CEO ARTICLE
Start Up – 1
Start Up คำนี้หลายคนคงเคยได้ยิน อย่างน้อยก็เป็นชื่อของซีรี่ย์เกาหลีที่ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงเพื่อให้ติดตามและใช้เป็นแบบอย่าง
หากจะว่า Start Up เป็นการเริ่มธุรกิจรุ่นใหม่ที่ผู้เริ่มอาจไม่มีเงินทุนมากนัก แต่กลับมั่นคงและเติบโตคล้ายปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ มีการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ด้วยความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันโดยการคิด การตัดสินใจภายใต้ความรู้และคุณธรรมเพื่อความยั่งยืนก็ได้
Start Up จึงเป็นการเริ่มธุรกิจที่น่าสนใจ หากใครสักคนอยากเริ่มแบบ Start Up
คำถามคือ คนผู้นั้นควรเริ่มจากอะไรก่อนเป็นลำดับแรก ???
คำตอบคือ ควรเริ่มจากการมองสภาพแวดล้อมก่อน มองด้วยความรู้ มองให้ได้ทั้งใกล้และไกลตัว มองให้เห็นอดีต มองวันนี้ มองชีวิตในอนาคต มองคนทั่วโลกเขามีอะไร เขาทำอะไร มองให้เห็นภาพกว้างและภาพลึกให้ได้เป็นลำดับแรก
ชีวิตประจำวันในปัจจุบันที่ใกล้ตัวมีอะไรบ้างที่ไม่สะดวก อะไรที่ขาดหาย และอะไรบ้างที่สามารถนำมาเติมเต็มให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
การมองแบบนี้ ใครว่าง่ายก็ง่าย ใครว่ายากก็ยาก
หากจะทำให้มองง่าย คนที่เริ่ม Start Up จึงต้องมองด้วยความรู้อย่างมีหลักการ มีเหตุผล มองด้วยทัศนคติ (Attitude) และมองด้วยวิสัยทัศน์ (Vision) ที่ดีและกว้างไกล
ทัศนคติและวิสัยทัศน์จึงเป็นทักษะพื้นฐานแต่สำคัญที่คนเริ่ม Start Up ต้องมี
ไม่ว่าจะมองได้กี่เรื่องก็ให้จดลงไป จดทุกสิ่งที่มองเห็นไม่ว่าจะแน่ใจหรือไม่ก็ตาม จากนั้นก็นำสิ่งที่จดไปขอความคิดเห็นจากผู้ที่มีประสบการณ์ มีทัศนคติ และมีวิสัยทัศน์ที่ดี
สิ่งที่ผู้เริ่ม Start Up ควรคำนึงคือ คนใกล้ตัวและคนทั่วโลกทุกวันต้องกิน ต้องใช้ ต้องเดินทาง ต้องสื่อสาร ต้องมีชีวิต และต้องมีปฏิสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ มากมายหลายซับหลายซ้อน
ทุกคนต้องการความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว ต้องการชีวิตที่ดีขึ้น ต้องการหลายสิ่งมาเติมเต็มในชีวิต แต่ทรัพยากร (Resources) ที่จะนำมาสนองความสะดวกสบายกลับมีจำกัด
หากผู้เริ่ม Start Up มองเห็นและหาทางสนองได้ ทุกคนก็พร้อมที่จะเดินเข้ามาเป็นลูกค้า
พอมีความสะดวกสบายและความรวดเร็วเข้ามาเกี่ยวข้อง เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งผู้เริ่ม Start Up อาจมีพื้นฐานหรือไม่มีก็ได้ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
หากไม่มี สิ่งสำคัญคือผู้เริ่ม Start Up ต้องมีที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีที่ดี
เมื่อมองเห็นชีวิตประจำวัน สิ่งที่ขาดหาย สิ่งที่จะนำมาเติมเต็มในอนาคต และสิ่งที่จะทำเพื่อการสนองได้พอสมควรแล้ว ผู้เริ่ม Start Up ก็นำความคิดมาเขียนให้เป็นรูปเป็นร่าง ให้เป็นต้นแบบ (Prototype) หรือแผนธุรกิจ (Business Plan)
การเขียนต้นแบบก็ควรต้องเขียนอย่างรวดเร็วที่เพียงพอ ไม่ช้าเกินไป และเขียนขึ้นรูปแบบใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ เขียนดีก็ช่าง ไม่ดีก็ช่าง ไม่ต้องคำนึง ไม่ต้องใส่ใจในตอนนี้
เมื่อไม่ใส่ใจว่าดีหรือไม่ดี การเขียนจึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาก แต่จำเป็นต้องมีเพื่อนหรือที่ปรึกษาที่ดีเพื่อให้ความคิดเห็นกับต้นแบบที่จะนำไปสู่การปรับปรุงที่ดีขึ้น
ต้นแบบจึงควรมีการปรับปรุงตลอดเวลา และจุดสำคัญคือ การนำต้นแบบที่ปรับปรุงดีแล้วไปทดสอบกับผู้ใช้จริงมาก ๆ เพื่อพิจารณาข้อบกพร่องที่อาจขาดหายให้ต้นแบบดีขึ้นจริง ๆ
การเริ่มต้น Start Up จึงต้องเริ่มจากการมองด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทัศนคติบวก วิสัยทัศน์ดี มองได้ถูกต้อง แม่นยำ และการมีเครือข่ายที่ดี (Network) ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
คนที่มองแต่เงิน มองแต่กำไร มองแต่ทางได้ไม่ยอมเสียให้ผู้อื่น มองแต่ผลบวก มองไม่เห็นการแข่งขัน หรือมองให้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง คนแบบนี้ย่อมขาดทัศนคติ ขาดวิสัยทัศน์ หากจะเริ่มต้นธุรกิจแบบ Start Up ก็ลำบาก หรือหากเริ่มได้ก็ส่อวี่แววให้ล้มตั้งแต่ต้น
การทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้วที่พร้อมรับสิ่งใหม่ ๆ เข้าอบรม เรียนรู้ ประชุม สัมมนา เข้าร่วมกิจกรรม อ่านบทความ หนังสือที่ให้ประโยชน์ ติดตามข่าวสารทั้งในและต่างประเทศ รับฟังผู้อื่นให้มาก พูดคุยกับคนมีประสบการณ์สูง ต่าง ๆ นานาเหล่านี้เป็นการพัฒนาความรู้ ทัศนคติ วิสัยทัศน์ และการพัฒนามุมมองเพื่อไปสู่ Start Up ที่ดี
นี่คือแนวคิดเบื้องต้น ส่วนการหาเงินทุน และวิธีดำเนินการจะกล่าวใน Start Up ตอนต่อไป
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
ปล. หนังสือ “เก่งง่าย รวยง่าย ด้วยบันได 3 ขั้น” เป็นหนังสือสร้างพื้นฐานเพื่อการเริ่ม Start Up ที่ดี มีจำหน่ายตามศูนย์หนังสือชั้นนำทั่วไปในราคาเล่มละ 250 บาท
รายได้จากหนังสือเข้ากองทุน CSR เพื่อมอบให้เด็กนักเรียนยากไร้ โรงเรียนวัดแก้วเจริญ (เฟื้อบำรุง) หมู่ 10 ต. เหมืองใหม่ อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม 75110 โทร 034-735024 ครูณัจวรรณ จันทรตัง ในวันที่ 30 ต.ค. 2564
ผู้ติดตามบทความนี้สามารถขอรับ “ฟรี” ได้ที่ 02-333-1199 ต่อ 0 หรือ 087-519-4643 คุณปู ในเวลาทำการ (มีค่าจัดส่ง และค่าดำเนินการ 100 บาท)
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : March 9, 2021
Logistics
อำเภออันซี เมืองเฉวียนโจว ประเทศจีน เริ่มใช้ระบบการจราจรอัจฉริยะเป็นครั้งแรก สร้างความปลอดภัยยามค่ำคืน
ในปี 2564 อำเภออันซี เมืองเฉวียนโจวเริ่มใช้ระบบทางม้าลายอัจฉริยะเป็นครั้งแรก เพื่อให้ประชาชนเดินข้ามถนนในเวลากลางคืนได้อย่างปลอดภัยและผู้ขับขี่สามารถมองเห็นคนที่เดินข้ามถนนได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ระบบทางม้าลายอัจฉริยะดังกล่าวทำงานด้วยหลอดไฟ LED ที่ถูกฝังอยู่บนด้านข้างทางม้าลายทั้ง 2 ด้าน และ มีป้ายสัญญาณจราจรกำกับสัญญาณ “หยุดให้ทางแก่คนข้าม” รวมทั้งมีเซนเซอร์และระบบอินฟราเรดคอยตรวจจับผู้สัญจรเพื่อตรวจสอบการสัญจรแบบ Real Time หากมีบุคคลฝ่าฝืนกฎจราจร ระบบอินฟราเรดจะส่งสัญญาณเสียงว่า “คุณกำลังฝ่าไฟแดง เชิญถอยกลับที่เส้นรอ” เพื่อช่วยเตือนคนข้ามถนน และยังช่วยให้ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถข้ามถนนได้
นอกจากนี้ ระบบทางม้าลายอัจฉริยะนี้ยังใช้ระบบเรดาร์ในการช่วยวัดความเร็วของรถยนต์ที่กำลังวิ่งผ่านไปมา รวมทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลการสัญจรของยานพาหนะและผู้คนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อประเมินสภาพการจราจรโดยรวมของเมือง ปัจจุบัน ทางม้าลายอัจฉริยะนี้ถูกนำไปติดตั้งที่บริเวณสำนักงานรัฐบาลอันซี ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำเภออันซีที่มีคนเคลื่อนไหวจำนวนมาก จากการติดตามผลหลังการติดตั้งพบว่า ระบบนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยของคนข้ามถนนได้ถึงร้อยละ 25 เนื่องจากพบว่า ผู้ขับขี่กว่าร้อยละ 90 มักหยุดรถที่ทางม้าลาย หากสามารถมองเห็นทางข้ามและคนข้ามได้ชัดเจน เนื่องจากมีเวลาชะลอรถล่วงหน้า จึงสามารถช่วยลดอุบัติเหตที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผู้ขับขี่และผู้ข้ามถนน ทั้งนี้ ในปี 2562 เมืองเฉวียนโจวมีคนข้ามถนนผิดกฎหมายจราจรรวม 349 คดี ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการข้ามถนนทั้งหมด 355 คดี และมีผู้เสียชีวิต 55 คดี
โอกาสของไทย การใช้ระบบทางม้าลายอัจฉริยะของอำเภออันซี เป็นต้นแบบที่ดีสำหรับการปรับปรุงความเป็นอัจฉริยะทางการจราจรของไทย เพื่อช่วยลดอุบัติเหตที่เกิดขึ้นในการข้ามถนนและสร้างความปลอดภัยในยามค่ำคืนได้ โดยไทยสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบทางม้าลายอัจฉริยะดังกล่าวในเมืองท่องเที่ยวของไทย อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ตและหัวหิน เพื่อเสริมมาตรการด้านความปลอดภัยในการใช้รถยนต์และถนน โดยไทยอาจเริ่มนำร่องระบบทางม้าลายอัจฉริยะในเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติใช้เส้นทางสัญจรจำนวนมาก
ที่มา : https://thaibizchina.com/
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!