Logistics Corner

ฉบับที่ 474

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ปรามทุจริต”

คะแนนความโปร่งใสของไทยร่วงอีกแล้ว
กรมศุลกากรตกเป็นจำเลยของการทุจริตระดับต้น ๆ

…………………..
หลายปีที่ผ่านมา การประกาศความโปร่งเต็มของแต่ละประเทศจากคำแนนเต็ม 10 ไทยมักมีคะแนนอยู่ในระดับประมาณ 3.3 – 3.8 คะแนน

ขณะที่ฟินแลนด์ สิงคโปร์ เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ซึ่งมีความโปร่งใสในระดับต้น ๆ จะได้คะแนนในระดับ 9.2 – 9.6

ไม่มีประเทศใดได้เต็ม 10 คะแนน

นั่นหมายความว่า ต่อให้ประเทศที่ได้คะแนนระดับต้น ๆ ก็ยังมีการทุจริตอยู่เล็กน้อย การปลอดจากการทุจริตแบบ 100% จึงไม่มีในโลกนี้

การกำหนดมาตรการ กฎหมาย และการลงโทษจึงเป็นเพียงมาตรการปรามเท่านั้น มันขึ้นอยู่กับหน่วยงานของรัฐและเอกชนของแต่ละประเทศที่จะร่วมมือกันจริงจังมากน้อยเพียงใด

ทุกครั้งที่มีการพูดถึงการทุจริตของไทย กรมศุลกากรมักต้องตกเป็นจำเลย

หลายหน่วยงานมองว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากกฎหมายศุลกากรล้าสมัยและมีมากเกินไป เอาที่ใช้ในปัจจุบันก็มีมากกว่า 24 ฉบับ เข้าไปแล้ว

เดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังก็ประกาศรวมกฎหมายศุลกากรเหล่านี้ ให้อยู่ใน พรบ. ฉบับเดียว เรียกว่า พรบ. ศุลกากร 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับราวเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้ และมีผลให้กฎหมายศุลกากรเก่าทั้ง 24 ฉบับถูกยกเลิกไป

การรวบรวมก็ทำโดยการตัดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน ล้าสมัย ปรับถ้อยคำในกฎหมายเก่าให้เหลือน้อยลง และสุดท้ายก็เพิ่มโทษปรับและจำคุกในกรณีการหลีกเลี่ยงภาษีอากรให้มากขึ้น

คำถามง่าย ๆ คือ การปรามทุจริตโดยการเพิ่มโทษปรับและจำคุกให้มากขึ้นนี้ จะทำให้การหลบเลี่ยงเงินภาษีอากรลดลงหรือไม่ การทุจริตภายในกรมศุลกากรลดลงหรือไม่ และคะแนนความโปร่งใสของไทยดีขึ้นหรือไม่ ???

ทุกคนคงได้แต่เดาคำตอบ ส่วนคำตอบที่แท้จริงก็คงต้องปล่อยให้มีการบังคับใช้จริง ๆ ขึ้นก่อน จากนั้นต้องรออีกนานกว่าผลที่แท้จริงจะตามมา

หากจะพิจารณางานประเภทใดที่มีโอกาสก่อให้เกิดการทุจริตในกรมศุลกากรมากที่สุด คำตอบก็น่าจะเป็น “งานที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร”

เมื่อมองลึกลงไปก็พบว่า สินค้าที่ต้องชำระภาษีอากรมากที่สุดคือ สินค้านำเข้า ส่วนอื่น ๆ ที่อาจต้องชำระภาษีอากร ยกเว้นภาษีอากร หรือขอคืนภาษีอากรก็พอจะมี แต่ปริมาณไม่มากเท่าสินค้านำเข้า

ดังนั้น การทุจริตที่เกิดจากการหลบเลี่ยงภาษีอากรขาเข้าจึงน่าจะมากกว่าด้านอื่น ๆ

ปัจจุบัน การตรวจปล่อยสินค้านำเข้าแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ สินค้าที่ได้รับการผ่อนผันการตรวจ และสินค้าที่ต้องเปิดตรวจ ณ คลังสินค้านำเข้าหรือสถานที่ที่กำหนดอื่น

ในทางปฏิบัติสินค้าที่ได้รับผ่อนผันการตรวจก็อาจถูกสุ่มตรวจได้ ส่วนสินค้าที่ถูกเปิดตรวจ ณ คลังสินค้านำเข้าก็อาจถูกสุ่มตรวจย้อนหลังที่โรงงาน หรือสำนักงานของผู้นำเข้าซ้ำได้อีกเช่นกันซึ่งเป็นการตรวจสินค้าจริง หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง (Post Audit)

ไม่ว่าวิธีการตรวจนี้จะดี จะป้องกัน หรือปรามการทุจริตได้ดีเพียงใด สุดท้ายกรมศุลกากรก็หนีไม่พ้นการเป็นจำเลยของการทุจริตอยู่ดี

บางท่านมองว่า วิธีการวิธีปฏิบัติแบบนี้เอื้ออำนวยให้การทุจริตเกิดได้ง่ายกว่า เหตุผลง่าย ๆ เพราะการตรวจทำกัน ณ คลังสินค้านำเข้าเป็นส่วนใหญ่ อ้อยก็อยู่ใกล้ ๆ ปากช้างนั่นเอง

ดังนั้น หากลองเปลี่ยนวิธีการใหม่โดยการรับมอบสินค้าทันทีที่ชำระภาษีอากรขาเข้า หรือผ่านพิธีการยกเว้นภาษีอากรเสร็จสิ้น แล้วให้เอกชนเป็นผู้ตรวจปล่อยสินค้านำเข้า ณ สถานที่ของผู้นำเข้าเอง เอาอ้อยให้ออกห่างจากปากช้างก่อน

อย่างนี้จะทำให้การทุจริตเกี่ยวกับสินค้านำเข้าลดลงหรือไม่ ???
เอกชนที่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการนำเข้า การชำระหรือการยกเว้นภาษีอากรมากที่สุดขณะนี้ก็คงหนีไม่พ้นตัวแทนออกของ (Customs Broker)

อะไร ๆ ที่มันขัดกับระเบียบ กฎหมาย ก็แก้ไขซะ หากคิดว่า การให้เอกชนเป็นผู้ตรวจปล่อยสินค้าแทนเจ้าพนักงานศุลกากรเป็นความเสี่ยงก็สร้างเงื่อนไขขึ้นมาให้รัดกุม

แบบนี้ แสงสว่างก็พอเห็นรำไร การปรามการทุจริตก็พอเกิดขึ้นได้

ประการที่ 1 ตัวแทนออกของต้องมีคนไทยถือหุ้น 100% ต้องมีผู้ชำนาญการที่สอบผ่าน มีใบอนุญาตจากกรมศุลกากร มีการอบรม มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายศุลกากร มีหลักทรัพย์ค้ำประกันตามที่กำหนด และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ป้องกันความเสี่ยง

การที่ตัวแทนออกของต้องเป็นไทย 100% เพื่อใช้จิตสำนึกมิให้ช่วยผู้นำเข้าต่างชาติหลบเลี่ยงภาษีอากร และไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงทำเรื่องหลบเลี่ยงภาษีอากรง่าย ๆ

ประการที่ 2 เมื่อสินค้าผ่านพิธีการขาเข้าแล้ว ตัวแทนออกของก็นำสินค้าออกไปเลยและให้ไปตรวจที่โรงงาน หรือสถานที่ของผู้นำเข้าที่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้า จะไปตรวจกันที่อื่นไม่ได้

เมื่อเปิดตรวจแล้ว ก็ให้ถ่ายภาพหีบห่อที่เปิดตรวจ ภาพสินค้าส่งเข้าระบบกรมศุลกากรทาง Internet ภายใน 24 ชั่วโมง

ประการที่ 3 เมื่อผู้นำเข้าได้รับสินค้าแล้ว ต้องเก็บรักษาไว้ 48 ชั่วโมง เพื่อให้โอกาสเจ้าพนักงานศุลกากรตามมาตรวจซ้ำ แต่หากจำเป็นต้องใช้สินค้านำเข้าอย่างเร่งด่วน ก็ให้ตัวแทนออกของทำคำร้องขณะผ่านพิธีการที่ต้องได้รับการอนุมัติล่วงหน้า

แบบนี้ กรมศุลกากรก็อาจตามไปตรวจที่โรงงาน หรือสถานที่ของผู้นำเข้าได้ทันทีเช่นกัน

ประการที่ 4 กำหนดโทษตัวแทนออกของให้มากขึ้น หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้ยุยง หรือทำการหลบเลี่ยงภาษีอากรให้แก่ผู้นำเข้าซะเอง อย่างนี้กรมศุลกากรก็จะมีเอกชนทำงานให้จำนวนมากที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และต้องรับโทษที่ทำผิด

ประการที่ 5 วิธีการแบบนี้จะทำให้การนำเข้าของไทยรวดเร็วมาก เกิดการแข่งขันด้านการบริการ การพัฒนาระบบงาน ความรู้ ความเข้าใจของคนทำงาน ซึ่งปัจจุบันตัวแทนออกของจำนวนหนึ่งมักใช้วิธีการหลบเลี่ยงเลี่ยงภาษีอากรมาแข่งขันให้บริการผู้นำเข้ากัน

ประการที่ 6 เมื่อเจ้าพนักงานศุลกากรไม่ต้องตรวจสินค้าขณะนำเข้าก็จะมีกำลังพลว่างขึ้น การกำหนดหน่วยตรวจสอบย้อนหลัง (Post Audit) ในแต่ละภูมิภาคก็ทำได้ง่ายขึ้น

การออกตรวจโรงงาน หรือสถานที่ของผู้นำเข้าก็ทำได้มากขึ้น

ในกรณีที่ผู้นำเข้าหลบเลี่ยงภาษีอากรและถูกตรวจพบย้อนหลัง อย่างนี้การเรียกเงินทุจริตก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่อย่าลืมว่า สถานที่ตรวจเป็นของผู้นำเข้า เจ้าหน้าที่ศุลกากรก็จะกลัวการแอบอัดภาพ อัดเสียง แล้วใครจะกล้าเรียกเงินทุจริต

อย่างนี้ เจ้าพนักงานศุลกากรก็อยากจับกุมแล้วไปรับรางวัลนำจับจะดีกว่า
ประการที่ 7 การตรวจปล่อยสินค้า ณ คลังสินค้านำเข้าแบบเดิมก็ยังต้องมีอยู่ ทั้งนี้เพื่อเอื้ออำนวยให้แก่ตัวแทนออกของที่ไม่ต้องการเข้าระบบบนี้ หรือตัวแทนออกของที่เป็นชาวต่างชาติ

ประการที่ 8 เงื่อนไขอื่น ๆ ที่กรมศุลกากรเห็นว่าเหมาะสมเพื่อเป็นการปรามการทุจริตก็ให้กำหนดขึ้น

ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่มีความโปร่งใส 100% ตามการสำรวจข้างต้น แต่การให้เอกชนดำเนินการก็น่าจะเป็นการปรามทุจริตที่ดีทางหนึ่ง

หากข้อเสนอนี้ได้รับการปฏิบัติจริง กรมศุลกากรจะเป็นหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกต่อกิจกรรม International Logistics, International Transportation, Import, Export และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แทนการตกเป็นจำเลยเช่นทุกวันนี้
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

FTA ฮ่องกงตั้งไข่ อาเซียนหวังใช้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าเข้าตลาดจีน

และแล้วข่าวดีที่ผู้ประกอบการหลายท่านรอคอยมานานก็เป็นผลสำเร็จสมดังหวัง เมื่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า การเจรจาความตกลงทางการค้าอาเซียน – ฮ่องกง ที่ผ่านมาล่าสุด ได้ข้อสรุปการเจรจาในทุกประเด็นและดำเนินการขัดเกลาภาษาทางกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว โดยจะมีการลงนามในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN SUMMIT) ครั้งที่ 31 ในเดือนพ.ย.นี้ ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกงนี้ จะเป็นความตกลงฉบับที่ 6 ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่ค้า หลังจากการลงนามความตกลงทางการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เมื่อปี 2552

การจัดทำ FTA ระหว่างอาเซียนกับฮ่องกง จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาเซียนสามารถใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า โดยเฉพาะการเป็นประตูสู่ตลาดใหญ่อย่างจีน เนื่องจากฮ่องกงมีความตกลงการค้าเสรี (CEPA) กับจีน สินค้าจำนวนกว่า 1,819 รายการสามารถส่งออกจากฮ่องกงไปยังจีนในอัตราภาษี 0% นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสยกมาตรฐานภาคบริการโดยผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกง โดยเฉพาะด้านการเงิน โลจิสติกส์และการให้บริการทางกฎหมาย การเข้าสู่แหล่งทุนในฮ่องกง เนื่องจากฮ่องกงมีศักยภาพการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงอาเซียน ซึ่งฮ่องกงจะได้ประโยชน์ด้านภาษีสินค้าการส่งออกมายังอาเซียนที่ต่ำลง ส่วนอาเซียนจะได้ประโยชน์ด้านต้นทุนและราคาสินค้าในส่วนที่นำเข้าจากฮ่องกงที่ลดลง

สำหรับในปี 2559 ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของไทย ในปี 2559 การค้ารวมระหว่างไทยกับฮ่องกงมีมูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้านำเข้าจากฮ่องกง เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรไฟฟ้า เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 สิงหาคม 2560