SNP NEWS
ฉบับที่ 529
Follow Us :
CEO ARTICLE
ดีหรือร้าย
“สำแดงเท็จครั้งแรกไม่เจออาญา กรมศุลฯ ผ่อนผันจบแค่ปรับเงิน”
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยในงานสัมมนา “Digital Customs 2018” ว่า 1 ก.ย.นี้ กรมศุลกากรพร้อมเริ่มใช้ระบบออนไลน์ในพิธีการศุลกากรกับทุกหน่วย
(https://www.thairath.co.th/content/1361150)
รายละเอียดของข่าวสรุปว่า กรมศุลกากรเตรียมออกประกาศยกเลิก ‘การระงับคดี’ กรณีผู้นำเข้าสำแดงเท็จ หรือเสียภาษีไม่ถูกต้อง
ในข่าวกล่าวว่า ประกาศใหม่จะให้จ่ายเพียงแค่ภาษีที่ขาด ค่าปรับ และเงินเพิ่มเพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย เพื่อถือเป็นคดีภาษีที่เกี่ยวด้วยภาษีอากร ไม่ใช่คดีอาญา
ประกาศใหม่นี้จะเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้าที่ทำผิดฐานสำแดงเท็จได้สิทธิ์เพียงครั้งเดียวที่จะขอระงับคดีได้
หากพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำอีก ก็จะทำสำนวนส่งฟ้องศาลเพื่อพิจารณาความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับตามกฏหมาย 2-4 ไม่เกิน 4 เท่าของราคาสินค้าและโทษอื่น ๆ โดยไม่มีการเจรจาระงับคดีเพื่อขอเสียค่าปรับและเงินเพิ่มได้อีก
กรมศุลกากรจะให้ส่งฟ้องศาลแทนการปรับเพื่อระงับคดีในชั้นศุลกากร
หัวข้อและเนื้อหาข่าวข้างต้น ใครได้อ่านก็อาจตีความไปถึง 2 ทาง
ทางหนึ่งเป็นคุณ ส่วนอีกทางหนึ่งก็เป็นโทษ หรืออาจมองว่า นี่เป็นทั้งข่าวดีและข่าวร้ายให้แก่ผู้ประกอบการในเวลาเดียวกัน
ทำไมหรือ ???
พรบ. ศุลกากรเป็นกฏหมายที่มีลักษณะพิเศษคล้าย ๆ กับ พรบ. จราจรที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการออกคำสั่ง จับกุม และตกลงยอมความกับผู้ทำผิดโดยการชำระค่าปรับ
ด้วยอำนาจพิเศษนี้ เมื่อผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกทำผิดด้วยการหลีกเลี่ยงภาษีอากรก็สามารถตกลงยอมความกับเจ้าพนักงานศุลกากรได้โดยการชำระภาษีอากรที่ขาด ค่าปรับ และเงินเพิ่มตามที่กฏหมายกำหนด
ในอดีตที่ผ่านมา ค่าปรับที่ต้องชำระก็มักกำหนดกันตั้งแต่ 1,000 บาท หรือร้อยละ 10 ของอากรที่ขาดในกรณีความผิดเบา หรือหนักสุดก็อาจปรับ 2 เท่า จนถึง 4 เท่าของอากรที่ขาด
การพิจารณาลงโทษก็เป็นไปตามลักษณะของความผิดและดุลยพินิจของเจ้าพนักงานศุลกากร
คำว่า ‘ภาษีที่ขาด’ หมายถึง จำนวนเงินภาษีอากรที่ขาดหายจำนวนไปเท่าไรก็ให้จ่ายเพิ่มเท่านั้น
คำว่า ‘เงินเพิ่ม’ เบี้ยปรับ หมายถึง เงินค่าปรับ เช่น 1,000 บาท หรือ 10% หรือ 2-4 เท่าของอากรที่จ่ายขาดจำนวนให้แก่กรมศุลกากร และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่ายให้กับกรมสรรพากรโดยกรมศุลกากรช่วยเรียกเก็บแทนอีกราว 1-1.5 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขาด
คำว่า ‘เงินเพิ่ม’ หมายถึง ความล่าช้าที่จากการจ่ายภาษีอากรที่ขาดโดยนับตั้งแต่วันนำเข้า หรือส่งออกโดยอากรกรมศุลกากรจะเก็บ ‘เงินเพิ่ม’ ในอัตราร้อยละ 1 ต่อเตือน ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจะเก็บในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 กันยายน 2561
แต่หลังวันที่ 1 กันยายน 2561 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่มีความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรตั้งแต่ครั้งที่ 2 ขึ้นไป กรมศุลกากรจะไม่ใช้เกณฑ์การลงโทษและการใช้ดุยลพินิจนี้อีกแล้ว
ข่าวนี้หากจะตีเป็นข่าวดีสำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่มั่นใจว่าตนเองไม่ผิดก็ได้ เพราะในอดีตมักถูกตัดสินให้ผิด ชำระภาษีเพิ่มพร้อมค่าเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยไม่สมัครใจ
บางรายไม่ยอมรับก็ให้ส่งศาลพิจารณาความผิดด้วยความมั่นใจในหลักฐานที่พร้อมพิสูจน์
การขึ้นสู่การพิจารณาของศาลย่อมมีระบบ มีกระบวนการ มีการใช้ทนายความ และเวลาที่ใช้ก็มากกว่า อีกประการหนึ่งศาลท่านก็ย่อมมีดุลยพินิจตามกฎหมายที่ต่างไปจากเจ้าพนักงานศุลกากร
ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกกลุ่มนี้จึงมองว่า นี่คือข่าวดี
ตรงกันข้าม ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่ได้รับผลดีจากการประนีประนอมหรือจากการพิจารณาของเจ้าพนักงานศุลกากรมาตลอดก็อาจมองว่า นี่คือข่าวร้ายก็ได้
ไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายก็ตาม วันนี้ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกควรรู้และเข้าใจระบบงานศุลกากรมากขึ้น เข้าใจถึงความสำคัญของ NSW (National Single Window) ซึ่งเป็นระบบที่ทุกหน่วยงานราขการต่างใช้หน้าจอคอมพิวเจอร์เดียวกัน
วันนี้ ข้อมูลต่าง ๆ ที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศทุกเรื่องสามารถเปิดดูได้จากทุกหน่วยงานตั้งแต่ต้นทางกระทั่งปลายทางจนเป็นเหตุให้ความผิดสามารถตรวจสอบพบได้ง่ายขึ้น
ความผิดตรวจสอบพบได้ง่าย ผลดีและร้ายก็มีคู่กัน
ดังนั้น การป้องกันผลร้ายให้ได้แต่ผลดีที่สุดจึงมีเพียงทางเดียวคือ การมีความรู้และความเข้าใจกฎหมายศุลกากรเพื่อมิให้เกิดข้อผิดพลาดที่จะนำไปสู่กระบวนการพิจารณาลงโทษเท่านั้น
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
————————————-
LOGISTICS
รัสเซีย – ญี่ปุ่น มีแผนขนส่งสินค้าระหว่างกันทางราง
