเยียวยาตามแนวทางกฎหมายที่มีหลายด้าน และมีหลายมุมก็ยังพอมีให้เห็น

นี่จึงเป็นข้าราชการผู้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง กฎหมายที่ช่วยเหลือได้ด้วยกฎหมาย
ข้าราชการใดก็ตามที่เข้าใจบทบาทหน้าที่การรับใช้ประชาชน ข้าราชการผู้นั้นก็สามารถพูดเสียงดังเหมือนอย่างที่ ร.ต.ท. อุดม พูดไม่ผิดเพี้ยน
มันจึงเป็นการดีมากต่อประเทศไทยหากจะมีข้าราชการแบบนี้มากขึ้น

ปี 2558 ที่กำลังจะผ่านไป แม้ปีนี้ประเทศไทยจะยังมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากข้าราชการ และแม้ดูเหมือนว่าท่านก็พยายามทุ่มเทแก้ไขอย่างเต็มที่แล้ว
แต่ก็ยังมีประชาชนและผู้ประกอบการได้รับความเสียหายจากข้าราชการที่มุ่งทำร้ายซ้ำเติมอีกไม่น้อย ซึ่งมันส่งผลให้ประเทศไทยให้บอบช้ำตามไปด้วย
แม้หลักการจะกล่าวว่า เมื่อหัวไม่ส่าย หางก็ย่อมไม่กระดิก
แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม วันนี้ประเทศไทยยังมีข้าราชการที่พูดเสียงดัง ๆ ให้ทุกคนรู้ถึงหน้าที่เหมือน ร.ต.ท. อุดม น้อยเหลือเกิน
หากจะลาทีปี 58 ในวาระนี้ ประเทศไทยควรลาจากข้าราชการที่ไม่ใช่ผู้รับใช้ประชาชนจะดีกว่า

ปีใหม่ 59 ขอให้ประเทศไทยมีข้าราชการที่รับใช้ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น

ในวารดิถีขึ้นปีใหม่ 2559 นี้ ผมขอให้ท่านผู้อ่าน ครอบครัว พนักงานและกิจการของท่านจงมีแต่ความเจริญ มีความสุข และมีความมั่นคงตลอดไป

สิทธิชัย ชวรางกูร

โลกนี้หมุน เปลี่ยนผ่าน นานมากแล้ว
ไม่คลาดแคล้ว เหนื่อยยาก อยากหยุดหมุน
ชีวิตคน หมุนนิดเดียว ไม่เหนียวทน
คนหนอคน รักหนอรัก สุดภักดี

ในดิถี ปีใหม่เปลี่ยน เวียนอีกหน
ขอทุกคน สุขสมหวัง ดั่งขุนศรี
ให้ได้เงิน ให้ได้ทอง กองทวี
สุดแฮปปี้ วันนิวเยียร์ เชียร์ไชโย

สวัสดีปีใหม่ 2559

The Logistics

Two BTS SkyTrains pass each other at the Nana station on the Sukhumvit Line.
คมนาคม คาดชงโครงการรถไฟฟ้าอีก 6 สายให้ครม.อนุมัติในปี 59

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมเปิดเผยว่า ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ระยะ 5 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เพื่อบรรจุไว้ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ จะประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1. แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน 2. แผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งสู่พื้นที่เขตเศรษฐกิจต่างๆ ทั้ง 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และซุปเปอร์คลัสเตอร์ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3. พัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯปละปริมณฑล โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)จะต้องยกร่างศึกษาแผนแม่บทโครงข่ายรถไฟฟ้าระยะที่ 2 ขึ้นมา ซึ่งจะต้องมีการเชื่อมโยงกทม.และปริมณฑลใน 3 ระดับ คือ พื้นที่กทม.ตอนในชั้นธุรกิจ, พื้นที่กทม.ชั้นนอก วงแหวนรัชดาภิเษกและวงแหวนกาญจนาภิเษก และพื้นที่ต่อเชื่อมกับกทม.เช่น นครปฐม ฉะเชิงเทราแปดริ้ว) บ้านภาชี รัศมี 60-100 กม. โดยวางโครงข่ายเชื่อมโยงรถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง โครงข่ายรถไฟฟ้าชานเมือง(Commuter Train) 4. การพัฒนาท่าเรือในระยะที่ 2

นายอาคมกล่าวว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ที่จะบรรจุในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 นี้จะเป็นโครงการต่อเนื่อง และจะดำเนินการในช่วงปี 60-64 ซึ่งจะมีทั้งโครงการที่กำหนดไว้เดิม ในพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมระยะเวลา 8 ปี (58-65) นอกจากนี้จะมีโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างศึกษา เช่น รถไฟฟ้าสายสีเทา สายสีน้ำตาล และรถไฟฟ้าที่จะเพิ่มโครงข่ายใยแมงมุมให้มากขึ้น โครงการทางด่วนสายพระราม 3 – ดาวคะนอง รวมถึงรถไฟทางคู่ ระยะ 2 โครงการมอเตอร์เวย์ ทั่วประเทศ ส่วนแผนงานโครงการที่ลงทุนหลังปี 2564 จะบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ประเทศ ระยะ 20 ปี

ส่วนโครงข่ายรถไฟฟ้าระยะที่ 1 จำนวน 10 เส้นทางนั้น คาดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.)จะอนุมัติครบภายในปี 59 โดยขณะนี้เหลือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ) สายสีเขียวใต้ ช่วงสมุทรปราการ – บางปู สายสีเขียวเหนือ ช่วงคูคต – ลำลูกกา

ที่มา : http://www.ryt9.com/s/iq03/2325881

AEC Info

8562

ธ.กรุงเทพ เปิดสาขากัมพูชา เป็นสาขาต่างประเทศแห่งที่ 29 คาดวางรากฐาน 3 ปี พร้อมรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้กลับมาเปิดให้บริการในกัมพูชาอีกครั้ง หลังยกเลิกการดำเนินการในกัมพูชาไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ นับเป็นสาขาต่างประเทศแห่งที่ 29 จากทั้งหมด 30 แห่ง

โดยธ.กรุงเทพ สาขากัมพูชา จะให้บริการด้านการเงินแบบครบวงจร เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าทั้งทย กัมพูชา และต่างชาติ ซึ่งระยะแรกเตรียมให้บริการกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ของไทย ที่มีการลงทุนธุรกิจในกัมพูชาไว้แล้ว และผู้ที่เตรียมจะลงทุนในกัมพูชา รวมถึงเจาะกลุ่มรายย่อยและพนักงานของบริษัทที่ลงทุนในกัมพูชาอีกด้วย ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าท้องถิ่นในพื้นที่ คาดว่าจะใช้เวลาวางรากฐานไม่ต่ำกว่า 3 ปี และพยายามขยายเครือข่ายของธนาคารให้ครอบคลุมมากที่สุดจากการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขของไทยได้ขยายตลาดให้กว้างขึ้นได้

ที่มา http://news.mthai.com/

คุยข่าวเศรษฐกิจ

halal food-1

ทิศทาง “ฮาลาล” ปี59 อุตสาหกรรมอาหารบูมสุด

ภายในปี 2563 ไทยตั้งเป้าเป็น 1 ใน 5 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลโลก โดยในปี 2557 ไทยรั้งอันดับที่ 10 มีมูลค่าการส่งออกรวม 200,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 22 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวมขยายตัวร้อยละ 8 ต่อปี ตัวเลขตนี้น่าสนใจไม่น้อย ถ้าจะบุกฮาลาล อาหารคือคำตอบที่ปังที่สุด ซึ่งในปีที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน ต่างก็ให้การส่งเสริมในรูปแบบต่างๆ จนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจฮาลาล มีเพื่อนเดินทางที่เข้มแข็ง พร้อมลุย ตลาดฮาลาลแข่งกับต่างประเทศ

ฮาลาลทันสมัย

Dubai Chamber ประเมินมูลค่าตลาดฮาลาลโลก เฉพาะกลุ่มอาหารมีมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2557) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของมูลค่าการค้าอาหารของโลก คาดว่าในปี 2561 มูลค่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันอาหารระบุว่า แนวโน้มผู้บริโภคอาหารฮาลาลที่เปลี่ยนไป คือ 1.ผู้บริโภคเน้นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากประชากรโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะโรคอ้วน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว 2.อาหารสำเร็จรูป หรือพร้อมทานในกลุ่มโปรตีน อาหารอินทรีย์ เพื่อสุขภาพ 3.นิยมทานอาหารนอกบ้าน เพื่อเสพอาหารและความบันเทิงพร้อมๆ กัน

ปัจจัยเหล่านี้มาจากการขยายตัวของสังคมเมือง ความสะดวกในการเดินทางข้ามประเทศ ทำให้ต้องการทานอาหารชาติอื่นตลาดที่มีศักยภาพยังเป็นกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ได้แก่ ประเทศซาอุดีอาระเบีย, UAE, กาตาร์, บาห์เรน, คูเวต ส่วนตลาดที่มีปริมาณผู้บริโภคสูงแต่เป็นระดับแมสคือ อินโดนีเซีย เนื่องจากภาครัฐหนุนทุกทาง

สำหรับไทย การสนับสนุนของภาครัฐที่เห็นได้ชัด มี 2 ด้านคือ ด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการร้านอาหารฮาลาล ในการปรับปรุงร้านให้ถูกต้องตามหลักศาสนาผ่านการตรวจรับรองจากคณะรรมการกลางอิสลามฯ ก่อน โดยร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือเรื่องเงินทุนในการปรับปรุงร้าน ผ่านวงเงิน 300 ล้านบาท

ผลคือมีการตอบรับมากกว่า 4,000 ร้านค้าจากทั่วประเทศ ในปีนี้ (2559) จึงเตรียมออกผลิตภัณฑ์เพิ่มในกลุ่มโรงชำแหละ และร้านจำหน่ายเนื้อ เตรียมจะMOU กันเร็วๆ นี้ ด้านการรับรองมาตรฐาน มีการขยายระยะเวลาการใช้งานมาตรฐานฮาลาล จากปีต่อปี เป็นยื่นครั้งเดียวใช้ได้ 2 ปี

ข้อมูลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเผยว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลกว่า 5,000 บริษัท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีสถานประกอบการในประเทศที่ขอรับการรับรองฮาลาล 2,188 ราย หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 ต่อปี โดยร้อยละ 90 เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารและคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องร้อยละ 20 ต่อปี

จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

มาเลย์ศูนย์กลางการเงิน

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญก็คือ ต่างประเทศมีการนำเรื่อง “ที่มา” ของเงินมาใช้ในการสร้างความได้เปรียบในการทำการตลาด โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้นำมีเป้าหมายเป็น “ศูนย์กลางด้านการเงินมุสลิม” ซึ่งขณะนี้มีธนาคารอิสลามที่ดำเนินการโดยรัฐและมีธนาคารพาณิชย์อื่นๆ มากกว่า 20 แห่ง ด้วยการเพิ่มช่องทางพิเศษสำหรับลูกค้ามุสลิมอีกด้วย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อในรูปแบบที่ถูกต้องตามหลักศาสนาได้ง่าย สะดวก และทั่วถึงกว่าหลายๆ ประเทศ

แม้แต่สถาบันการเงินของไทยเองมีการขยับขยายในรูปแบบการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมฮาลาลมากขึ้น เช่น สินเชื่อเอสเอ็มอีในการทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยในปีหน้า เชื่อได้ว่าธุรกิจฮาลาลไทยมีโอกาสที่จะเติบโตแน่นอน

ที่มา http://www.prachachat.net/